>เราคิดอะไร

กระแสธาร กระบวนการทัศน์ภารตวิทยา
และจีนวิทยาในไทยและอุษาคเนย์
(ตอนจบ)
ส.ศิวรักษ์
(แสดงในการเสวนาอาศรมความคิดเรื่อง"ภูมิปัญญานิเทศศาสตร์ตะวันออก"
ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓)

(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๕)

ที่เสนอภาพลบมานั้น ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความท้อใจ หากเดินตามรอยพระพุทธพจน์ ที่ตรัสว่า ความทุกข์ เราต้องเผชิญ แล้วหาเหตุ แห่งทุกข์ให้ได้ โดยเหตุแห่งทุกข์ของมหาวิทยาลัยในเมืองนอกนั้น เกิดแต่อหังการ มมังการ ของพวกครูบาอาจารย์ ซึ่งมีอวิชชา เป็นเจ้าเรือน แล้วปล่อยให้ความโลภโกรธ หลงมาครอบงำ จนเขาแต่ละคนหาความสงบสุข ภายในตนไม่ได้ ความรู้จึงแยกออก จากคุณงามความดี โดยที่ความข้อนี้ GE Moore แห่งเคมบริดจ์ ได้ยืนยันไว้นานแล้ว ในเรื่อง Principia Ethica ของเขา และ Erarmus ก็คำนึงถึง เรื่องนี้ ค่อนข้างมาก แต่สมัย Reformotion นั้นแล้วด้วยซ้ำ และแล้วยุโรป และสหรัฐ ก็แก้ประเด็นนี้ไม่ตก กับสถาบัน การศึกษาของเขา โดยที่เราเอาเยี่ยงอย่างเขามา อย่างไม่ตระหนัก ถึงประเด็นหลัก ข้อนี้เอาเลย ก็ว่าได้

ถ้าสลัดความครอบงำทางวิชาการออกจากตะวันตกได้ เราก็อาจสามารถแสวงหากระแสธาร จากตะวันออก และ ตะวันตกได้ โดยเรียนรู้อย่างปราศจากอคติ ด้วยการกลับมาเข้าใจเสียใหม่ว่า objectivity ที่นักวิชา ตะวันตก อวดอ้างกันนักนั้น ไม่เป็นความจริง ตราบที่เรายังมีอคติอยู่ ย่อมโอนเอียง ไปตามอำนาจ ของความกลัว (ภยาคติ) ของความรัก (ฉันทาคติ) ของความเกลียด (โทสาคติ) และของความหลง (โมหาคติ) ด้วยกันทั้งนั้น

ไหนๆ เราจะมีอคติแล้ว ควรหันเข้าข้างคนทุกข์คนยาก เรียนรู้จากสมัชชาคนจน จากคนในสลัม นั้นแลคือ แหล่งของไทยคดีศึกษา ที่สำคัญยิ่ง ถ้าจะต้องการความรู้ ในเรื่องพม่า ลาว เขมร ก็ควรเรียน จากเพื่อนบ้าน นั้นๆ แม้จนคน ในประเทศนั้นๆ ที่จำต้องมาหากิน อยู่ในบ้านเมืองเรา รวมถึงญวน จีน และแขก แต่นี่เรา กลับต้องไปศึกษา วิชา หรือภูมิปัญญานิเทศตะวันออกกัน จากสหรัฐ หรือยุโรป กันแทบทั้งนั้น แม้พวกที่ ไปเรียนอินเดีย ก็น้อยคนนัก ที่ไปเรียนในเรื่องภารตวิทยา หรือลงไปหา คนทุกข์ คนยาก โดยเฉพาะ ก็คนจัณฑาล ซึ่งบัดนี้หันมาสมาทาน พุทธศาสนากันมิใช่น้อย จำเดิมแต่นายเอมเบดก้า เป็นต้นมา

