หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

สีสันชีวิต.

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.


แนวคิดของบุคคลระดับผู้บริหารองค์กร ที่เน้นการแก้ปัญหาต้นเหตุ ด้วยการพัฒนาคน
ให้พร้อมทั้งคุณภาพ และ คุณธรรม นับเป็นเรื่องที่น่าศึกษา

บนเส้นทางชีวิตที่รอการพิสูจน์
ผมเกิดและโตในกรุงเทพฯ อยากเป็นอาจารย์ ทำงานในห้องแล็บ หรือไม่ก็ทำงาน กรมพัฒนาที่ดิน ไม่ได้คิดว่า จะทำงานธนาคาร แต่เมื่อได้มาทำงานที่ ธ.ก.ส. ก็พอใจ เริ่มงานครั้งแรก เป็นพนักงานสินเชื่อ ที่ขอนแก่น เป็นหัวหน้าหน่วยอยู่ ๓ ปี เลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้า พนักงานสินเชื่อ ๑ ปี แล้วไปเป็นผู้จัดการสาขา ที่จังหวัดเลย ๕ ปี ในยุค พลโทเปรม ติณสูลานนท์ เป็นแม่ทัพภาค ๒ พันเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการ

ผมมีความผูกพันกับงาน อาจเพราะสภาพชนบทสมัยโน้นแห้งแล้ง และ ลำบากมาก ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การทำงาน ธ.ก.ส. เป็นประโยชน์ ขอเพียงเราทำงาน ในหน้าที่ ให้ดีที่สุด ก็เป็นการ ช่วยเหลือ ชาวบ้านแล้ว ยิ่งอยู่ที่จังหวัดเลย มี ผกค. เยอะ สมัยนั้น ฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ นายอำเภอ จะกลัวมากเลย รถราชการทุกคัน จะไม่ติดตราราชการ เพราะเกรง จะถูกซุ่มโจมตี มี ธ.ก.ส.ที่เดียว ใช้รถแลนด์ ฯ ซึ่งเป็นรถ สัญลักษณ์ราชการ และ เราติดตรา แผ่นโตว่า ธ.ก.ส. เพราะถ้าเมื่อไรชาวบ้าน เห็นเป็นตรา ธ.ก.ส. รถเราจะไม่ถูกทำร้าย เนื่องจาก ชาวบ้านรู้ว่า เราเข้าไปช่วยเขา พวกเขารักเรา

ผมไปเป็น ผจก.สาขาที่นั่น ๒ เดือนแรก ก็มีโอกาสพบกับ ชาวบ้านท่าลี่ ซึ่งเคยโดนโจมตี บ่อย ประชุมเสร็จ หัวหน้ากลุ่ม เดินมาถามผมว่า จะไปต่อที่ไหนอีก จะกลับอย่างไร ทางไหน ผมบอกว่า จะเข้าไปหมู่บ้านโน้น แล้วจะกลับเส้นทางเดิม เขาแนะ อย่ากลับเส้นเดิม ให้อ้อมไป อีกทางหนึ่ง พนักงานของผมกระซิบ นี่เป็นการเตือน ให้เรารู้ว่า เส้นทางเดิม อาจไม่ปลอดภัย และ ก็เป็นเรื่องจริง พอตกบ่าย มีข่าวทหาร เข้าไปในเส้นทางนั้น ถูกซุ่มโจมตี และเคยมี หัวหน้าหน่วย ด่านซ้ายของเรา มาเล่าให้ฟังว่า เขารู้สึก ใจคอไม่ค่อยดี ที่วันหนึ่ง ชายสามคน เข้ามานั่งฟัง และ พกปืนมาด้วย พอเลิกประชุม พวกเขาก็เข้ามาหา แล้วพูดว่า ดีแล้ว ที่พูดช่วยเหลือชาวบ้าน เขามาฟัง หลายหนแล้ว ถ้า ธ.ก.ส. ยังดูแลลูกค้า อย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหา มาได้ปลอดภัย ไม่ต้องห่วง จากเหตุการณ์หลายๆ ครั้ง ผมบอกพรรคพวก เสมอว่า เพราะเราทำดี ชาวบ้านจึงรักเรา มีอันตราย เขาก็จะคอยปกปักรักษา จะคอยเตือนเรา ไม่ว่าจะเป็น เขตด่านซ้าย ที่เป็นพื้นที่สีแดง สีชมพู หรือ ในพื้นที่ ไม่มีใคร กล้าเข้าไป แต่พนักงาน ธ.ก.ส. เข้าไปได้

