หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

รินธรรมเป็นลำดับ (ภิกขาปรัมปรชาดก)
ความดียังมีลำดับ
คนดีก็มีลำดับ
ทำดีก็มีลำดับ
ผลบุญจึงมีลำดับ

พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้ตรัสเล่าถึงกุฎุมพี (คนมั่งคั่งร่ำรวย) คนหนึ่ง

กุฎุมพีนั้นเป็นผู้มีศรัทธามาในพระพุทธศาสนา หมั่นทำบุญทำทานอยู่สม่ำเสมอมีอยู่วันหนึ่ง........ เขาเกิดความคิดขึ้นว่า

"เราทำบุญอยู่บ่อยๆ ทั้งถวายสิ่งของเครื่องใช้ ทั้งถวายอาหารอันประณีต สักการะแด่พระพุทธองค์ (พระพุทธ) และหมู่สงฆ์ (พระสงฆ์) แต่ยังไม่เคยกระทำการสักการะแก่พระธรรมบ้างเลย เราจะต้อง กระทำอย่างไรกันหนอ จึงจะสักการะครบพระรัตนตรัย (สิ่งมีค่าควรบูชา ๓ อย่างคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ )"

เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เขาจึงไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีจิตปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ ควรจะกระทำ อย่างไรดี พระเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบแก่เขาโดยทันทีว่า
"ถ้าหากปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะแล้วไซร้ จงไปหาพระอานนท์เถิด จงกระทำ สักการะ แก่พระอานนท์ เพราะพระอานนท์เป็นคลังแห่งพระธรรมโดยแท้"

กุฎุมพีได้รับคำตอบเช่นนั้น จึงไปนิมนต์พระอานนท์เถระเอาไว้ ในวันรุ่งขึ้น พระอานนท์เถระ ได้ไปสู่เรือน ของเขา ซึ่งกุฎุมพีจัดเตรียมที่นั่งอันมีค่ามากแก่พระเถระ ทั้งตระเตรียมบูชาด้วยของหอม และดอกไม้ อาหาร ที่มีรสเลิศ ผ้าไตรจีวรราคาแพง แต่พระเถระได้เห็นแล้วก็คิดว่า

"ข้าวของสักการะทั้งหมดนี้ กุฎุมพีมั่นหมายเพื่อสักการะแก่พระธรรม ซึ่งไม่สมควรแก่เราเลย น่าจะสมควร แก่พระธรรมเสนาบดี (แม่ธรรมแห่งพระธรรม) คือพระสารีบุตรมากกว่า"

จึงมิได้ฉันอาหารเหล่านั้น แต่รับเป็นบิณฑบาต และนำสิ่งของทั้งหมดกลับสู่พระวิหาร ถวายแก่ พระสารีบุตรเถระ

ผ่ายพระสารีบุตรเถระนั้น เมื่อทราบต้นเหตุแล้วก็มีความคิดว่า

"สักการะทั้งปวงนี้ เขาปรารถนากระทำแก่พระธรรม ซึ่งควรแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ ทรงเป็นเจ้าของ แห่งพระธรรมโดยแท้"

จึงได้นำข้าวของทั้งหมดไปถวายแด่พระองค์พระพุทธองค์ทรงดำริว่า

"ไม่มีใครรู้ธรรมยิ่งกว่าเรา สักการะนี้สมควรแก่เราแล้ว" จึงเสวยบิณฑบาตนั้น และทรงรับผ้าจีวรนั้นไว้ เรื่องราวนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจนัก ภิกษุพากันสนทนาในธรรมสภา

"กุฎุมพีกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ ถวายข้าวของแก่พระอานนท์เถระผู้เป็นคลังแห่งพระธรรม แต่พระอานนท์เถระ นำไปถวายแก่พระสารีบุตร ผู้เป็นแม่ทัพแห่งพระธรรม แล้วพระสารีบุตรเถระ ก็นำไปถวาย แด่พระศาสดา ผู้เป็นเจ้าของแห่งพระธรรม พระองค์ทรงเห็นว่า ไม่มีผู้ใด รู้ธรรมยิ่งกว่า พระองค์ จึงทรงรับของเหล่านั้นไว้"

