หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


ตอน หน้าพะ(๑)


หน้าพะมาแล้ว!!

น้อยได้เรียนรู้จากโรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้งว่า ประเทศไทยมี ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ยกเว้นภาคใต้ที่มีเพียง ๒ ฤดูเท่านั้น คือมีเพียงฤดูร้อนและฤดูฝน เธอรู้สึกน้อยใจนิดๆ ที่ไม่มีโอกาสรู้ว่า นักเรียน ชั้นประถม ในภาคอื่น เขาหนาวกันอย่างไร พี่แมะเคยบอกว่า

"ก็เหมือนบ้านเราตอนหัวรุ่งมั้ง บ้านเราก็หนาวมากเหมือนกัน"

น้อยชอบมองออกนอกหน้าต่างห้องนอนเล็กๆ ของเธอกับพี่แมะ ทุกเช้าเธอเห็นหมอก ลอยเรี่ย ปิดบัง แนวต้นสาคู ป่ายาง และบางวันก็ ลอยต่ำเกือบติดท้องนา เธอคิดว่า มันเหมือนเมฆ อยู่ไม่น้อย เพียงแต่เมฆ อยู่สูงอยู่บนฟ้าแต่หมอกลอยเป็นชั้นสีขาว เตี้ยจนเด็กเล็ก อย่างเธอก็สามารถ เดินเข้าไป กลางแนวมันได้ น้อยเคยลองจับสายหมอก ที่ลอยเป็นกลุ่ม กลางท้องนาดู เธอแน่ใจว่า จับมันกำไว้ ในอุ้งมือได้แล้ว แต่เมื่อเธอ แบมือออก มันกลับหายไป หมอกที่แว้ง มีให้เห็นแทบทุกเช้า บางวันมันลอย เหมือนควันจางๆ บางวันก็หนาทึบ จนมองไม่เห็นภูเขา เอาเสียเลย เวลาน้อย ออกไปเดินเล่นกับพ่อ ตอนเช้าตรู่ เธอจะรู้สึก ชุ่มชื่นผิวหนัง เป็นอย่างยิ่ง และเสื้อผ้า ที่สวมอยู่ จะชื้นเย็น แต่ไม่ถึงกับเปียก

พ่อบอกว่าหมอกนี่แหละที่กลั่นตัวเป็นน้ำค้างตามยอดหญ้า น้อยชอบเดินย่ำเท้าเปล่า เล่นบนยอดหญ้า ที่เปียกชื้นนั้น จนเท้าเปียก และ ตามน่อง มียอดหญ้าแห้ง สีน้ำตาลติดเต็ม

"ถ้าในภาคอื่นหนาวเหมือนแว้งตอนเช้า แล้วทำไมคุณครูถึงบอกว่า เรามีแค่สองฤดูล่ะ แว้งเรา ก็ต้องมี สามฤดู เหมือนที่อื่นด้วยซี น้อยว่า มันไม่เหมือน ฤดูหนาวที่อื่นเขาหรอก ใช่ไหมคะพ่อ?" น้อยยังไม่ยอม เข้าใจอยู่ดี พ่อจึงอธิบายว่า

"ที่แว้งตอนเช้าก็หนาวเหมือนกัน แต่พอพระอาทิตย์ขึ้นสูงหน่อย แดดออก หมอกที่น้อยเห็น ก็หายไปแล้ว ความหนาวเย็น ก็หายไปด้วย ใช่ไหม เราจึงไม่มีฤดูหนาวจริง อย่างไรล่ะลูก ในภาคที่เขามี ฤดูหนาวนั้น อากาศจะหนาวทั้งวัน ถึงมีแดดแล้ว ก็ยังหนาว และเขาจะหนาวอยู่อย่างนั้น ตั้งสามสี่เดือน"

"ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นคะพ่อ?" น้อยซัก

"เขาเรียกว่า เป็นไปตามธรรมชาติ ลูก" พ่อสรุปอย่างสั้นๆ

"ธรรมชาตินี่ไม่ดีเลย คนอื่นเขามีตั้งสามฤดู แว้งเรามีแค่สอง น้อยว่าถ้าเรามีฤดูหนาว ก็จะดีมากเลย เย็นสบายดี จะได้ไม่มีแต่ฝน" น้อยพูดแบบ "ไม่รู้จักแล้ว" ต่อไปอีก จนพี่แมะตัดบทว่า

