>เราคิดอะไร

ยิ่งลดยิ่งสูง (สุสีมชาดก)


ค่าของคน สูงด้วย เสียสละ
กล้าลดละ ให้มาก ได้เอาน้อย
แม้บัลลังก์ ยังปล่อย ให้หลุดลอย
ไม่ยอมถอย เขยิบฐาน สู่ทางธรรม

มีอยู่วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันที่ธรรมสภา กล่าวถึงการเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ (การออกบวช) ของพระศาสดา พอดีพระศาสดาเสด็จมา เมื่อทรงทราบเรื่องนั้นแล‰ว จึงตรัสถึงการออกบวชของพระองค์ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เราตถาคต ผู้บำเพ็ญบารมีเต็มแล้วมากมาย หลายแสนโกฏิกัป ออกสู่มหา ภิเนษกรมณ์ ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ แม้กาลก่อนเราตถาคตก็ได้ละทิ้งราชสมบัติในกาสิกรัฐ ซึ่งกว้างใหญ่ถึง ๓๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กม.) ออกบวชมาแล้วเหมือนกัน"

ทรงนำเรื่องราวนั้นมาตรัสเล่า...

ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี
พระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ได้ประสูติในวันเดียวกันกับบุตรของปุโรหิต พระราชโอรส ได้พระนามว่า พรหมทัต ส่วนบุตร ของปุโรหิตได้นามว่า สุสีมะ

พระเจ้าพาราณสี ทรงปีติยินดียิ่งนัก ที่พรหมทัตกุมารกับสุสีมกุมาร เกิดวันเดียวกัน จึงทรงมี พระบรม ราชโองการ พระราชทานพี่เลี้ยง คอยดูแลแก่สุสีมกุมาร ทรงเอาใจใส่ ให้เจริญเติบโต พร้อมกับ พระราชโอรส ของพระองค์ ครั้นกุมารทั้งสอง ถึงวัยอันควรแล้ว ทรงส่งไปศึกษา ศิลปะทุกอย่าง ที่เมือง ตักกสิลา กระทั่ง ร่ำเรียน จนสำเร็จแล้ว จึงกลับคืนสู่นครพาราณสี

บัดนี้ทั้งสองกลายเป็นหนุ่มรูปงามสง่า มีผิวพรรณผุดผ่องราวเทพบุตรจุติมาเกิด พระเจ้าพาราณสี ทรงแต่งตั้ง ให้พระราชบุตรเป็นอุปราช ส่วนสุสีมะ ก็ให้เป็นพระสหายคนสนิทช่วยงาน ไม่ว่าอุปราช จะอยู่ที่ใด พระสหายก็อยู่ที่นั้น ได้ร่วมเสวย ร่วมงาน และร่วมประทับ บรรทมด้วยกัน มีความรักใคร่ ปรองดองกันดียิ่ง

เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าพาราณสี พระราชบุตรก็ขึ้นเสวยราชย์แทน แล้วแต่งตั้งสุสีมะไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตทรงเลียบเมือง ประทับนั่งบนคอช้างต้น แล้วทรงให้สุสีมะ นั่งอยู่บนหลังช้าง เสด็จพระราชดำเนิน ประทักษิณ (ทำความเคารพ โดยการเวียนขวา) รอบพระนคร

ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนี ประทับยืนทอดพระเนตร ที่ช่องพระแกล (หน้าต่าง) ด้วยหมายพระทัยว่า
"เราจะชื่นชม ดูลูก อันเป็นที่รักของเรา"

แต่พอได้ทอดพระเนตรเห็นสุสีมะ ปุโรหิตที่งามสง่าจับใจ นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) ของพระเจ้า พรหมทัตแล้ว ถึงกับพระทัยปั่นป่วน เกิดปฏิพัทธ์อย่างแรงกล้า จนต้องรีบเสด็จ กลับเข้า ห้องบรรทมทันที ทรงงดเว้น พระกระยาหารทุกอย่าง แล้วเสด็จบรรทม ด้วยตั้งพระทัยว่า
"เราจะลืมเสีย มิฉะนั้นแล้ว หากเราไม่ได้ ปุโรหิตมาครองคู่ เราก็จะตาย ณ ที่นี้แหละ"

พระราชชนนี ทรงทรมานพระองค์ แต่ก็มิอาจตัดพระทัยเสน่หาไปได้ ครั้นเวลาล่วงเลยไป พระราชา ไม่ทรงได้พบ พระชนนีเลย จึงตรัสถามขึ้นว่า
"แม่ของฉันไปไหนกันเล่า มิได้พบเห็นเลย"
"ประชวร พระเจ้าข้า"

พระราชาจึงเสด็จไปถึงที่ประทับ แล้วตรัสถามพระราชชนนีถึงสาเหตุ
"เสด็จแม่ประชวรเป็นโรคอะไร พระเจ้าข้า"

