หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว * แรงรวม ชาวหินฟ้า
สงครามระหว่างวิทยุ
นายทุนและนายเถื่อน ? (ตอนที่๑)

ข่าวคราวเรื่องราวของวิทยุเถื่อน ดูเหมือนจะถูกโหมกระหน่ำโจมตีออกมาเป็นระยะๆ ทั้งทางโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เหมือนผู้ก่อการดีอย่างสหรัฐบุกเข้าโจมตีผู้ก่อการร้ายอย่างซัดดัม เพื่อสร้างสันติภาพ ของโลกให้เกิดขึ้น

แต่จริงๆ นั้นใครดีใครร้ายคงไม่ใช่อยู่ที่บุชหรือซัดดัมเป็นผู้กำหนดเอาเอง คงขึ้นอยู่ที่ว่า ใครทำตาม กฎกติกามารยาท และกฎหมายระหว่างประเทศ ได้มากกว่ากัน ในทำนองเดียวกับ เรื่องของวิทยุเถื่อน จะเถื่อนหรือไม่เถื่อน จะต้องดูกันว่า ผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ของประเทศหรือไม่ และก็น่าแปลกใจว่า ทำไมนายทุนใหญ่ๆ ในวงการธุรกิจสื่อสาร จึงต้องเดือดร้อนเหลือเกิน ถึงขั้นออกมา เป็นหัวหอก พร้อมที่จะต่อสู้ กับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ในกระบวนการสรรหา กสช. อย่างเต็มที่ และ จะพยายามให้รัฐ เข้าไปตรวจสอบความโปร่งใส ของเอ็นจีโอ อย่างเข้มข้น

ส่วนเอ็นจีโอได้มี นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กร พัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เปิดแถลงข่าวหัวข้อ "ทำไมภาคประชาชน จึงต้องมี ส่วนร่วม ในการปฏิรูปสื่อ ตามเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐" เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาที่ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ สมาพันธ์สมาคม วิชาชีพ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ตั้งข้อสงสัย และยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้ภาครัฐ เข้าตรวจสอบ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน กระบวนการสรรหา คณะกรรมการ กิจการ กระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) อย่างผิดปกติ เพื่อล้มกระดานการสรรหา อาจจะ แอบแฝง ผลประโยชน์ เพื่อกลุ่มของตัวเอง รวมถึงตรวจสอบ การจัดตั้ง วิทยุชุมชน ของเอ็นจีโอว่า ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็น เอ็นจีโอที่แท้จริงหรือไม่ โดยด่วนที่สุด

นางเรวดีกล่าวว่า ข้อสงสัยดังกล่าวของนายไพบูลย์ไม่มีมูลความจริงใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแค่ความคิดเห็น ของส่วนบุคคล โดยได้รับข้อมูลมา ไม่รอบด้าน สำหรับการที่จะให้มีมาตรการ ตรวจสอบเอ็นจีโอ ที่มาเคลื่อนไหว ในการปฏิรูปสื่อนั้น เป็นเรื่องที่ดี และพร้อมที่จะร่วมมือ แต่ก็ไม่สำคัญเท่า ให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ หันหน้ามาร่วมมือกัน เพื่อหาข้อตกลง และ กลไกกลาง ในการผลักดัน ให้กระบวนการสรรหา กสช. คืบหน้า โดยยืนยัน ตามหลักการ ของเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ

นางเรวดีกล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่มีผลทั้งความคิด สติปัญญา และวัฒนธรรม ของคนในสังคม เกือบทั้งหมด บทบาทของ กสช.ที่เป็นองค์กรอิสระ ต้องให้ประชาชน มีส่วนร่วม ในการสรรหา ทุกกระบวนการ ไม่ใช่ผูกขาดเฉพาะในกลุ่มวิชาชีพเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน คนที่จะเข้าไป เป็นคณะกรรมการสรรหา กสช. ต้องเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย และเกณฑ์การสรรหา ต้องชัดเจน สามารถตรวจสอบ เปิดเผยต่อสาธารณะได้ ซึ่งจะให้ถึงจุดนี้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

ทางด้านนายวิเชียร คุตตวัส ผู้ประสานงานสมาพันธ์สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับเรื่อง วิทยุชุมชนนั้น ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ที่ผ่านมา การออกอากาศ สามารถทำได้ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ เป็นจุดปฏิบัติการ เรียนรู้วิทยุชุมชน ของภาคประชาชน และทาง ครม.เอง ยังไม่ได้มีมติออกมาว่า เป็นวิทยุเถื่อน แล้วนายทุนคนหนึ่ง จะมาชี้ว่า เป็นวิทยุเถื่อนหรือไม่ ได้อย่างไร สำหรับการตรวจสอบเอ็นจีโอ ที่เข้าไปดำเนินการวิทยุชุมชน ทั้ง ๑๔๕ แห่ง ทั่วประเทศนั้น คงไม่ต้องตรวจสอบ เพราะปัจจุบันภาครัฐ และสันติบาล ได้ตรวจสอบ อย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

สงครามระหว่างนายทุนและนายเถื่อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ? มีบ่อน้ำมันอยู่เบื้องหลัง เหมือนบุชโจมตี ซัดดัมหรือไม่ น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ มี.ค. ๔๖ ได้วิเคราะห์เจาะลึก ในหัวข้อเรื่อง


"ไฟ กสช.ลนก้น-อากู๋-เจ้าแม่ ๗ สีออกโรง ยื้อขุมทรัพย์หมื่นล้าน"