ครั้นพระศาสดาเสด็จมาที่ธรรมสภา พอได้ทรงทราบเรื่องบรรดาภิกษุสนทนากันอยู่ ก็ได้ตรัสขึ้นว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาหารบิณฑาต และสิ่งของต่างๆ ได้ยกให้กันต่อๆ ไปเป็นทอดๆ จนไปถึงมือ ของผู้ที่สมควร จะได้รับจนได้ แม้ในกาลก่อน สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่อุบัตินั้น ก็ได้มีมาแล้วเช่นกัน"

เหล่าภิกษุพากันกราบทูลขอให้ทรงเล่าเรื่องนั้น
.............................
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตทรงปกครองเมืองโดยธรรม ณ กรุงพาราณสี ยังประโยชน์สุข ให้เกิดแก่ ประชาชน ทั่วหน้า ทรงทศพิธราชธรรม ทั้ง ๑๐ ประการไว้ไม่ให้เสื่อมเสีย คือ
๑.ทาน แบ่งปันทรัพย์สินให้ผู้อื่น
๒.ศีล ประพฤติดีงาม งดเว้นจากความชั่ว
๓.ปริจาคะ เสียสละให้เต็มที่
๔.อาชชวะ มีความซื่อตรง
๕.มัททวะ มีความอ่อนโยน
๖.ตบะ มีข้อปฏิบัติเผาผลาญกิเลส
๗.อักโกธะ ไม่กริ้วโกรธ
๘.อวิหิงสา ไม่ข่มเหงเบียดเบียนใครๆ
๙.ขันติ อดทนอดกลั้นเข้มแข็งไม่ท้อถอย
๑๐.อวิโรธนะ ไม่ประพฤติให้ผิดธรรม

เมื่อพระองค์ทรงธรรมเช่นนี้ประชาชนจึงอยู่กับความสงบร่มเย็น ไม่มีคดีความใดๆเกิดขึ้น ให้ต้อง พิจารณาคดี ทรงตรวจตราดู ภายในพระนคร ก็มิได้ทรงพบเห็น มีผู้ใดตำหนิกล่าวโทษอันใด ต่อพระองค์เลย จึงทรงดำริว่า

"เราจะต้องไปยังหมู่บ้านหรือชนบทห่างไกลดูบ้างแล้ว"

ทรงมอบราชกิจภายในแก่บรรดาอำมาตย์ แล้วทรงปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านเดินทางไป ในกาสิกรัฐ (แคว้นกาสี) พร้อมด้วยปุโรหิต (พราหมณ์ที่เป็นอาจารย์หรือที่ปรึกษาของพระราชา) ของพระองค์ แต่ที่ไหนๆ ก็ไม่ทรงพบผู้ใด กล่าวโทษถึงพระองค์เลย

จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง เสด็จถึงนิคมหนึ่งที่ชายแดน ขณะที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ ตรงนอกประตู ศาสนา ได้มีกุฎุมพีคนหนึ่ง ซึ่งมีสมบัติมากถึง ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) ผ่านมาพร้อมด้วยบริวารมากมาย พอเขาได้แลเห็น พระราชาผู้มีสง่าราศี เหนือคนธรรมดา มีผิวพรรณงามดั่งทองคำ เข้าเท่านั้น ก็เพ่งพิจารณาดู ไม่วางตา แล้วระลึก จำพระราชาขึ้นมาได้ จึงรีบเข้าไปถวายบังคม กระทำปฏิสันถาร รีบสั่งบริวาร ให้จัดหาของกิน รสเลิศต่างๆ มา เพื่อจะถวาย แด่พระราชา

ซึ่งในขณะนั้นเอง...ภายในศาลาได้มีฤาษีตนหนึ่งออกมาจากป่าหิมพานต์แวะนั่งพักอยู่ทั้งยังมี พระปัจเจกพุทธเจ้า อีกองค์หนึ่ง เสด็จมาจากเงื้อมเขา นันทมูลกะ ได้ทรงนั่งพักอยู่ในศาลานั้นด้วย

