หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ช้าก่อน ! บริษัทประเทศไทย
* หนึ่งพุทธ วิมุตตินันท์

มบัติสำคัญอย่าง ปตท.บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ถูกขายให้เป็นบริษัทของนายทุนไปแล้ว ก่อนหน้าที่จะขาย รัฐบาลทำโฆษณาครึกโครม มโหฬาร ทั้งป่าวร้อง ทั้งติดป้ายประกาศ ทั่วบ้านร้านถิ่น เชิญชาวบ้าน มาซื้อหุ้น กันยกใหญ่ ใครยังจำได้บ้าง เสร็จแล้วเป็นอย่างไร คนไทยที่รัก... ถึงวันขาย เอาเข้าจริงๆ ๘๐๐ ล้านหุ้น มูลค่า ๒๘,๐๐๐ ล้านบาท เชื่อไหมว่า มันหมดในหนึ่งนาทีเศษๆ เท่านั้น เป็นอันเรียบร้อยนายทุน แล้วชาวบ้านที่ไหน จะมีปัญญาสาวคว้า เอามาได้บ้าง

ดีนะที่ไม่ยักกะมีใครขัดเคืองใจถึงขนาดเอาอึไปปาใส่ โทษฐาน หลอกลวงชาวบ้าน สิ้นดีหรือเปล่า ... มีอย่างที่ไหน ในเมื่อเตี๊ยมกันฮุบสมบัติ เข้ากระเป๋าพรรคพวก ใครต่อใครไม่กี่คนแบบนี้ แม้จะบริสุทธิ์ ถูกกฎหมาย แต่จะเข้าใจได้อย่างไรว่า ไม่มีฉ้อฉลอำพราง ทุกอย่างโปร่งใส!

ก็ไม่รู้ชื่อบริษัทอะไรบ้าง ที่จ้างมาปรึกษาและจัดการขายหุ้น ปตท.ได้สำเร็จงดงาม ถูกใจรัฐบาลเสียเหลือเกิน

และบริษัทนายหน้าพวกเหล่านี้แหละ ที่จะหากินเป็นมือปืนรับจ้าง ช่วยจัดการกินรวบ สมบัติรายอื่นๆ ต่อๆ ไป

เรื่องขายหุ้น ปตท. จะมีอะไรลับลมคมใน พิลึกกึกกือ หรือซื่อบริสุทธิ์ สุดท้าย ทุกอย่างผ่านไป เงียบเชียบ เหมือนเป่าสาก การเมืองนิ่งๆ ที่บางคนต้องการนัก มันคงดีเช่นนี้กระมังสิท่า!

ขึ้นต้นของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลเร่งร้อนหาอะไรก็ไม่ทราบ ปตท.สมบัติชิ้นงามๆ กว่าเพื่อน ก็ถูกเล่นประเดิม เสียอย่างนี้แหละ เชิญคิดดูเอาเถอะว่า ที่รัฐบาลอ้างแปรรูป เพื่อปรับปรุง รัฐวิสาหกิจ ให้เข้มแข็ง และโปร่งใส

มันจริงแน่แท้ตรงไหนเชียว...?

สาธารณูปโภค เป็นธุรกิจชนิดไหนกัน?
เป็นที่รู้กันดีและอธิบายกันได้ง่ายมากว่า กิจการสาธารณูปโภค (Public Utility) เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ รถไฟ และอะไรต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันทั่วไป บริการเหล่านี้ มีลักษณะประกอบการ โดยผูกขาด ตัดตอน (Monopoly) จะให้ทำซ้ำซ้อนหลายราย หรือเปิดกว้างเสรีเกินไป ก็ทำไม่ได้

ในเมื่อต้องบริการโดยผู้เดียวหรือน้อยราย แบบผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด ผู้บริโภคไม่อาจต่อรอง หรือ มีทางเลือกอื่น ได้มากมายนัก จำเป็นจำยอม หรือจำนนต้องใช้บริการ ตามที่มีให้นั้นๆ ผู้บริโภค จึงตกอยู่ ในฐานะ เสียเปรียบแน่นอน ในขณะที่ผู้ให้บริการ ย่อมได้เปรียบมากมาย คือมีโอกาส คิดค่าบริการแพง จนคุ้มเกิน ทุน ตั้งสูงๆ ตามต้องการได้ง่าย ครั้นจะหาต้นทุนมาตรฐาน หรือ ราคายุติธรรม ก็ทำได้ยากมาก

