หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


กำไร ขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๔๔)


กิเลสเกิด เพราะ"โลกียสุข" ซึ่งมาจากลาภ,ยศ,สรรเสริญ,สุข,เสื่อมลาภ,เสื่อมยศ,นินทาติเตียน,ทุกข์ นั่นแหละเป็นเหตุ สุขในโลกอบายมุข สุขในโลกกามารมณ์ สุขในโลกอัตตามานะ ที่คนทั้งหลายยังติดอยู่ หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติที่ยังหลงติดอยู่ในโลกแห่ง"ธรรมรส"ใด ถ้ายังไม่รู้จักการปฏิบัติ ที่เป็น "สัมมา" กับธรรมรส เหล่านั้น ก็จะไม่รู้ "ตัวอุปกิเลส" จริง และไม่สามารถปฏิบัติกับอุปกิเลสเหล่านั้น อย่างถูกธรรม ซึ่งยังมีแตกต่าง หลากหลายลักษณะ ทั้ง "ความหยาบกลางละเอียดหรือต่ำกลางสูง" (ภูมิ) ทั้ง "การแยกชนิดแยกเหล่า" (เภท)

ผู้มี"กิเลสส่วนตัว น้อยหรือหมด" จึงสามารถทำ การ"สงเคราะห์"ได้อย่างซื่อสัตย์ ถูกธรรม ทั้งโลกียะ และโลกุตระ เพราะ"ความเห็นแก่ตัวแก่ตน"ลดละจางคลายหรือหมดไปจริง การติดยึดใน"โลกธรรม" เพื่อความสุขของตน ลดน้อยหรือหมดจริง ความมี "อัตตา" ทั้ง "โอฬาริกอัตตา" ก็รู้จริง ทั้ง "มโนมยอัตตา" ก็รู้แท้ ทั้ง "อรูปอัตตา" ก็รู้ชัด ในความเป็นภาวะแต่ละ "อัตตา" ทั้ง๓ ชนิด และได้ลดละ "อัตตา" ทั้งหลายนั้นๆ มาได้จริง การสงเคราะห์ผู้อื่น ของคนที่ละอัตตาได้แท้ฉะนี้ จึงบริสุทธิ์ เป็นผู้รู้ประมาณ (มัตตัญญุตา) ได้ลึกซึ้ง เหมาะสมยุติธรรม ตามภูมิแห่งสัปปุริสธรรม ของแต่ละผู้ปฏิบัติ พึงเป็น พึงมีจริง

บุญนิยมเน้น "การสร้างคนให้มีคุณธรรมจนประสบผลสำเร็จ" เป็นเอก จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการสร้างคน ให้มีความรู้ความสามารถ และมีเมตตา ที่จะสงเคราะห์คน สงเคราะห์สังคม บุญนิยมจะ "สร้างคน" ให้มีคุณธรรมเจริญ เป็นสำคัญนำหน้า โดยให้มีความรู้ และอบรมฝึกฝน ปฏิบัติ กระทั่ง บรรลุธรรมกันจริงๆ โดยเฉพาะ "โลกุตรธรรม" และพร้อมกันนี้ ก็ให้มีความรู้ มีการอบรม ฝึกฝน ปฏิบัติ ในการงานขยันอุตสาหะเจริญก้าวหน้าไปด้วย จนมีสมรรถนะเป็นคนสร้างสรร ทั้งวัตถุ และนามธรรม อยู่ในสังคม อย่างผู้ "มีบุญ" หรืออย่างชาวบุญนิยม เพราะเข้าใจความจริง ในการเป็น "ผู้เกื้อกูลเสียสละ" ชนิดเชื่อมั่นในคติที่ว่า "ผู้ให้ผู้เสียสละออกจากตนอย่างเป็นสัจจะ คือ ผู้มีคุณค่าประโยชน์แท้" ส่วน "ผู้เอามาให้ตน หรือผู้ที่สละโดยจิตยังโลภเกินกว่ามูลค่าที่ตนสละ" นั้น ยังเป็นคนไม่มีประโยชน์ต่อโลก ต่อสังคมจริง เพราะเป็น "ผู้ได้เปรียบในสังคม" เป็นคติของชาวทุนนิยม ซึ่งพยายามให้ได้เปรียบ มากขึ้นๆ ไม่มีที่สิ้นสุดเอาด้วย