ระลึกถึงอาจารย์จำเนียร สาระนาถ ผ่านความทรงจำของท่านรองเอ็นนู
ธ.ก.ส. เป็นธนาคารของรัฐบาล ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ซึ่งเขียนไว้ว่า "ธ.ก.ส. ให้ความช่วยเหลือ ทางการเงิน แก่เกษตรกร" เขาไม่ใช้คำว่า "ให้กู้" เพราะเจตนารมณ์ ของผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คนแรก ของ ธ.ก.ส. คือ อาจารย์ จำเนียร สาระนาถ อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลาออกจากราชการ มาเป็นผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. โดยท่าน เป็นผู้ร่าง กฎหมายด้วย ท่านเห็นความลำบาก ของชาวบ้าน ถ้าหากรัฐบาล ไม่เข้ามาช่วย อย่างจริงๆ จังๆ จะมีปัญหามาก พอดีช่วงนั้น รัฐบาลยุบธนาคาร เพื่อการสหกรณ์ และ ก็ตั้งธ.ก.ส. คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ ขึ้นมาแทน อาจารย์จำเนียร จึงรับอาสา มาเป็น ผู้จัดการใหญ่ คนแรก ผมคิดว่าที่ ธ.ก.ส. อยู่รอดปลอดภัย จนถึงวันนี้ เพราะมีผู้จัดการ คนแรก เป็นผู้ปลูกฝัง พนักงาน ตั้งแต่รุ่นหนึ่งเลย ท่านนำคนเก่า จากธนาคาร เพื่อการสหกรณ์ มาประมาณ ๓๐ คน นอกนั้น ท่านรับใหม่ทั้งหมด ท่านดำรงตำแหน่ง ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๗ เมื่อเกษียณแล้ว รัฐบาลยังต่ออายุ การทำงานของท่าน ถึง ๖๕ ปี จนต่อไป ไม่ได้อีกแล้ว ถึงได้เปลี่ยน ผู้จัดการใหญ่คนใหม่

สิ่งที่ท่านปลูกฝังให้แก่พนักงาน ธ.ก.ส. ก็คือ คนทำงานที่นี่ ต้องไม่เอาเปรียบ ประชาชน ต้องรัก ประชาชน ถ้าเรารักชาวไร่ ชาวนา เขาจะให้ความจริงใจกับเรา วันนี้ผม และ พนักงาน ธ.ก.ส. ทุกคน ยังรู้สึกถึงบุญคุณ เรามีมูลนิธิ อาจารย์จำเนียร สาระนาถ และ มีรูปปั้นของท่าน อยู่ชั้นล่าง หน้ากองรักษาการณ์ ทุกปีจะมีพิธีคารวะ ในฐานะที่ "ท่าน" เป็นผู้ก่อตั้ง และ วางรากฐาน ความดีไว้ เราก่อตั้ง "สถาบันพัฒนาการเกษตร และชนบท อาจารย์จำเนียร สาระนาถ" มีจุดประสงค์ เพื่อการอบรม เรื่องคุณธรรม จริยธรรม แก่พนักงานด้วย ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นหัวใจของ ธ.ก.ส.