เมื่อกุฎุมพีนำอาหารรสเลิศทั้งหมด น้อมถวายพระราชา พระราชามิได้ทรงเสวยแม้สักนิด แต่กลับนำ อาหารเหล่านั้น พระราชทาน แก่พราหมณ์ปุโรหิต ส่วนพราหมณ์ปุโรหิตรับแล้ว ก็นำไปถวาย แด่ฤาษี ทั้งหมด แม้ฤาษีพอรับเอามาแล้ว ก็น้อมกายเข้าไปถวาย แด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้า มิได้ทรงเอื้อนเอ่ย อะไรเลย ทรงรับอาหารนั้นมา แล้วลงมือฉัน ณ ที่ตรงนั้นเอง

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้กุฎุมพีอดสงสัยไม่ได้ จึงออกปากทูลถาม พระราชาว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ (ชาติตระกูลสูง) เคยประทับสบาย ในพระตำหนัก อันประเสริฐ บรรทมมีความสุข บนพระยี่ภู่ (ที่นอน) อันใหญ่โต แต่กลับเสด็จจากมาสู่ป่าดง ชนบทชายแดน ที่กันดาร จึงได้พยายาม จัดหาอาหารอันประณีต ถวายแด่พระองค์ ด้วยความเคารพรัก แต่พระองค์ มิได้เสวย กลับพระราชทานแก่พราหมณ์นั้น นี่เป็นธรรมะอันใด ของพระองค์หรือ"

พระราชาตรัสตอบว่า
"เพราะพราหมณ์นี้เป็นอาจารย์ของเรา เป็นครูผู้คอยตักเตือนสอนเรา ทั้งยังเป็นผู้ขวนขวาย ในกิจน้อยใหญ่ เราจึงควร ให้โภชนะเหล่านี้แก่ท่าน"

กุฎุมพีชัดเจนในคำตอบแล้ว จึงหันไปถามพราหมณ์ปุโรหิตว่า

"ท่านพราหมณ์ผู้ที่พระราชาทรงบูชา ชะรอยเพราะท่านรู้ตนว่า มิได้เป็นเขตบุญแห่งทาน จึงถวายอาหาร แก่ฤาษีไป หรือเพราะเป็น การประพฤติธรรมอันใด ของท่านหรือ"

"ก็เพราะข้าพเจ้ายังครอบครองเรือนอยู่ ต้องเลี้ยงดูบุตรและภรรยา คอยถวายคำปรึกษาและการอบรม แก่พระราชา ให้เสวยกาม อันเป็นของมนุษย์อยู่ ข้าพเจ้าละทิ้งประโยชน์ตน ในธรรมที่สูงขึ้น ฉะนั้น จึงถวายอาหาร แก่ฤาษีผู้บำเพ็ญเพียร รุ่งเรืองด้วยตบะ (การเพ่งเพียรเผาผลาญกิเลส) เป็นบุคคล ผู้อบรมตน เจริญแล้ว"

เมื่อเข้าใจในเหตุผลของพราหมณ กุฎุมพีจึงเข้าไปหาฤาษี แล้วถามในข้อสงสัย

"ข้าแต่ท่านฤาษีผู้บำเพ็ญตบะจนซูบผอม มีกายสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น มีขนรักแร้และเล็บงอกยาว มีฟันเขรอะ มีฝุ่นผง บนศีรษะ ท่านอยู่ผู้เดียวในป่า โดยไม่ห่วงใยชีวิต ก็แล้วภิกษุนั้น ดีกว่าท่าน ด้วยคุณธรรมข้อใดหรือ ท่านจึงได้ถวายอาหาร แก่ภิกษุนั้น"