เพราะฉะนั้น ถึงแม้คนผู้เป็นชาวบุญนิยมจะสงเคราะห์สังคม ด้วยการ "สร้าง" รายได้ สร้างวัตถุทรัพย์ หรือ ช่วยสร้างสามัญโลกีย์ อันได้แก่ ลาภ,ยศ,สรรเสริญ, โลกียสุข อย่าง "เป็นรอง" ก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อ "ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติทั้งหลาย" (พหุชนหิตายะ) เพื่อ "ความสุขของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย" (พหุชนสุขายะ) เพื่อ "ช่วยเหลือโลก" (โลกานุกัมปายะ) ไม่ใช่เพื่อตัวเอง "เป็นหลัก" เลย เพราะลดกิเลส อย่างถูกตัวตนได้จริง เพราะความเห็นแก่ตัว เบาบางจางคลายลง จนถึงที่สุด ไม่เห็นแก่ตัวเลย ได้อย่างเป็นสัจจะ

ดังนั้น ผลที่สุด "คนที่ได้รับการสร้างจนบรรลุอาริยธรรม" จริง ก็จะกลายเป็น "ผู้สงเคราะห์ผู้อื่น หรือ ช่วยเหลือเกื้อกูลโลก" (โลกานุกัมปายะ) จะประพฤติ "องค์ ทั้ง ๗ อย่างถูกต้องตามสัมมาอาริยมรรค" [ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ] ที่จะเป็นไปเพื่อ "ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติทั้งหลาย" (พหุชนหิตายะ) เพื่อ "ความสุขของมวล มนุษยชาติ ทั้งหลาย" (พหุชนสุขายะ) เพราะได้ปฏิบัติ จนสามารถบรรลุธรรม "โลกุตรสัจจะ" ของพระพุทธเจ้าจริง
จึงมี"จิตตั้งมั่นแข็งแรงยั่งยืน ตามทฤษฎีของพุทธ" ซึ่งเรียกว่า "สัมมาสมาธิ"

จึงมี "ความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมขั้นโลกุตระ และ รู้แจ้งเห็นจริงในโลกียะด้วย" ซึ่งเรียกว่า "สัมมาญาณ"

จึงมี "จิตหลุดพ้นจากโลกียะชนิดดับกิเลสถึงสิ้นอาสวะได้จริง ตั้งแต่ขั้นพ้น "อบายภพ" (ภพต่ำที่สุด) ขั้นพ้น "กามภพ,รูปภพ" (ภพขั้นกลาง) เป็นลำดับไปถึงที่สุดพ้น "อรูปภพ" (ภพขั้นสูง) ซึ่งเรียกว่า "สัมมาวิมุติ" [มิใช่เข้าไปอยู่ในภพต่างๆ ดังกล่าวนั้น เหมือนการปฏิบัติส่วนมากทั่วไป]

"คนที่ได้รับการสร้าง" กระทั่งสามารถลดกิเลสอย่างถูกตัวตนได้จริง ความเห็นแก่ตัวเบาบางจางคลายลง จนถึงที่สุดไม่เห็นแก่ตัวเลยเพราะสิ้นตัวตนถึงขั้นดับอาสวะ เป็น "อนัตตา" (ไม่มีตัวตน) อันหมายความว่า "พ้นอัตตาทั้ง ๓" (โอฬาริกอัตตา, มโนมยอัตตา, อรูปอัตตา) ได้อย่างเป็นสัจจะนั้น เมื่อ "บรรลุอาริยธรรม" จริง จึงมีแต่ "สงเคราะห์โลกช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแก่โลก" (โลกานุกัมปา) แต่ถ่ายเดียว ไปจนกว่า จะปรินิพพาน เพราะ "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะหรือ อัตตทัตถะ) ของท่านได้หมดสิ้น

[มีต่อฉบับหน้า]

ผเราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)