ก้าวย่างที่นำเข้าสู่ประตูชัยแห่งความสำเร็จ
ผมทำงานอยู่ที่จังหวัดเลย ๕ ปี ก็ย้ายมาอยู่มหาสารคาม ๖ เดือน รวมแล้ว ทำงาน อยู่ต่างจังหวัด ประมาณ ๑๐ ปี หลังจากนั้น ก็เข้ามาอยู่ที่สำนักงานใหญ่ เริ่มแรก ก็เป็นผู้ช่วย หัวหน้ากองเงินกู้ ดูแลเงินกู้ ภาคอีสาน ต่อมาเลื่อนเป็น หัวหน้ากอง งบประมาณ คนมักถาม ผมบ่อยว่า จบเกษตร ในเรื่องดิน แต่ทำไม มาเป็น ผจก. สาขา และเป็นหัวหน้ากอง งบประมาณ ผมไม่น่าจะมี ความรู้เรื่องนี้ แต่ทำไมทำงานนี้ได้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ตอนที่ผม เป็นหัวหน้ากอง ธนาคารส่งผมไปเรียน ปริญญาโท ด้านการจัดการ ที่สถาบันบัณฑิต บริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาฯ เป็นคนแรก ที่เรียนด้วย ทำงานไปด้วย เรียนตอนเย็น หลักสูตร เป็นภาษาอังกฤษหมด เรียนจบภายในสองปี ถือว่าธนาคาร ให้อะไรผมเยอะ ก็คิดว่า เป็นการให้ โอกาสที่ดี เคยบอกกับ เพื่อนพนักงานว่า ถ้าทำงานดี ก็จะมีโอกาส ได้รับ การสนับสนุน ตามหลักการ ที่อาจารย์จำเนียร ได้สอนไว้ คุณไม่จำเป็น ต้องมีเส้น มีสาย มีนามสกุลใหญ่โต หรือ ร่ำรวย ไม่ต้องมีอะไร แต่ก็สามารถ เติบโต ก้าวหน้าได้ ใน ธ.ก.ส. ผมอยู่ถึง ตำแหน่งนี้ โดยไม่เคยไปหา เจ้านายที่ไหน ขอให้ตั้งใจทำงาน ก็มีโอกาส เติบโต ก้าวหน้าได้ เรื่องนี้ก็เป็นหัวใจสำคัญ อีกเรื่องหนึ่ง

จุดประกายความคิด "คำตอบอยู่ที่คน"
เมื่อตอนที่ผมมีโอกาสคุมงานด้านพนักงาน เป็น ผอ. ฝ่ายการพนักงาน ก็พยายามสร้าง ตรงนี้ ซึ่งบังเอิญ เป็นช่วงที่เราคิดว่า มีปัญหา เพราะในช่วงหลัง สังคมไทย มีค่านิยม ค่อนข้าง ฟุ้งเฟ้อ การสอนเด็ก ก็เน้นด้านความเก่งอย่างเดียว อาจเป็นเพราะยุคนั้น เรียนเรื่อง บริหารธุรกิจ กันเยอะ ทุกคนนึกถึงแต่ เงินเดือนเยอะๆ ใครหาเงิน ได้มากกว่า ก็รู้สึก ประสบความสำเร็จ ในชีวิต จะจบปริญญาตรี ปริญญาโท ทุกคนพูดถึงว่า รับเงินเดือนเท่าไร พนักงาน ที่รับเข้ามา ช่วงนั้น มีทัศนคติ ไม่ดีเท่าไร เขาไม่ได้มองถึง ชาวบ้านมากนัก มองแต่ตัวเองว่า จะมีรายได้ แค่ไหน สังเกตได้จาก การเรียกร้อง สวัสดิการต่างๆ ข้อต่อรอง มากมาย ให้ทำอะไรนิดหนึ่ง ก็ถามว่า เขาจะได้อะไร เพิ่มหรือเปล่า ผมก็มาคิดว่า เราน่าจะมีหลักสูตร อบรมเรื่อง "การให้" เพื่อเขาจะได้ คิดถึงชาวบ้าน มากขึ้น ช่วงนั้น ได้รับรู้เรื่องราว ของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ที่เปิดโรงเรียนผู้นำ ที่เมืองกาญจน์ ผมรู้สึกน่าสนใจ จึงได้ลอง ส่งพนักงานของเรา เข้าไปรับ การฝึกอบรม ในโรงเรียนผู้นำ ร่วมกับคนอื่นๆ ในหลักสูตรทั่วไป ส่งไปรุ่นละ ๒ คน ผมเอง ก็มีโอกาสเข้ารับ การฝึกอบรมด้วย ผมขอความกรุณา จากท่าน พลตรีจำลอง โดยบอก เหตุผลว่า ธ.ก.ส. ทำงานกับชาวบ้าน โดยตรง ถ้าคน ธ.ก.ส. คิดไม่ดี คิดไม่ถูก ก็จะสร้าง ความเดือดร้อน ให้ชาวบ้านได้มาก จึงอยากให้ฝึกอบรม พนักงาน ธ.ก.ส. เป็นพิเศษ ท่านเห็นด้วย และจัดหลักสูตรให้ เป็นการเฉพาะ โดยเอาระดับหัวหน้า คือ ตัวผู้จัดการสาขา เพราะถ้า หัวหน้าดี ก็มีโอกาสที่ลูกน้อง จะดีตาม แต่หัวหน้าดีคนเดียว คงไม่พอ จะต้องมีคนที่ ใหญ่รองลงมา ในแต่ละสาขา คือ หัวหน้าสินเชื่อ และ สมุห์บัญชีสาขา อย่างน้อยได้ ๓ คน ก็ได้ระดับหัวหน้า แต่ละฝ่ายแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี ๓๘ ผมก็ทยอย ส่งพนักงาน เข้าไป หลายรุ่นแล้ว เกือบพันคน มาจากหลายๆสาขา เกือบทั่วประเทศ

