หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เวทีความคิด * เสฏฐชน
ควรแก้อย่างไร? ตรงไหน?

ในบรรดาคำว่า "แก้" นำหน้า คำที่ตามหลังควรจะเป็นอะไรที่ดีที่สุด
บางคนบอกว่า "แก้ตัว" สิ ง่ายดี และคนเราก็มักทำได้ง่ายๆ มากกว่าแก้อื่นๆ
บางคนบอกว่า "แก้ผ้า" ง่ายกว่า เพราะแก้แต่ละครั้งได้เงินเป็นกอบเป็นกำดี
บางคนก็บอกว่า "แก้หน้า" ดีกว่าน่ะ เพราะได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์คนอื่นๆ ด้วย
บางคนก็บอกว่า "แก้ต่าง" ดีที่สุด เพราะเป็นกลางที่สุดในบรรดาสิ่งที่ต้องแก้ทั้งหลาย
ที่ยกตัวอย่างมาเล็กๆ น้อยๆ นี้ เผื่อผู้อ่านคิดตามเล่นๆ ไปก่อน โดยจริงมีเป้าหมายอยู่ตรงที่ อยากให้ทุกคน "แก้ไข" มากกว่า

สังคมคนมีเรื่องให้นำมาขบคิด เพื่อแก้มากที่สุด เพราะคนมักจะรวมเอาเรื่องต่างๆ ไว้ทุกเรื่อง ตามประสา คนๆ ที่จะต้อง "คน" ไว้ก่อนเพื่อประเทืองสติปัญญา เรื่องของคนจึง "ระคน" ไปด้วยสัพเพเหระ ทั้งเรื่องเก่า เรื่องใหม่ เรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งที่ชั่ว-ดี ทั้งที่เป็นคน และไม่ใช่คน

คนจึงเป็นเจ้าโลก เป็นผู้ก่อเรื่องในโลกได้มากที่สุด สัตว์ประเภทใดๆ ที่ว่าเก่ง ยอด เยี่ยม ก็สู้คนไม่ได้ เพราะคนสามารถ จับมาบังคับบัญชา ได้ทุกชนิด มีพิษก็จับรีดพิษได้ มีเขี้ยวก็จับถอดเขี้ยวได้ มีงา ก็จับ เลื่อยงาได้ ... ฯลฯ สัตว์จึงต้องยอมคน ให้เป็นผู้เหนือสัตว์ทั้งหลาย โดยที่คนไม่ต้องคิ ดผลิตอาวุธใดๆ มาเป็นเครื่องมือต่อรอง ก็ชนะมาแล้ว ตั้งแต่ต้นทาง เว้นแต่คนจะยังไม่พอใจ ในชัยชนะ เพียงแค่นั้น จึงได้คิดประดิษฐ์ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ดักประหาร ให้วิจิตรพิสดารขึ้นอีก

เรื่องประหารอื่นๆ ขอยกไว้ก่อน ขอมุ่งประเด็นประหารคนเป็นจุดใหญ่ เพราะพฤติกรรมเช่นนี้เป็น "อนันตริยกรรม" บัญญัติในศาสนาพุทธยึดถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ถ้าเป็น"พระภิกษุ" จัดอันดับ อาบัติปาราชิก จะไม่มีสิทธิ์บวช ถือเพศเป็นบรรพชิตเลย ในชาตินี้ โดยเฉพาะ ถ้าฆ่าพ่อแม่ ซึ่งเป็น ผู้มีพระคุณ อันใหญ่หลวง ตรงที่เป็นผู้ให้กำเนิดร่างกาย ไม่ได้มีข้อแม้ แต่ใดๆ ที่จะยกเว้น ไม่ว่าจะมี คุณสมบัติ ที่ดีของผู้ให้กำเนิดหรือไม่ พ่อแม่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อแม่ คือ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน สิ่งที่ดีงาม มอบทรัพย์สมบัติ พอเป็นต้นทุน สำหรับประกอบอาชีพสืบต่อ รวมเป็น ความเลี้ยงดู ทั้งหมด เอาใจใส่ ให้ความรักใคร่ รับภาระ รวมถึงความใส่ใจ ในสารทุกข์สุข ของลูกด้วย

