หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เรื่องสั้น- เอกชัย นพรัตน์ -
ความหวังครั้งสุดท้าย

"เฮ้ย...พวกเราจอดก่อน" เสียงตะโกนจากท้ายแถวดังขึ้น

ทุกคนต่างลงจากรถแล้วจูงไปนอนตะแคงไว้ข้างถนน

"วันนี้น้ำพริกใครเหลือบ้างวะ...?" วีระเด็กที่มีความคิดแปลกๆ อยู่เสมอเอ่ยขึ้น

"ของกูยังเหลือ" คมร้องตอบอย่างภูมิใจที่จะได้เป็นเจ้ามืออาหารว่างครั้งนี้

"แฮะ กูรู้แล้วว่าพวกมึงมีความคิดอะไร ไปโว้ยพวกเรา ลานหินข้างหน้าอย่างเก่านะ" เสียงเจ้าตี๋น้อย จอมเดาใจเพื่อนออกคำสั่ง

และแล้วทั้งหมดก็นำกระเป๋าหนังสือที่ทำด้วยผ้าหยาบๆ เย็บด้วยมือ ไม่ประณีตมากนัก ไปพิงไว้กับรถจักรยาน รถจักรยานแต่ละคันนั้น เก่าคร่ำคร่า มีฝุ่นแดงติดหนาเตอะ จนมองไม่เห็น เนื้อเหล็ก

พวกเขาต่างวิ่งไปยังบริเวณลานหินริมป่าละเมาะ ใกล้ๆ ต้นมะขามหนุ่ม ที่กำลังยืนอวดช่อฝักอ่อน ชวนให้น้ำลายสอ

เมื่อทุกคนได้มะขามอ่อนพอแล้ว คมแก้เอาห่อน้ำพริกออกมาแบกะดินใต้โคนต้นมะขามนั้นเอง จากนั้นทุกคน ต่างก็พากันอร่อยไปตามประสาเด็ก

"ถ้าบ้านเรามีโรงเรียนก็น่าจะดีนะ" วีระกล่าวลอยๆ

"ไม่ใช่เพียงว่าน่าจะดีนะเท่านั้น แต่ดีมากๆ เลยหละ" คมกล่าวเสริม

โรงเรียนอยู่ไกลจากหมู่บ้านของพวกเขาไปหลายกิโล พวกเขาจึงขี่จักรยาน ไปกลับทุกวัน ไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่กลับเป็นความสนุกสนาน

"ถนนสายบ้านเรามีแต่หลุมลูกรัง คอยดูนะมึง ถ้าหากว่ากูได้เป็นผู้แทนเมื่อไหร่ กูจะสั่งทำ ถนนราดยางเลย" เสียงตี๋น้อยขี้คุยกล่าวกับเพื่อนๆ ทุกคนต่างพากันหัวเราะ เสียงรถบรรทุก สิบล้อ ของเถ้าแก่โรงสี วิ่งผ่านดังโครมคราม ฝุ่นสีแดงกระจายฟุ้งไปทั่วบริเวณ

ลมว่าวปลายเดือนธันวาคมพัดมาเยือนหลังจากสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ความหนาวเหน็บ ที่มากับสายลม ทำให้หลายชีวิตของบ้านทุ่ง ต้องซุกตัวอยู่กับกองไฟ พ่อกับแม่ของตี๋น้อย ก็เช่นเดียวกัน ทั้งสองนั่งผิงไฟ และใช้ความคิด

"อีกไม่กี่วันเถ้าแก่ก็มาเก็บค่านาอีกแล้วเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ข้าวก็ยังไม่เป็นราคา" พ่อตี๋น้อย พูดเบาๆ เหมือนรำพึง คิดถึงข้าวที่ไถหว่านปักดำมาด้วยแรงของตัวเองแล้ว จะต้องแบ่ง ให้แก่เจ้าของ ที่นาอีกส่วน

"ทำอย่างไรได้ เราทำนาเขาเราก็ต้องให้ค่านาเขา" แม่ของตี๋น้อยกล่าว

"ข้าวไม่เป็นราคาเอาเสียเลย ถึงจ่ายก็ไม่พอ ให้ค่านาเถ้าแก่..." พ่อรำพัน

"เงินเราไม่มีเมื่อท่านมาก็เอาข้าวให้ท่านไป" แม่ว่า

พ่อพยักหน้าตอบรับ

"กะว่าจะเก็บเงินไว้ให้ตี๋น้อยได้เรียนต่อเสียด้วย เสียดายโอกาสลูก" พ่อกล่าวเป็นงานเป็นการ

"ไว้ปีหน้าค่อยเรียนต่อก็ได้นี่ เขารับไม่ใช่หรือ?..." แม่แย้งเบาๆ อย่างไม่มั่นใจนัก

"ปีหน้า...ปีหน้าค่อยเรียนต่อก็ได้ แต่ลูกต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ อีกปี การเรียนไม่ต่อเนื่อง ความรู้ที่ได้มา ก็ลืมหมด เราไม่มีเวลาให้ลูก มานั่งทบทวนหรอก หากไม่ได้เรียนก็ต้องทำงาน..."