อย่าลืมนะว่าพระยาอนุมานราชธน และ พระสารประเสริฐนั้น ได้ความรู้จากแขก ในเมืองไทย จากพระจีน พระญวนในเมืองไทย มากกว่าอะไรอื่น แม้การทำพจนานุกรม ของท่านเจ้าคุณ ท่านก็เรียนจาก เด็กข้างถนน ในเรื่องข้อแตกต่าง ของก้นกับตูด พอๆ กับที่ท่านเรียนจาก นักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่ร่วมสมัยกับท่าน โดยที่ในสมัยนั้น เรายังมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตจริง ยิ่งกว่าปลอม ดังที่ในราชบัณฑิตยสถาน สมัยนี้

แม้ที่สหรัฐ เจฟฟรี ฮอบกินส์ แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์ยิเนีย และโรเบิร์ต เทอรแมน แห่งมหาวิทยาลัยคอลัมเบีย ก็เรียนรู้ภาษาธิเบต อย่างเป็นเลิศ จากลามะ ชาวมองโกเลีย ที่ไปตั้งวัดอยู่ในรัฐ นิวเจอร์ซี่ต่างหาก แม้ทั้งคู่ จะเป็นนิสิต สังกัดอยู่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็ตามที ทางบ้านเราเอง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงศึกษา ภาษาเขมร ด้วยพระองค์เอง ครั้งทรงแปล หมายกำหนดการ พระราชพิธี ราชาภิเษก สมเด็จพระมณีวงศ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้โปรด ให้พวกเปรียญเขมร ในเมืองไทยตรวจ ผู้รู้เหล่านี้ หาที่ทรงพลาดพลั้งไปได้ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
(๑) กระแสธารทางภูมิปัญญานั้น น่าจะเรียนจากของจริง เรียนจากคนจริง เรียนจากธรรมชาติ ยิ่งกว่า เรียนจากตำรา ดังมีพุทธดำรัส ตรัสเตือนไว้แล้ว ในกาลามสูตร ถึงโทษของคัมภีร์ ของครูอาจารย์ และ ของการกำหนด วิชาการลงไป ตามนัยของ ตรรกะ และ อนุมาน ซึ่งเป็นแฟชั่น ของสถาบันทางอีกด้วย

หรือถ้าจะจับงานของมหาสีลา วีรวงศ์ ที่ลาว ก็จะตรวจได้ว่า อะไรเป็นอิทธิพล จากสมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ และ ของพระยาอนุมานราชธน เรื่อยไปจนถึงท้าวฮุ่ง และท้าวเจียง ซึ่งท่านผู้นี้ เป็นคนแรก ที่ชำระให้กรมศิลปากร จัดพิมพ์ ในสมัยที่พระยาอนุมานราชธน เป็นอธิบดี

แม้จับงานของหลวงวิจิตรวาทการและคึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างพิเคราะห์เจาะลึก ก็จะจับได้ว่า อะไรคือ ของปลอม อะไรคือการปลุกระดม อะไรคือชาตินิยม หรือ ขัตติยนิยม และ อะไรคืออิทธิพล ของฝรั่ง ที่เข้ามาโยงใยไปถึง ประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ที่แล้วๆมา เรายังศึกษากันอย่างฉาบฉวย จนคนทั้งสองนี้เลยกลายเป็นวีรบุรุษ ในทางวรรณกรรม ร่วมสมัยไป คล้ายๆกับที่ ป.พิบูล-สงคราม และ ส.ธนะรัชต์ ตลอดจน ถ.กิตติขจร และ ป.ติณสูลานนท์ กลายเป็นคนที่มีคุณความดีกันไปเอาเลย ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึง ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ยังได้

ยิ่งงานของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ด้วยแล้ว ถ้าวิจัยกันให้ลึกซึ้ง อย่างจริงจัง จักเข้าได้ถึงภารตวิทยา พุทธวิทยา จีนวิทยา พร้อมๆกับ ไทยวิทยา และฟรังฆวิทยา ทั้งทางด้านมากซิสต์ กระแสตะวันตก และตะวันออก อย่างน่าสนใจยิ่งนัก

