>เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า-
เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ในการขอขึ้นเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว.?


ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นนี้ ภาวะของรัฐบาลที่มีปัญหารายจ่ายมาก แต่รายได้น้อย ยังแก้กันไม่ตก แต่นักการเมืองกลุ่ม ส.ว. ส.ส. ต่างจับมือกันขอขึ้นเงินเดือน ให้แก่ตัวเอง ก่อให้เกิด กระแสวิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งคัดค้าน และสนับสนุน ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ นับว่ามีนัยสำคัญ ในการบ่งบอก ความคิด จิตใจ ภูมิธรรม ของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ได้เป็นอย่างดี จึงสมควร ที่จะได้บันทึก เป็นประวัติศาสตร์ ทางสังคม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

นายสมศักดิ์ คุณเงิน หัวหอกเพิ่มเงินเดือน ส.ส.-ส.ว. ในฐานะประธานคณะทำงาน พิจารณายกร่าง พระราชกฤษฎีกา บำเหน็จบำนาญของฝ่ายนิติบัญญัติ และในฐานะของผู้แทนฯ บ้านนอก ทำให้มุมมอง การขึ้นเงิน ส.ส. และ ส.ว. ในสายตาของ "สมศักดิ์ คุณเงิน" ส.ส. ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย ต่างไปจาก มุมมอง ของนักวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย

"เขาเห็นว่าสถาบันนิติบัญญัติต้องเป็นที่พึ่งพิงของสังคม ต้องมีประกันในการทำหน้าที่โดยอิสระ ปราศจาก การถูกครอบงำ ประกอบกับภาระรับผิดชอบที่จะต้องดูแลประชาชนในรูปแบบต่างๆ ที่กว้างขวาง ดังนั้น การได้รับเงินเดือน และสวัสดิการที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องจำเป็น" (มติชน ๑๒ ส.ค. ๔๕)

ทางด้านนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด ได้หนุนการขึ้นเงินเดือน ครั้งนี้อย่างสุดๆ ตัว โดยกล่าวว่า "เงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. ถ้าเทียบกับศาลหรืออัยการ ซึ่งมีหน้าที่ดูแล ไม่มากนัก ก็มีเงินเดือน คนละแสนกว่าบาท แต่ขณะที่ ส.ส. ซึ่งดูแลคนทั้งประเทศ กลับได้เงินเพียง ไม่กี่หมื่นบาท อย่างนี้จะเรียกว่า มีความเป็นธรรมหรือไม่" (กรุงเทพธุรกิจ ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๕)

"กระสุนทอง" จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เห็นว่าจะขึ้นเงินเดือนกันก็ได้ แต่ต้องมี "ข้อแม้" ...ข้อแม้ประการแรก คือ เมื่อขึ้นเงินเดือนแล้ว ส.ส. และ ส.ว. ต้องหยุดรับหรือขู่ เอารายได้แฝงโดยเด็ดขาด เพราะรายได้แฝง หรือรายได้นอกระบบนั้น มักมาจากการโกง หรือไม่ก็มาจาก ธุรกิจผิดกฎหมาย ถ้าขึ้นเงินเดือนแล้ว ประเทศ ไม่เสียหาย จากการโกง หรือจากธุรกิจมืด ขึ้นได้เลย ขึ้นเยอะๆ ก็ได้ เพราะประเทศ จะได้มากกว่า ..... ข้อแม้ประการที่สอง เมื่อได้ขึ้นเงินเดือนกันแล้ว ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด และรับผิดชอบกันมากขึ้น ต้องไม่เข้าประชุมสภาสาย ต้องไม่หลังยาว ต้องไม่เบียดเบียน เวลาประชุมสภา หรือ ประชุมกรรมาธิการ ไปกับงานส่วนตัว ถ้าปฏิบัติ "ข้อแม้" ๒ ประการ นี้ ได้ รับรองว่า "ไฟเขียว" ทั้งเมือง ยินดีให้ ส.ส. และ ส.ว. ขึ้นเงินเดือน แต่ถ้าขึ้นไปแล้วจับได้ว่า ใครเบี้ยวเงื่อนไข ข้อแม้ดังว่า ต้องถูกยึดเงินเดือน เข้าหลวงทั้งหมด เอากันอย่างนี้ดีไหม....(ไทยรัฐ ๙ ส.ค. ๒๕๔๕)