"มันไม่เรียนก็ดีเหมือนกันนะพ่อ เดี๋ยวนี้โรงเรียนก็ไม่มีความปลอดภัย ยาเสพติดมากเหลือเกิน แม่เป็นห่วง" แม่เริ่มออกความเห็น

"พ่อก็เป็นห่วงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ยาเสพติด ระบาดไปทุกหัวระแหง แต่ถึงลูกจะมาอยู่ที่บ้าน กับพ่อแม่ ก็ใช่ว่า จะปลอดภัย เราไม่สามารถ ดูแลเขาได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เมื่อมีเพื่อน เขาก็ต้องไปกับเพื่อน อยู่วันยังค่ำ เดี๋ยวนี้แถวหมู่บ้านเราก็ติดยากันน้อยเสียเมื่อไหร่กัน..."

เสียงถอนลมหายใจดังขึ้น แทบจะพร้อมกัน

ลมเย็นๆ พัดกระโชกเข้ามาทางช่องหน้าต่าง ดึกมากแล้วแต่ตี๋น้อยยังไม่นอน
เขายังนั่ง อ่านหนังสือ เพื่อเตรียมตัวสอบปลายภาค ในอีกไม่กี่วันที่จะถึง ความจริงตี๋น้อย ไม่ใช่เด็ก เรียนเก่งอะไร แต่เรียนพอใช้ได้ ไม่ขี้เหร่นัก เพื่อนๆ ของตี๋น้อย จะเรียนต่อกันทุกคน ตี๋น้อยเอง ก็หวังว่าอย่างนั้น แต่คำพูดของพ่อ เมื่อตอนเช้า ทำให้ตี๋น้อยไม่มั่นใจว่า จะได้เรียนต่อ เหมือนเพื่อนๆ หรือไม่

"เมื่อคืนอ่านหนังสือดึกไปหน่อย" คมพูดขึ้นโดยที่เพื่อนๆ ไม่ได้ถามอะไร พลางเอามือ ขยี้ตาตัวเอง เท้าก็ปั่นจักรยาน ปากก็คุยกับเพื่อนๆ "คงจะโหมหนักสิท่า อ่านกี่วิชาล่ะ เมื่อคืนนี้?..." วีระถาม

"อ๋อ...แหะๆ สองเอง" คมหัวเราะแห้งๆ พร้องชูสองนิ้ว


"โฮ...เก่งจังนะมึง กูอ่านได้วันละไม่กี่หน้าสองวิชาของมึงคงเป็นวิชาละสองบรรทัดล่ะสิ"

"ใครบอก กูอ่านหมดทั้งเล่มเลย ไม่งั้นตากูจะเป็นอย่างนี้เหรอ" คมตอบ

"เออ...แล้วพ่อมึงจะให้เรียนต่อหรือเปล่าวะ?" คมถามวีระ

"เรียนสิวะ แล้วมึงหละ" วีระย้อนถามบ้าง

"เหมือนกัน พ่อให้เรียน"

"ตี๋น้อยหละ เรียนต่อหรือเปล่า?..."

"ยังไม่รู้เลย" ตี๋น้อยตอบเสียงแผ่ว เพราะรู้แก่ใจว่าหมดโอกาส แต่ก็พยายามนึกปลอบใจตัวเอง เพราะเผื่อบางที พ่ออาจจะเปลี่ยนใจ

วันสุดท้ายของการเป็นนักเรียนประถมของตี๋น้อย เขาเข้าห้องสอบด้วยอาการเฉื่อยชา แต่ก็ยัง พยายาม ทำข้อสอบ ให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าโอกาส ที่จะได้เรียนต่อมีน้อยมาก หลังจากตี๋น้อย ออกจากห้องสอบแล้ว ก็เดินไปรอบๆ โรงเรียน มองดูต้นไม้ใบหญ้า และสนามที่เคยวิ่งเล่น ต้นมะม่วงริมรั้ว ที่เคยป่ายปีน จนต้องถูก ครูทำโทษ สนามฟุตบอล ที่เคยเล่นกับเพื่อนๆ ถึงแม้ฝนจะตกก็ยังแก้ผ้าเล่น กลับถึงบ้าน ก็ไม่จำเป็น ต้องอาบน้ำอีก เพราะถือว่า เล่นฟุตบอล กลางสายฝน อันเย็นฉ่ำนั้น เป็นการอาบน้ำไปในตัว บางครั้ง ก็พากัน เป็นไข้หวัด ไปตามๆ กัน

