เราคิดอะไร

- สิริมา ศรสุวรรณ
สุเทพ ถวัลย์ วิวัฒนกุล และ บุษปรัตน์ พันธุ์กระวี
ผู้บรรเลงบทเพลงแห่งความหวัง


 

 

บ้านหลังเล็กๆ
ที่ชายขอบกรุงเทพฯ
ณ แห่งนี้ มีครอบครัวนักดนตรี
ซึ่งรังสรรค์บทเพลง
เพื่อความดีงามของสังคม
พ่อ แม่ และลูกสาววัยรุ่นสองคน
บรรยากาศอบอุ่น
เพราะนอกจากเจ้าของบ้านมีความแจ่มใส
สุภาพและเป็นกันเองแล้ว
สีเขียวของแมกไม้ในบริเวณนั้น
ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเป็นสุขและผ่อนคลาย

ทราบว่าพี่สุเทพให้ความสำคัญแก่บ้านและครอบครัวอย่างยิ่ง
สุเทพ : มันมีส่วนในแง่สิ่งแวดล้อมในบ้านของเราเอง ถ้าเรามีพื้นที่บ้างนิดหน่อยจะช่วยได้บ้าง ต้นไม้ สำคัญที่สุด
บุษปรัตน์ : พี่เขาใส่ใจมากกับพวกสัตว์ ไม่ว่าเป็นงู หรือสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดไม่ให้ลูกตี เวลาเขาเลื้อย เข้ามาในบ้าน ที่นี่งูเยอะ บางทีเห็นงู กับนกสู้กัน

ไม่กลัวหรือคะ
สุเทพและบุษปรัตน์ : (หัวเราะ) กลัว

ในสังคมทุนนิยมเช่นนี้อาชีพแต่งเพลงแนวที่สร้างสรรค์อยู่นั้นทำให้ยังชีพได้พอเพียงไหมคะ หรือจำเป็น ต้องมีอาชีพเสริม
สุเทพ : เราอาจจะมีค่าใช้จ่ายทางเดียว คือเรื่องครอบครัว แต่ไม่มีค่าใช้จ่าย ในเรื่องของความฟุ่มเฟือย ด้านอื่น เช่น การเที่ยวเตร่ หรือการสะสม ทรัพย์สมบัติอันไร้สาระ หรือเป็นส่วนเกินต่อชีวิตประจำวัน จนเลยเถิด เรามีรถยนต์เพื่อใช้สอย แต่ไม่ได้มีไว้ เพื่ออวดใคร ถ้าซื้อรถ ก็เป็นเรื่องนี้ และคิดเรื่อง สมรรถนะ ของมัน เวลาออกต่างจังหวัด รถควรอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ปลอดภัย ตรงนั้น มันอาจราคาแพงกว่า รถที่ปลอดภัยน้อยกว่า นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เคยมีความคิดว่าต้องอยู่ให้ได้โดยไม่อายเพื่อนไหมคะ
สุเทพ : มันเป็นในเชิงว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาขีดความสามารถของคนในครอบครัว เราจนยืนหยัดได้ เมื่อไปเปรียบเทียบ กับเพื่อน หรือคนที่อยู่ ในสายงานเดียวกัน ถ้ามันเปรียบกันได้ ก็ถือว่า เราเดินทางนี้ ถูกต้องแล้ว เช่น สมัยก่อน เวลาเราทำงานเพลงแต่ละชุด เราต้องเปรียบเทียบ กับเพื่อนที่ทำงาน ในสายเดียวกัน กับเราว่า เขาทำงานกันอย่างไร เราทำอย่างไร ทำไมคุณภาพของเรา สู้เขาไม่ได้
บุษปรัตน์ : แต่เราไม่ได้เปรียบเทียบในเรื่องของวัตถุ

เพลงของ "โฮป" ดูเหมือนไม่บูม
สุเทพ : ไม่บูมเลยอยู่แบบเรียบๆ ความคาดหวังของงานตรงจุดนั้น มันต่างจากของคน ในสายงานเดียวกัน

