หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ตอน บ้านนอกเข้าเมือง

ปีนี้น้อยอายุตั้ง ๗ ขวบแล้ว แต่เธอยังไม่เคยเห็นรถไฟหรือรถยนตร์เลย นอกจากซากรถ ที่พวกทำ เหมืองทอง โต๊ะโมะ นำมาจอดทิ้งไว้ในโรงร้างข้างบ้าน ที่พ่อแม่เคยเช่าอยู่หลังที่ว่าการอำเภอ เพราะมันเก่า จนเครื่องเสีย ใช้ไม่ได้แล้ว เด็กอย่างน้อยและเพื่อนๆ จึงยึดเอาเป็นที่เล่นกันอย่างสนุกสนาน

พี่แมะบอกว่าน้อยต้องเคยเห็นรถยนตร์และรถไฟมาก่อนแล้วเหมือนกัน เพราะตอนที่พ่อกับแม่ อพยพครอบครัว มาอยู่ที่แว้งนั้น มากันด้วยรถยนตร์ก่อน แล้วต่อรถไฟจนถึงสุไหงโกลก จากนั้น ถึงได้เดินเท้ากันเข้ามา ที่อำเภอกลางป่าในอุ้งภูเขาชื่อ อำเภอแว้งแห่งนี้ เพื่อพ่อจะได้ขึ้นไปทำงาน ที่เหมืองทองโต๊ะโมะ

"น้อยต้องเดินมาเหมือนกันใช่ไหม? ไหนแม่ว่าน้อยยังเตาะแตะ" น้อยถาม

"แขกอุ้มมา พี่จำได้ ตอนนั้นน้อยยังเพิ่งหัดเดิน ยังเดินมาแว้งไม่ได้หรอก แต่จากบางนราน่ะ พวกเรามาทาง รถยนตร์ แล้วก็มาต่อรถไฟ พี่อ้วกในรถด้วย" พี่แมะเล่าความหลังให้น้อยฟัง

"ทำไมถึงอ้วกล่ะ?" น้อยซักอีก

"ก็พี่เมารถ" พี่แมะตอบสั้นๆ "พี่ไม่ชอบนั่งรถ"

"แล้วน้อยเมาไหม?" น้อยถาม รู้สึกเริ่มกังวลนิดๆ

"น้อยไม่เมา แต่โยเยตอนเดินเข้ามาที่แว้งนี่ ไม่ยอมให้แขกอุ้ม พ่อต้องบอกว่าพ่ออุ้มจนเหนื่อยแล้ว น้อยถึงยอม" พี่แมะเล่าต่อ

"พ่อต้องแบกของมาด้วยใช่ไหม? แบกหีบหนังสือสองใบนั้น หนักจะตาย" น้อยนึกภาพพ่อแม่ ในวันอพยพ มาอยู่แว้ง อำเภอที่ได้ชื่อว่าเป็น ไซบีเรียแห่งประเทศไทย อำเภอที่ไม่มีคนไทยที่ไหน อยากมาอยู่ อำเภอที่วัดไม่มีพระ อำเภอที่มีแต่แขกมลายู ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ กำลังจะถามว่า แม่ช่วยแบก หีบหนังสือด้วยหรือไม่ ก็พอดีพี่แมะตอบว่า

"พ่อไม่ได้แบกมาหรอก พ่อจ้างช้างให้ขนของมา ที่จริงวันนั้นแขกเขาอุ้มเราขึ้นนั่ง หลังช้างแล้วนะ แต่แม่ไม่กล้าขึ้น แล้วพี่ก็เมาช้างด้วย พ่อเลยต้องพาทุกคนเดินกันมา น้อยจำอะไรยังไม่ได้หรอก" พี่แมะพูด น้ำเสียงภาคภูมิใจนัก ที่เห็นน้องฟังอย่างตั้งใจ

"แหม ถ้าวันไปบางนรา เราได้นั่งช้างไปถึงสุไหงโกลกก็ดีหรอก น้อยอยากนั่งช้าง" น้อยว่า

"พ่อว่าเราจะเดินกันไป พอถึงก็ไปค้างคืนที่โรงแรมตังเส็ง ที่พ่อเคยค้างเป็นประจำไง" พี่แมะว่า "ค้างที่นั่นคืนนึง รุ่งขึ้นอีกวัน เราถึงจะนั่งรถไฟ ไปที่สถานีตันหยงมัส แล้วก็ต่อรถยนตร์ ไปบางนรา ไปพักบ้านปรีดา เขาอายุเท่าน้อยนี่แหละ แต่ตอนนี้คงตัวโตกว่า เพราะน้อยขี้ก้าง"