ด้วยเหตุนี้ รัฐจำต้องเข้ามาควบคุมกิจการ สาธารณูปโภคด้วยตนเอง ไม่โดยตรง ก็โดยอ้อม ไม่ใช่เพื่อผล ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังจำเป็นต้องควบคุม เพื่อประโยชน์ใช้สอยบริการพลังงาน หรือ ทรัพยากร อย่างมั่นคง ยั่งยืนด้วย

ที่แล้วมา บริการสาธารณูปโภคสำคัญต่างๆ เป็นรัฐวิสาหกิจ อันมีจุดอ่อนแบบราชการทั่วไป ทั้งในด้าน ประสิทธิภาพ. และการประหยัด

อย่างไรก็ตาม นับว่ายังเคราะห์ดีกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังไม่สู้ถูกบีบคั้น ให้ต้องทำกำไรให้ได้ เป็นหลัก สำคัญทีเดียว แม้หลายแห่ง จะขาดทุนด้วยซ้ำ ดังเช่นการรถไฟ หรือ ขสมก. แทนที่จะหาทางออก โดยขึ้นค่าโดยสาร ไปเดือดร้อนประชาชน รัฐบาลมักจะโอบอุ้ม ช่วยเหลือเสียเอง สำหรับกิจการ ที่เลี้ยงตัวเองได้ หรือ มีกำไรงามอีกต่างหาก ซึ่งก็ดีเหมือนกัน ถึงรัฐวิสาหกิจ จะได้กำไรเยอะแยะบ้าง ส่วนใหญ่ ยังจะได้เข้าคลัง เพื่อคืนสู่สังคมต่อไป ประชาชน ผู้จ่ายค่าบริการ ย่อมไม่สู้ลำบากใจเท่าไร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กิจการสาธารณูปโภค อันต้องผูกขาด หรือกึ่งผูกขาดนั้น จำเป็นต้องดำเนินไป เพื่อประโยชน์ใช้สอย ในตัวของบริการต่างๆ เป็นเป้าประสงค์เอก เรื่องที่จะทำเม็ดเงิน กำไรก้อนโต แน่นอนว่า ย่อมไม่ควรเป็นเป้าใหญ่อะไรเลย เพราะถ้าจะทำเงิน มันของตายอยู่แล้ว มันง่ายยิ่งกว่า พลิกฝ่ามือ คือต้นทุน ไม่ต้องลดเลยก็ได้ แค่ดันราคาแพง ขึ้นไป อีกหน่อยเดียว กำไรสดๆ เห็นๆ

ทีนี้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากที่เคยอยู่ในนโยบาย แห่งอำนาจรัฐเต็มๆ ให้กลายเป็นบริษัท เอกชน ในกำมือ ของนายทุน น้อยใหญ่ เหมือนทำเป็นไม่รู้ว่า มันจะเกิดอันตรายขนาดไหน?

บริษัทของรัฐ กับบริษัทของนายทุน อันไหนจะเป็นที่พึ่งไว้วางใจ ของประชาชน ได้มากกว่ากัน...!

ธรรมดาบริษัทนายทุนที่ทำธุรกิจทั่วไป จะเอาเปรียบลูกค้า โดยลำพังตามอำเภอใจได้ยาก หากสินค้า บริการนั้นๆ มันมีการแข่งขันเสรี เจ้านี้ขายแพงนัก คนย่อมเลือกซื้อเจ้าอื่นได้

แต่บริษัทนายทุนที่เข้ามาผูกขาดบริการสาธารณูปโภคแทนรัฐบาล เช่นปล่อยให้เอกชน เข้ามาทำน้ำ ทำไฟขาย ค่าน้ำไฟมีหรือจะถูกลง ฝันไปเถอะ... บริษัทเขาจะขึ้นค่าน้ำ ค่าไฟเท่าไร ประชาชน จะต้อง จ่ายแพง ไปตามนั้น โดยรัฐบาลทำอะไรไม่ได้เลย คงได้แต่ทำตาปริบๆ ดูเขาขูดรีดฟันกำไร หน้าตาเฉย เหมือนอย่างที่ กำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว ในประเทศอาร์เจนตินา มันสนุกดีหรือ?