ความแตกต่างอยู่ตรงไหนคะ
สุเทพ : ยอมรับว่าเราเริ่มต้นมาจากความตั้งใจ ที่จะเสนอเพลง เพื่อสร้างคน ในยุคสมัยสิบสี่ตุลา ที่มีการ ต่อต้านเผด็จการ หลังจากนั้นมา เราบ่มเพาะแนวทางการสร้างงาน จากเหตุการณ์ในตอนนั้น ทำให้เรา คาดหวัง เพียงแค่ว่า อยากเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่มานำเสนอเพลง ในส่วนที่เรามีความสามารถทำได้ เราคิดตรงนี้เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดในเชิงธุรกิจว่า ต้องขายได้เยอะๆ แต่บังเอิญ สังคมมันเปลี่ยนแปลงไป หลังจาก โค่นอำนาจเผด็จการ ไปได้แล้ว เหตุการณ์ทางสังคม มันเปลี่ยนแปลงไป เพลงกลายเป็น ธุรกิจมากขึ้น ทำให้เราเกิดคำถามว่า เราจะอยู่อย่างไร กับความคิดเดิมๆ ซึ่งเพลงเราก็ไม่บูม เราก็ปรับตัว ให้มันไปตามธุรกิจ มากขึ้น ถึงอย่างไรก็ตาม เนื่องจากความคิดดั้งเดิม มันเป็นอย่างนี้แล้ว เราคงไม่สามารถ เปลี่ยนไป ในเชิงที่ทำให้เรา กลายเป็นพ่อค้าได้

ขณะเดียวกันก็อยู่ในสังคมแบบนี้ได้
สุเทพ : อยู่ได้โดยที่เราเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จากสภาพที่มันเปลี่ยนไป คือ จากเดิม เราสามารถขลุกอยู่กับคน ที่มีกิจกรรม แบบเดียวกัน คือมีความสัมพันธ์กัน เป็นกลุ่มใหญ่ แต่จากที่สภาพสังคม เปลี่ยนแปลงไป แล้วบอกว่าเราเปลี่ยน แต่เราก็เปลี่ยนไป ในเชิงที่เราโดดเดี่ยว คือ เราขลุกกับครอบครัวของเราอย่างนี้ ความสัมพันธ์ กับส่วนอื่น อาจลดน้อยลงเช่นว่า เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น ต้องทำกิจกรรม เป็นกลุ่มกัน เหมือนก่อนแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้มาก ก็เหมือนกับว่า เราโดดเดี่ยว อยู่กับครอบครัว
บุษปรัตน์ : หลายๆ คนถามว่าเราอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร ที่จริงเราก็ออกไปสู่สังคมข้างนอกบ้าง แต่เราจะไปเจอ สิ่งที่เราไม่อยากเห็น แล้วเราจะฝืนมันทำไม

เช่นอะไรคะ
บุษปรัตน์ : เช่นบรรยากาศของการกินเหล้า สูบบุหรี่ พูดคุยเรื่องไร้สาระ มีคนถามว่า "ทำไมพี่แดง ต้องเก็บพี่สุเทพไว้" ไม่ใช่! ไม่เคยเก็บเลย นี่คือความสุขของเขา ที่จะได้อยู่กับลูก กับเมียที่บ้าน ซึ่งให้เขา ทุกอย่างที่ต้องการ แต่ข้างนอก มันไม่ใช่ เขาไม่ใช่คนที่ชอบ เรื่องผู้หญิง เขาไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า สังคมแบบนั้น ไม่ใช่ความสุขของเขา มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่พี่แดง ที่เป็นคนดึงเขาไว้ หลายครั้ง ที่บอกเขาว่า ให้ออกไปข้างนอกบ้าง เพื่อไปแลกเปลี่ยนความคิด แต่เขาบอกว่า มันไม่ใช่ ความสุขของเขา
สุเทพ : เราเปลี่ยนไปในเรื่องของงานมากกว่า คือปรับตัวเราเองกับงาน และปรับตัว กับภาคธุรกิจ แต่ในส่วน ที่เราไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ก็ไม่เปลี่ยน คือเราไม่ใช่คนชอบสูบบุหรี่ หรือคนเที่ยว เราก็ไม่ไปสัมพันธ์ กับจุดนั้น เท่าไร นอกจาก นานๆ ครั้ง

มีคนบอกว่าพี่สุเทพเป็นนักกีตาร์โฟล์คร็อค
สุเทพ : ครับ

ทราบว่าเล่นกีต้าร์แนวนี้อย่างมีฝีมือทีเดียว ทำไมไม่ไปเล่นตามโรงแรมเป็นอาชีพ
บุษปรัตน์ : (หัวเราะ) เกลียดโรงแรมเสียอีก
สุเทพ : เราชอบในงานคิดเพลงมากกว่า