วันนี้น้อยไม่ได้โกรธหรือต่อว่าพี่แมะที่ว่าเธอเป็นเด็กขี้ก้าง เพราะกำลังตื่นเต้น ที่จะได้ไปเที่ยวบางนรา เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกิด แล้วจากมาอยู่แว้งเมื่อ ๖ ปีก่อน พ่อบอกแม่ว่า ปีนี้ครอบครัว พอเก็บหอมรอมริบ จากการซื้อขายของ ได้มากพอสมควร แม่ต้องทำงานช่วยพ่อ อย่างเหนื่อยยาก จึงสมควรได้พักผ่อนบ้าง พ่ออยากให้แม่ ได้ไปพบเพื่อนเก่า และ ญาติของแม่ที่อยู่ที่นั่น และคราวนี้ พ่อจะพาลูกๆไปด้วย ไม่ต้องให้แขก มานอนเป็นเพื่อนที่บ้าน เหมือนเช่นเคย

น้อยตื่นเต้นดีใจเป็นที่สุด เธอแทบไม่เชื่อว่าจะได้ขึ้นรถไฟจริงๆ ไม่น่าเป็นไปได้เลย เพราะที่แล้วมา เวลามีธุระ ต้องไปทำที่ตัวจังหวัด พ่อจะเดินทางกลางคืนไปสุไหงโกลก เพียงคนเดียวเสมอ แม่ พี่แมะและน้อย ต้องอยู่เฝ้าบ้าน คราวนี้แหละ จะได้ขึ้นทั้งรถยนตร์ และรถไฟเหมือนเพื่อนๆ บางคนเขาเสียที

สองพี่น้องจะได้ไปอย่างแน่นอนแล้ว เพราะแม่กำลังจะพาไปตัดเสื้อผ้าชุดใหม่ ที่บ้านน้าผิน น้าผินเป็น ภรรยาปลัดแพ แล้วก็เป็นช่างตัดเสื้อฝีมือดี ของอำเภอแว้ง น้อยตั้งใจไว้ว่า จะเลือกสีเสื้อตัวใหม่ ให้สวยเฉียบเลย จะได้เอาไปใส่ให้โก้ที่บางนรา คนเขาจะได้ไม่ว่าเป็นเด็กบ้านนอก!

"พี่แมะ! แม่จะตัดเสื้อใหม่ให้เราใส่ไปด้วย!" น้อยวิ่งเข้าไปตามพี่แมะในครัว "เร้ว แม่จะพาไปตัด ที่บ้านน้าผิน!"

พี่แมะตื่นเต้นไม่แพ้น้อย ทั้งสองวิ่งจูงมือกันออกมา ยิ้มระบายเต็มหน้า ตาเป็นประกาย แทบระงับ ความดีใจไว้ไม่อยู่

"ของพี่จะเอาสีชมพู" พี่แมะว่าพลางวิ่ง "น้อยล่ะ จะเลือกสีอะไร?"

น้อยตอบแบบไม่ต้องคิดว่า "ของน้อยสีแดง" เธอใฝ่ฝันอยากสวมเสื้อผ้าสีแดงสดมานานแล้ว แต่ไม่มีใคร เห็นด้วยเลย น้อยได้เรียนรู้ สำนวนไทยที่ว่า "อีกาคาบพริก" ก็เพราะเรื่องนี้แหละ ทีพี่แมะ ทุกคนว่า จะใส่สีอะไรก็ได้ เพราะเป็นเด็กผิวขาว ซ้ำรูปร่างอวบอ้วน แต่งอะไรก็ดูดี ของน้อยถ้าเป็นสีสด ใครๆ ก็เท้งว่าเป็น อีกาคาบพริก ความจริงน้อย แค่มีผิวดำแดง ไม่ได้ดำปี๋สักหน่อย ก็แค่ชอบวิ่งเล่น ตามท้องนา ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง อย่างที่พ่อว่า ผิวก็เลยดำกว่าดำแดง ไปบ้างเท่านั้นเองแหละ

ไม่มีใครเข้าใจเธอ ทุกคนมักหัวเราะ หรือถ้ากลัวเธอโกรธ เขาก็พากันอมยิ้ม เมื่อพูดถึงผิว และร่างกาย ที่ผอมกงโก้ของเธอ น้อยรู้สึกว่าทุกอย่าง และทุกคน ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย พ่อคนเดียวเท่านั้น ที่เห็นว่า เรื่องผอมแห้งตัวดำนั้น เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา และไม่เห็นจะเป็นข้อต่ำต้อย แต่ประการใด

"พ่อคะ น้อยอยากให้แขนกับขาของน้อยหยุดยาวเสียที วันนี้ก็มีคนว่าน้อยผอม เหมือนกุ้งแห้ง แล้วเขายังว่า แขนขาน้อย ลีบยาวเหมือนปาดด้วย ทำไง ให้น้อยอ้วนกว่านี้คะ?" น้อยบ่นออดกับพ่อ ในคืนหนึ่ง