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธาน สภาผู้แทนราษฎร ได้คัดค้าน โดยมีมุมมอง ที่ต่างจาก ประธานสภา ด้วยเหตุผลว่า "ภารกิจของคนที่เป็นผู้แทนราษฎร เป็นที่รู้กันว่า ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้แทน ของปวงชนชาวไทย เป็นที่หวังสุดท้าย ของคนชนบท ภารกิจหน้าที่ ที่ค่อนข้าง แบกภาระหนักพอสมควร แต่ก็ไม่มีสิทธิ์บ่น เพราะผู้แทนฯเลือกเอง ที่จะอาสามาทำงานอย่างนี้

"ส.ส. และ ส.ว. ต้องสำนึกว่า หน้าที่สำคัญ ของตัวเองคืออะไร สัญญาประชาคม ที่ให้ไว้ต่อประชาชน จะทำอย่างไร การขอขึ้นเงินเดือน คงหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าขอขึ้นเงินเดือน แต่ไม่รับผิดชอบ ต่อตัวเอง ก็จะเสียหาย"
(ไทยรัฐ ๗ ส.ค. ๒๕๔๕)

บทนำมติชนในวันที่ ๗ ส.ค. ๒๕๔๕ ได้นำเสนอประเด็นในเรื่องนี้ว่า "...แทบจะไม่ค่อยได้ยิน ใครพูดว่า น่าเห็นใจ ส.ส. และ ส.ว. แต่เสียงที่พูดกันอย่างอื้ออึงก็คือ ไปเพิ่มเงินเดือน ให้คนเหล่านี้ทำไม ขี้เกียจมา ประชุมก็ปานนั้น ทะเลาะขัดแย้งกันเอง ใช้ความเป็น ส.ส. ไปในทางมิชอบก็ปานนั้น นอกจากนี้ การทำตัว เป็นคนมั่งมี เช่น ซื้อเสียงเวลาเลือกตั้ง การขับขี่รถเบ๊นซ์ การใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย การใช้ภาษีอากร ของประชาชนอย่างสุรุ่ยสุร่าย เช่น ยกคณะกรรมาธิการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ฯลฯ

คุณสุชาติ ศรีสุวรรณ ในคอลัมน์เดินหน้าชนของมติชน วันที่ ๖ ส.ค. ๒๕๔๕ ได้เสนอมุมมอง ที่แหลมคมว่า "ตอนนี้การเสนอขึ้นเงินเดือน กำลังดูคล้ายๆ กับเป็นแฟชั่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ขอขึ้นเงินเดือน เมื่อพูดถึง เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ปัญหาก็อยู่ที่ ครูมีเงินเดือนน้อย ก็น่าจะเพิ่มเงินเดือน หรือแม้แต่ทางด้านตำรวจ ที่มีการสำรวจพบว่า วงการตำรวจของเรา อยู่ในอันดับ ๒ ที่ยอดแย่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชีย ก็มีเสียงเรียกร้องว่า ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะตำรวจ เงินเดือนต่ำ ทำให้เกิดการคอรัปชั่น จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเพิ่มเงินเดือน ให้แก่ตำรวจ ในแวดวงข้าราชการ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็หนีไม่พ้นที่จะได้ยินว่า ที่ทำงานไม่ได้ดีทุกวันนี้ เพราะเงินเดือนน้อยเกินไป