ถือว่าเป็นวงดนตรีอิสระ
สุเทพ : ในแง่ทำงานก็เป็นอิสระ แต่ในแง่ธุรกิจเทปก็มีสังกัด

เคยคิดเปิด"ผับ"ไหมคะ
สุเทพ : มีคนมาชวนให้ทำร้านอาหารด้วยกัน ทำ "ผับ" ด้วยกัน เราต้องบอกว่า เราทำไม่เป็น รายละเอียด มันก็มาก เราไม่มีเวลา ไปนั่งศึกษามัน
บุษปรัตน์ : เห็นแต่คนกินเหล้า ก็จะเป็นลมแล้ว
สุเทพ : พ่อเคยบอกว่า เวลาลูกโตขึ้น จะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าเปิดร้านอาหาร เพราะพ่อทนไม่ได้ ที่จะเห็น คนมาสูบบุหรี่ แล้วขากถุย ท่านไม่ชอบเลย แต่ถ้าบางช่วง บางโอกาสที่คิดว่า ให้เราเลือกได้ ก็ยังพอได้ เช่น สมมุติว่า เขาให้เราไปทำในบางส่วน ของเวที ดนตรีเท่านั้น ก็พอทำได้ คือ ตรงที่ว่า เราควรจะมีนักดนตรี ที่เหมาะกับแขกอย่างไร ถ้าจะให้มาดูแล หรือบริหารไม่เอา ทำไม่ได้ อย่างเด็ดขาด

จำได้ว่าในช่วงที่มีการต่อต้านการทำนาเกลือ ซึ่งมีผลกระทบต่อนาข้าวที่มหาสารคาม เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว พี่สุเทพไปดู สถานการณ์ ในพื้นที่ด้วย
สุเทพ : แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย ความที่โตมากับกรุงเทพฯ จึงไม่ซึมซับปัญหาในชนบทเท่าที่ควร ที่ไปดู เพราะอยากรู้ กลับมา ก็พยายามเหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นมา จดจำมา แต่ก็ไม่สามารถ ทำให้มันเป็นรูป เป็นร่างได้ ในเรื่องของเพลง เพราะความที่เราไม่ลึก ไม่ลึกจริงๆ เราไม่ได้ซึมซับ ทางด้านลึก คนที่เขาสัมผัสถึง อย่างเพลง "เปิบข้าว" ของจิตร ภูมิศักดิ์ นี่เขาเข้าถึงจริงๆ เขาลึก เราตื้นมาก หรืออย่างบางเพลง ที่สุรชัย จันทิมาธร เขียน เขาลึกมาก

รู้สึกกระทบใจจากเรื่องอะไรคะ
สุเทพ : จะเจ็บร้อนที่นักการเมือง ทำกับประชาชนมากกว่า

แต่ผลงานออกมาไม่แรง
บุษปรัตน์ : แรงค่ะ แต่มันออกไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน บางทีแต่งออกมา ลูกจะถามว่า "พ่อไม่แรงไปหรือ" ลูกจะมองพ่อว่า เป็นคนใจเย็น ไม่ใช่คนก้าวร้าว
สุเทพ : ที่จริงเราเรียบเรียงความคับแค้นออกมาเป็นเพลงได้ไม่ดีนัก มันก็เลยไม่ชวนฟัง อาจเป็นเพราะ ขีดความสามารถ ในการเรียงร้อย ให้น่าฟัง หรือรวมไปถึง การใช้ภาษา เราอาจจะยังทำไม่ได้ดีพอ ที่จะให้คนฟัง คล้อยตามเรื่องที่เราคิด

ไม่ค่อยพบศิลปินที่พูดถึงข้อด้อยในงานของตนเอง
สุเทพ : ไม่มีใครที่ไม่มีข้อบกพร่องหรอก แม้คนจะชอบงานของเรา แต่เราก็รู้ข้อบกพร่อง ซึ่งในยุคสมัยของเรา อาจแก้ไขลำบาก เราต้องเอาจุดอ่อนของเรา มาพัฒนาลูกหลาน ให้มีขีดความสามารถ สูงกว่าเรา เช่น เรียงร้อย ถ้อยคำ ให้ดีกว่าเรา