"น้อยก็กินข้าวให้มากหน่อยซี" พ่อตอบยิ้มๆ

"น้อยกินมากแล้ว แต่กินเท่าไร ข้าวมันก็ทำให้น้อยสูงขึ้นอย่างเดียว เพื่อนบางคนเขาล้อว่า น้อยน่าจะเปลี่ยน มาชื่อ 'โย่ง' เสียดีกว่า" น้อยบ่นต่อ อย่างเป็นทุกข์เป็นร้อนเสียเหลือเกิน

"ขายาวก็ดีซี เวลาน้ำท่วมน้อยก็ไม่จมน้ำไง" พ่อพูด มองหน้าแม่ แม่อมยิ้มพูดบ้างว่า

"นี่อีกไม่นานก็ถึงหน้าพะ"

"แม่พูดล้อน้อยอีกแล้ว ทำไงให้น้อยอ้วนกว่านี้สักนิด นิดเดียวก็ยังดี ทำไงพี่แมะ?" น้อยหันไปทางพี่สาว ให้ช่วยออก ความคิดบ้าง พี่แมะหัวเราะคิก ถามว่า

"เท่าแมะนะเอาไหม?"

"ไม่เอ๊า! แมะนะอ้วนไป" น้อยปฏิเสธพัลวัน เพราะเพื่อนลูกครึ่งมลายูกับจีนที่ชื่อ แมะนะนั้นตัวเตี้ย อ้วนกลม แก้มป่อง กะติ๊กริก และเมื่อถูกถามอีกว่า จะอ้วนขนาดเพื่อนคนไหน น้อยตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า "เอาขนาดอุทัยกำลังดี"

วันนั้นน้อยเลือกอุทัยเป็นแบบ เพราะอุทัยรูปร่างหน้าตาสะสวยที่สุด ในบรรดาเพื่อนที่แว้ง แต่วันนี้ เธอลืมเรื่อง อ้วนผอมไปแล้ว หันมาวิตกเรื่องผิวดำแทน เพราะกำลังจะไปตัด เสื้อผ้าชุดใหม่ ไปเที่ยวในเมือง รูปร่างเกิดไม่สำคัญเท่าผิว ที่เธออยากให้ดำน้อยลง กว่าที่เป็นอยู่สักหน่อย ไม่ต้องขาวอย่างพี่แมะก็ได้ ขอพอให้ได้ใส่ เสื้อสีแดงสด กับเขาสักครั้ง เท่านั้นเองแหละ

"พ่อคะ ทำยังไงน้อยถึงจะขาวขึ้นสักหน่อย?" น้อยถามพ่อที่นั่งอ่านหนังสืออยู่หน้าบ้าน "เดี๋ยวน้อยจะขอ ให้น้าผิน ตัดเสื้อสีแดงให้"

"สีแดงเชียวหรือ?!" พ่ออุทาน แล้วเหมือนจะนึกอะไรขึ้นได้ พ่อรีบเปลี่ยนเรื่องว่า "พ่อว่าสีแดง มันไม่ค่อยสวยนา นะแม่นะ" พ่อหาแรงสนับสนุน เพื่อให้น้อยเปลี่ยนใจ แต่น้อยยืนกระต่ายขาเดียวว่า

"สีแดงสวยค่ะ แม่ น้อยอยากได้เสื้อสีแดงสักตัว ของพี่แมะเขาเลือกสีชมพู เขาใส่สีชมพูสวย ของน้อยไม่ต้อง สีชมพูก็ได้ เอาแค่สีแดงก็พอ"

"เดี๋ยวควายไล่" พี่แมะพูดพึมพำ น้อยเห็นแม่แอบหยิกขาพี่สาว ก็เข้าใจทันทีว่า ต้องเป็นเรื่องเธอผิวดำอีกแล้ว จึงพูดเหมือนพ้อ ความอาภัพของตนว่า

"ฟันน้อยก็แมงกินเป็นรูดำ ผิวก็ยังดำอีก"

"ใครว่าลูกพ่อตัวดำ ขาวเหมือน..." พ่อเว้นระยะไปนิดหนึ่ง เพราะถ้าเปรียบเทียบแบบเดิม น้อยก็ทราบ ความหมายเสียแล้ว

"เหมือนเม็ดในสำลี น้อยรู้แล้วว่านุ่นมันขาว แต่เม็ดข้างในของมันดำปี๋ พ่อพูดเล่นหรอกนะพ่อนะ แล้วน้อย ก็ไม่ได้ดำ ขนาดนั้นด้วย"