ต่อจากนี้ไปทุกๆ อย่างที่นี่มันคืออดีตที่จารึกไว้อยู่ในความทรงจำ ถึงเวลาแล้ว ที่เขาต้องออกไป เผชิญกับโลกกว้าง ที่มีแต่เหตุการณ์จริง ที่ไม่ได้สมมุติขึ้น เหมือนในห้องเรียน สุขทุกข์ หนาวร้อน หรือ จะลำบาก ตรากตรำ เขาต้องเตรียมตัวผจญ

"เธอจะเรียนต่อหรือเปล่าตี๋น้อย?..." ครูประจำชั้นถามด้วยน้ำเสียงเรียบๆ

"ผมยังไม่ทราบครับคุณครู" ตี๋น้อยตอบทั้งที่รู้ว่าไม่มีโอกาสได้เรียนต่ออย่างแน่นอนแล้ว ครูถอนหายใจเบาๆ ด้วยรู้จักครอบครัว ของตี๋น้อยดี เคยขอร้องให้พ่อของตี๋น้อยเรียนต่อ แต่ก็ไม่เป็นผล แต่ครูก็ไม่เคย ละความพยายาม ที่จะมองหาหนทางช่วย

"ถ้าเธอมีโอกาสได้เรียนก็ขอให้เธอตั้งใจเรียนนะ หรือถ้าไม่ได้เรียน เธอออกไปทำงาน ก็จงขยัน หมั่นเพียร อย่าเป็นคนเกียจคร้าน ชีวิตกำลังจะเริ่มต้นเท่านั้น เธอยังมีเวลา และโอกาสอีกมาก การศึกษาตลอดชีวิต เธอสามารถเลือกได้ จำคำพูดของครูเอาไว้นะ เราสามารถ เลือกทางเดินได้ อย่าท้อแท้ เพราะทุกอย่าง ยังไม่สาย หากมีอะไรให้ครูช่วยเหลือ ก็ให้มาหาครูนะ"

"ขอบคุณครับ คุณครู" ตี๋น้อยก้มลงกราบแทบเท้าของคุณครูผู้อารีน้ำตาคลอเบ้า

"ไม่เป็นไร ขอให้เธอจงโชคดี...อ่อ ตอนเย็นถ้ามีเวลาบอกพ่อตี๋น้อยมาคุยกับครูสักหน่อยนะ บอกว่า ครูมีเรื่องจะคุยด้วย

"ครับ คุณครู"

ตี๋น้อยขี่จักรยานกลับบ้านด้วยจิตใจที่ขบคิด ทุกถ้อยคำ ทุกพยางค์ของครูก้องอยู่ในหู โดยเฉพาะคำว่า เธอยังมีเวลา อีกมากมาย การศึกษาตลอดชีวิต เธอสามารถเลือกได้ ค่อยทำให้ตี๋น้อยมีกำลังใจ และ มีความหวัง คนเราถ้าตั้งใจจริง ที่จะศึกษาค้นคว้าแล้ว ความยากจน ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป

"อาจารย์มีอะไรให้ผมรับใช้หรือครับ?...." พ่อตี๋น้อยถามเมื่อมาพบครูที่บ้าน

"อ๋อ มีเรื่องจะปรึกษาคุณลุงนิดหน่อย เชิญนั่งสบายๆ ก่อนนะครับ" ครูกล่าว

"ไม่เป็นไรครับอาจารย์ มีอะไรให้ผมรับใช้ก็บอกได้เลยครับไม่ต้องเกรงใจ ผมยินดีครับ"

"เดี๋ยวนี้บ้านเรามีปัญหาเรื่องยาเสพติดกันมากคุณลุงพอจะทราบเรื่องนี้มั้ย?" อาจารย์เข้าเรื่อง

"ก็พอจะรู้อยู่บ้าง"

"ครับเรื่องนี้แหละที่ผมอยากจะคุยกับลุง"