พี่สุเทพเคยกล่าวว่า อยากให้ลูกเล่นดนตรี เพราะดนตรีมีความอ่อนโยน เห็นพฤติกรรมที่ เปลี่ยนแปลง ของลูกไหมคะ เมื่อเขาอยู่กับ ดนตรี
สุเทพ : ชัดเจนมากๆ เปรียบง่ายๆ คนที่อยู่กับเสียงดนตรีกับคนที่ขลุกอยู่กับตัวเลข วันๆ มีแต่ความเครียด แต่ถ้าอยู่กับเสียงเพลง เราจะอยู่ อย่างผ่อนคลาย ใจจะมีสมาธิ
บุษปรัตน์ : อารมณ์ดี และมีความเอื้ออาทรกับผู้อื่น
สุเทพ : จะทำให้การโน้มน้าวความคิดในมุมมองของสังคม เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์

ตรงนี้เขาคิดขึ้นมาเองหรือคะ
สุเทพ : อยู่ที่พ่อแม่ชี้แนะด้วย พ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อันดับแรกของครอบครัว เพราะเราทำอะไร ออกมาก็ตาม ลูกจะต้องเห็น และซึมซับเข้าไป ตรงนั้นเป็นส่วนสำคัญ เบื้องต้นเลย ลูกโตมากับการทำงาน ของพ่อแม่ ในทางดนตรี ในทางแนวคิด ในทางเนื้อหา ของเพลงที่บรรเลง ใส่ลงไป เขาโตมา กับสิ่งแวดล้อม เช่นนั้น เขาก็จะได้ตรงนั้น ไปจากพ่อแม่ ทีนี้ในส่วนที่เขาพัฒนา ต่อเนื่องไปได้อีก และออกไป รับใช้สังคม แทนพ่อแม่อย่างไร ที่จะทำให้เขาพัฒนา ให้ได้กว้างไปกว่าพ่อแม่ นั้นเป็นเรื่อง อนาคตของเขา หรือ อย่างน้อยที่สุด ดนตรีก็จะเป็นทางเลือกหนึ่ง ในอนาคตของเขา หรือเขาจะไปในทาง ที่เขาศึกษาอยู่ก็ได้

ตอนนี้ลูกสาวเป็นวัยรุ่นแล้ว
บุษปรัตน์ : ค่ะ ลูกโซ่ (ปริตอนงค์) อายุ ๒๐ ปี เรียนอยู่ชั้นปี ๒ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ ลูกศร (วฤทธรัชต์) อายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่ชั้น ม.๕ โรงเรียน นวมินทราชินูทิศ เตรียมฯ น้อมเกล้า

คิดจะส่งไปเรียนต่อที่ต่างประเทศไหมคะ
บุษปรัตน์ : สมัยเด็กๆครอบครัวของพี่แดง อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ชีวิตเราไม่ค่อยชอบเมืองนอก สักเท่าไร คือเราเห็น พวกฝรั่ง มันเอาเปรียบ พี่แดง จะพูดกับลูกว่า "เป็นอะไรก็ได้นะลูก ที่ทำให้เรามีความสุข" เลือกเรียน อะไรก็ได้ ที่อยากเรียน พี่แดงคิดว่า ขอให้เขามีความรู้ และ เป็นคนดี อยู่รอดในสังคมได้ แบบคนดี

หากเขาไม่อยากเรียนขึ้นมา
บุษปรัตน์ : ไม่เป็นไร
สุเทพ : คงเป็นไปได้ยาก ถ้าบอกว่าเขารักเรียนคงยังไม่ใช่ แต่หากบอกว่า เขาเห็นประโยชน์จาก การเรียน น่าจะถูกต้อง
บุษปรัตน์ : เคยมีคนให้ไปทัวร์ญี่ปุ่น ซึ่งต้องไปถึงสามเดือน ถ้าไปเราคงไม่ไปกันสองต่อสองแน่ ในชีวิตเรา ไม่เคยแยกจากลูก ก็ต้องให้ลูกไปด้วย แต่เขาไม่ยอมเสียเวลาเรียน ก็เป็นอันว่าทัวร์นี้งด
สุเทพ : สำหรับพี่สุเทพไม่ได้คาดหวังเลยว่า เขาสองคนต้องโตขึ้น แล้วเป็นอะไร อย่างที่เรา อยากให้เป็น แต่ว่า เราค้นหาแนวทาง ให้เขามากกว่า คือ ให้เขาได้มีโอกาสเลือก สุดท้าย เขาจะเลือกเองได้ว่า ทางไหน เหมาะกับเขามากที่สุด

