หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

คอร์รัปชั่น บ่อนเซาะสังคมอย่างไร
* วรากรณ์ สามโกเศศ
สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


คอร์รัปชั่นไม่ใช่เพียงเรื่องของการโกงเงินหลวง หาประโยชน์จากประชาชนและจากงบประมาณ ฉ้อฉลอำนาจ เพื่อให้ได้เงินเข้ากระเป๋า อย่างไม่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกต้องเท่านั้น หากมีผลกระทบ มากกว่านั้นมากมาย

คอร์รัปชั่นโดยแท้จริงแล้วมิได้ถูกขีดวงจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของราชการเท่านั้น หากเกี่ยวพัน กับประชาชน และ ภาคเอกชน ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คอร์รัปชั่น จึงมีผลกระทบกว้างไกลกว่าที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

ในประการแรก คอร์รัปชั่นบั่นทอนความถูกต้อง และทำลายจริยธรรมของสังคม แต่ละสังคม มีมาตรฐาน ในเรื่อง ความดีงาม จริยธรรมไม่เท่ากัน สังคมที่เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ย่อมประสบปัญหา ในการพัฒนา คุณภาพของพลเมือง ของตนมากกว่า สังคมที่เข้มงว ดกับมาตรฐานของศีลธรรมจรรยา

ทุกสังคมมีมาตรฐานของศีลธรรมจรรยาที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าด้วยกันทั้งนั้น แต่การมองไม่เห็น มิได้หมายความว่า มาตรฐานนั้น ไม่มี ประเทศก็เปรียบเสมือน กับครอบครัวที่มีมาตรฐาน จริยธรรม แตกต่างกัน ออกไป บางครอบครัว พ่อแม่ลูก อาจพูดถึงการคดโกง ฉ้อฉลในชีวิต อย่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในบางครอบครัว การกระทำเช่นนั้น ถือเป็นเรื่อง น่าอับอาย เพราะการกระทำเลวทรามเช่นนี้ ถึงคนอื่นไม่รู้ แต่ตนเองก็รู้เสมอ

สังคมใดที่มีการฉ้อฉลคอร์รัปชั่นอยู่ทุกอณู และมีสถานการณ์เลวร้ายลงทุกขณะจิตย่อมเป็นเรื่องน่าหนักใจ เพราะหมายถึงว่า พื้นฐานของศีลธรรม จรรยาของสังคมนั้น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ของความดีความงาม ความเจริญ และความจริงผุกร่อน

ประการที่สอง คอร์รัปชั่นทำให้คนมีสิทธิ เสรีภาพไม่เท่ากัน ผู้ใดกล้าคดโกงฉ้อฉล และสามารถทำได้สำเร็จ เพราะพื้นฐาน ของสังคมนั้น เอื้ออำนวย ย่อมมีเงินทองจนทำให้มีสิทธิเสรีภาพเหนือคนอื่น ทำให้คนอื่น ที่เป็นคนดี เสียเปรียบ

สังคม ที่ปราบปรามคอร์รัปชั่น อย่างจริงจัง รังเกียจเดียดฉันท์ ผู้คนที่กระทำการส่งเสริม คอร์รัปชั่น อีกทั้ง ยังมีการสร้างระบบ ตรวจสอบถ่วงอำนาจ ที่มีประสิทธิภาพ ย่อมคุ้มกัน การมีสิทธิเสมอภาคกัน ของประชาชน ได้ดีกว่าสังคม ที่เน่าเฟะด้วยคอร์รัปชั่น

สังคมที่มีคอร์รัปชั่น ก็คือสังคมที่เปิดช่องทาง ให้ผู้คนบางกลุ่ม มีอภิสิทธิ์เหนือเหนือคนอื่นด้วยเล่ห์เพทุบาย ทำให้ผู้คนสุจริต เสียเปรียบ เสียโอกาส ดังนั้น จึงเป็นสังคม ที่ไม่อำนวย ให้เกิดความยุติธรรม และ เป็นสังคม ที่ไม่พึงประสงค์

ประการที่สาม คอร์รัปชั่นอำนวยให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอยู่แวของแต่ละสังคมอย่างขาดประสิทธิภาพ (WASTEFUL USE OF LIMITED RESOURCES) ตัวอย่างเช่น การรั่วไหล ของงบประมาณ อันเป็นที่รู้กันดีว่า ท้ายที่สุดแล้ว ถึงมือประชาชนจริงน้อยมาก เปรียบเหมือนกับไอศกรีม ที่ถูกดูด เลาะเล็ม จนเกือบเหลือ แต่ไม้แท่ง นอกจาก จะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากเงินภาษีอากรแล้ว ผลงานที่เกิดขึ้น ก็ขาดคุณภาพ อีกด้วย

ถ้างบประมาณบ้านเราไม่รั่วไหลอย่างที่เป็นอยู่ เราคงจะมีถนนหนทาง และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีคุณภาพ มากกว่านี้ และไม่ต้องจ่ายภาษีกันมากมายปีแล้วปีเล่า และถ้ายังคงเก็บภาษีเท่าเดิม เราก็คงจะได้รับบริการ จากรัฐ มากมายกว่านี้ และด้วยคุณภาพที่สูงกว่า