ฤาษีพยักหน้าแล้วกล่าวว่า
"อาตมายังต้องขุดเผือกขุดมันเลี้ยงชีวิตอยู่ ยังกังวลจนต้องเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือย มาตากมาตำ เที่ยวเสาะหา ผลหมากรากไม้ ไว้บริโภค การสะสม และการยึดถือ ยังมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรถวาย อาหารเหล่านี้ แก่ท่านผู้ไม่สะสม ไม่ยึดถือ ไม่มีความห่วงใยใดๆ แล้ว"

กุฎุมพีหมดความสงสัยในคำตอบนั้น จึงเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยเข้าใจว่า เป็นเพียงภิกษุธรรมดา รูปหนึ่งเท่านั้น แล้วถามว่า

"ข้าพเจ้าขอถามภิกษุผู้นั่งนิ่ง ผู้มีข้อปฏิบัติอันดีงาม ท่านรับภัตตาหารจากฤาษี แล้วก็นั่งฉันอยู่รูปเดียว โดยไม่เอ่ยปาก เชื้อเชิญใครอื่นบ้างเลย นี้เป็นธรรมอันใด ของพระคุณเจ้า ขอนมัสการตอบ ให้ข้าพเจ้า ทราบด้วยเถิด"

พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว จึงตอบแก่กุฎุมพีนั้นไปว่า

"อาตมามิต้องขุดเอง มิต้องให้ใครขุดให้ มิต้องเก็บเอง มิต้องให้ใครเก็บให้ มิต้องตัดเอง มิต้องให้ใครตัดให้ ฤาษีรู้ว่า อาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกล จากบาปทั้งปวง จึงถวายภัตตาหารแก่อาตมา

เพราะบุคคลผู้ยังมีความห่วงใย ยังมีการสะสม ยังมีการยึดถือ สมควรจะให้ทาน ดังนั้น การที่ผู้รับทาน จะเชื้อเชิญผู้ให้ทาน มาเป็นผู้รับทานเสียเอง นั้นเป็นการผิด ย่อมไม่สมควรเลย"

กุฎุมพีฟังแล้วถึงกับแจ่มแจ้งทันที กล่าวขึ้นด้วยความดีใจว่า

"วันนี้พระราชาผู้ประเสริฐ เสด็จมาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยแท้ วันนี้เพิ่งรู้แจ้งชัดว่า ทานที่ให้ ในท่านผู้ใด จะมีผลมาก...

พระราชาทั้งหลายทรงกังวลในเรื่องแว่นแคว้น
พราหมณ์ทั้งหลายกังวลในเรื่องกิจน้อยใหญ่
ฤาษีทั้งหลายกังวลในเรื่องผลหมากรากไม้
ภิกษุทั้งหลายไม่มีความกังวลหลุดพ้นได้แล้ว"

.........................
พระศาสดาแสดงชาดกจนแล้ว ตรัสเฉลยว่า
"กุฎุมพีผู้บูชาธรรมในครั้งนั้น ได้มาเป็นกุฎุมพีผู้สักการะแก่พระธรรมรัตนะในบัดนี้ พระเจ้าพรหมทัต ได้มาเป็น พระอานนท์ ในบัดนี้ พราหมณ์ปุโรหิต ได้มาเป็นพระสารีบุตร ในบัดนี้ ฤาษีจากหิมพานต์ ได้มาเป็นเรา ตถาคตเอง ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ได้ปรินิพพานไปแล้ว"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๐๒๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๖๐ หน้า ๕๓๐)


เพลงความซ้ำซาก
ความซ้ำซาก
ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (เซ็ง) หรอก!
แต่แท้จริงเป็นการสร้างภาพ "ความปกติ"
และความถาวร มั่นคง สถิตเสถียร
ให้เกิด ให้เป็นขึ้นมา ต่างหาก
ดังนั้น...........
ผู้ไม่พยายามเพียรกระทำความซ้ำซาก
ในสิ่งในเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
จึงคือ..........
ผู้จะไม่ถึงความสำเร็จนั้น ๆ ได้เลย
แล้ว "ความยากลำบาก" ใดๆ
ก็จะเป็น "ความง่าย" ความสบายเบา
ไม่ได้เป็นอันขาด

    *ส.โพธิรักษ์

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)