เอารายได้มากำหนดผลงาน กันเป็นแถว

การเอารายได้มากำหนดผลงาน ได้น้อยทำน้อย ทำไม่ดี ได้มากทำดีขึ้น แบบนี้ถ้าเป็นบริษัท เอกชนแล้ว มีพนักงาน ที่คิดแบบนี้ บริษัทนั้นรอวันเจ๊ง เพราะบริษัทเอกชน รายได้อยู่ที่ผลงาน ถ้าพนักงาน ช่วยกัน สร้างผลงาน ให้บริษัทมีรายได้มากๆ ย่อมมีโอกาส ที่จะเพิ่มเงินเดือนสูงๆ

แต่ถ้าคิดว่า ได้เงินเดือนแค่นี้ก็ทำแค่นี้ คนที่มีมุมคิดแบบนั้น ยากที่ผู้บริหาร จะเอาไว้ร่วมงาน เพราะทำให้ วัฒนธรรมองค์กรเสีย.

แต่ข้าราชการทำได้ เพราะรายได้ที่จะเอามาขึ้นเงินเดือนให้ เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชน

ถ้ารัฐบาล เป็นบริษัท ก็เป็นบริษัทที่อยู่ในขั้นโคม่า ด้วยหนี้สินที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาด การใช้ งบประมาณ ที่สูญเปล่า รั่วไหล

รัฐบาลจึงมีหนี้สิน ล้นพ้นตัว อยู่ได้ด้วยกู้เงินจากแหล่งเงินกู้หนึ่ง ไปใช้อีกแหล่งหนึ่ง เป็นแชร์ลูกโซ่ ผลของ การพัฒนาประเทศ เป็นอย่างไร ใครมองก็เห็น

ส.ส. ยังโดดร่มการประชุม จนกระทั่งสภาล้มอยู่บ่อยๆ
มีหน้ามาขอ ขึ้นเงินเดือนอีกหรือ

โพลชี้คนกรุงค้านขึ้นเงินเดือน ส.ส.
วันเดียวกันนี้ ธุรกิจโพลล์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกลุ่มอาชีพต่างๆ ต่อการปรับ ขึ้นค่าตอบแทนของ ส.ส. และ ส.ว. ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน ๙๔๒ ตัวอย่าง โดยผล สำรวจระบุ มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ ๘๐ ขณะที่อีกร้อยละ ๖ ยังเห็นควรปรับลดเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. แต่มีร้อยละ ๑๔ เห็นด้วย

ขณะเดียวกันร้อยละ ๗๐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีบำเหน็จบำนาญสำหรับ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ เพราะเห็นว่า ประเทศยังคงประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญ ผลงานทั้งสองสภา ยังไม่เป็นที่พอใจ ของประชาชน

พรรคเพื่อฟ้าดินร่วมค้านขึ้นเงินเดือน

วันเดียวกันนี้ เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. สมาชิก พรรคเพื่อฟ้าดิน จำนวน ๒๐๐ คน เดินทางมาประท้วง หน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้าน การขึ้นเงินเดือน ส.ส. และ ส.ว. และได้ยื่นหนังสือกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา โดย น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ประเทศยังมีหนี้สิน กับต่างประเทศอยู่

นอกจากนี้ การที่ ส.ส. และ ส.ว. เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน ก็เพื่อที่จะช่วยพัฒนาชีวิต ของคน ส่วนใหญ่ ให้ดีขึ้น แต่กลับสร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชน โดย ส.ส. และ ส.ว. มีความร่ำรวยขึ้น แต่ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้แก้กฎหมาย เพื่อเอื้อโอกาส ให้องค์กร ประชาชน มีศักยภาพ ในการฟื้นฟูตัวเองปลดหนี้สิน โดยคนทั้งชาติ ต้องช่วยกันประหยัด โดยเฉพาะ ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำตัว ให้เป็นตัวอย่าง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ ส.ส. และ ส.ว. จะพิจารณาขึ้นเงินเดือน ให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง" (กรุงเทพธุรกิจ ๑๐ ส.ค. ๔๕)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)