ตอนนี้วง "โฮป"กลายเป็น "โฮปแฟมิลี่"
สุเทพ : ที่เป็น "โฮปแฟมิลี่" เพราะเพียงต้องการให้แฟนเพลง ได้เห็นว่า เรามีลูกมามีส่วน ในงาน แต่หลังจากนี้ จะเป็น "โฮป" เฉยๆ ก็ได้ คือจูงเขาออกมา ให้แฟนเพลงได้เห็นว่า เขามีส่วนร่วมนะ เขาทำอย่างนี้ได้

คงจะเป็นเพราะพี่ชอบดนตรีเหมือนกันจึงมารักกัน
บุษปรัตน์ : ค่ะ อันนี้เป็นหลักเลย
สุเทพ : พี่แดงมาจากครอบครัวพันธุ์กระวี ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลพิบูลสงคราม ส่วนพี่สุเทพ เป็นคนจีน พ่อแม่ มีอาชีพค้าขาย

ไม่มีช่องว่าระหว่างฐานะ
บุษปรัตน์ : ไม่เลย เวลาเราสองคนพูดคุยกัน พี่แดงจะมองเห็นข้อดีของเขา พี่สุเทพเป็นคนที่มี ความคิดดี มาตลอด เขาไม่เคยคิด เอาเปรียบผู้หญิง ตอนเป็นแฟนกัน เวลาคุยกัน หรือ ไปเที่ยวด้วยกัน จะต้องมีญาติ พี่น้องไปด้วย เขามาที่บ้านอย่างสุภาพ ไม่มีลับลมคมใน

ในฐานะที่เป็นศิลปิน มีสาวๆ มาชื่นชมในทำนองให้ไขว้เขวไหมคะ
บุษปรัตน์ : มีมาค่ะ แต่บังเอิญเขาเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ ผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ เจ้าชู้ทั้งนั้น แต่เขาถือว่า เขามีครอบครัวแล้ว คงต้องฝืน ความรู้สึกบ้าง ที่เขาควบคุมได้ อาจเป็นเพราะลูก
สุเทพ : อย่างพี่สุเทพไม่อยู่ในข่ายที่ประสบความสำเร็จ ขนาดที่ผู้หญิงจะวิ่งมาหา
บุษปรัตน์ : เมื่อราว ๑๖ ปีที่แล้ว พี่แดงยังท้องแก่น้องลูกศร มีผู้หญิงมาหาที่บ้าน เขามาจากราชบุรี เขาบอกว่า ประทับใจ พี่สุเทพเขามาก เป็นเหมือนศิลปินตัวอย่าง ที่รักครอบครัว เขาขอมาอยู่ด้วย ที่บ้านเขา มีปัญหา เขาไม่อบอุ่น เราก็ให้มา ทีนี้บ้าน ที่อยู่ตอนนั้น มีอยู่ห้องเดียว จะให้ไปนอนกับเด็กลูกจ้าง ก็น่าเกลียด ก็เลย เอาเตียงเล็กๆ มาให้เขานอน ในห้องของเราเลย ตอนเช้า เธอทำความสะอาด ให้เราเสร็จเรียบร้อย พี่สุเทพบอกว่า "น้องแดง ต้องพูดให้เขากลับบ้านนะ ดูไม่ดีเลยนะ" คืนที่สอง เขาก็ยังนอนอยู่ เขาเริ่ม วิจารณ์ พี่แดงว่า ทำไมในบ้าน มีแต่รูปครอบครัวตัวเอง

ไม่ได้เป็นญาติกันหรือคะ
บุษปรัตน์ : (หัวเราะ) ชื่ออะไรยังไม่รู้เลย ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เห็นว่าเขาทุกข์มา ก็เลยเห็นใจ แต่เขาเคยเขียน จดหมายมาบ่อย เขียนมาดีนะ คืนที่สอง ไม่ค่อยดีแล้ว พี่แดงเลยให้เขากลับบ้านไป

สังคมสมัยนี้อันตรายรอบด้าน แต่เด็กวัยรุ่นยังแต่งตัวค่อนข้างไม่ระวัง
สุเทพ : บางทีลูกก็ตามแฟชั่น
บุษปรัตน์ : พี่แดงจะไม่ค่อยพูดเรื่องนี้กับเขา เพราะรู้ว่า พูดแล้วไม่มีน้ำหนัก แต่พี่สุเทพจะเตือน บอกว่า "ลูกต้องระวังตัว สิ่งเหล่านี้ มันล่อแหลม"