แม้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะมีงานเขียนน้อยกว่าอาจารย์ปรีดี ถ้าวิจัยงานของท่านกัน แล้วสาวไป ยังต้นตอที่มา แห่งความคิดอ่านต่างๆ ของท่าน ก็จะได้อะไรๆ ที่ลึกซึ้ง และแยบคายมิใช่น้อย ทั้งนี้โดย ไม่จำต้อง กล่าวถึงบุคคลอื่นๆ อย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ และ พระอนุมานราชธน เป็นต้น

(๒) การเรียนรู้ทางภูมิปัญญานั้น ต้องตีประเด็นไปให้ได้ว่าอะไร คือความเป็นเลิศ อะไรคือความเป็นรอง อะไรคือความเท็จ อะไรคือความจริง สิ่งซึ่งเรียกว่า มายากลนั้น อิทธิพลอย่างไร เรื่องของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ

พงศาวดารต่างจากประวัติศาสตร์อย่างไร แม้ประวัติศาสตร์ ฉบับชนชั้นปกครอง ก็ต่างไปจาก ประวัติศาสตร์ ของชั้นที่ ถูกปกครอง เสียแล้ว มิไยต้องเอ่ยถึงประวัติศาสตร์ ของชาติหนึ่ง กับของอีกชาติหนึ่ง ยังประวัติศาสตร์ เวียดนาม ที่ญวนเขียน กับอเมริกันเขียนนั้น ต่างกันอย่างไร แล้วใช้อะไร เป็นวิชาการ อย่างฝรั่ง ที่เราถูกครอบงำมา

เราจะยอมรับความข้อนี้ได้ ต้องเริ่มสงสัยเสียก่อนว่า ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เราถูกฝรั่งสะกด มาแต่ สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือมิใช่* ยิ่งจำเดิมแต่สมัยของ ม.จ.วรรณไวทยากร มาจน กรมหมื่นนราธิป พงศ์ประพันธ์ นั้น ศัพท์บัญญัติต่างๆ ในทางภาษาไทย ถูกระบบ ตะวันตก ครอบงับไว้อย่างไร (ความข้อนี้ ดูเหมือนมี เกษียร เตชะพีระ เพียงคนเดียว ที่เอ่ยถึงไว้อย่างรู้เท่าทัน) รวมถึง ความสนใจ ในด้านภารตวิทยา จีนวิทยา ก็เป็นผลผลิต มาจาก ทิศาปาโมกข์ฝรั่ง แทบทั้งนั้น หรือมิใช่

มีใครในสภาวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยบ้างไหม ที่ยอมรับการครอบงำดังกล่าว ข้าพเจ้า เคยเสนอเรื่องนี้ กับนายแพทย์ วิจารณ์ พานิชมาแล้ว แต่ก็ไร้ผลใดๆทั้งสิ้น แม้ในขณะนี้ ข้าพเจ้า ก็มีแผนการวิจัย แบบที่ไปพ้นการวิจัย การครอบงำ ของตะวันตก แม้จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ตาม อยากทราบว่า นักวิชาการคนใด จะสนใจ ให้ความเป็นธรรม กับข้อเสนอ ที่ว่านี้หรือไม่

(๓)การเรียนรู้ในเรื่องภารตวิทยาและจีนวิทยา ตลอดจนอุษาคเนย์วิยานั้น นอกจากการสัมผัสจริงๆ แล้ว เริ่มได้จาก ภาษาของเราเอง แม้เราจะไม่รู้ ภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาจีน ภาษามอญ เขมร พม่า ชวา มาลายู หรือ ตากาล็อก ก็อาจเริ่มจาก งานเขียนในภาษาไทย ของเรานั้นเอง ยกตัวอย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์