"คนอื่นเขาก็อิจฉาเราเหมือนกันแหละ เรามีมรสุม เขาไม่มี ใช่ไหมล่ะ เขาก็ไม่รู้จักลมมรสุม หน้าพะ แบบแว้ง เขาก็ไม่มีเหมือนกัน ยุติธรรมแล้วแหละ คืนนี้พี่ว่าเย็นนะ เราไปล้างเท้า เข้านอนกันดีกว่า การบ้านของน้อย เสร็จแล้ว ไม่ใช่เหรอ? ไปเหอะ"

น้อยนั่งคิดต่ออีกนิดหนึ่งก่อนที่จะลุกไปล้างเท้าที่นอกชานกลาง แล้วมาเช็ดเท้า กับผ้ากระสอบป่าน ที่ประตู ด้านในห้องโถง นี่เป็นเรื่อง ประจำที่ทุกคนในบ้าน ทำก่อนเข้านอน ขณะนั่งแปรงฟัน กันอยู่ข้าง โอ่งน้ำ น้อยหยุดแปรง พูดว่า

"จริงนะ พี่แมะ ไพฑูรย์เค้าบอกว่า ที่บางกอก ไม่มีหรอกที่ฝนตกไม่หยุด ทั้งวันทั้งคืนแบบที่แว้ง เค้าไม่เคยเห็น แล้วยังตก ติดกันสิบวัน สิบคืน ไม่ขาดเม็ดเสียด้วย"

"นั่นแหละ ภาคใต้ถึงมีป่าทึบเยอะไง ไปทางไหนก็เขียว" พี่แมะว่า

"แต่น้อยไม่ชอบทาก ตอนหน้าฝนเล้ย" น้อยพูดต่อ เธอไม่ชอบทั้งทาก ทั้งปลิง ที่มีชุกชุมในหน้าฝน

เด็กทั้งสองสวดมนตร์เสร็จ ก็ล้มตัวลงนอน อากาศคืนนั้น ค่อนข้างเย็นมากทีเดียว สองพี่น้อง ต่างคว้า ผ้าห่มของตนเอง มาคลุมตลอด ทั้งตัว น้อยยังนอนไม่หลับทีเดียว เธอได้ยินเสียง แม่คุยอยู่กับพ่อ ในห้องโถงกลางว่า

"ปีนี้ฉันว่าอากาศมันแปลกอยู่ นี่ปลายเดือนสิบแล้ว ยังไม่ค่อยมีฝนเลย"

"ฉันก็ว่างั้นเหมือนกัน ปีนี้ร้อนมากด้วย ฝนเพิ่งจะตกลงมานิดหน่อย ก็สองสามวันนี้เอง แล้วก็แค่พรำๆ ลงมานิดเดียว พอดินเปียก ไม่น่าเชื่อว่า เข้าหน้ามรสุมแล้ว ไม่รู้ว่าทำไม" พ่อพูดบ้าง

"ปีนี้ฝนฟ้าแปลกจริงๆ" เสียงแม่พูดต่อ "ตอนเช้าหนาวมาก แต่พอกลางวัน ร้อนแทบตับแตก แถมสองสาม วันมานี้ ฝนยังพรำลงมา อย่างพ่อว่า ถ้าตกมากกว่านี้ ยางก็ตัดกันไม่ได้"

"ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ถึงเดือนหน้า สงสัยน้ำจะไม่พะเสียละมั้ง คืนนี้ท่าทาง เดี๋ยวฝนก็ลงอีก แต่คงแค่ ประปราย" น้อยได้ยินเสียงพ่อ เพียงแค่นั้น ก็ผล็อยหลับ ตามพี่แมะไป

ตื่นเช้าขึ้นมา น้อยรีบเปิดหน้าต่างมองออกไปยังป่าสาคูและทิวเขาเช่นเคย วันนี้หมอกลอย บางกว่าทุกวัน เธอเห็นต้นไม้ ใบหญ้า ในเขตรั้วบ้าน เปียกชื้น แสดงว่าเมื่อคืน หลังจากที่เธอหลับแล้ว ฝนคงตกลงมา มากพอสมควร อากาศ เช้านี้จึงสดใสมาก แล้วก็เป็นเช้าวันเสาร์ ด้วย เธอไม่ต้องไปโรงเรียน งานในบ้าน ก็มีไม่มากนัก