น้อยพูด รู้สึกดีขึ้นทันที เพราะนึกเห็นภาพสีดำสนิทของเม็ดนุ่น ที่เธอแข็งใจปล้อนปุยของมัน ออกดู เมื่อวันก่อน "ไปหาน้าผินเถอะค่ะแม่" เธอเข้าไปดึงมือแม่เบาๆ พร้อมกับตัดสินใจว่า "น้อยไม่เอาสีแดงก็ได้"

อีกสัปดาห์ต่อมา สองพี่น้องก็ได้เสื้อผ้าชุดใหม่คนละสองชุด เป็นชุดลำลองหนึ่งชุด ชุดพิเศษอีกหนึ่งชุด ชุดพิเศษนี่สิสำคัญมาก น้าผินต้องพิถีพิถัน ตัดให้อย่างเยี่ยมยอด ของพี่แมะนั้น เจ้าตัวเลือกสีเอง กางเกงขายาว เป็นสีน้ำตาลแก่ เสื้อสีชมพูเหมือนเปลือกไข่ไก่ น้อยไม่อยากได้สีเดียวกับพี่แมะ น้าผินกับแม่ จึงเป็นคนเลือกให้ น้าผินบอกว่า ผ้าสีขาวเนื้อละเอียดอ่อนดูบอบบาง สำหรับตัดเสื้อให้น้อยนั้น เป็นผ้าชนิด ดีที่สุด เรียกว่าผ้ามัสลิน ส่วนกางเกงขายาว เป็นผ้าแบบเดียวกับของพี่แมะ แต่คนละสี ของน้อยต้องเป็น สีกรมท่า จะได้เข้าชุด กับเสื้อตัวสวย ที่น้าผินบรรจงจับจีบ ตรงโน้นตรงนี้เยอะแยะ จนแม่บ่นว่า "รีดยากจัง เสื้อตัวสวยของน้อยนี่" น้อยรู้สึกอยากจะสวมใส่ชุดใหม่นี้ เสียตั้งแต่ออกเดินทางจากบ้าน ถ้าไม่ใช่แม่บอกว่า เอาไว้ไปใส่ที่บางนรา ดีกว่า ใส่เสียที่แว้งก็ไม่มีใครชมว่าสวย ซึ่งน้อยก็เห็นด้วย

แล้ววันเดินทางก็มาถึง พ่อพาทุกคนออกเดินจากบ้าน ตั้งแต่ตีห้า เพื่อไปสุไหงโกลก มีแขกที่พ่อแม่สนิทสนม และไว้ใจมากที่สุดชื่อ มะตาเห ช่วยหิ้วกระเป๋า ใส่เสื้อผ้า ของทุกคนไปส่ง พ่อจัดการปิดประตูหน้าต่าง อย่างเรียบร้อย ก่อนที่จะเอาลูกกุญแจ ให้มะตาเหเก็บไว้ เขาจะได้ไข เข้ามานอน เฝ้าบ้านให้

แม่บอกให้ลูกทั้งสองสวมเสื้อผ้าชุดเก่าไปก่อน เพราะคืนนี้จะต้องไปค้างคืน ที่สุไหงโกลก น้อยตื่นเต้นมาก ที่จะได้ไปเที่ยวในเมือง ตั้งหลายวัน แต่เมื่อหันไปดูบ้าน เธอรู้สึกเหมือนบ้าน จะบอกว่าเหงา ที่ถูกทุกคน ทอดทิ้งไป อาจจะเป็นเพราะเธอไม่เคยจากบ้านกระมัง จึงได้รู้สึกประหลาด อย่างนั้น แล้วน้อย ก็บอกกับบ้าน ในใจว่า "ไม่กี่วันหรอก น้อยจะกลับมาหา"

(อ่านต่อฉบับหน้า)


๑. เท้ง ไม่อาจหาคำภาษากลางที่ตรงกันจริงได้ เป็นคำกริยา หมายถึง ตำหนิ ติ ปนกับเยาะเย้ยและล้อเลียน อาจเป็นคำปักษ์ใต้แท้ ปัจจุบัน เห็นจะใช้กันน้อยมาก
๒. พะ ใช้กับอาการของน้ำท่วม หน้าน้ำท่วมตามฤดูกาล ภาษาปักษ์ใต้ใช้ว่า หน้าพะ น้ำท่วม ว่า น้ำพะ


ให้ "เวลา" กับครอบครัว คือ หัวใจของการใช้ชีวิต "คู่"
โปรดให้เวลา "ไม่กี่นาที" ทุกๆ วัน ดีกว่าให้เป็นชั่วโมง ให้เป็นวันๆ แต่นานๆ ทีหนึ่ง... ๑ เดือนสักที ... ๑ ปีสักครั้ง!

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)