ถ้าจับงานของเขาให้ได้แม่น ก็จะโยงกลับไปได้ถึง (๑) กรมสมเด็จพระปรมานุชิตโนรส (๒)เจ้าฟ้ากุ้ง (๓)พระยาตรัง (๔)ศรีปราชญ์ (๕) โองการแช่งน้ำ (๖) ไตรภูมิพระร่วง (๗) จารึกสุโขทัยหลักที่หนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่ ของปลอม ดังที่นักปราชญ์รู้พลั้ง เสแสร้ง แสดงความเขลา ออกมา) อังคาร มีอัจฉริยภาพพิเศษ ตรงที่งานเขียนของเขา ช่วยให้เราเห็นกระแสธาร ในทางไทยวิทยา ซึ่งโยงไปถึง พุทธวิทยา และ ไสยเวท วิทยา ซึ่งก็คือส่วนหนึ่ง ของภารตวิทยา และ ลังกาวิทยา โดยที่งานของเขา ช่วยให้เรา ได้ลิ้มรส อันเลิศ ทั้งในทางวรรณศิลป์ และ วิจิตรศิลป์ มาตรฐานวัดในเรื่อง Objectivity ทั้งนี้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึง ความงาม ความไพเราะ ซึ่งโยงใยไปถึงความดี และความจริง

ถ้าตีประเด็นพวกนี้ไม่ชัด เราก็ยังวนเวียนอยู่ ในความกึ่งดิบกึ่งดี ที่มองไม่เห็นในทุกขสัจจ์ ในสังคม และ ความอาสัตย์อาธรรม ในคราบของวิชาการ

(๔) นอกจากการเรียนของจริง และจากวัฒนธรรม ตลอดจน วรรณกรรมและศิลปกรรมของเราเองแล้ว ถ้ามีฉันทะพอ ควรต้องรู้ ภาษาเพื่อนบ้าน และ/หรือ ตันติภาษา ให้แตกฉาน ดังฉาน ดังที่พระท่าน เคยเรียน มคธภาษา อย่างแตกฉาน จนการเรียนการสอน ในกำกับของ แม่กองบาลี ตั้งแต่มาตั้ง ป้อมปราการ อยู่ที่สำนัก วัดสามพระยา ตลอดมา จนเวลานี้ ได้กลายเป็นเรื่อง ที่ปราศจากไปเสียแล้ว ซึ่งความเป็นเลิศ ในทาง เนื้อหาสาระ แห่งพระสัทธรรม ทั้งนี้รวมถึง การเรียนการสอน และการวิจัย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

(๕) การเรียนภาษาที่ดีที่สุดคือต้องรู้จักตีภาษานั้นๆ ให้แตก ยิ่งการเรียนภาษาที่ต่างไปจากของเรา ต้องเริ่มที่ การแปล และ แปลเพื่อเข้าถึง เนื้อหาสาระ ของมนุษย์ ในด้านความคิดฝัน ของมนุษย์ นั่นคือ วรรณคดี ในด้านการกระทำของมนุษย์ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ เนื่องในความคิดนึก อย่างลึกซึ้ง ของมนุษย์ นั่นคือ ปรัชญา ตลอดจน กฎเกณฑ์ของมนุษย์ ที่พยายามแสวงหา ความยุติธรรม นั่นคือ นิติวิทยา

ถ้าจับประเด็นพวกนี้ไม่ได้มั่นหรือแม่น การเรียนการสอนและการวิจัยก็เป็นไปอย่างกึ่งดิบกึ่งดี และแยกออก เป็นเสี่ยงๆ อย่างปราศจาก องค์รวม ดังที่เห็นกันอยู่ได้โดยทั่วไป ในสถาบันหลัก ทางด้านการศึกษา ในแทบทุกประเทศ

ถ้าจับประเด็นหลักได้ แล้วเราจะจับกระแสธารของภารตวิทยา จีนวิทยา ยุโรปวิทยาได้ โดยสาขาวิชานั้นๆ ต้องรับใช้ ความเป็นมนุษย์ ให้เข้าถึง ความงาม ความดี และความจริง

* ดูรายละเอียดได้ใน อำนาจของภาษาและสถาบันวิชาการเพื่อใคร ของ ส.ศิวรักษ์

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)