แต่ด้วยความละอาย พระราชชนนีไม่กล้าตรัสบอกออกไป ทรงนิ่งเงียบเสีย พระราชาจึงจำต้องเสด็จกลับ แล้วรับสั่ง กับพระมเหสีของพระองค์ว่า
"เธอจงไปเยี่ยมดูอาการเสด็จแม่ พยายามสอบถามการประชวร มาให้ได้ด้วยเถิด"

พระนางจึงเสด็จไปเยี่ยมไข้ ทรงปรนนิบัติพัดวีนวดเนื้อนวดตัวให้ด้วยรักและห่วงใย ความลับ ระหว่าง หญิงต่อหญิง ด้วยกัน จึงไม่มี เมื่อพระนางทราบความในพระทัย ของพระราชชนนีแล้ว จึงนำไปทูล พระราชา

เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ได้รับสั่งกับพระมเหสีว่า
"เธอจงไปทูลเสด็จแม่ ว่าเรื่องนี้จะเป็นที่เรียบร้อยตามพระประสงค์ ขอให้เสด็จแม่ เบาพระทัยเถิด"

แล้วพระราชาทรงเรียกให้ปุโรหิตมาเข้าเฝ้า เล่าเหตุที่พระราชชนนีประชวรให้ฟัง ตรัสขอร้อง พระสหาย สนิทว่า
"สหายเอ๋ย ขอจงช่วยให้ชีวิตแก่เสด็จแม่เถิด สหายจงเป็นพระราชา แล้วให้เสด็จแม่เป็น พระมเหสี ส่วนเรา จะเป็น อุปราชเอง"

ปุโรหิตทูลคัดค้านเต็มที่ว่า
"ข้าพระองค์ไม่อาจทำอย่างนั้นได้เด็ดขาด"

แต่พระราชาทรงอ้อนวอน รบเร้าตลอดเวลา ทุกเมื่อเชื่อวัน ในที่สุดสุสีมะก็ต้องยอมรับ พระเจ้าพรหมทัต จึงทรงอภิเษกปุโรหิต ให้เป็นพระราชา พระราชชนนี เป็นอัครมเหสี แล้วพระองค์ลดฐานะ เป็นอุปราช

พระเจ้าสุสีมะทรงครองราชย์ด้วยดี บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น รุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์กันทั่วหน้า

จนกระทั่งวันหนึ่ง...ดวงตาเห็นธรรมปรากฏแก่พระองค์ ทำให้ทรงระอาพระทัย ในชีวิตครองเรือน ทรงปรารถนาละเว้น ออกจากกามทั้งหลาย มีพระทัยน้อมไป ในการบรรพชา ไม่ทรงอาลัยไยดี ถึงความยินดี ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทางโลก

บัดนี้ไม่ว่าพระะองค์จะประทับยืน ประทับนั่ง เสด็จบรรทมก็ตาม ทรงรู้สึกเสมือนถูกคุมขัง อยู่ในเรือนจำ เสมือนไก่ ถูกจับขังไว้ในกรง ฉะนั้น พระองค์จึงบรรทม เพียงลำพังผู้เดียว เป็นเหตุให้พระอัครมเหสี ทรงเข้าใจผิดไปว่า

"พระราชาบรรทมแต่เพียงลำพัง ไม่ทรงอภิรมย์กับเรา คงเพราะพระองค์ ยังเป็นหนุ่มแน่น แต่เราสิเริ่มแก่ มีผมหงอก บนศีรษะแล้วกระมัง ถ้าอย่างนั้น เราต้องใช้อุบาย ทำให้พระราชาทรงคิดว่า พระองค์ก็แก่แล้ว เช่นกัน จะได้ทรงร่วมอภิรมย์กับเรา"

วันหนึ่ง...เมื่อโอกาสมาถึง พระอัครมเหสีทรงช่วยสางพระเกสาให้พระราชา แล้วตรัสขึ้นว่า
"พระองค์ อันเป็นที่รักของหม่อมฉัน บัดนี้พระองค์ทราบหรือไม่ว่า พระองค์ทรงชราแล้ว มีพระเกศาหงอก เส้นหนึ่ง ปรากฏแล้ว เพคะ"

"ถ้าอย่างนั้น เธอจงถอนผมหงอกเส้นนั้นออกมา วางไว้บนมือของฉันเถิด"

พระนางจึงทรงถอน พระเกศาดำเส้นหนึ่ง ของพระราชา เอาทิ้งไปเสีย แล้วทรงถอน พระเกสาหงอก เส้นหนึ่ง ของตน วางลงบนพระหัตถ์ ของพระราชา

พระเจ้าสุสีมะ ทอดพระเนตรพระเกศาหงอกนั้นแล้ว ทรงสะดุ้งหวาดกลัว พระเสโท (เหงื่อ) ไหลออก จากพระนลาฏ (หน้าผาก) ทรงอุทานกับพระองค์เองว่า