ไม่ดุใช่ไหมคะ
บุษปรัตน์ : ไม่ค่ะ ไม่เคยตีลูกเลยด้วย
สุเทพ : น้องโซ่และน้องศรนี่ใช้พูดคุย เรารับหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว เช้ามาทุกคนก็อ่าน ในส่วนที่ แต่ละคนอยากอ่าน แล้วพ่อก็ถามว่า "หนูเคยเจอข่าว รถตู้ลักพาเด็กไหม" เพียงค่อยๆ โน้มน้าว ให้เขารู้จัก ป้องกันตัว เพราะสังคม มันเลวร้ายมาก เราเพียงแต่หยิบบางจุด ในหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไป แล้วค่อยๆ จูงให้เขาสนใจ เรื่องข่าวสาร พี่ไม่ห้ามตรงๆ เพราะใจ มันต่อต้าน ตลอดเวลา เมื่อเราเห็น พ่อแม่บางคน สอนลูกว่า "อย่าทำไอ้นั่นสิ อย่าทำไอ้นี่สิ" เช้ายันค่ำ จนลูกตื่นแล้วหลับใหม่ ได้ยินแต่ข้อห้าม นั่นไม่ใช่ การสอน เราควรจะมีเวลา ที่ได้คุยกับเขา เมื่อเห็นว่าเรามีช่อง ที่จะแทรกความคิด เราก็ค่อยๆ พูด เราสามารถคุย กับเขาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การแต่งตัว การใช้นาฬิกา การใช้โทรศัพท์ เราจะตั้งคำถามว่า "ทำไมผู้หญิงคนนี้ ถึงถูกฉุด" ก็จะได้ ข้อสรุปกันว่า เราไม่ควรมี เครื่องประดับ ราคาแพงๆ หรือ แต่งตัว ล่อแหลม จนไปจูงใจ ให้ผู้ชายมันคิดมิดีมิร้าย

เนื้อเพลง "พ่อของลูก" ในอัลบั้ม "ดั่งดวงใจ" เหมือนสะท้อนว่า เขาแต่งออกมาจากใจ จากการซึมซับ ข้อคิดของพ่อ
สุเทพ : ครับ
บุษปรัตน์ : พอลูกมีความคิดแล้ว ก็ช่วยพ่อแม่แก้ปัญหาด้วย สำหรับพี่แดง ลูกช่วยได้มากๆ เลย แค่เขา มากอด แล้วบอกว่า "แม่ ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ" ก็ถือว่าช่วยแล้วนะ นี่เป็นความอบอุ่น ความทุกข์มันก็หมดไป

เป็นครอบครัวที่ทั้งอบอุ่นและสิ่งแวดล้อมดี
สุเทพ : เรามองสังคมโดยรวมยังคิดพาดพิงไปถึงสังคมทั่วไปเลยว่า ถ้าสังคมสามารถ แบ่งพื้นที่ได้ว่า ครอบครัวหนึ่ง ควรจะมีที่ดินเท่าไร ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อม ของเขาอยู่กัน อย่างมีความสุข และพอดี เรามีประชากร หกสิบกว่าล้านคน เราจะจัดสรร ขวานทอง ของเราอย่างไร ให้พอดี เราจะได้อยู่กัน อย่างสงบสุข
บุษปรัตน์ : บ้านนี้ ๔๗ ตารางวา สำหรับครอบครัวเรา พอแล้วค่ะ
สุเทพ : นักการเมืองบางคนมีที่ดินครอบครัวเดียวเกือบจังหวัดหนึ่ง เขาเอาไปทำอะไร แล้วทำไม บางครอบครัว อยู่ในซอกหลืบ เมื่ออยู่อย่างนั้น ความคิดของเขา ก็เป็นอย่างนั้น เพราะมันมีผล แน่นอน ถ้าครอบครัว พอมีพื้นที่บ้าง มีต้นไม้บ้าง ไม่ต้องมาก แค่ ๔๗ ตารางวา นี่แหละ จะได้แจ่มใส จะได้คิดอะไรออก จะได้มีส่วน ทำให้สังคมดีขึ้นด้วย

ครอบครัวแห่ง "ความหวัง" ที่จะให้สังคมดีงามอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข นับหนึ่งที่ การจัดการ ครอบครัว ของตนเอง "โฮปแฟมิลี่" คือ ตัวอย่าง ที่ชัดเจน

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)