หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

.0

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ (ฉบับที่ ๑๕๔)
- สมณะโพธิรักษ์ -


(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๓)
ผู้ไม่รู้จัก"ภพ" ยัง"อวิชชา" ในเรื่อง "ภพ-ชาติ" ย่อม "เสพภพ" หรือ "เสวยภพ" และยังมี"อัสสาทะ" (โลกียรส) เพราะยังไม่รู้ใน "อาการเสพ" ซึ่งต้องเรียนรู้ ด้วยความแยบคายถ่องแท้ หรือหยั่งรู้ลงไปถึงที่เกิด (โยนิโส) ใน "อาการเสพ" (จิตที่เสพอยู่ คือ "ชาติ" แท้ๆ) และ "ภพที่เสพติด" (แดนที่ติดอยู่ คือ "ภพ" จริงๆ)

ในขณะที่"เสพสุข"อยู่กับ"อากาส"ยังไม่รู้ตัวตน จึงชื่อว่า "อากาสานัญจายตนภพ" ต่อเมื่อรู้"ตัว "รู้"ตน" ก็ชื่อว่า "วิญญาณัญจายตนภพ" แต่มิได้ หมายความว่า คนผู้ตกอยู่ใน "สัตตาวาส" นี้ จะมี "ญาณทัสสนะ" สามารถรู้จัก "ความเป็นตัวตน" (อัตตา) ของตนดอกนะ เพียงแค่มี "การระลึกรู้ตัว "ขึ้นมาได้ว่า เราเป็นสัตว์ ที่มีความรับรู้ ตนหนึ่ง (อัตตา) ขณะนี้เรากำลังเสพสุขอยู่ในแดนที่แสนว่างโล่ง (ภพ) หรือ ระลึกรู้ว่า เราคือใคร (ชาติ) เช่น เราคือนายมี หรือคือนางสี ผู้ที่กำลังเสพสุข อยู่ในความเป็นอรูป ที่ว่างแสนว่าง ("อัตตทัตถสุข" ที่สมใจใน ภวตัณหา) อย่างนี้เป็นต้น มิได้มี"ญาณ ทัสสนะ" หรือ "วิชชา" จนสามารถรู้แจ้ง ความเป็นนามธรรม ขั้นปรมัตถ์ อะไรอย่างนั้นดอก สำหรับผู้ยังเป็น "สัตตาวาส" อยู่ทั้งหลาย

เพราะเรื่อง"ภพ-ชาติ"นี้ ลึกซึ้ง (คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุทฺทสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบพิเศษ สงบอยู่ท่ามกลาง ความวุ่นได้อย่างแข็ง แรง (สันตา) ละเอียดลุ่มลึก (ปณีตา) ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ได้ ด้วยตรรกศาสตร์ (อตักกาวจรา) ฝีมือเข้าขั้นภูมินิพพาน (นิปุณา) รู้ยิ่งเห็นจริง ได้เฉพาะ บัณฑิตจริง ที่ทั้งรู้ ทั้งเข้าถึง ความจริงนั้น (ปัณฑิตเวทนียา) เท่านั้น และมันมีความซับซ้อนแฝงเป็น "ภพ" เป็น "ชาติ" แฝดอยู่กับ "วิหารธรรม"

ผู้เสพสุขใน"อรูปภพ"จึงหลงติดชนิดยากมากที่จะถอนใจ หากไม่ได้เรียนรู้ปรมัตถธรรม จนรู้แจ้ง โลกุตรสัจจะ ตามแบบพุทธ ก็ไม่สามารถที่จะ หลุดพ้นออกจาก "สัตตาวาส" ไปได้ง่ายๆ

ต่อจาก"วิญญาณัญจายตนฌาน"สูงขึ้นไปอีก ก็คือ ผู้ที่ได้เล่าเรียนมาพอสมควรว่า เมื่อยังมี"ตัวเรา" ก็คือยังไม่ใช่ "ความดับสนิท" ผู้มีภูมิดัง กล่าวนี้ จึงจะเพิ่มภูมิให้ตนเอง ด้วยความรู้ที่เคยเรียนมา เพราะฉะนั้น เมื่อยังมี "ตัวฉันเสพอารมณ์อยู่" ก็คือยังมี "ตัวเราเหลืออยู่" ก็เห็นว่า นั่นคือ "ยังไม่ดับสนิท" ยังไม่ใช่สภาพ"นิพพาน"..ว่างั้นเถอะ เพราะเคยเรียนมานี่นาว่า หากยังมี"ตัวเรา" ก็ยังไม่ใช่ "การดับสนิท" หรือ ยังมิใช่ "นิพพาน" เพราะ"นิพพาน"ต้อง"ดับสนิท" ..ต้องไม่มีตัวเรา.. ไม่มีอะไร.. นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่มี .. ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ .. ต้องดับอารมณ์ ..ต้องถึง สภาวะแห่งความไม่มีอะไร จึงจะสูงขึ้น

