หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กติกาเมือง * ประคอง เตกฉัตร
ความผิดเกี่ยวกับเพศ

คดีความผิดทางเพศ โดยเฉพาะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ถือได้ว่าเป็นความผิดที่รุนแรง และ เป็นที่หวาดกลัว ของผู้หญิงจำนวนมาก รวมทั้งผู้ปกครองของเด็กไม่ว่าเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย ปัจจุบันนี้ การสื่อสารทันสมัยยิ่งขึ้น ย่อมทำให้ตระหนักว่า การล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว เกิดขึ้นได้ กับบุคคล ทุกเพศ และทุกวัย คนส่วนใหญ่ ต้องการให้กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ฐานข่มขืน กระทำชำเรา อย่างรุนแรง และเด็ดขาด มากยิ่งขึ้น เหตุผลหลัก เนื่องจากกฎหมาย และ กระบวนการ ยุติธรรม ที่เกี่ยวกับความผิดประเภทนี้ ไม่ส่งเสริมให้บุคคลต้องรับโทษหนักขึ้น ทั้งมีสภาพ เป็นการ ทารุณกรรมผู้หญิง หรือเด็ก ที่เป็นผู้เสียหาย ในการถูกกระทำความผิด

แม้แต่บทบัญญัติของกฎหมายเองที่เกี่ยวกับการข่มขืนก็มีจุดอ่อนในหลายประการ ตามประมวล กฎหมาย อาญา มาตรา ๒๗๖ ข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง การข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น ซึ่งไม่ใช่ภรรยาตน ซึ่งหมายความว่า กฎหมายปกป้อง คุ้มครอง ผู้ชายที่เป็นสามี แทนจะคุ้มครองหญิง ผู้เป็นภรรยา นอกจากนี้ คำจำกัดความของคำว่า ข่มขืนนั้น นักกฎหมายเห็นว่า หมายถึง อวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไป ในอวัยวะ เพศหญิง ซึ่งถือว่าเป็นความหมายที่แคบมาก เพราะการล่วงละเมิดทางเพศ ที่มีความรุนแรง กับผู้หญิง มีอีกหลายประการ ปัจจุบันยังรวมถึง การข่มขืนเด็กผู้ชาย ซึ่งมีข่าวเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ในทาง กฎหมาย ไม่ถือว่า เป็นการข่มขืน กระทำชำเราเด็กผู้ชาย ทั้งที่พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ได้รับความบอบช้ำ เกินกว่า ที่ผู้เสียหาย ต้องได้รับ และต้องถูกกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการต่อมา อันเป็นการซ้ำเติมลงไปอีก อีกทั้งผู้ที่ใช้กฎหมาย ที่ยึดติดกับความคิด ที่จะเป็นความผิดฐานข่มขืน เมื่อปรากฏ ชัดเจนว่า ผู้หญิง ไม่ยินยอมเท่านั้น ทำให้การข่มขืน ที่เกิดจากสภาพ ที่หญิงยอมจำนน ไม่ได้ความคุ้มครอง ดูแล ทั้งที่ก่อให้เกิด ความเสียหาย ต่อร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกัน

ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ต้องระมัดระวังในการใช้วาจาและกิริยา ท่าทาง ที่ไม่สุภาพ ในลักษณะ ลบหลู่ศักดิ์ศรี ของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหาย ซึ่งได้รับ ความกระทบกระเทือน ทั้งด้าน ร่างกาย และจิตใจมาแล้ว ไม่ต้องการที่จะแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ บางครั้ง เจ้าพนักงาน ตำรวจ อนุญาตให้สื่อมวลชน เข้าทำข่าว รวมทั้งถ่ายรูปผู้เสียหายในคดีอย่างเปิดเผย แม้จะมี การปิดบัง ชื่อสกุล และหน้าตาบางส่วน แต่รายละเอียด เกี่ยวกับผู้เสียหาย ยังเปิดเผย เช่น ภูมิลำเนา ชื่อบิดา มารดา ชื่อสถานศึกษา สถานที่ทำงาน ฯลฯซึ่งทำให้บุคคลอื่น อ่านแล้ว สามารถทราบได้ว่า ผู้เสียหาย ดังกล่าว เป็นใคร อันกระทำในลักษณะกดดัน ประจาน และทำร้าย ผู้เสียหาย อย่างไม่สมควร อย่างยิ่ง

ตำรวจเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจดำเนินการสอบสวนคดี ส่วนอัยการ เป็นผู้สั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง คดีดังกล่าวต่อศาล ก็เป็นเพียงผู้พิจารณาสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ไม่สามารถร่วม ในกระบวนการ ค้นหา ความจริงได้ตั้งแต่ต้น บ่อยครั้งที่เจ้าพนักงานตำรวจและอัยการมีมุมมอง ของปัญหา ที่ต่างกัน สำนวน การสอบสวน จึงมักมีข้อบกพร่อง ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ที่อัยการจะสั่งคดีได้ เมื่ออัยการ สั่งให้ เจ้าพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานสอบสวน ก็ต้องซักถาม ความจริงเพิ่มเติม จากผู้เสียหาย ซึ่งผลกระทบกระเทือน ด้านจิตใจ มีครั้งแล้วครั้งเล่า

แพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนมักจะเน้นเรื่องการตรวจพิสูจน์อวัยวะเพศ เพื่อหาว่า มีเชื้ออสุจิ ของผู้ต้องหา อยู่ภายในช่องคลอดหรือไม่ โดยไม่ให้ความสำคัญ กับร่องรอยบาดแผล ตามเนื้อตัวร่างกาย ของผู้เสียหาย อย่างเพียงพอ ดังนั้น หากผู้เสียหายได้รับการตรวจพิสูจน์ ภายหลังเกิดเหตุ หลายวัน หรือ กรณีที่ ผู้เสียหาย มิได้รับการตรวจ ทันท่วงที หรือ ได้มีเพศสัมพันธ์ กับคู่สมรสของตนเองก่อน ต่อมา จึงตัดสินใจ ร้องทุกข์ ต่อพนักงานตำรวจ และ มีการตรวจพิสูจน์ โดยแพทย์ จึงเป็นไปได้มาก ที่จะไม่ปรากฏ เชื้ออสุจิของผู้ต้องหา ในช่องคลอด ของผู้เสียหาย ซึ่งหากแพทย์ เน้นความสำคัญ เฉพาะเรื่อง ดังกล่าว โดยไม่สนใจ ร่องรอยบาดแผลอื่น ของผู้เสียหาย ก็ทำให้ขาดหลักฐานสำคัญ ในคดีได้

การพิจารณาคดีในศาลในประเทศไทยนั้นค่อนข้างล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายและพยาน ไม่สามารถจดจำ เหตุการณ์ได้ อย่างถูกต้อง แม่นยำครบถ้วน ทั้งผู้เสียหาย และพยาน อาจถูกข่มขู่ จากฝ่ายจำเลย อันจะทำให้ การพิจารณาคดีในศาล ไม่สมบูรณ์ และใช้เวลานานยิ่งขึ้น ทั้งการเปิดโอกาส ให้สื่อมวลชน เข้าทำข่าว และ มีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นการ สร้างความอับอาย และซ้ำเติมให้แก่ผู้เสียหาย เป็นอย่างยิ่ง ทนายความ ของผู้เสียหาย ที่ไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้คัดค้าน ให้พิจารณา คดีลับ นับเป็นซ้ำเติม ผู้เสียหาย อีกประการหนึ่ง

เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำ ความผิดทางเพศแล้ว สื่อมวลชนมักไม่นำคดีดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ อย่างเช่น ขณะเกิดเหตุ สังคม ซึ่งรวมทั้ง ผู้ที่มีโอกาส กระทำความผิด ในลักษณะคล้ายคลึงกัน ในอนาคต ไม่เห็น ผลร้าย ของการกระทำ ดังกล่าว จึงไม่เกิดความเกรงกลัว และทำให้การป้องกัน และปราบปราม การกระทำ ความผิด ดังกล่าว ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

การที่ประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีนิยามคำว่ากระทำชำเราบัญญัติไว้ ผู้ใช้กฎหมายได้ตีความ คำดังกล่าว อย่างแคบว่า หมายถึง อวัยวะเพศชาย ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง อีกทั้งให้ความสำคัญ กับประเด็น ที่มีการล่วงล้ำ ของอวัยวะเพศ หรือไม่ มากเกินไป ทำให้ผู้ใช้กฎหมาย ไม่ว่าพนักงาน สอบสวน อัยการ ทนายความ และผู้พิพากษา จำต้องพยายาม ค้นหาความจริง โดยการสอบถามเหยื่อ ผู้ถูกข่มขืน หรือ ในบางกรณี เป็นเด็กที่ไร้เดียงสา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง โดยละเอียด ให้มากที่สุด ที่สามารถ ปรับข้อกฎหมาย ให้เป็นความผิด ฐานข่มขืนกระทำชำเราได้

การข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก กล่าวคือมิใช่เพียงทำร้ายร่างกาย ผู้เป็นผู้เสียหาย เท่านั้น แต่ยังทำร้าย จิตใจ และตัวตน ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้เคราะห์ร้ายด้วย แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖,๒๘๑ และ ๒๘๕ กลับบัญญัติ ให้ความผิดฐานข่มขืน กระทำชำเรา เป็นความผิด อันยอมความได้ เว้นแต่กรณีที่ กระทำดังกล่าว เป็นเหตุ ให้เหยื่อ ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือ เป็นการกระทำ ต่อผู้สืบสันดาน ศิษย์ที่อยู่ในความดูแล ผู้อยู่ใน ความควบคุม ตามหน้าที่ราชการ หรือ อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์ หรือในความอนุบาล เป็นเหตุให้ผู้เสียหาย ต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องกระทำความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด อันเป็นระยะเวลา ที่สั้นมาก มิฉะนั้น ถือว่า ขาดอายุความ ปรากฏบ่อยครั้ง ที่ผู้เสียหาย ไม่รู้กฎหมาย มีการจำกัดระยะเวลา ที่ร้องทุกข์ได้ ไว้ดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหาย จำนวนไม่น้อย ไม่อาจเรียกร้องสิทธิ ทางกฎหมายได้

ด้วยเหตุนี้ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์แล้ว ยังถูกบีบบังคับ โดยกระบวนการ และ บุคคล ที่เกี่ยวข้อง ให้เลือก ระหว่าง การยอมความ หรือไม่ยอมความ ซึ่งในคดีส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้เสียหาย ได้รับความอับอาย และไม่ต้องการ จะเรียกร้อง สิทธิทางกฎหมายอยู่แล้ว ผู้เสียหาย จึงมักจะยินดี รับค่าเสียหาย เพียงเล็กน้อย และ ตกลงยอมความ กับผู้ต้องหา หรือจำเลย ซึ่งในสถานการณ์ ขณะนั้น มีอำนาจ ต่อรองเหนือกว่ามาก อีกทั้งอาจเป็น กรณีที่ผู้กระทำความผิด ให้สินบนต่อ บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแลผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ถูกข่มขืน โดยเฉพาะ ผู้ถูกหลอกลวง ไปขายบริการ ทางเพศ ผู้ต้องหา จึงไม่ต้องรับโทษ ตามกฎหมาย และไม่เกิดความรู้สึก เข็ดหลาบ และยังเป็นความเป็นไปได้สูง ที่จะกระทำ ความผิดซ้ำ

ในกรณีผู้เสียหายต้องการไปร้องเรียนต่อหน่วยราชการู้ให้ดำเนินการด้านวินัยกับผู้กระทำความผิด ในสถานที่ทำงาน ณ หน่วยราชการต่างๆ ปรากฏบ่อยครั้งว่า ผู้เสียหาย ได้ถูกกำหนด ให้ไปร้องทุกข์ ต่อพนักงาน สอบสวนก่อน จึงจะมีสิทธิร้องเรียน ต่อหน่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า ความผิดฐาน ข่มขืนนี้ เป็นความผิด อันยอมความได้ ที่ต้องร้องทุกข์ ภายใน ๓ เดือน จึงได้ปล่อย ระยะเวลา ดังกล่าว ผ่านไป โดยมิได้ ดำเนินการใดๆ ส่งผลให้ผู้เสียหาย หมดสิทธิจะร้องเรียน ต่อหน่วยราชการ ดังกล่าวด้วย

การที่ผู้ใช้กฎหมายตีความคำว่ากระทำชำเราหมายถึง การที่อวัยวะเพศชาย ล่วงล้ำเข้าไปใน อวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นการตีความ ที่คับแคบเกินไปนั้น ทำให้การบังคับ ร่วมเพศลักษณะอื่น เช่น การสำเร็จ ความใคร่ โดยใช้ปาก หรือวัตถุอื่น หรือแม้กระทั่ง การที่ผู้ชาย ข่มขืน กระทำชำเรา ผู้ชายด้วยกัน ไม่เป็นความผิด ฐานข่มขืน กระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นความผิด ทางอาญา ก็เพียงกระทำ อนาจาร ผู้อื่น ซึ่งอัตราโทษ ต่ำกว่าความผิด ฐานข่มขืน กระทำชำเรามาก

การที่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมมักเชื่อว่าการข่มขืนกระทำชำเราที่จะเป็นความผิด ตามประมวล กฎหมายอาญา ได้นั้น ต้องมีการใช้กำลัง และมีร่องรอย ปรากฏบนเนื้อตัว ของผู้เสียหาย เป็นหลักฐาน ประกอบกับ การที่ระบบฟ้อง คดีอาญา ของประเทศไทย ที่เป็นระบบกล่าวหา ทำให้ผู้เสียหาย ถูกข่มขืน กระทำชำเรา ต้องประสบ ความยากลำบาก ในการพิสูจน์ ต่อศาล ให้เห็นว่า การกระทำชำเรานั้น เกิดจาก ถูกบังคับ ข่มขืนใจ โดยจะต้องมีการนำสืบ ถึงรายละเอียดของพฤติกรรม ที่เกิดขึ้น จนปราศจาก ข้อสงสัย ทั้งนี้ผู้เสียหาย จะต้องถูกซักถาม ด้วยคำถาม ที่น่าละอาย และกระทบกระเทือน จิตใจ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

เพื่อลดความเจ็บปวดและความสะเทือนใจ ปัญหาต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น น่าจะได้รับ การพิจารณา ไม่ว่า เกี่ยวเนื่องด้วย ตัวบุคคล อาคารสถานที่ และบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะ พนักงานสอบสวน ควรเพิ่ม พนักงานสอบสวนผู้หญิง ให้มีมากขึ้น และกำหนดให้ พนักงานสอบสวน ที่เป็นผู้หญิง เข้าสอบสวน เรื่องดังกล่าวนี้ สถานที่สอบสวน ควรควรกำหนดไว้อย่างมิดชิด และไม่ควร สอบสวนหลายครั้ง ไปมา น่าจะทำวีดีทัศน์ บันทึกภาพต่างๆ ตั้งแต่ครั้งแรกไว้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง ในชั้นภายหลัง ไม่ต้องพบกับ ผู้เสียหายอีก พนักงานอัยการ น่าจะมีส่วน ในร่วมสอบสวน กับเจ้าพนักงาน ตำรวจ ตั้งแต่ต้น เพื่อค้นหา ความจริง และแพทย์ผู้ตรวจ พิสูจน์ร่องรอยการข่มขืน ไม่ควรเน้นเฉพาะ การตรวจหา เชื้ออสุจิ จากอวัยวะเพศ ของฝ่ายหญิงเท่านั้น น่าจะรวมถึงการตรวจหา ร่องรอยต่างๆ ตามร่างกายด้วย

ในชั้นศาลน่าจะกำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมายให้พิจารณาคดีประเภทดังกล่าวนี้ เป็นการ พิจารณาคดี โดยลับ และ ควรนำวิธี การพิจารณาคดี เช่นเดียวกับวิธีสืบพยานเด็ก ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะไม่ต้องการ ให้ผู้เสียหาย และผู้ต้องหา เผชิญหน้ากัน และไม่ควรให้ทนายความ ของจำเลย ซักถาม ผู้เสียหายโดยตรง โดยไม่ผ่าน นักจิตวิทยา หรือ นักสังคม สงเคราะห์ และบทบัญญัติของกฎหมาย น่าจะมีการแก้ไข ปรับปรุง วางนิยามคำว่า กระทำชำเราให้ชัดเจน และขยายกว้างขึ้น โดยให้รวมถึง การสนองความใคร่ ของผู้กระทำ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าโดยตนเอง หรือของบุคคลที่สาม ควรห้าม หรือกำหนด การเสนอข่าว ของสื่อมวลชน ในคดี ประเภทดังกล่าวนี้ ให้ชัดเจนว่าสิ่งใดกระทำได้ สิ่งใด กระทำไม่ได้ เพื่อปกปิด ไม่ให้ ผู้เสียหาย ได้รับ ความอับอาย ทั้งควรแก้ไขบทบัญญัติ ของกฎหมาย ต่างๆ ให้ขยายกว้างขึ้น ทันต่อกระแสสังคม ที่กำลังเป็นไป เพื่อคุ้มครอง ศักดิ์ศรีของผู้หญิง และเด็ก ที่ถูก มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สมัครใจ มากกว่า เพื่อปกป้องศักดิ์ศรี ของผู้ชายที่เป็นสามี หรือของบิดามารดา และควรยกเลิก บทบัญญัติ ของกฎหมาย ในความผิด ดังกล่าว กรณีที่ให้ยอมความได้ และ ควรกำหนดโทษ ขั้นต่ำไว้ เพื่อมิให้ศาล ใช้ดุลยพินิจ ในการลงโทษ สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลย ประเภทดังกล่าวได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)