ตามด้วยโครงการอบรมคุณภาพชีวิต
การเข้ารับการอบรมให้เป็นความสมัครใจเอง ผมใช้วิธีประกาศให้รู้ ที่ผมกล้าทำ เช่นนั้น เพราะมีพนักงาน ไปอบรมมาแล้ว กลับมา เขาก็เปลี่ยนพฤติกรรม ในทางที่ดีขึ้น และ บอกเพื่อนๆ ต่อ ซึ่งตรงนี้ เป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้เราขยายงาน ฝึกอบรมต่อไปได้ มีหลายคน ขอให้ผม จัดเป็นหลักสูตรบังคับ ผมคิดว่า ถ้ามีการบังคับกัน ก็จะมีปัญหาตามมา จะเกิด การต่อต้าน จะยิ่งเกลียดชัง ผมจึงไม่ใช้วิธีบังคับ แต่ให้ใช้วิธี ไปเล่าต่อ เมื่อคุณ ไปอบรม มาแล้ว ได้ผลดี ก็ชวนคนอื่นๆ ไปอบรมซิ คุณเป็นเพื่อนกับเขา ไม่ใช่หรือ เขายังกินเหล้า เมายา และ เขายังมีปัญหา เหมือนคุณนะ

ผมสังเกตดูช่วงหลัง ใน ธ.ก.ส. ก็เริ่มมีค่านิยมบริโภค กันมากขึ้น พนักงาน จึงมีหนี้สินเพิ่ม และ เนื่องจาก เงินเดือน ธ.ก.ส. ไม่ได้สูง แค่ให้พอมี พออยู่ พอกินและ มีสวัสดิการ พอสมควร เท่านั้น ยิ่งในช่วงก่อนหน้า เกิดวิกฤติ ธนาคารพาณิชย์ ให้ผลประโยชน์ตอบแทน แก่พนักงาน สูงมาก พนักงาน ธ.ก.ส. ก็จะมาเรียกร้อง อยากได้ แบบนั้นบ้าง ผมให้ตามที่เขาขอ ไม่ได้ พอไม่ให้ เงินเพิ่ม ก็ต้องกู้หนี้ยืมสิน ถึงแม้เราจะมี สหกรณ์ออมทรัพย์ และมีสวัสดิการต่างๆ แต่ก็เหมือน ที่อื่น พนักงานมักจะเป็นหนี้ เงินกู้ฉุกเฉิน ท่วมไปหมด ถึงเวลาเงินเดือนออก พนักงานบางคน ถูกหักเงินเดือน เหลือแค่ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจะมีชีวิต อยู่ต่อไป ทั้งเดือน ได้อย่างไร

ความต่างระหว่าง ธ.ก.ส. กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ คือ ธ.ก.ส. ไม่ได้เน้นกำไร เหมือนธนาคาร พาณิชย์ เราเน้นเรื่อง การช่วยเหลือเกษตรกร เพราะฉะนั้น ขบวนการที่ ธ.ก.ส. ทำ จึงแตกต่างกัน เมื่อมุ่งหวัง ที่จะช่วยชาวบ้าน เราจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจพนักงาน ที่จะทำงาน ให้พร้อมก่อน

ผมจึงมาคิดโครงการอบรมคุณภาพชีวิต ที่ดีให้แก่พนักงาน พยายามบอกพนักงานว่า ถ้าเพื่อนเรา ทำไม่ดี ต้องหาวิธีช่วยเขา อย่าลืมว่า คุณเป็นผู้ค้ำประกัน ให้เขาเวลา กู้เงินสหกรณ์ ถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาสร้างปัญหาหรือทำผิดและถูก ธนาคารเลิกจ้าง เพราะเรา จะเข้มงวดมาก เรื่องความสุจริต เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ช่วยเพื่อนวันนี้ วันหน้า คุณอาจเดือดร้อน เพราะผลกรรม มีจริง ผมก็พยายาม ใช้กลยุทธ์แบบนี้ เพื่อให้ได้พนักงาน ที่เข้ารับ การฝึกอบรม ด้วยความสมัครใจ สิ่งที่น่ายินดีก็คือ ปรากฏว่าทุกปี จะมีคนสมัคร เพิ่มมากขึ้น เกินจำนวน ที่สามารถเข้า หลักสูตรนี้ได้ แม้แต่เดี๋ยวนี้ ก็มีคนเข้าคิวรออยู่