"ทำไมครับหรือว่าตี๋น้อยลูกผมติดยา" พ่อตี๋น้อยกล่าวด้วยอาการตกใจเล็กน้อย

"ไม่หรอก คุณลุงอย่าพึ่งตกใจ ตี๋น้อยลูกของคุณลุงน่ะเป็นเด็กดี แต่ที่ผมเชิญคุณลุงมา ก็เพื่อจะหา วิธีป้องกัน เพราะเด็กน้อย หลายคน อยู่ในภาวะที่เสี่ยงมาก ถ้าเราไม่ป้องกันไว้ก่อน พ่อแม่อาจต้องพบกับ ความเสียใจ ในภายหลังก็ได้"

"แล้วอาจารย์มีวิธีป้องกันอย่างไรครับ ผมก็เป็นห่วงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน"

"ความจริงเรื่องนี้เราไม่อาจจะป้องกันเพียงคนใดคนหนึ่งได้ ถึงครูอาจารย์จะมีวิธี แต่ถ้าผู้ปกครอง ไม่ให้ความร่วมมือ หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ทุกๆ คนไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ปัญหาเหล่านี้ ก็ยากที่จะ ป้องกันได้ เพราะตราบใด ที่คนในสังคม ยังเพิกเฉย และนิ่งนอนใจ กับปัญหาของเยาวชน ทั้งยาเสพติด การคุกคามทางเพศ จะขยายตัวมากขึ้น เด็กวันนี้ ย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่บกพร่อง และก็แน่นอนที่สุด ไม่สามารถ เป็นแบบอย่างที่ดี แก่เยาวชน รุ่นต่อๆ ไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมา ช่วยกันคิด เพื่อหาหนทาง ในการป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนที่มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องช่วยกันคิด หาทาง แก้ปัญหาต่างๆ ให้เบาลง" อาจารย์ชี้แจง

"เรื่องนี้ต้องสุดแท้แต่อาจารย์จะแนะนำหรือแก้ไขนะครับ"

"คุณลุงอย่าหวังพึ่งแต่ครูบาอาจารย์นะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาครูเอง ก็แก้ไม่รู้จักจบ เหมือนกัน ลูกครูเอง หลายคนก็เจอปัญหาเหล่านี้ จนไม่มีกะจิตกะใจ ที่จะสอนลูกชาวบ้าน ให้ดีได้อยู่แล้ว เหตุก็เพราะครูเอง ไม่เป็นตัวอย่าง ที่ดีให้แก่เด็ก ครูหลายคน ทำหน้าที่ เพียงแต่สอน เมื่อถึงเวลา พอเลิกสอน ก็ทำหน้าที่เสพ จนกลายเป็น แบบอย่างที่ไม่ดี ให้แก่เด็กเช่นกัน ผมเป็นครู และผมก็มองปัญหาครูด้วยกัน อย่างเห็นอก เห็นใจ แต่ก็ช่างเถิด ผมจะไม่พูดตรงนี้ เพราะจะเป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆ"

"อาจารย์มีลูกกี่คนครับ?..."

"สองคนครับ เป็นผู้ชายทั้งหมด"

"ตอนนี้เรียนอะไรอยู่ครับ ?"

"อยู่ที่โรงเรียนสัมมาสิกขา พุทธสถานราชธานีครับคุณลุง"

"เรียนเกี่ยวกับอะไรครับ? โรงเรียนนี้ผมยังไม่เคยได้ยิน"

"เรียนศีลปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความเป็นคนที่รู้จักเลิก ลด ละ หรือการเรียนเพื่อรู้ และลงมือทำ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ นำไปสู่ความเป็นคนเจริญ ได้อย่างแท้จริง ด้วยหลักปรัชญาของโรงเรียน ที่ว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา นั่นเอง"

"ฟังดูเหมือนเด็กเข้าบวชปฏิบัติ แต่นี่เด็กไม่ได้บวชแต่เข้าไปเรียน เด็กจบออกมา จะทำสิ่งใด ได้บ้างครับอาจารย์" พ่อตี๋น้อยถามอย่างสงสัย

"ทุกอย่างมีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่สิ่งที่ได้มากเป็นสำคัญ คือ บุญ และ ความเป็นคนดี มีศีลมีวินัย ไม่ประพฤติปฏิบัติตนเหลวไหล ไปในทางเสื่อม เมื่อเขาอยู่ข้างใน ทุกๆ อย่างที่เขาสัมผัส คือ เนื้อนาบุญแท้ๆ ที่เขาจะต้องมุ่งมั่นขยัน กอบโกย ใส่ตนให้ได้มากๆ แล้วเขาก็จะกลายเป็น คนดีของสังคม ไม่กลายเป็น ภาระของสังคม ไม่กลายเป็นภาระ ของพ่อแม่ ที่จะต้องติดตาม คอยเป็นห่วง เมื่อเขาก้าว ลงบันไดบ้าน โรคขาหักหัวแตกจากรถ หรือจากการบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ โรคยาม้า ยาบ้าอะไรเหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้น กับคนที่ได้เข้าไป ฝึกศึกษา จากสัมมาสิกขาแห่งนี้ และสุดท้าย ก็กลายเป็นบุญพ่อ บุญแม่ เป็นที่พึ่งพา ของสังคมต่อไป เป็นแบบอย่าง ของคนรุ่นใหม่ต่อไปที่มีคุณภาพนะครับ"

"นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ผมได้ยินวันนี้ น่ายินดีจริงๆ อย่างนี้ตี๋น้อยลูกของผม จะเข้าไปเรียน ที่นี่บ้าง จะได้ไหมครับ?" เขาถามอย่างสนใจ

"ได้สิ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าไปเรียนกันได้ทั้งนั้น ถ้าสนใจ ที่พุทธสถานแห่งนี้ เขามีวัตรปฏิบัติอย่างไร พระแท้ๆ ท่านเป็นอย่างไร คนในชุมชนนั้นเขาปฏิบัติกันอย่างไร ทำไมเขาถึงกล่าวกันว่า คนในชุมชนแห่งนี้ สามารถเป็นครู และเป็นแบบอย่าง ให้แก่เด็กนักเรียนได้ทุกคนนั้น เป็นได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้ คุณลุง ต้องเข้าไปศึกษา ดูเสียก่อน จึงค่อยตัดสินใจ เพราะสิ่งที่ ผมว่าดี แต่คุณลุงอาจเห็นว่า ไม่ดีก็ได้ เพราะนักเรียนที่นั้น ต้องเคร่งครัดในศีล เรียนจริง ปฏิบัติทำงานจริง ผู้ปกครองบางคน อาจไม่เข้าใจ และคิดว่า เป็นการใช้แรงงานเด็ก หรือ ตึงเกินไป จนกลายเป็นการทรมาน"

"ผมต้องเตรียมอะไรบ้างครับอาจารย์?"

"เรื่องเข้าวัดทำความดีไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ เตรียมตัวและใจให้มั่นเท่านั้นก็เดินเข้าวัดได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมปิ่นโต ไม่ต้องเตรียมซองขาว ค่าใช้จ่ายทั้งชีวิต คือใจและกาย ก็เป็นการ เพียงพอแล้ว สำหรับที่นี่"

"ขอบคุณครับอาจารย์ที่ให้แนวทางแก่ผม หากอาจารย์พอจะมีเวลาผมขอรบกวนนะครับ"

"ไม่เป็นไรครับคุณลุง ผมว่างเสมอแหละถ้าคุณลุงต้องการที่จะใช้ผม ก็ขอให้บอกนะครับ สิ่งที่ผมพูด ให้คุณลุงฟังวันนี้ เป็นเพียงแนวทางหยาบๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดจริงๆ คุณลุงต้องเข้าไป สัมผัสเอง ที่ผมเชิญคุณลุงมาหาหนทางให้ตี๋น้อย มีโอกาสได้ศึกษาต่อ ในที่ปลอดภัย เพราะสงสารเขา"

"ขอบคุณครับอาจารย์ ขอบคุณมากจริงๆ ที่กรุณาให้คำแนะและหวังดีกับตี๋น้อยลูกผม ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง วันพรุ่งนี้ ผมขอรบกวนนะครับ"

และแล้วทุกอย่างก็ลงตัว เมื่อครอบครัวของตี๋น้อยได้รับข่าวดีจากอาจารย์ประจำชั้น คืนวันนั้น พ่อแม่ลูก ได้ปรึกษากัน อย่างมีความหวัง ตี๋น้อยได้พบเพื่อนใหม่ ฝึกใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อบนท้องฟ้า สิ้นแสงอาทิตย์ ถึงความมืดจะโรยตัวเข้ามา จนมองพื้นไม่เห็นทาง แต่บนท้องฟ้า ไม่สิ้นดวงดาว ที่กะพริบแสง บอกทิศทางให้ก้าวเดิน แสงทองแสงธรรมของพระพุทธองค์ ยังส่องจำรัส เจิดจ้าอยู่เสมอ เพื่อให้มนุษย์ มีความหวัง ได้พบหนทางหลุดพ้น เป็นแสงสว่าง ของดาวบนเดิน ที่ทุกคน สามารถ สัมผัสต้องได้ หลายอย่าง สำเร็จได้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอ พระเจ้าองค์ใดเลย

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)