ในปี ๒๕๔๕ วงการโฆษณามีมูลค่า ๕๗,๐๐๐ ล้านบาท เติบโตถึงขั้น ๑๗% จากปี ๒๕๔๔ ซึ่งวิทยุ และโทรทัศน์ มีส่วนแบ่ง จากมูลค่าโฆษณา ส่วนนี้ถึง ๘๐% หรือ ๔๕,๖๐๐ ล้านบาท เพราะฉะนั้น ด้วยเม็ดเงิน ที่ไหลเวียนอยู่ มูลค่ามหาศาล ในแต่ละปี จึงเป็นธุรกิจ ที่ยั่วยวนใจ มากที่สุด

๖ ปีให้หลัง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐

ใน มาตรา ๑๐ กำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ วิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากร ของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ มีคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง และ กิจการ โทรทัศน์ แห่งชาติ (กสช.) ที่เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแล กิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ของประชาชน ทั้งในระดับชาติ และ ระดับ ท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้ง การแข่งขั นอย่างเสรีโดยเป็นธรรม

แต่การจัดตั้ง กสช. ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ ๓ ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดลงง่ายๆ

หากติดตามข่าวทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ จะเห็นว่ากระบวนการสรรหา กสช. มาสะดุด ตรงที่ศาลปกครองสูงสุด ให้ยกเลิก การสรรหา กสช. ทั้ง ๑๔ คน โดยเห็นว่า พล.ท.สุนทร โสภณศิริ อดีตผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ในฐานะกรรมการสรรหา มีส่วนได้เสีย ในทางธุรกิจ เกี่ยวกับ ผู้สมัคร ๒ คน พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก และ นางสุพัตรา สุภาพ กรรมการบริษัท ททบ.๕ เรดิโอ จำกัด ส่อให้เห็นผลประโยชน์ทับซ้อน กับผู้สมัคร กสช. จึงยกเลิก มติที่กรรมการ สรรหาเลือกรายชื่อ กรรมการ กสช.ทั้ง ๑๔ คน

ทำให้เกิดกระแสตอบโต้ระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ กับสมาพันธ์ สมาคมวิชาชีพ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ อย่างดุเดือดเข้มข้น ทั้งสองฝ่าย งัดกลยุทธ์ ตอบโต้กันแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน จนไม่รู้ว่า สงครามน้ำลาย จะไปจบตรงไหน

ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ขอออกมาเป็นทัพหน้า ในการประมือกับฝ่ายเอ็นจีโอ ชนิดไม่กลัวเปลืองตัว โดยมีเจ้าแม่ ๗ สี คุณนายแดง - สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ยืนข้างกาย ในขณะที่เราไม่เห็นเงาของบิ๊กบอส ค่ายอาร์เอสเลย แม้แต่น้อย

จากคำบอกเล่าของบอสใหญ่แห่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่เชิญนักข่าว ไปฟังเบื้องหลัง ของการที่ตัดสินใจ ออกมาเป็น แม่ทัพหน้า

"ผมยอมรับตามตรง ที่ออกมาครั้งนี้ก็เป็นทั้งเรื่องหลักการ และก็ไม่ปฏิเสธว่า มาปกป้อง ผลประโยชน์ ในธุรกิจบันเทิง ของตัวเองด้วย เพราะกลัวว่า เมื่อไม่ออกมาทัดทานไว้ กลุ่มเอ็นจีโอได้เป็น กสช. จะทำให้ ธุรกิจ สื่อสารมวลชน พังทั้งหมด ก็ต้องออกมาปกป้อง"

ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก เพราะรายได้ของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในปี ๒๕๔๕ มีถึง ๕,๖๘๖.๕ ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ ๑,๓๒๐ ล้านบาท ฉะนั้น จึงเป็นความชอบธรรม ที่เขาจะต้องอุ่นใจ สำหรับคนที่จะมานั่ง ในตำแหน่ง กสช. ที่จะมาให้คุณให้โทษ แก่วงการวิทยุ และโทรทัศน์ของไทย

คู่ชกอีกฟากของสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพนั้นคือ องค์กรพัฒนาเอกชน ในกลุ่มมูลนิธิอาสาสมัคร เพื่อสังคม มีคุณหญิงอัมพร มีศุข เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ รวมเครือข่าย นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักวิชาชีพ สื่อสาร มวลชน และ เครือข่ายประชาสังคม ในชื่อคณะกรรมการ รณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

เป้าหมายของฝ่ายเอ็นจีโอ คือ การรักษาพื้นที่ในสัดส่วนของภาคประชาชน ที่จะแบ่งคลื่นความถี่ มาให้ได้ ๒๐% จากทั้งหมด และเริ่มทำจุดปฏิบัติการวิทยุชุมชน ไปเรียบร้อยแล้ว ๑๔๕ แห่งทั่วประเทศ ในชื่อ เครือข่าย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งกำลังเป็นปัญหา อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผิดกฎหมาย ฉบับเดิม แต่ตรงตามเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ และมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้ออกกฎเกณฑ์ มาควบคุม วิทยุชุมชน

การออกมารักษาผลประโยชน์เดิมของผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กับการ พยายาม ที่จะเข้าปฏิรูป ของเอ็นจีโอ ทำให้เกิดการคานอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ ของฝ่ายตนเอง ให้มากที่สุด ดังที่เป็นข่าวตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มขบวนการสรรหา กสช. เป็นต้นมา และ ไม่มีทีท่าว่า จะลงเอยอย่างไร

จากนี้ไปก็เหลือแต่รัฐบาลกับนายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาการปฏิรูปสื่อ โดยผ่านกระบวนการสรรหา กสช. อย่างไร

อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)