ดังนั้นจึงจัดการ"ดับอารมณ์วิญญาณัญจายตน-ฌาน"ลงไป จะด้วยการสะกดจิตเข้าไป หรือ เคยเรียน มาว่า "อมนสิกริตวา วิญญาณัญ จายตนสัญญัง"แล้ว บ้างก็แปลกันว่า "ไม่ใส่ใจ วิญญาณัญจายตนสัญญา" บ้างก็แปลว่า "ไม่ใส่ใจความสำคัญว่า วิญญาณัญจายตนะ" แล้วก็ "ไม่ใส่ใจ.. ไม่สำคัญมั่นหมาย อารมณ์ ที่มีอยู่" นั้นๆ หรือ หาวิธีทิ้ง "อารมณ์" นั้นๆไปเสียให้ได้ ก็แล้วกัน จึงพยายามทำกัน จนได้ คือ ทำให้.. ไม่มีอารมณ์ ที่เป็น วิญญาณัญจายตนฌาน.. ไม่มีความรับรู้ว่า ตัวเรา.. ต้องไม่มีตัวเรา.. ไม่มีอะไร.. นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่มี.. ไม่ให้มีอะไรเป็น อารมณ์ตาม ที่มันเป็นอยู่ ขณะนั้น.. ต้องดับอารมณ์ที่เป็น วิญญาณัญจายตนฌาน นั้นลง.. ต้องถึงสภาวะแห่งความ "ไม่มีอะไร แม้นิดแม้น้อย"

สรุปก็คือ "ดับความรู้สึกที่รับรู้อยู่ในภูมินั้น..ดับอารมณ์ทั้งปวงที่มีในขณะนั้นลงไปให้หมดสนิท นิดหนึ่ง น้อยหนึ่งไม่ให้มี"

เมื่อทำสำเร็จ ก็คือ ผู้มี"ภาวะกำหนดตนเองไม่ให้ มีการรู้อะไรเลย แม้นิดแม้น้อย" จนได้ (อากิญจัญญายตนสัญญา) หรือ ผู้มีอายตนะ อยู่แค่ว่า "ได้สะกดธาตุรู้ไว้ ไม่ให้มีการกำหนดรู้ อะไรเลย นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่มี" สำเร็จ ซึ่งมันก็มีภาวะ นัยเดียวกันกับ "อสัญญีสัตว์" คือทำที่ใจให้ "ไม่มีอะไร" ไม่มีทั้งสัญญา.. ไม่มีทั้งเวทนา

นี่คือ ผู้เข้าถึง"อากิญจัญญายตนฌาน" ซึ่งเป็น"อรูปฌานที่ ๓" หรือเป็น "สัตตาวาสที่ ๘" นั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสถึง "สัตตาวาสที่ ๘" นี้ ไว้ว่า

๘. สัตว์พวกหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญา-ณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง แล้วเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร (อากิญจัญญ)

ดังนั้น ผู้สามารถเข้าฌานแบบฤาษี ซึ่งก็คือแบบ"สัตตาวาส"นี่แหละ มาถึงอรูปฌานที่ ๓ นี้ได้แล้ว เป็นผู้ดับจิต ตนเองสำเร็จ เป็น "อากิญจัญญ" อันแปลว่า ความไม่มีอะไรเลย นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ก็ไม่มี

"อาฬารดาบส"ผู้เป็นอาจารย์คนสำคัญยุคนั้น พระพุทธเจ้าตอนบวชใหม่ๆ ก็ได้เข้าไป สังเกตการณ์ ลองเรียน ลองฝึกดู ก็สามารถทำขั้น "อากิญจัญญายตนฌาน" อันเป็นธรรมขั้นสูงสุด ของอาจารย์ อาฬารดาบสนี้ได้ โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก

แต่ด้วยบารมีแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญผ่านความเป็น"พระโพธิสัตว์มหาสัตว์" มาไม่รู้กี่ชาติ ต่อกี่ชาติ ในวัฏฏสงสาร ของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงเคยพบ "พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ" มาแล้วนับแสน พระองค์ ดังนั้น ตลอดสาย ที่สั่งสม สัมภารวิบาก แห่งความเป็น โพธิสัตว์มหาสัตว์ พระองค์จึงมี "ภูมิพุทธ" อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" มาแล้วในบารมี ของพระองค์ เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงมี "ปัจเจกภูมิ" หรือ "สยัมภู" ที่ทรงรู้ด้วย พระองค์เอง โดยพลันว่า "ฌานภูมิ" แบบอาฬารดาบสนี้ "ไม่ใช่แบบพุทธ - ไม่ใช่ทาง นิพพาน" เป็น "ฌาน" คนละประเภท (มิจฉาฌาน) กับ "ทางที่จะเป็นไปเพื่อนิพพาน" (อาริยมรรค)

นั่นก็เป็น"อากิญจัญญายตนฌาน"ในแบบของ"อาฬารดาบส" หรือของฤาษีดาบสอื่น ที่เป็นกัน อยู่ทั่วไป สำหรับ ลัทธิที่ทำได้ทำถึง "อรูปฌานที่ ๔" ปานฉะนี้ ซึ่งก็ยังคงเป็น "สัตตาวาส" อยู่นั่นเอง

ต่อไปก็เป็น"สัตตาวาสที่ ๙" ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

๙. สัตว์พวกหนึ่ง ล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง แล้วเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า นี่สงบ นี่ประณีต

อ่านคำตรัสก็คงเข้าใจกันแล้วว่า หมายถึง ผู้ปฏิบัติ"อรูปฌาน"ขั้นที่ ๔ แบบฤาษีนี้เองแหละ สูงขึ้นไปถึง "เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)