ที่เลวร้าย เช่นเดียวกันก็คือ สิ่งที่เรียกกันว่ าคอร์รัปชั่นโดยนโยบาย ดังเช่นเรื่อง "ค่าโง่" ที่ภาครัฐต้องจ่าย ให้ภาคเอกชน อย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย ในข้อกำหนด กฎเกณฑ์ที่เขียนไว้แต่แรก และน่าสงสัยว่า ส่วนหนึ่งของ "ค่าโง่" เหล่านั้น จะไหลย้อนกลับมา เข้ากระเป๋าผู้มีส่วนร่วม ในการกำหนดกติกา "ค่าโง่" ทรัพยากร ที่มีอยู่ ก็จำกัดจำเขี่ยอยู่แล้ว แต่ก็ต้องสูญไป อย่างน่าอเนจอนาถใจ เพราะความไร้จริยธรรม ของคนส่วนหนึ่ง ในชาติของเรา

ประการที่สี่ คอร์รัปชั่นบ่อนเซาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมืองเรา เพราะมันทำลาย สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย

ตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลหนึ่ง กระทำผิดกฎหมาย โดยไม่ถูกจับ เพราะสามารถติดสินบนเจ้าหน้าที่ได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งกระทำผิดเช่นเดียวกันแต่ไม่มีเงินค่าสินบน หรืออีกคนหนึ่งมิได้กระทำผิดกฎหมาย แต่คนอื่น สามารถติดสินบน ให้จับได้ และให้ศาลตัดสินว่า ผิดให้ได้ สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล ระบาดอยู่ในสังคมนั้น

เมื่อเกิดคอร์รัปชั่นหนักมือขึ้น ผู้ได้ประโยชน์จากระบบที่เน่าเฟะก็สามารถใช้เงินสร้างอิทธิพล ให้กฎหมาย มาอยู่ฝ่ายตน ลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่นจนถึงอาจครอบงำระบบการปกครอง บ่อนเซาะ ระบบประชาธิปไตย เหมือนที่ได้เคยเกิดขึ้น ในปานามา โคลัมเบีย อาร์เจนตินา บังกลาเทศ ฯลฯ

ประการสุดท้าย คอร์รัปชั่นทำลายเศรษฐกิจโดยตรง เพราะทำให้การตัดสินใจ ของผู้รับผิดชอบ บิดเบือนไป เพราะอำนาจเงิน โครงการที่ไม่สมควรเกิดก็เกิด และด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล ของโครงการ ที่รั่วเหมือน กระชอน กรองกะทิ ซึ่งโครงการเช่นนี้ มักต้องกิน เงินภาษีอากร อีกมากมายในอนาคต ผู้วิเศษได้เงินไปแล้ว เมื่อเกิด โครงการ ทิ้งภาระให้แก่คนเดินดิน ทั้งหลาย ที่ต้องสูญโอกาสที่ดีไป หากเงินจำนวนเดียวกันนี้ ถูกนำไปใช้ ในโครงการอื่น ที่มีประโยชน์ อย่างแท้จริง และยังต้องก้มหน้า จ่ายภาษีเป็นค่าใช้จ่ายต่อไป ให้แก่โครงการ ที่ไม่ควรมีแต่แรก

ล่าสุด TRANSPARENCY INTERNATIONAL ให้ไทยอยู่ในอันดับที่ ๖๔ ของการคอร์รัปชั่นในโลก (อันดับหนึ่งคือ ฟินแลนด์ อันดับสุดท้ายคือ บังกลาเทศ) ซึ่งเป็นอันดับที่เลวลงกว่าปีก่อน อันดับนี้ อาจไม่สะใจ เท่ากับ ความจริงที่ว่า โคลัมเบีย และ เอธิโอเปีย มีอันดับของคอร์รัปชั่น ที่ดีกว่าไทย!

ความเลวร้ายที่แท้จริงของคอร์รัปชั่นในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้แน่ แต่อันดับที่ไทยได้นี้ ก็สะท้อนภาพพจน์ ของประเทศไทย ในสายตาชาวต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดี

ภาพพจน์ ของคนขี้โกง กับประเทศขี้โกง สื่อข้อความอย่างเดียวกันต่อคนอื่น นั่นก็คือ การไร้เกียรติ และ ไร้ศักดิ์ศรี ยิ่งถ้าไม่มีทีท่าว่าจะมีการแก้ไข ปรับปรุงอย่างจริงจังให้ดีขึ้นแล้ว เกียรติภูมิ ของประเทศ ก็จะลดลงไปทุกขณะ

คนจนหรือประเทศจนอาจไม่มีเงินทองมากมายเหมือนกับคนรวยหรือประเทศรวย แต่สามารถ มีสิ่งหนึ่ง ที่ไม่จำเป็น ต้องวอนขอจากใคร นั่นก็คือศักดิ์ศร ีและเกียรติภูมิ จากการเป็นครอบครัว หรือสังคม ที่มีจริยธรรม เป็นรากฐาน

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)