"สุสีมะเอ๋ย เมื่อก่อนเจ้ายังเป็นหนุ่มผมดำ มาวันนี้เจ้ากลายเป็นคนแก่ผมหงอกเสียแล้ว เจ้ามัวจม อยู่ในเปือกตม คือกาม ถอนตนไม่ขึ้น เสมือนหมูจมอยู่ในเปือกตมคือคูถ ฉะนั้น บัดนี้เวลาของเจ้า มาถึงแล้ว จงละกาม ทั้งหลายออกบวช เป็นเวลาแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ แล้ว"

พระมเหสีทรงได้ยินดังนั้น ก็ทรงตกพระทัยใหญ่ ทรงดำริว่า
"เราตั้งใจจะผูกมัดพระทัยของพระราชาไว้ ไฉนกลับกลายเป็น จะต้องสละพระองค์ไปเสียเล่า"

พระนางจึงทรงรีบสารภาพความจริงในทันที
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผมหงอกเส้นเดียวนั้น เป็นของหม่อมฉันเอง ไม่ใช่ของพระองค์ หม่อมฉัน ถอนออกมา จากศีรษะของหม่อมฉันเอง หม่อมฉันทูลคำเท็จ ด้วยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตน ขอพระองค์ ทรงลงโทษ หม่อมฉันด้วยเถิด

พระองค์ยังทรงหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย มีพระโฉมชวนชมงามตา พระฉวีวรรณ (ผิวกาย) งามดั่งใบกล้วย แรกผลิ ขอพระองค์ ทรงครองราชย์อยู่ก่อนเถิด ทรงดูแลหม่อมฉันด้วย อย่าทรงทำให้ หม่อมฉัน เป็นหม้าย ไร้ที่พึ่งเลย เพคะ"

พระเจ้าสุสีมะทรงปลงตกแล้วในพระทัย จึงตรัสออกไปว่า
"เราได้เห็นสาวสวยวัยรุ่น มีผิวพรรณผุดผ่อง เกลี้ยงเกลา รูปกายงดงาม ทรวดทรงเฉิดฉาย ท้วงท่า อ่อนหวาน ละมุนละไม ยามเข้าใกล้ชายใด ก็เป็นเหมือน ยั่วยวนใจชายอยู่ฉะนั้น แต่ต่อมา ...เราได้เห็น สาวงามนั้น เข้าสู่ความชรา มีอายุ ๘๐-๙๐ ปีถือไม้เท้าสั่นงันงก กายคดงอ ค่อมลง เดินก้มหน้าอยู่ ราวกับ หาเศษเงินที่หายไป รูปร่าง หน้าตาที่สวยงามทั้งหลาย หายไปหมดสิ้นแล้ว"

ทรงแสดงโทษ ของกายแล้ว ทรงบอกถึงความเบื่อหน่าย ในชีวิตของคนคู่ แก่พระมเหสีว่า

"การที่เราหลีกออกไปนอนแต่เพียงผู้เดียว ก็เพราะครุ่นคิดไตร่ตรองถึงคุณและโทษ ของรูปกาย ทั้งหลายอยู่ เราพิจารณา เห็นว่า แม้ตัวเรา ก็ต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ยินดี ในการอยู่ครองเรือน ถึงเวลาที่เรา จะประพฤติ พรหมจรรย์แล้ว

เพราะความยินดี ของผู้ครองเรือนนี้แหละ เป็นเชือกผูกมัดเหนี่ยวรั้งไว้ คนผู้มีปัญญา ย่อมตัดเชือกนี้ได้ ไม่อาลัยไยดี ละทิ้งกามสุข แล้วออกบวช เป็นที่รื่นรมย์ใจ"

พระเจ้าสีสุมะตรัสยืนยันเช่นนั้นแล้ว รับสั่งให้อุปราชมาหา ทรงมอบราชสมบัติให้ แม้ญาติมิตร สหาย ทั้งหลาย จะคร่ำครวญอยู่ ก็ทรงละทิ้งราชบัลลังก์ แล้วออกบวชเป็นฤๅษี กระทำฌาณ (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) และ อภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ให้เกิดขึ้น เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
................ .
พระศาสดาตรัสชาดกนี้จบแล้ว ทรงประกาศว่า
"พระอัครมเหสีในครั้งนั้น มาเป็นพระนางพิมพาในบัดนี้ พระเจ้าพรหมทัต มาเป็นพระอานนท์ ในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าสุสีมะ มาเป็นเราตถาคตเอง"

แล้วทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ทำให้ภิกษุเหล่านั้น ได้ดื่มด่ำ รสแห่งอมฤตธรรมแล้ว

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๐๗๙ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๓๘๑)


ค่าของเงินสูง เมื่อ ค่าของคนต่ำ
ค่าของเงินต่ำ เมื่อ ค่าของคนสูง
ค่าของงานสูง เมื่อ ค่าเงินเดือนต่ำ
ค่าของงานต่ำ เมื่อ ค่าเงินเดือนสูง

- ขวัญกล้า

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)