การเกิดขึ้นของโครงการอบรมเกษตรกรพักชำระหนี้
เมื่อตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามา และประกาศนโยบายการพักหนี้ พนักงาน ธ.ก.ส. เห็นด้วย แต่การให้พักหนี้ ไปเฉยๆ โดยไม่มีการฟื้นฟู จะเป็นปัญหา กับธนาคารเอง เพราะธนาคาร ในช่วงหลัง เราดำเนินงาน โดยไม่ใช้ งบประมาณแผ่นดิน แต่อาศัย งบประมาณ จากเงินฝาก ถึง ๖๐ % ทรัพย์สินของเรา ประมาณ ๓ แสนล้านบาท เป็นเงินฝาก สองแสน หกหมื่น ล้านบาท โดยรัฐบาล มีเงินอยู่ใน ธ.ก.ส.จริงๆ เพียงแค่ สองหมื่น ห้าพัน ล้านบาท เพราะฉะนั้น ถ้าทำอะไร ให้ประชาชน ไม่มั่นใจ หากเขาเกิดสงสัยว่า แบ็งก์นี้จะเจ๊ง เพราะไป พักหนี้ชาวบ้าน โดยไม่ยอม ส่งหนี้คืน ก็ยุ่งเลยนะ

ผมเรียนท่านนายกฯ กับท่านรัฐมนตรีคลังว่า นโยบายพักหนี้นั้น เราเห็นด้วย แต่ต้องทำ มาตรการ ๓ เรื่อง ไปพร้อมกัน

๑. คือพักหนี้สำหรับกลุ่มคนที่อ่อนแอ โดยต้องมีการแยกแยะว่า เขาอ่อนแอจริง ๆ สมควร จะช่วยเหลือ เช่น เขายากจน เขาลำบาก ไม่ใช่เขาอยากจน เพื่อหวังเงินช่วยเหลือ จากหลวง

๒. ต้องให้เขายืนยันความเข้มแข็งและชื่นชม ในการทำความดี ของเขา โดยต้องมี โครงการ ลดภาระหนี้ ควบคู่ไปกับ โครงการพักหนี้ เพื่อแยกคน ออกจากกัน

๓. สำหรับคนอ่อนแอ ที่เราไปช่วยเหลือ เราจะอุ้มเขา ตลอดชีวิตไม่ได้ จะต้องช่วย ให้เขาเข้มแข็ง ในเรื่องการฟื้นฟู โชคดีที่ท่านนายกฯ และ ท่านรัฐมนตรีคลัง เห็นด้วย

อุปสรรคและปัญหาสร้างปัญญา
เราเถียงกันค่อนข้างมาก รู้ได้อย่างไรว่า ลูกหนี้คนไหนดี ไม่ดีจริง ผมก็บอกพนักงาน ธ.ก.ส.เอง ก็ไม่รู้หรอกครับ แต่ชาวบ้านด้วยกันจะรู้ และ วิธีให้สินเชื่อ ธ.ก.ส. ตั้งแต่อาจารย์จำเนียร วางแนวทางมา เราไม่ได้ให้เดินมาคนเดียวแล้วกู้ได้ แต่จะต้องใช้ลักษณะของกลุ่ม เพราะฉะนั้น ชาวบ้าน จะดูกันเอง การที่จะแยกแยะว่า ใครควรเข้าพักหนี้ หรือจะลดหนี้ ให้ชาวบ้าน เขาตัดสิน ให้กลุ่มเขาเป็นคนบอก เพราะนโยบายธนาคาร คือ ลูกค้าเป็นคนตัดสิน ถ้าเป็นอย่างนี้ จะช่วยให้รัฐบาล จ่ายงบประมาณน้อยลง เพราะตาม ที่รัฐบาลประกาศไว้ ตอนหาเสียง คือ ใช้เงิน หมื่นแปดพันล้านต่อปี ในการจ่ายดอกเบี้ย แต่ผมบอกว่า ถ้าแยกแยะแล้ว เราจะจ่ายน้อยลง และผลก็เป็นอย่างที่ธนาคาร คาดคะเนจริงๆ รัฐบาล จ่ายแค่ หกพันล้านบาท จากหมื่นแปดพันล้านบาท ที่ต้องจ่ายทุกปี