พ่อแม่บางคนที่คิดถอนทุนคืนจากลูก หวังผลตอบแทนเพราะความละโมบ หลงผิด ทำให้ลูกเดือดร้อน ทั้งด้านเงินทอง ชื่อเสียงเสียหาย ความสงบสุขสิ้นสูญไป เพราะความถือเป็นเจ้าชีวิตลูก กำหนดชะตาเขา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่ครองที่เพียงคาดหวังผลประโยชน์ด้านการเงิน หรือเกียรติยศ ด้วยการเชื่อมต่อ วงศ์ตระกูล หรือเพราะความพอใจ ตรงกับรสนิยมของตน รวมถึงการขืนใจ ข่มเขาโคขืน ให้กินหญ้า ในทำนองนี้ ทัศนะแนวคิด ความปรารถนาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดชนวน ผิดพ้องหมองใจ ในระหว่าง ลูกกับพ่อแม่ ได้ทุกกรณี

การบีบบังคับ หรือความกดดันในเรื่องเหล่านี้ เป็นสาเหตุรวมๆ กันผนึกตัวทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดได้ เพราะลูกหลานเบื่อการถูกปกครองเป็นเจ้าชีวิต จึงไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากปรึกษาหารือ ไม่อยาก ให้รับรู้อะไรๆ ของตนเองด้วย จึงไปหาความสุขนอกบ้าน ไปหาคนอื่นเป็นที่ปรึกษาแทน เพราะเขารู้สึก เป็นอิสระกว่า ได้รับการยอมรับ ได้รับเกียรติมากกว่า ตามปกติวิสัย ของผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีความรู้ มีการงานแล้ว ย่อมอยากที่จะมีอำนาจ มีสิทธิในตัวเอง เมื่อถูกลุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป จึงต้องปลีกตัว หนีห่าง

แต่วัยรุ่นที่กำลังอยู่ในระหว่างช่วงต่อของชีวิต ก้ำกึ่งกันอยู่ในสองฐานะ ผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ เด็กก็ไม่เชิง ก็จะเกิด การตอบโต้ ทำให้เกิดปัญหาครอบครัว การติดเพื่อน ติดเที่ยว ติดยาจึงเกิดขึ้นสำหรับคนวัยนี้ ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ปาตี้ยาอียาบ้า ตามแหล่งต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นตามโอกาสที่อำนวยให้

สถิติอาชญากรอายุ ๑๕-๑๘ เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที แม้การกระทำผิดทางเพศ ตัวเลขวัยอายุ ลดลงทุกปีๆ บางคน อายุเพียง ๑๓-๑๕ ปี ก็อาจหาญบ้าบิ่น ก่ออาชญากรรมโหดเหี้ยม ทารุณขึ้น เช่น การฆ่า เด็กเล็ก กว่าตน การฆ่าผู้ใหญ่ อาวุโสเฒ่ากว่าหลายสิบปี การก่อกรรมชำเราข้ามรุ่น การมั่วสุม ร่วมมือ ประกอบ มิจฉาชีพ ร่วมคนต่างวัย ได้โชกโชนปานกัน ดูเสมือนหนึ่ง กิเลสตัวราคะ ตัวโทสะมีพอๆ กัน เทียบรุ่น เสมอกัน คำว่า "อ่อนเยาว์" หรือ "ไร้เดียงสา" ดูจะตกขอบไปแล้ว

หากวิเคราะห์จากแนวธรรมะ คำว่า "อ่อนเยาว์ หรือ ไร้เดียงสา" จะถูกนำมาใช้ในความหมาย อีกนัยหนึ่ง คือ บุคคลเหล่านี้ ต่างก็มีความอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสาเสมอกัน ไม่ว่าระหว่างผู้มีอายุ ๑๔-๑๕ ปี หรือ ๔๐-๕๐ ปี นั่นคือสภาพ ของความอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา ด้านคุณธรรม เป็นความอ่อนเยาว์ ทางจิตวิญญาณ เป็นความไร้เดียงสา ทางธรรมปัญญา ที่ขาดการพัฒนาก้าวหน้า ไม่มีโอกาส ฝึกฝนอบรม ให้เหมาะสม กับวัยอายุ ยิ่งช่องว่างระหว่างที่วัย คืบคลานไปตามวันเวลา ถ่างออกกับความเจริญเติบโต ของเนื้อหนัง มากเท่าไหร่ ความอ่อนเยาว์ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะนับวัน เติบโตทางกาย จิตใจยิ่งหยาบช้า เศร้าหมอง