เราไม่ยักรู้เลยว่า รัฐบาลไทย คิดอะไรของเขาอยู่นะ หรือว่าวิสัยทัศน์ของนายกฯ ของเรา ช่างกว้างไกล จนคนไทย ตามไม่ทัน .... คนที่เคยคุยตัวเอง เมื่อไม่กี่ปีก่อนว่า รวยพอแล้ว อยากจะทำคุณ แก่แผ่นดินบ้าง ฟังแล้ว น่าชื่นใจ ไปเสียอีกมาก สาธุดีแล้ว ... หวังใจว่า อยุธยาคงไม่สิ้นคนจริง!

ครั้นมาถึงวันนี้ ชักอดเป็นห่วงกังวลไม่ได้ว่า ภาพเงาธุรกิจการเมือง ที่ใครหลายคน เคยฝันร้าย กำลังกลายเป็น ตัวจริง เสียงจริงยิ่งๆ ขึ้น อย่างนั้นหรือไม่หนอ............!?

ขายหมดประเทศ เขตไทยอยู่ไหน?
ดูๆ รัฐบาลไทย กำลังเทขายสมบัติ ทุกอย่างที่ขวางหน้า จากที่เคยเป็นของรัฐ หรือมหาชนอยู่ดีๆ ให้กลายเป็น กิจการของเอกชนส่วนตัว มั่วต่างด้าว

รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่เก่าก่อน แม้จะมีขี้ริ้วขี้เหร่ เละเทะบ้าง อย่างไรเสีย ก็ยังถือเป็นสมบัติประชาชน พออุ่นใจ ได้อาศัย เกิดมีอะไรไม่ชอบมาพากล ทุกคนมีสิทธิ์ท้วง ถามทักรัฐบาลคนไทยด้วยกัน ถึงสภา จะตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐบาล จะมีสิทธิ์อยู่ถึงไหน จำต้องฟังเสียงประชาชนจริงๆ รัฐบาลต่างผ่านมา และผ่านไป ส่วนประชาชนเท่านั้น ย่อมคงตัวอยู่ตลอดกาล

ทีนี้ เมื่อขายกิจการผูกขาดสาธารณูปโภคให้หลุดมือไปอยู่ในอำนาจทุนธุรกิจ จะไปคิดหวัง ได้กระไรว่า พวกเขาจะทำ เพื่อประโยชน์ของมหาชน ในขณะที่เจ้าของเป็นเอกชน คนขี้โลภแท้ๆ และหมายแต่ กำไรสูงสุด เป็นที่ตั้ง...

ฟังแค่นี้ ก็น่าจะหนาวเหลือทนแล้วเอื้อย

ลำพังธุรกิจที่แข่งขันเสรี นายทุนยังมีปัญญาใช้ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ดังที่ห้างยักษ์ ต่างชาติ กำลังกวาด ร้านโชวห่วย ลงทะเลอ่าวไทย อยู่ทุกวัน

ยิ่งมาได้ช่องผูกขาด บริการสาธารณูปโภคแทนรัฐวิสาหกิจเต็มๆ อย่าห่วงเลยว่า เขาจะฟันกำไรน้อยๆ เช่นทศท. คอร์ปอเรชั่น (เหมือนบอกยี่ห้อขี้ข้าฝาหรั่งจ๋า) ทำเป็นเอาใจ ฉลองแปรรูปเป็นบริษัท โฆษณา ชวนเชื่อ เปิดให้โทร ๑๒๓๔ นาทีละบาท เดือนหนึ่ง เพียงสร้างภาพ อย่างนั้นหรือเปล่า...