สิ่งที่ผมบอกว่า การฟื้นฟู เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการนำดอกเบี้ย ไปช่วย ซึ่งเหมือน การใช้ยา แก้ปวด บรรเทาอาการเฉยๆ แต่โรคยังไม่ได้รับ การรักษา ต้องรักษาโรค ด้วยการลงไป แก้ปัญหา ที่ต้นเหตุด้วย

พอแยกแยะออกมาแล้ว มีถึงครึ่งต่อครึ่งในคนที่มีสิทธิ เข้าโครงการ พักชำระหนี้ ที่เป็นเกษตรกร รายย่อย ซึ่งมีหนี้ไม่เกิน ๑ แสนบาท ถือว่าเป็นคนยากจน ที่ควรนำเข้ามา ดูแลได้ แต่ก็ยังมี จำนวนถึง ล้านกว่าคน ซึ่ง ธ.ก.ส. ดูแลทั้งหมดไม่ไหว จึงขอให้กระทรวงเกษตร เข้ามาช่วย เป็นหลัก โดยช่วยอบรมฟื้นฟูอาชีพ ของเกษตรกร ที่จะพักหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วย กระทรวงเกษตร มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ในการทำงานด้วย ซึ่งต่างจากเดิม เงินพัฒนา เกษตรกร ของกระทรวงเกษตร กระจายไปไหนบ้าง ก็ไม่รู้ แต่ ธ.ก.ส. ก็ขอติงไว้หน่อย เพราะเรารู้ว่า มีเกษตรกร ที่อ่อนแอมากๆ ซึ่งถึงไม่พักหนี้ เขาก็ไม่ส่งหนี้อยู่แล้ว พนักงาน ธ.ก.ส. จะรู้ว่า คนเหล่านี้คือใคร เราจึงขอดูแลฟื้นฟู เฉพาะกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่ม ที่หนักที่สุด คนไข้ หนักที่สุด เราขอรักษาเอง แต่คนไข้ธรรมดา ที่มา ร.พ. ได้ ขอให้กระทรวงเกษตร จัดการแล้วกัน

พอทำเสริมก็เป็นเรื่องต้องคิดอีกทีว่า จะทำอย่างไร ในฐานะที่ผมเคยอยู่ชนบท รู้ว่า ปัญหา ชาวบ้าน คืออะไร ผมคิดว่า ชาวบ้านมีปัญหา ซับซ้อนมาก ทั้งปัญหาครอบครัว อบายมุข หนี้สิน และอื่นๆ มากมายไปหมด แต่ผมมีความเชื่อ อยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่มีใคร จะช่วยเขาได้ นอกจาก เขาคิดช่วยตัวเอง

อ่านต่อฉบับหน้า

ประวัติ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ
อาชีพ พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ ๕๒ ปี
ตำแหน่ง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เกิดวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ กทม.
คู่สมรส นางบูชาศรี ซื่อสุวรรณ มีบุตร ๒ คน
บิดา นายบั๊ก แซ่ซื้อ มารดา นางซุ่ง แซ่ตั้ง
งานอดิเรก อ่านหนังสือ

การศึกษา
- มัธยมต้นและมัธยมปลาย โรงเรียนโยธินบูรณะ (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๙)
- วท.บ. (เกษตรศาสตร์) สาขาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕
- ปริญญาโทการจัดการ (Master of Management) สถาบันบัณฑิต บริหาร ธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๓๒

อุดมการณ์ในการทำงาน มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่างเต็ม กำลัง สติปัญญา ความสามารถ เพื่อเป้าหมาย ของธนาคาร ในการพัฒนา คุณภาพชีวิต และยกระดับ ฐานะ เศรษฐกิจ ของเกษตรกร โดยยินดีร่วมมือ ประสานงาน และ ประโยชน์ กับทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ องค์กร พัฒนาเอกชน และ ภาคเอกชนทั่วไป

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