วัยเด็กบางคนว่าง่ายสอนง่าย แต่พอโตขึ้นกลับกลายเป็นคนหัวดื้อหัวรั้น บางคนขยันขันแข็ง แล้วแต่พ่อแม่ จะใช้สอย บอกวาน พอโตขึ้นแทบจะไม่หยิบจับอะไรเลย บางคนอ่อนน้อมอ่อนโยน เป็นเด็กมือไม้ดัดง่าย พอเป็นผู้ใหญ่ มือกลับแข็ง ยกไหว้ใครไม่เป็น วัยเด็กต้องตักบาตร ก่อนไปโรงเรียน โตเป็นผู้ใหญ่ มีการงาน เงินเดือนมาก เลขหลายหลัก แต่ไม่กล้าตักบาตร แม้เพียงอาทิตย์ละวัน เป็นเด็กอดจับไม้กวาด ทำความสะอาดบ้าน หลังกลับจากโรงเรียนไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่กลับนอนดูขยะ ฝุ่นละออง จับพื้นเฉยเมย ผสมบ่นค่อนแคะ คนไม่ช่วยทำ ฯลฯ ความดีในวัยเด็ก หายไปไหนหมด? ฤาเพราะไม่มีพ่อแม่ คอยจ้ำจี้จ้ำไช เหมือนวัยเด็กอีกแล้ว

เด็กคนนั้นในครั้งกระโน้น มาเป็นผู้ใหญ่ที่บ่นเด็กในครั้งกระนี้ เพราะเด็กในครั้งนี้ เป็นคนละยุค กับครั้งโน้น เด็กยุคปี ๒๕๔๖ ไม่ต้องซักผ้าเป็น เพราะใช้ระบบซักแห้งแทน เครื่องซักแทน ไม่ต้องรีดผ้า ใช้เนื้อผ้า ชนิดไม่ต้องรีดแทน ไม่ต้องนั่งก่อไฟหุงข้าว เพราะใช้เสียบปลั๊ก หม้อไฟฟ้าแทน ไม่ต้องทำกับข้าว เพราะซื้อ กับข้าว สำเร็จรูปแทน ไม่ต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน เพราะเหมาจากบริษัท รับทำความสะอาดแทน เด็กยุคนี้ จึงแทบจะไม่รู้จักลักษณะ "งานแม่บ้าน-งานแม่เรือน"

ถ้าเป็นเพศชาย ก็ไม่ต้องก่อร่างสร้างตัว เพื่อเตรียมแต่งงาน รับผิดชอบอีกคนหนึ่ง หรือ อีกหลายๆ คน ที่จะเกิดมา ภายหลัง เตรียมเป็นผู้นำคนใหม่ ในครอบครัวใหญ่ ที่แตกแขนงออกไป เพราะบางราย เช่าโรงแรม เป็นหอรักส่งตัว ก็เคยได้ยิน บางราย พ่อแม่สร้างไว้ให้ สำเร็จรูป ทั้งเงินสินสอด ทองหมั้น ทั้งค่าใช้จ่าย ทั้งหมด ทั้งเรือนหอ สิ่งต่างๆ เพื่อตั้งครอบครัวใหม่ ปะเหมาะโชคดี มีเงินทำทุน เริ่มต้น กันใหม่ เป็นหลักล้าน ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยได้ตอบแทนคุณพ่อแม่ เป็นวัตถุข้าวของ เงินทองใดๆ เลย บางคนอาจจะไม่เคย แม้แบ่งเงินเดือนที่รับมา ให้พ่อแม่เก็บไว้ใช้ ทำบุญเลยก็มี มิหนำซ้ำ ยังอาจไปรบกวน จากพ่อแม่อีก เมื่อตัวเอง ประสบกับมรสุมชีวิต เพราะไม่เคยได้ฝึกหัด พึ่งตัวเอง ยืนบนลำแข้ง ของตัวเอง มาเลยนั่นเอง

เหล่านี้จึงเป็นภาระอันหนักของพ่อแม่ที่ไม่มีวันจบ คนจำพวกนี้ เรียกว่า "เลี้ยงลูกไม่รู้จักโต" ตกอยู่ใน ลักษณะเดียว กับพ่อแม่ ที่รบกวนลูก จนดูประหนึ่ง บุญคุณทดแทน ไม่มีวันหมด ทำให้ลูกต้องอดทน กล้ำกลืน ต้องทำหน้าที่ "เลี้ยงพ่อแม่ไม่รู้จักตาย" ล้วนต่างกลายเป็นปัญหา ซึ่งกันและกัน