หารู้ไม่ว่า พอเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ใครจักเป็นเจ้าของบ้าง ฮู้ด้วยบ่ วันร้ายคืนร้าย พวกคง ได้ขึ้นค่าโทร อุตลุด สามบาทที่เคยคุยจนเมื่อยหู อาจเปลี่ยนเป็นจ้อได้ไม่กี่นาที แบบนี้เป็นต้น

การท่าอากาศยาน ที่เป็นเจ้าของสนามบินทุกแห่ง ก็ดูเหมือนแปรรูปเป็นบริษัท ท่าเรือ ประปา ไฟฟ้า สื่อสาร ล้วนกำลัง ต่อคิวแปรรูป เข้าตลาดหลักทรัพย์กันทั้งสิ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐวิสาหกิจที่มั่นคง ถูกเป็นเหยื่อแปรรูปก่อนเพื่อน ที่แย่ๆ อย่างการรถไฟ ขสมก. น่าจะเป็น ตัวอย่าง นำร่องก่อน ตามราคาคุยว่า จะปรับปรุงเข้าระบบให้เข้มแข็ง กลับไม่เป็นที่น่าเร่งเร้า มันยังไง กันแน่นะ!

เกิดเป็นคนไทย แล้วมีที่อยู่ของตัวเองเป็นกสิกร แล้วมีที่ทำกินบ้าง มันย่อมดีกว่าไปเช่า แล้วเขาจะขึ้นค่าเช่า อยู่เรื่อยๆ เราคงไม่ค่อยสบายใจ ข้อนี้ฉันใด ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ในสมบัติสาธารณูปโภค ย่อมอยู่ร้อน นอนทุกข์ ฉันนั้น

อนึ่ง ธนาคารซึ่งเป็นของเอกชนแท้ๆ พอผลาญกันเจ๊งไม่เป็นท่า มีหนี้หัวโต ใบสั่งจากไหนไม่รู้ ให้รัฐต้องอุ้ม รับประกันหนี้แทนเต็มๆ วันนี้รัฐวิสาหกิจมีกำไร กลับต้องขายให้เอกชน เขาไปทำกำไร เข้ากระเป๋าส่วนตัว เรื่องหัวหกก้นขวิด ยังไงพิกล เพราะผลกำไร จะเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้งนั่นเอง เลยเกิดการแย่งยื้อ ดึงทึ้ง เปลี่ยนมือนี่ แปรรูปนั่น วุ่นวายจริงหนอ ไทยแลนด์

ดังนั้น ชีวิตที่ต้องมีปัจจัยสี่ ข้าวผ้ายาบ้าน ในตลาดเสรี ยังมีแข่งขัน ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ใครใคร่ ขาย ขาย เรายังเป็นไท ไม่โดนกดขี่เท่าไหร่แต่ปัจจัยสี่ ที่เป็นน้ำไฟ น้ำมัน สื่อสาร ขนส่ง สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งอยู่ในตลาดผูกขาด เมื่อขายสมบัติชาติรัฐวิสาหกิจไปหมด คงได้อดเป็นไท หันไปทางไหน เป็นต้อง จ่ายแพงขึ้น เพื่อค้ากำไรมหาภัยมหาโหด ของบริษัทผูกขาด นานาแห่งประเทศไทย

อีกหน่อยระวังเหอะ กระทั่งถนนทุกสาย คงกลายเป็นสมบัติบริษัท (ไทเกอร์ไลออนคอร์ป) เข้าตลาด หลักทรัพย์ ปั่นหุ้น ใครจะโลดแล่นผ่าน ต้องจ่ายค่าด่วน จนมืออ่อนตีนอ่อน เช่นอาร์เจนตินา

สรุปแล้วแปรรูปสมบัติมหาชน เป็นสมบัติเอกชน เท่ากับเพิ่มความจนให้คนส่วนใหญ่ พร้อมๆ กับช่วยนายทุน ให้รวยล้นๆ นี่แหละ นโยบายแก้จน โดยคนมียิ่งรวย ด้วยฉันทาคติ ทวิมาตรฐาน จากรัฐบาลไทย เพื่อคนไทยทุกคน...

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕)