หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


- ทีม สมอ. -


นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แพทย์ชนบทดีเด่น

ปัจจุบันแม้สังคมจะมองแพทย์ส่วนหนึ่งว่า
ก้าวสู่ระบบธุรกิจที่มุ่งเน้นหากำไร
จากความเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้คน
ยิ่งกว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยความเมตตา
เราก็ยังมีแพทย์ที่ดี มีอุดมการณ์
ทำหน้าที่ถ่วงดุลสังคม

รู้จักบางเสี้ยวชีวิตนายแพทย์ สงวนนิตยารัมภ์พงศ์
เป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตในครอบครัวคนจีน เป็นลูกสุดท้องในพี่น้องทั้งหมด ๖ คน เรียนจบเตรียมอุดมศึกษา ก็เข้ามหาวิทยา ลัยมหิดล เลือกเรียนแพทย์ เพราะ มันปนๆ กันระหว่างค่านิยมกับความรู้สึกอยากจะทำ อะไรที่มีความหมาย วิศวะกับแพทย์ วิศวะเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร แพทย์เกี่ยวข้องกับคน คิดไปคิดมาเลือก เรียนแพทย์ สัมผัสความรักและความอบอุ่นจากแม่ ด้วยคำสอนที่ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราลำบากให้มองคน ที่ลำบากกว่าเรา ถ้าเราดีแล้วให้มองคนที่ดีกว่าเรา คิดว่าเป็นวัฒนธรรมจีน ในแง่ที่ทำให้มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน คิดถึงความเป็นมนุษย์ ความมีน้ำใจในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สนใจปัญหาสังคม เพราะชอบ อ่านหนังสือ ช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ชอบอ่านหนังสือสังคมปริทัศน์ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน น.ส.พ. มหาราช ทำให้เห็นสภาพสังคมชนบทที่ต่างจากสังคมเมืองอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้ออกค่ายก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ได้เห็นอะไรหลาย อย่างที่คิดไม่ถึง เช่น ครอบครัวที่ยากจน ทั้งบ้านมีเงินไม่ถึง ๒๐ บาท และอีกหลายๆ กิจกรรมของชีวิตนักศึกษาที่น่าจดจำ และ ทำความเข้าใจ บทบาทในตอนนั้น เป็นบรรณาธิการหนังสือ ็มหิดลสาร" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมทำกิจกรรม นักศึกษา ตั้งแต่ปี ๒ เคยเขียนจดหมายขอบทความของ อาจารย์ป๋วยจากประเทศอังกฤษ ท่านน่ารักมาก ตอบจดหมายมาว่า สงวนที่รัก ยินดีที่จะส่งบทความมาให้" เป็นบทความที่พูดถึง เรื่องการใช้ชีวิต และเรื่องการทำประโยชน์แก่สังคม ผมอ่านเรื่อง ของท่านเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆ ประทับใจมากที่สุด คือเรื่อง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตรเรียนอยู่ปี ๓ ก็ยังเป็น นักกิจกรรม ตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๐ ผมเรียนจบ ทำงาน ในกรุงเทพฯ ๑ ปี ที่โรงพยาบาลวชิระ หลังจากนั้น เลือกออกไปเป็นแพทย์ชนบท จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล อยู่ ๕ ปี ได้เรียนรู้ ความแตกต่าง ระหว่างเมืองกับชนบท ความสะดวกสบาย ความสนุกสนาน สิ่งบันเทิงทั้งหลาย เครื่องกินเครื่องใช้ ที่อุดมสมบูรณ์ ต่างกับความ ขาดแคลน ความอดอยาก แห้งแล้ง แต่สิ่งที่ชาวบ้านมี และมอบให้ อย่างอบอุ่น คือ ความมีน้ำใจ ซึ่งทำให้ชีวิตช่วงนั้นมี ความสุขมากที่สุด พร้อมทีมงานที่ดี คือช่วงหลัง ๖ ตุลา ๑๙ ความตื่นตัว ของนักศึกษา ที่จบมาใหม่ๆ มีทั้งพยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ และเทคนิคการแพทย์ ก็อยากไปทำงานชนบท แม้จะไม่มี สิ่งอำนวยความสะดวกเลย สภาพสังคมตอนนั้น มีความตื่นตัว มีสำนึกรับผิดชอบสังคมสูง ความประทับใจ ผมเชื่อเรื่องจิตใจ และคิดว่า แรงจูงใจเรื่องเงิน หรือตำแหน่งชื่อเสียง ไม่แรงเท่าจิตใจภายใน ซึ่งอยากทำงาน เสียสละ มีอุดมการณ์ และมีความสุข ที่ได้ทุ่มเท ถ้าแพทย์มีบทบาท ออกไปสู่ชนบท มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ชาวบ้าน ได้รับบริการดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อน บริการทางการแพทย์เหล่านี้ จะกระจุกตัว อยู่แต่ในเมือง ก็เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ บริการต่างๆ เข้าถึงประชาชน กว้างขวางขึ้น แต่มีข้อด้อย คือ อาจทำให้ชาวบ้าน พึ่งตัวเองน้อยลง เพราะแต่เดิม เขาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของเขาอยู่ การไปดึง ให้เขาหันมาพึ่งบริการ ทางการแพทย์สมัยใหม่ อาจทำให้ชาวบ้าน ทอดทิ้งสิ่งดีๆ บางอย่างใน ท้องถิ่น ที่มีอยู่ไป แต่ตอนนั้น เรายังไม่ได้คิดเรื่องนั้น อาจเป็นเพราะ ความเติบโตทางความคิดของเรา ยังไปไม่ถึง แต่เมื่ออยู่ ชนบทนานขึ้น เป็นปีที่ ๕, ๖, ๗, ๘ ก็เริ่มเห็นชัดขึ้นว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่าง สามารถนำมาใช้ได้ และปัจจุบัน ก็กลาย เป็นกระแส ความตื่นตัว ขึ้นมาแล้ว เช่น เรื่องสมุนไพรต่างๆ

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับบทบาทผลักดันแนวคิด เรื่องโครงการ หลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า
ผมไม่บังอาจบอกว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดของผมคนเดียว ผมเชื่อว่าคงเป็นความต้อ งการของหลายๆ คนที่เคยสัมผัสพบเห็น บางทีเราดูหนัง เห็นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อถึงเวลา ต้องรักษาพยาบาล ต้องขายที่นา ขายวัวควาย บางคน อาจไม่รู้หรอกว่า คนบ้านนอก เจอสภาพอย่างนั้นจริงๆ ถึงเราจะมีโครงการ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในอดีต แต่ชาวบ้าน ที่ไปใช้บริการ ยังมีความรู้สึก ไม่มั่นใจ หรือไม่มีศักดิ์ศรี ไม่กล้าพูด เพราะถ้าเป็นไปได้ เขาจะพยายาม หาเงินทองมารักษา ถ้าหาไม่ได้ พอเรารักษาเสร็จ เคยมีชาวบ้าน เอาแมงกีนูนมาให้กิน เป็นการตอบแทน

ประเทศไทยเหมือนมี ๒ ระดับ หนึ่งประเทศแต่มี ๒ สังคม คือ สังคมเมืองกับสังคมชนบทซึ่งแตกต่างกัน ผมคิดว่า สังคมที่ดี ควรอยู่กันอย่าง เฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน คนรวยช่วยคนจน คนแข็งแรงช่วยเหลือ คนเจ็บไข้ได้ป่วย รูปแบบประกันสุขภาพ ที่พัฒนาขึ้น โดยมีพื้นฐาน ปรัชญาเช่นนี้ เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้หลายๆ คนมีความปรารถนา อยากให้เกิด สิ่งนี้ขึ้น ในประเทศไทย ยิ่งใครมีโอกาส ไปเมืองนอก ศึกษาประวัติศาสตร์ของเขา จะรู้สึกเลยว่า เราบอกว่า ยากจน สร้างระบบประกันสุขภาพ แบบนี้ไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นมีระบบนี้ ตั้งแต่ปี ๑๙๖๒ หรือ ๔๐ ปีมาแล้ว เกาหลีใต้ มีระบบนี้ ในปี ๑๙๗๙ หรือเกือบ ๓๐ ปีเหมือนกัน เวลานี้เราอ้างว่ายากจน แต่เรายากจนกว่าญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน หรือในฐานะที่เป็นคนไทย เรารู้สึกทนไม่ได้

เพราะฉะนั้น ใครบอกว่า ระบบนี้ทำไม่ได้หรอก เราต้องดูว่า ประเทศอื่นไปทำตอนไหน ทุกวันนี้ประเทศไทย เจริญสู้ญี่ปุ่นเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วไม่ได้เลยหรือ สู้สวีเดนเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วไม่ได้เลยหรือ ผมคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ยิ่งไปเห็น ที่เกิดในเมืองนอก ก็ยิ่งตอกย้ำว่า ทำไมสังคมเขา สร้างระบบที่ศิวิไลซ์แบบนั้น ขึ้นมาได้ แต่ทำไมบ้านเมืองเรา จะสร้างระบบ สังคมศิวิไลซ์ ที่ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน คนมีช่วยคนจน แบบนั้นไม่ได้ คิดว่าต้องช่วยกัน ผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งอันที่จริง เราก็ริเริ่ม ทำระบบประกัน สุขภาพเล็กๆ น้อยๆ มานาน ตั้งแต่การให้บริการผู้ป่วย ที่มีรายได้น้อย ต่อมาก็ขยายไปสู่ กลุ่มผู้สูงอายุ แล้วก็ขยาย ไปสู่กลุ่มเด็ก แต่เนื่องจาก ทำได้ไม่ถ้วนหน้า ก็กลายเป็นคนที่จนจริงๆ ไม่ได้รับบริการ

นอกจากนี้พอทำทีละโครงการ ก็มีการมาศึกษากันว่างบประมาณจะพอไหม เพราะการทำหลายโครงการ จะส่งผล ให้ไม่มี ประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราปรับประสิทธิภาพ ให้ใช้เงินน้อยลง หรือใช้เงินเท่าเดิม โดยทำให้สิ่ง ที่คาดหวังเกิดขึ้น นักวิชาการ นักวิจัย ก็เริ่มศึกษาเรื่องนี้ มีการประมาณการ หาตัวเลขต่างๆ ก็พบว่า ประเทศไทย ในสถานะเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ทำเช่นนั้นได้ ถ้ามีการปฏิรูประบบ ปรับระบบ นั่นคือ ที่มาของโครงการ หลักสุขภาพถ้วนหน้า โดยต้องมีการปรับระบบ ปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้ระบบ ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย

ทำไมเรียกโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค
มีงานวิจัยว่าเวลาคนไข้พบแพทย์ เพื่อรักษาพยาบาล ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านมั่นใจว่าเสียค่าใช้จ่าย เพียงอัตราเดียว แล้ว จะได้รับการดูแล รักษาครบถ้วน ไม่ว่าจะป่วย ด้วยโรคอะไรก็ตาม การจะให้ชาวบ้าน จ่ายเงินบ้าง ก็เพื่ออย่างน้อย แสดงถึง ความมีส่วนร่วม ที่ผมใช้คำว่า เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หรือร่วมด้วยช่วยกัน โดยไม่ใช่คิด จะแบมือขออย่างเดียว แต่มีส่วนร่วม ในการแบกภาระด้วย เป็นการแชร์ที่ไม่เป็นภาระ กับชาวบ้าน มากเกินไป จนกระทั่ง เป็นเครื่องกีดขวาง ให้ไม่กล้ามา รับบริการ

ตัวเลข ๓๐ บาท เป็นตัวเลขที่ฝ่ายนโยบายทางการเมืองคิดว่า น่าจะเป็นตัวเลข ที่เหมาะสม กับชาวบ้าน ทุกระดับ โดยชาวบ้าน มั่นใจได้ว่า เมื่อเข้ามารับการรักษา พยาบาลแล้ว ตัวเองเสียเงินแค่นี้ จะได้รับการดูแล จนหาย ไม่ใช่ว่า เจอแพทย์ครั้งแรก ก็จ่ายแล้ว ถูกส่งต่อก็จ่ายอีก นอนอยู่โรงพยาบาล ก็กังวลว่า บิลอีก ๓ วันข้างหน้า จะกี่ตังค์ เพราะเหตุนี้ ชาวบ้านไปอยู่สักพัก ก็จะรีบเอาคนไข้กลับ เพราะเริ่มสู้ ค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้ว

ตอนแรกก็เป็นโครงการนำร่องก่อน จนถึงปัจจุบัน ทำมาได้ ๒ ปี ก็มีทั้งด้านบวกและลบ สิ่งที่เป็นด้านบวก ที่ชัดเจนก็คือ เราศึกษา จากโพลของ สำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ABAC โพล หรือ สวนดุสิตโพล ทุกโพล ชี้บอกตรงกันว่า โครงการนี้ เป็นนโยบาย ของรัฐบาล ที่ชาวบ้านต้องการ และพอใจ เป็นผลงานดีเด่น ของรัฐบาลชุดนี้ อีกข้อหนึ่ง เป็นสิ่งดีก็คือ มันเริ่มเกิดการปฏิรูป ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการปฏิรูป ในเรื่องของระบบบริการ และงบประมาณ ที่เอาประชาชน เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาสถานพยาบาล เป็นตัวตั้ง ทำให้ประชาชน มีความหมาย ในแง่ของการได้รับ การบริการมากขึ้น แต่ผลในด้านลบ ก็คืออาจเป็นเพราะ มีการทำการตลาด มากเกินไป ทำให้ผู้คน เกิดความคาดหวังสูง ยกตัวอย่างเช่น สมมุติคนไข้ ต้องการผ่าตัดหัวใจ เรื่องนี้เหมือนเขื่อนกั้นน้ำ แต่ก่อนคน ไม่มีตังค์ก็ไม่กล้า แต่ตอนนี้พอบอกว่า ผ่าตัดหัวใจได้ โดยเสียเงิน แค่ ๓๐ บาท พอเปิดเขื่อนปุ๊บ น้ำก็ไหลมาแรง ขณะที่ระบบรองรับ ยังไม่ได้ถูกปฏิรูป ให้พร้อม เพราะฉะนั้น เมื่อเกิด ความคาดหวัง แต่ความเป็นจริง มันยังเกิดไม่ทัน กับสิ่งที่คาดหวังไว้ ก็กลายเป็นความผิดหวัง และ มีปัญหา บางส่วนตามมา

อีกประการที่เป็นปัญหาหนักก็คือ สถานพยาบาลแต่เดิมได้รับงบประมาณชัดเจน จากการจัดสรรงบประมาณ ตามขนาดของ สถานพยาบาล โดยใช้สถานพยาบาลเป็นจุดศูนย์กลาง เขาก็รู้สึกพึงพอใจกับสภาพอย่างนั้น วันดีคืนดี เปลี่ยนระบบ จัดสรร งบประมาณ มาให้ประชาชน เป็นจุดศูนย์กลาง โดยจัดสรรเงิน ให้จังหวัดต่างๆ เป็นค่าใช้จ่าย ด้านการรักษาพยาบาล ตามรายหัว ประชาชน ก็ทำให้เกิดความหวั่นไหว กับสถานพยาบาล และ บุคลากรว่า ถ้าถึงเวลาเกิดมีประชาชน ขึ้นทะเบียน กับเขาน้อยไป จะเกิดปัญหาไหม จะมีเงินดำเนินการ ต่อไปได้หรือไม่ จะกระทบกระเทือน ถึงอาชีพเขาหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า ระบบนี้ยังไม่สามารถ ทำให้เกิดความมั่นใจ ในช่วงแรกๆ เพราะฉะนั้น จึงทำให้บางส่วน ยังไม่เห็นชอบ แต่โดยหลักการ ก็ยังไม่มีใคร คัดค้าน ผมคิดว่า เราคงต้องปรับปรุงแก้ไข และพยายามทำให้เกิด ความเข้าใจ มากขึ้น เพื่อลดปัญหา ความรู้สึกด้านลบ และปรับทัศนคติต่างๆ ให้ดีขึ้น

ประสบความสำเร็จแค่ไหน
ผมคิดว่าต้องพยายามทำต่อไป คงคาดหวังจากรัฐบาลได้ส่วนหนึ่ง ในแง่ที่ว่า เมื่อประกาศเป็น นโยบายแล้ว รัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ฝากความหวัง ไว้กับสังคมด้วย ถ้าสังคมเข้าใจ ตระหนักถึง คุณค่าของปรัชญา เฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ ไม่ใช่แค่ปรัชญา ช่วยคนจน ตามที่หลายคนคิด

นอกจากนี้ เรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้แข็งแรงก็จำเป็นมาก และเป็น ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ระบบ มีประสิทธิภาพ สูงขึ้น คือ ระบบปัจจุบัน ผมใช้คำว่า เป็นระบบบริโภค โดยอาศัยทุน เป็นตัวตั้ง ทุนปัจจุบัน เน้นเรื่อง การรักษาพยาบาล เช่น เราเป็นหมออยู่ คลินิก คนไข้ยิ่งมาก หมอยิ่งได้กำไร กลายเป็นว่า ถ้าหมอไปสนใจในเรื่องทุน หรือกำไร ก็มีความรู้สึก อยากให้มีคนไข้ เยอะๆ แต่ต้องกลับมาถามว่า ถ้าหมอกับพยาบาล ต้องการให้มีคนไข้เยอะๆ มันสวนทาง กับวิชาชีพ ที่มุ่งช่วยให้ ประชาชน มีสุขภาพดีหรือเปล่า เป็นบาปหรือเปล่า คือแค่คิด ก็เป็นบาปแล้ว

แต่ถ้าเราสามารถทำให้คิดกลับว่า ยิ่งทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ตัวหมอเองก็ได้กำไรมากขึ้น อย่างนี้ น่าจะเป็น การสร้างระบบใหม่ ซึ่งจะทำให้สังคม เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังที่ผมพูดถึง เมื่อมีการจัดสรร งบประมาณต่อหัว สถานพยาบาลต่างๆ ได้งบประมาณไปแล้ว หากมีคนป่วย มารักษามาก เขาก็สิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายสูง แต่ถ้ามีคน มารักษาน้อย ก็จะเสียค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งการจะทำ ให้คนมารักษาน้อย ก็ต้องยิ่งทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกัน โรคสูงขึ้น อันนี้จะเป็นประโยชน์ ในระยะยาว แต่ขณะเดียวกัน พูดในแง่ของความรู้สึก แบบคดโกง ถ้าจิตใจ คิดหา ผลประโยชน์ใส่ตัว ก็อยากให้คนไข้ มาหาน้อยๆ เพื่อจะสิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายน้อย โดยพยายามกีดกัน ไม่ให้คนไข้มา ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่หลักการ ที่ตรงกัน ผมจึงบอกว่า ต้องเป็นระบบ ที่พัฒนาไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบ ซึ่งก็ยังไม่ใช่ สิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่สำคัญ จึงคือการสร้างจิตใจที่ดี ให้พัฒนาไปพร้อมกันด้วย

โดยสมมุติฐานของผม ผมเชื่อว่าหมอส่วนใหญ่เอาด้วย และมีจิตใจดีที่อยากเห็นประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ประเด็นนี้คงอยู่ ที่การสร้าง ความเข้าใจกัน มากกว่า และคงคุมได้ระดับหนึ่งด้วยระบบของมันเอง เช่น ในขั้นตอนต่อไป ของระบบ จะเปิดโอกาส ให้ประชาชนเลือก สถานพยาบาลได้ ฉะนั้น ถ้าสถานพยาบาลแห่งไหน บริการไม่ดี ประชาชน ก็จะเปลี่ยน ไปขึ้นทะเบียนที่อื่น ทำให้เกิดระบบควบคุม สถานพยาบาล ไม่ให้เอาเปรียบประชาชน โดยกลไกทางสังคม อีกทางหนึ่ง

ท่ามกลางกระแสสงครามปัจจุบัน ทิศทางสังคมไทยควรเป็นอย่างไร
ผมมองว่าแนวโน้มของโลกปัจจุบัน มนุษย์ได้พัฒนาเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่สงครามครั้งนี้ ทำให้ผมผิดหวัง เพราะคิดว่า เรากำลังเข้าไปสู่จุด ที่เป็นอันตราย ความขัดแย้งจะสูงขึ้น และขยายตัวเร็วมาก จากเดิม เป็นความขัดแย้ง เฉพาะพื้นที่ แต่ตอนนี้ ความขัดแย้ง กำลังกระจายไปทั่วโลก และ มันจะไม่จบแค่นี้ เพราะไม่ว่า ใครชนะก็ตาม การก่อการร้าย การแก้แค้น การทำร้าย ซึ่งกันและกัน จะมีมากขึ้น คนไทยบางคน อาจจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องคนอื่นรบกัน ไม่เกี่ยวข้องกับเรา เราอยู่ ของเราเฉยๆ พยายามวางตัวเป็นกลาง ก็พอแล้ว แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะโลกปัจจุบัน เชื่อมโยงกัน อย่างใกล้ชิด ไม่ใหญ่ เหมือนเก่า ถ้าการก่อการร้าย เกิดขึ้นทั่วไป แค่เราจะเดินทางไปไหน ก็รู้สึก ไม่ปลอดภัยแล้ว

ฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นภารกิจของทุกคนที่ต้องการช่วยกันทำให้สังคมในอนาคตมีความสุข ทุกคนอยู่เฉยไม่ได้ เพราะ สภาพแนวโน้มชี้ให้เห็นแล้วว่า สุดท้ายภัยที่จะเกิดขึ้นนั้นมันจะวิ่งมาถึงเราทุกคน ตรงนี้ผมไม่กล้ามองโลกในแง่ดีอีก ต่อไป โลกดูเหมือนมีแนวโน้มที่แย่ลงในฐานะคนไทยสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้ก็คือ เริ่มต้นตั้งแต่แนวคิด ในเรื่องการแก้ปัญหา ของโลก ถ้าเราทบทวนประวัติศาสตร์ สมัยก่อนเมื่อพูดถึงสังคมที่แตกต่างกันเพราะมีแนวคิดในเรื่องสังคมนิยม เรื่องการปฏิวัติ สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ความรุนแรงไม่ได้นำไปสู่หนทางการแก้ไขปัญหา ตรงกันข้าม เราจะเห็นว่ากลุ่มที่สนใจ เรื่องของจิตใจ เรื่องของสันติวิธี กลับเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ถ้าเราสามารถ ที่จะขยาย ช่วยกันชี้ให้เห็น ว่าโลกอนาคตกำลังเคลื่อนไปสู่ปากเหวอย่างไร ช่วยกันขยายจาก ๑ ไป ๕ จาก ๕ ไป ๑๐ จาก ๑๐ ไป ๒๐ ขยายไปเรื่อยๆ รวม ทั้งพยายามชี้ให้เห็นหนทางแก้ปัญหาของพวกเรากันเองคือ การร่วมด้วยช่วยกัน เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน แม้จะมีความแตกต่าง เรื่องศาสนา เชื้อชาติ สีผิว มันก็เป็นเรื่องของความแตกต่าง ที่ไม่ใช่ความแตกแยก จนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นใครมีโอกาสที่ จะร่วมรณรงค์ ใครมีบทบาท ผลักดัน นโยบายระดับชาติ มีบทบาท ผลักดัน นโยบาย นานาชาติ ก็ช่วยกันทำ ผมคิดว่า หากความ กระแสความตื่นตัวเกิดขึ้น จนมีการช่วยกันทุกระดับ เราจะเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ได้

ปัจจุบันจำนวนคนที่มองเห็นภัยตรงนี้มีพอสมควรแล้ว แต่การจะสร้างความสมานสามัคคี จับมือร่วมกัน ดำเนินการ อย่างเป็น ระบบ ยังไม่เกิด มันจึงกลายเป็นพวกที่ทะเลาะกัน มีพลังมากกว่า ครองอำนาจมากกว่า และยังกุมสภาพการณ์ ส่วนใหญ่ของ โลกอยู่ ถ้าสามารถผนึกกำลังทุกระดับ เพื่อทำให้แต่ละฝ่าย เกิดความตื่นตัว ทำตามบทบาท หรือ พยายามขยายบทบาท ในส่วน ที่ตัวเองมีอยู่แล้วให้มากขึ้น มันคงจะทำให้โลกดีขึ้นได้

ผมยังไม่ถึงกับเครียด ผมเคยบวชครั้งหนึ่ง กับท่านธรรมปิฎกผมยังจำได้ ถึงทุกวันนี้ ท่านสอนว่า อุเบกขา เป็นธรรมะ ข้อที่ยาก ที่สุด การวางอุเบกขา ไม่ได้แปลว่า ให้วางเฉยและหยุด ไม่ยุ่ง แต่อุเบกขา แปลว่า ให้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ อย่างต่อเนื่อง แต่วางใจกับมัน คือสำเร็จไม่สำเร็จก็ช่าง ฉันก็จะทำ ไม่เลิกล้ม แต่ไม่คาดหวังว่า จะต้องสำเร็จอย่างเดียว ซึ่งผมคิดว่า ผมได้ตรงนั้น จริงๆ ถ้าเราคาดหวัง และพยายามผลักดัน โดยคิดว่า ต้องสำเร็จ ก็คงเครียดตาย แต่ถ้าเราสามารถ ที่จะอยู่ในอุเบกขา ระดับหนึ่ง และยังสู้ต่อไป โดยใจเรานิ่ง ก็คงจะสามารถต่อสู้ ในระยะยาว โดยไม่หมดแรง ไปกับความเครียด เสียก่อน


ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-นามสกุล นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
วันเดือนปีเกิด ๑๘ มีนาคม ๒๔๙๕
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ (มวม.)
ประวัติการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๒๐ แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗ Master of Public Health สถาบัน Tropical Medicine, Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม
พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกาศนียบัตร เรื่อง เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สถาบัน London School of Hygiene and Tropical Medicine ประเทศสหราชอาณาจักร
พ.ศ. ๒๕๓๒ หลักสูตรนักบริหารระดับสูง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
พ.ศ. ๒๕๔๓ หลักสูตรนักบริหารระดับสูง ็การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" สถาบันพระปกเกล้า
รางวัลและเกียรติยศดีเด่น
-แพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๒๘
-Fellow of Royal College of Physician (F.R.C.P) ราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุง Edinburgh ประเทศสหราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๓๙
-องค์ปาฐกในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี ๒๕๓๐
-รางวัล "ทุนสมเด็จพระวันรัต" สำหรับแพทย์ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๔

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)