พุทธศาสนาจึงชี้แนะ บอกสอนให้คนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ทำหน้าที่อะไรอยู่ ต้องมาทำ ความเข้าใจ ในบทบาทของตน ให้ชัดเจน และประคองชีวิต ให้อยู่ในทิศทางที่ "มีศีล มีธรรม" เพื่อการวิวัฒนาการ ของขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับ ไม่มีข้อยกเว้นว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ เด็กก็มีศีลได้ ทำสิ่ง ที่ดีงาม ถูกต้องตรงธรรมได้ ถ้าเด็กรู้จักรักษาศีล ไม่ต้อ รอให้เป็นผู้ใหญ่ก่อน แล้วจึงจะหันมา สนใจศีล สนใจธรรม ตามความยึดถือเก่าๆ โบราณๆ ที่รอให้แก่ก่อนแล้วค่อยเข้าวัด รอให้เฒ่าก่อน แล้วค่อยสละออก เด็กก็ควรถือศีล ตามวัยของเด็ก เช่น เด็กผู้ชาย มักจะชอบสนุก ในการจับสัตว์มาเล่น เราก็ต้องสอน ให้เด็กรู้จักสงสารสัตว์ บอกแกให้รู้เรื่องว่า ถ้าแกถูกคนอื่น ที่โตกว่ารังแกล่ะ? จะชอบไหม? จะยอมไหม? จะกล่าวไปไย ถึงการฝึกยิงนก ตกปลา เพียงเพื่อสร้างความเก่ง ในการแม่นเป้า เป็นนักกีฬา นักยิงปืน เหรียญทอง นักยิงธนูเหรียญทอง จะฝึกยิงปืน ฝึกยิงธนูเพื่อไปยิงคน ได้แม่นเป้าหัวใจหรือไง? หรือ จะเอา ความเก่งอย่างนี้ ไปประกอบอาชีพมือปืนรับจ้าง ตำรวจปราบผู้ร้าย ด้วยวิธี วิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นวิธี ที่คนเขาจะยกย่องว่า เป็นมือปืน เก่งเลิศกว่า การดวลกัน ตัวต่อตัวหรือไง? แล้วยุคนี้ จะหาคู่ต่อสู้ ที่จับมาดวลกัน ตัวต่อตัวชัดๆ เจนๆ เพื่อพิสูจน์ฝีมือจริงๆ เหมือนยุคสมัยพระนเรศวร กล้าท้า พระมหา อุปราชพม่า ให้มาชนช้างตัวต่อตัวหรือ?

เมื่ออยากได้อะไร จะผนึกกำลัง สร้างความอดทนเพื่อสร้างฐานะด้วยความเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เท่าที่สติปัญญา เรี่ยวแรงของเรามีอยู่ หรือด้วยวิธีเล่นเล่ห์เพทุบาย ชนะคนอื่น ด้วยต้นทุน ที่เหนือกว่า มาแต่ต้นทาง ไม่ต้องกล่าวถึงการหวังกำไร เอาเปรียบด้วยการคดโกง ขโมยดื้อๆ

ยังมีความรู้สึกทางเพศอยู่ตามธรรมชาติที่เรียกร้อง ตามประสาสัตวโลกที่ยังต้องสืบต่อเผ่าพงศ์พันธุ์ โดยอาศัยเรื่องเสพเมถุนเป็นพาหะ ที่แต่ก่อนต้องรอเวลาให้มีประจำเดือน อยู่ในระหว่างวัยเจริญพันธุ์ ต้องเข้าในออกทางประตูให้ถูกต้องตามประเพณีวัฒนธรรมที่กำหนดไว้ในแต่ละแห่ง แต่ละชุมชน แทนการมั่วสุมกัน หาประสบการณ์ทางเพศ ด้วยข้ออ้าง หาความรู้ ด้านเพศสัมพันธ์ ตามวิสัย หละหลวม มักง่าย ลงมือก่อน แต่งทีหลัง ท้องก่อนแต่ง หรือแต่งแล้วแต่งอีกก็ไม่เป็นไร หรือไม่แต่งก็อยู่กันไปเรื่อยๆ ไม่ชอบใจก็เลิกกันได้ง่ายดี แม้จะท้องไม่ต้องการ ก็ทำแท้งไม่ต้องคิดมากให้ปวดหัว เพียงเหตุผลว่า ยังไม่พร้อม ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของชีวิต ตัดทางอาชีพ จึงต้องทำแท้งเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ไม่เช่นนั้น ก็เรียนไม่จบ ตำแหน่งไม่เลื่อนขึ้น ในเมื่อตอนเสียตัวไม่ร้อง ตอนท้องก็ไม่มีสิทธิ์ ไปทับถมว่า เป็นความเลวของใคร ในเมื่อทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่เป็นคู่กรณี ต่างให้เหตุผล เพื่อผลักความผิด ให้กันและกัน ไม่ต้องกล่าวถึง การกระทำผิดกายทุจริต เสพกามเมถุน โดยมิชอบ ด้วยวิธีข่มขืนชำเรา แล้วฆ่าทิ้ง หนีเงื้อมมือ กฎหมาย ที่บ่งบอกถึง ความไม่มีศีลทั้งข้อ ๓ และข้อ ๑

เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของสังคมคน เป็นที่มาของข้อมูลให้นักเขียน นักแสดง นักพูด นักเทศน์ นักเล่า ไล่ดะไปจนกระทั่งนักวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ อันจะนำไปสู่การผิดศีลข้อ ๔ มากที่สุด เพียงเล่าสู่กันฟัง ก็มันไม่ใช่เล่น เขียนออกสู่หน้ากระดาษ ก็ยิ่งสนุกไปใหญ่ นำมาพูดแซว บนเวที ทอคล์โชว์ ก็ยิ่งได้เงินมาก แม้นินทาปากต่อปากใครๆ ก็สนใจ อาชีพนักข่าว คนสัมภาษณ์ จึงเพิ่มจำนวนตาม

โบราณจึงเตือนสติไว้ว่า "ความลับไม่มีในโลก" เพราะขึ้นชื่อว่าโลกแล้วย่อมมีสังขาร เมื่อมีสังขาร ก็ย่อมมีทุกข์ คนจึงทุกข์เพราะ "วจีสังขาร" ที่คนไม่ "สังวรศีล" ไม่ "สำรวมวาจา" มักพูดเรื่องผิดเป็นถูก พูดเรื่องขาวให้ดำ พูดตามความมัน ความอร่อย ความสนุกสนาน ความเพ้อเจ้อของตนๆ โดยไม่คำนึงถึงว่า เรื่องที่พูดนั้น จะทำให้คนอื่นได้รับ ความเดือดร้อน เสียหายหรือเปล่า? ศีลข้อที่ ๔ ให้รู้จักระงับปาก ยับยั้งคำพูด ก็ทำไม่ได้ง่าย เหมือนกับการไปซื้อ น้ำยาบ้วนปาก มากำจัดกลิ่นปาก นั่นหรอก

ยุคนี้เด็กที่ไม่อยู่ในครรลองตามศีลตามธรรม มักจะถูกผู้ใหญ่เพ่งเล็งว่าเป็นเด็กไม่รักดี ไม่ทำตามผู้ใหญ่ ส่วนเด็ก ก็ย้อนศร ทวนคำผู้ใหญ่ว่า ผู้ใหญ่ไม่มีคุณธรรม ทำอะไรไม่น่าเกลียด เป็นผู้ใหญ่ซะอย่าง ยกเปรียบ ดังเช่น เด็กไปเตะกระโถนหก ก็ดุว่าเด็กซุ่มซ่าม ผู้ใหญ่เตะกระโถนหก ก็แก้ตัวว่า ผู้ใหญ่แก่แล้ว มักไม่สมประกอบ

ถ้าจะมองให้ดีๆ นำเอาคำว่ากล่าวถึงกันและกันสองประโยคนี้มาทบทวนดู ก็จะรู้ว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นั่นแหละ ถูกตำหนิเท่าเทียมกัน เพียงแต่ใช้สำนวนต่างกัน หากรู้จักคิด เด็กซุ่มซ่าม เพราะวัยเด็ก ยังคล่องตัว ยังไวไฟ รวดเร็ว ขาดความยับยั้ง ส่วนผู้ใหญ่แก่แล้ว เงอะงะไม่สมประกอบ ไม่คล่องตัว ผลที่เกิด จึงเสียหายเท่ากัน คือไปเตะกระโถนหก นั่นเอง

สัมมาสังกัปปะที่ตรงกัน เป็นตัวเชื่อมให้เกิดความเท่าเทียมกัน เกิดภราดรภาพ ไม่มีใครผิดใครถูก ไม่เทียบเคียง ด้วยอคติ เข้าด้วย หรือไม่เห็นด้วย ทั้งฝ่ายเด็ก ฝ่ายผู้ใหญ่ เพราะผลเสีย ที่เกิดขึ้นมา แต่กระโถนหก เปรอะเปื้อนพื้น เกิดมาแต่เหตุ ที่เป็นสัจจะเหมือนกัน คือวัยเด็กก็มักจะไว เร็ว ทำให้เกิด อุบัติเหตุ ได้ง่าย ความแก่ชรา ไม่แคล่วคล่อง ก็ทำให้เกิดติดขัด เกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกัน

ข้อถกเถียงหาความผิดของกันและกัน หรือใครผิดกว่าใคร มาแต่ความถือตัว ถือดี จึงเกิดการแก้ตัว หรือเพราะ ขี้เกียจไม่อยากเหนื่อย ทำความสะอาดพื้นที่เปื้อนนั้น สาระใจความสำคัญ อยู่ที่ตรงนี้ หากไม่ "ไข" เน้นหาสาระ ที่ต้องทำเป็น "สัมมากัมมันตะ" ให้ได้ ทั้งสองคนนี้ก็ไม่คิด "แก้" ให้เกิด "สัมมาสติ" รู้แจ้ง เห็นจริงถึง "ทิฏฐิ" ของตน

ในกรณีอื่นๆ ใดๆ ก็ตาม ที่คนเป็นเจ้าบทบาท สร้างความเคลื่อนไหวอยู่ในสังคม ความเมา ในวัย ไม่ว่า วัยไหนๆ ตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ล้วนเป็นความเมา ที่นำให้จิตวิญญาณคน ตกต่ำ ทุกข์ร้อน เนิ่นนาน ลุ่มลึกกว่าเมาเหล้า เมายา เมาอารมณ์เป็นไหนๆ แม้คนจะรู้ถึงผลเสีย ของเครื่องมึนเมา ทั้งหลาย ที่ผลิตออกมา ในรูปของ "น้ำเมา" กลัวเงินตรา จะออกนอกประเทศ เพราะนักดื่ม นิยมดื่ม น้ำเมาต่างชาติ อุตส่าห์คิดแก้ไข ด้วยการสนับสนุน ให้คนไทยเอง ผลิตน้ำเมาจากผลไม้ ในเมืองไทย ทดแทน เพราะคิดว่า จะเป็นวิธีกักเงินทอง ไม่ให้รั่วไหล ออกต่างประเทศ เหล้าสาโท เมรัย น้ำผลไม้ไทยๆ เริ่มเคลื่อนไหว ขยายตลาดขึ้น จนกระทั่งข่าวตีพิมพ์ว่า คนต่างชาติ ก็ยังเปลี่ยนความคิด หันมานิยมดื่ม น้ำเมาไทยแทน

การคิดแก้ไขวิธีนี้ ทำให้ยุติปัญหาหรือไม่? หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนมือ เปลี่ยนกระเป๋า แต่ไม่ได้เกิดการ "เปลี่ยนนิสัย" เลย ในเมื่อน้ำเมาก็ยังคือน้ำเมาคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเมาชาติไหน น้ำเมาจากผลไม้ ชนิดใด เกิดจาก ท้องถิ่นใด มิหนำซ้ำ อาจเป็นการเพิ่มชนิดน้ำเมา ให้มากขึ้น ซึ่งเท่ากับ ทำให้นักดื่มมี "ตัวเลือก" คู่กับ "ตัวควบ" มาดื่มน้ำเมา ทั้งสองชนิดไปเลย ใครจะปฏิเสธว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะความติด ความ "มัวเมา" ใน "น้ำเมา" เหนียวแน่น ไม่อาจถอดถอน ตราบเท่าที่ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้เสพไม่ละเว้น แม้วันโกน วันพระ

บุคคลผู้มัวเมาสยบอยู่ในโลกียรสทั้งหลาย ล้วนคือผู้ที่ยังอ่อนเยาว์ ไร้เดียงสาในเรื่องศีล แม้เพียงเบญจศีล ที่ผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ต้องสมาทาน มาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ด้วยการปฏิญญาณตน ให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ถือไตรสรณาคมน์ เป็นสรณะ เป็นหนทางเดียวเท่านั้น ที่คนจะหลุดพ้น จากสิ่งชั่วร้ายดังกล่าว ทั้งยังส่งผล ให้ช่วยแก้ปัญหา เด็กเยาวชน ปัญหาสังคมด้วย

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)