"ไปเที่ยวที่บาโงงญือฆิง (เนินต้นเนียง) ดีกว่า" เธอบอกตัวเอง ก่อนที่จะค่อยๆ ย่องไปเปิดประตูห้องโถง ไปออกนอกชานกลาง อย่างเงียบกริบ รีบล้างหน้าล้างตา แล้วสาวเอาผ้าขาวม้า ผืนเก่าของพ่อ ที่ตากอยู่ ที่ราวลวด ริมฝามาห่มเข้ากับตัว ก่อนลงบันไดข้างบ้าน ด้านที่จะออกประตูรั้วสวน สู่ท้องนา

น้อยหยุดตรงคันนา ที่เต็มไปด้วยต้นหญ้าเตี้ยๆ มองไปรอบตัว โลกทั้งโลกเงียบสงบ มีแต่เสียงนก เริ่มร้องเพลง ดังจุ๊บจิ๊บ มาจากหมู่ต้นทุเรียน หน้าบ้านน้ากิม เธอได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของกล้วยไม้ป่า ที่ห้อย เป็นช่อบ้าง ติดเป็นก้านๆบ้าง ตามต้นทุเรียนเหล่านั้น แว้งช่างสดใส น่าอยู่อะไรอย่างนั้น

น้อยก้าวเดินต่อไปเรื่อยอย่างสบายอารมณ์ตามคันนา ที่เธอรู้จักดี แทบทุกตารางนิ้ว ถึงบาง"บิ้ง(๒)" เธอลงเดินลัด ทะแยงไปตามรอย ทางเดินเล็กๆ ที่คนในหมู่บ้าน ย่ำเสียจน เป็นทางสีขาวนวล มันเป็นทางลัด ตัดตรงไปบ้าน ของอะแว และ นะแขกมลายู ที่พ่อกับแม่รัก เหมือนลูกหลาน

เมื่อเดินตามทางลัดมาจนสุดนาบิ้งสุดท้าย ก่อนเข้าป่ายาง น้อยกระโดด ขึ้นไปบนคันนา ที่ตรงนั้น ค่อนข้างสูง มิน่า เขาถึงเรียกหมู่บ้านนั้น ว่าบาโงง ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า เนิน น้อยมองไป ทางท้องนา อีกด้านหนึ่ง ที่ลาดต่ำลงไป กว่าที่เธอยืนอยู่ พระอาทิตย์กำลังฉายแสง เป็นลำลงไป ตรงนั้นพอดี หมอกก็จาง ไปบ้างแล้ว เธอเห็นอะไรบางอย่าง แปลกไปกว่าทุกวันที่นั่น

อะไรน่ะ! ขาวเป็นจุดๆ เต็มไปหมดทั้งบิ้งนาผืนนั้น! ไปดูหน่อยดีกว่า!

แล้วน้อยก็ออกวิ่งมาหยุดอยู่บนคันนาบิ้งนั้น นาทั้งผืนเต็มไปด้วยดอกเห็ดสีขาวสะอาด มันเพิ่งเป็น ดอกตูม โผล่ขึ้นมา จากดิน ที่เขาเกี่ยวฟางไปหมด เหลือแต่โคนซัง ที่เปื่อยลงไปกับดิน เพราะน้ำค้าง

น้อยเปลี่ยนใจแล้ว เธอไม่ไปหมู่บ้านหลังป่ายางนั้นแล้ว แต่จะค่อยๆ เก็บเห็ดตูม ขาวสะอาด ไปให้พ่อกับแม่ ดูดีกว่า เผื่อว่า...เผื่อว่า... มันจะขายได้สตางค์

อีกครู่ใหญ่เธอก็กลับมาถึงบ้าน แดดเริ่มทอแสงขึ้นมาทางด้านหน้าร้านของแม่ หมอกหายไปหมดแล้ว น้อยร้องเรียก พ่อแม่ลั่น พลางตะกายขึ้นบันไดข้างบ้าน อย่างรวดเร็ว ผ้าขาวม้า ของพ่อ พาดอยู่รอบคอ ด้านหลัง ส่วนชายทั้งสองข้าง ที่บัดนี้ห้อยอยู่ด้านหน้านั้น น้อยได้ทำเป็นถุง แบบที่แขกชาวบ้าน เขาทำกัน ในถุง เต็มไปด้วย เห็ดตูม ที่เธอบรรจง เก็บมาอย่างเบามือ

"พ่อคะ แม่คะ พี่แมะด้วย มาดูอะไรแน่ะ เร็วเข้าค่ะ!"

ทุกคนรีบออกมาดู พ่อบอกทันทีว่า "เห็ดฟาง น้อยไปเอาที่ไหนมาลูก ดอกสวยๆ ทั้งนั้น ยังตูมอยู่เลย ฝนที่ตกพรำ มาหลายวันนั่นแหละ ทำให้เห็ดงอก"

"เต็มไปทั้งนาบิ้งนั้นเลยค่ะพ่อ มีแต่บิ้งนั้นเท่านั้น กินได้ไหมคะ แม่?" น้อยตอบ แม่พูดต่อทันทีว่า

"นี่เห็ดฟางลูก หวานอร่อยด้วย เดี๋ยวให้แม่เอาใส่ไว้ในถาดก่อน แล้วเรารีบไปเก็บกันอีก สายเกินไป มันจะบานเสียหมด ไปกันลูก ไป"

แล้วเช้าวันนั้นแม่นั่งเย็บกระทงเล็กๆ ด้วยใบตองที่พ่อตัดทางมันลงมาจากต้นกล้วย ข้างบ้าน พ่อกรีด เอาแต่ใบตอง มาให้แม่ แม่เอา กรรไกรจีน(๓) เจียนใบตอง เป็นวงกลม แล้วค่อยๆ จีบทีละจีบ กลัดด้วย ไม้กลัด จนรอบ เรื่องนี้แม่ชำนาญมาก เพราะทำมาตั้งแต่ ขายขนม หน้าวิกหนัง ที่บางนรา พอแม่ทำเสร็จ ไปกระทงหนึ่ง ลูกทั้งสอง ก็ค่อยหยิบเห็ด อย่างเบามือ มาเรียงลงไป ทีละดอก จนเต็มกระทง เรียงเสร็จ แล้วก็วางลงบนถาดเคลือบ ที่มีอยู่สองใบ สำหรับสองคน กระเดียดผักไปขาย หลังจากเลิกเรียนแล้ว

พอเต็มพี่แมะก็รีบกระเดียดถาด เดินไปตลาด ไม่ถึงสิบนาที ก็กลับมาบอกแม่ ด้วยน้ำเสียง ตื่นเต้นว่า

"ยังไม่ถึง 'มะนึเก๊ะ'(๔) คนที่ร้านน้ำชา ก็ซื้อหมดเลยค่ะ กระทงละบาท หมดเลย นี่ค่ะสตางค์ สิบห้าบาท เมาะกึเดาะห์(๕) วิ่งมาก็ไม่ทัน แกบอกแมะว่า ให้เอาไปให้แก ทั้งหมดเลย เท่าไรก็เอา ในตลาด ไม่มีเห็ด เลยค่ะ ดีจังเลยน้อย"

"วันนี้เรารวยเพราะน้อยแท้ๆ" แม่ว่า น้อยรู้สึกดีใจจนแน่นทรวงอก เมื่อได้ยินคำแม่ พ่อตรงเข้าหยิบ กรรไกรจีน พูดว่า

"แม่เย็บโซง(๖)อย่างเดียว เดี๋ยวพ่อช่วยเจียนให้ ไว้ใจฉันได้น่ะแม่ เอ้า น้อย ช่วยพี่แมะเรียงเห็ด ใส่โซงเข้า เร็ว"

แล้วอีกครู่เดียว พี่แมะก็พูดว่า "ไป น้อย ช่วยพี่กระเดียดถาดเล็กไป วันนี้ถาดของน้อย ก็ขายหมดแน่ ไม่ต้องกลัว เร็วเหอะ เดี๋ยวเกิดมีพวกในกำปง เก็บมาขายเหมือนกัน เราก็อดได้เงิน"

แล้วแค่เช้าวันนั้นเห็ดทั้งบิ้งนา ที่น้อยเป็นคนพบ ก็ทำเงินในครอบครัวเล็กๆ นี้ได้มากมาย แม่ยิ้มแป้น พ่อเพียง แต่อมยิ้ม เมื่อเห็นอาการ ภาคภูมิใจ ของลูกคนเล็ก อาหารมื้อเช้าวันนั้น แม่ผัดเห็ดฟาง ให้รับประทาน กับข้าวร้อนๆ อย่างเอร็ดอร่อย

"พรุ่งนี้น้อยจะไปเก็บอีกค่ะพ่อ พี่แมะก็จะไปด้วย" น้อยประกาศ ให้พ่อกับแม่ทราบ ตาเป็นประกาย

"จะไปอีกหรือ ดูก่อนก็แล้วกันลูก" พ่อว่าน้ำเสียงเย็นๆ ซึ่งน้อยไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมจะไปไม่ได้

บ่ายวันนั้น ขณะที่ทั้งครอบครัวนั่งกันอยู่หน้าบ้าน ทุกคนสังเกตว่า พยับแดด ดูแปลกไปกว่าปรกติ มันเป็นแดด สีเหลืองกว่าทุกวัน อากาศร้อนอบอ้าว และไม่มีลมพัดมาเลย แม่นั่งบ่นว่า ไม่เคยเห็นอากาศ อะไรอย่างนี้

"ดูเกร็ดฟ้า(๗) เต็มไปหมด แต่ฟ้าไม่ได้มัวขอฝนตกมาสักหน่อย พอให้คลายร้อน ก็ดีหรอก เทวดาเอ๋ย"

"น้อยว่าฝนจะตกตอนกลางคืน แล้วพรุ่งนี้ เห็ดก็จะงอกออกมาอีก น้อยจะไปเก็บเห็ด" น้อยว่า

แขกผู้หญิงสองสามคนแวะเข้ามาหน้าร้าน ปลงกระเชอ ที่ทูนมา ลงบนนอกชานหน้าบ้าน

"อะปอตู (อะไรน่ะ)?" แม่ถาม และแขกก็ตอบว่า

"กูหละ แมะ บลือลา (เห็ด คุณนาย ซื้อซีคะ)" แขกตอบ ก่อนที่จะบ่นว่า

"ปานัสอะปอบลือนิงนี (ร้อนอะไรอย่างนี้นี่)"

น้อยตะลึง จนตาค้าง ในกระเชอทั้งสาม ที่วางอยู่บนนอกชานนั้น เต็มไปด้วยเห็ด เห็ด และเห็ด เธอ มองหน้า พี่แมะ เหมือนจะถาม แต่ยังไม่ทันเอ่ยปาก ก็ได้ยินเสียงแม่ ตอบแขกว่า

"เอาไปขายที่ตลาดเถิด วันนี้ยังไม่รับจ้ะ"

พี่แมะออกเดินตามหลังแขกผู้หญิงทั้งสามไปตลาด สักครู่ก็กลับมาบอกว่า "แขกขายไม่ได้เลย แม่ เห็ดของเขา มันบานทั้งนั้น แล้วเขาก็ใส่สุ่มๆ มาในกระเชอ มันทับกันจนช้ำ แมะเห็นเขาขายเหมา ไปถูกๆ ค่ะ"

"น่าสงสารแขกพวกนั้นจริง ทูนมาตั้งไกลโข ถึงเก็บดอกตูมมา โดนแดดจัดอย่างนี้เข้า มันก็บานหมด แถมยังมาถูก เห็ดแม่ค้าน้อย ตัดหน้าเข้าด้วย คงได้ไม่กี่บาท" พ่อว่า

"พรุ่งนี้น้อยจะไปแต่เช้า เลือกเก็บแต่ที่ตูมๆ มาขาย ดอกบานเราเอามากินเอง" น้อยพูดอย่างมั่นใจ

วันรุ่งขึ้นน้อยตื่นตั้งแต่หัวมืด เธอไม่ได้เปิดหน้าต่าง ดูหมอกดูป่าเขาเช่นเคย พี่แมะ พ่อ แม่ ยังนอนอยู่ น้อยย่องออกไป ที่นอกชานกลาง รีบล้างหน้าแปรงฟัน อยู่ในความมืด เธอไม่ได้เช็ดหน้า ทาแป้งเช่นเคย

"รีบไปดีกว่า เดี๋ยวพวกเด็กแขกมาแย่งเก็บเสียก่อน อดได้สตางค์" เธอบอกตัวเอง ขณะสาวผ้าขาวม้า ของพ่อ มาพันไหล่ไว้

"เอากระเชอไปด้วยดีกว่า จะได้เก็บมาได้เยอะๆ เอาให้เยอะกว่าเมื่อวาน" เธอบอกตัวเองต่อ แค่นั้นยังไม่พอ เธอบอกตัวเองต่ออีกว่า

"ถือกระเชอไปมือนึง นี่ อีกมือนึงหิ้วแกรง(๘)ไปด้วยก็ยังได้"

น้อยจึงรุงรังปุกปุยเต็มที่เมื่อก้าวลงบันไดห้าขั้น ด้วยความเคยชิน เธอรู้ดีว่า พอลงขั้นสุดท้ายแล้ว เท้าก็จะเหยียบ บนท่อนไม้ซุงใหญ่ ที่พ่อให้แขกวาง สำหรับเดิน จากนั้น เธอก็จะกระโดดลง สู่พื้นดินได้

ป๋อม! เอ๊ะ! อะไรกันนี่! เพิ่งก้าวลงมาได้สามขั้นเท่านั้นนี่!

"พ่อ! พ่อ! ช่วยด้วย! น้ำพะ! น้ำพะ!"

น้อยตะโกนลั่นด้วยความตกใจสุดขีด ก่อนที่จะคว้า ไม้ท่อนไม้ซุงเอาไว้ แต่ซุงก็พลิก ทำให้เธอ จมน้ำ บุ๋มลงไปอีก เธอพยายามหยั่งเท้า แต่น้ำก็ลึก เกินหยั่งได้เสียแล้ว ทั้งกระเชอ และตะกร้า หายไปไหน ไม่ทราบ อะไรบางอย่าง บอกกับน้อยว่า อย่าเกาะซุงนั้น เป็นอันขาด เพราะมันกำลัง ลอยออกไป แล้วมันก็พลิก ทำให้เธอจมน้ำตาย

ช่วยด้วย! น้ำพะแล้ว!" เธอตะโกนจนสุดเสียง พลางตะเกียกตะกาย เข้าหาบันได เป็ดที่ว่ายน้ำกันอยู่ในเล้า และไก่ ที่บินขึ้นไป เบียดกัน อยู่บนนั่งร้าน ใต้ถุนครัว คงจะตกใจ เสียงตะโกนของน้อย จึงช่วยกัน ส่งเสียงลั่น ไปด้วย

พ่อ แม่ พี่แมะ ต่างตกใจตื่นวิ่งกันออกมา ในความมืดสลัว แม่ร้องเสียงดัง อย่างตกใจ สุดขีดว่า

"น้ำพะอะไร ฝนไม่มีเลยสักเม็ด อะไรกัน! น้อยอยู่ไหนน่ะลูก?"

ส่วนพ่อนั้น กระโดดลงจากนอกชาน จับตัวน้อยส่งขึ้นมาให้แม่ "น้ำพะจริงๆ แม่ เอ้ารีบรับลูกไป ฉันจะไปดูคอกเป็ดหน่อย เร็ว! น้ำยังขึ้นอยู่ มันมาจากไหนกันนี่ เงียบกริบทีเดียว"

น้อยรู้สึกว่ามือทั้งสองของแม่ที่รับตัวเธอขึ้นมานั้น สั่นระริก พี่แมะวิ่งเข้าไปเอาเสื้อผ้า มาให้น้องเปลี่ยน ครู่ใหญ่ พ่อก็ขึ้นมาบนบ้าน พ่อบอกให้ทุกคน เข้าไปอยู่ในเรือนใหญ่ แล้วพ่อก็ปิดประตู ลงกลอน กันสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีพิษ แล้วพ่อก็พูดกับแม่ว่า

"เกิดมาฉันก็ยังไม่เคยเห็นน้ำพะแบบนี้มาก่อน มันไม่ส่อเค้าหน้าพะ เอาเสียเลย"

"ไม่มีฝน แล้วน้ำมันมาจากไหนล่ะพ่อ" แม่ว่าพลางกอดน้อยไว้ "หมดเคราะห์หมดโศกนะลูก"

"มันเป็นน้ำภูเขา แว้งล้อมรอบด้วยภูเขา บนโต๊ะโมะ ฝนคงตกหนัก มาหลายวัน น้ำถึงได้ทะลักลงมา แต่มันมา เงียบสนิทจริง เรานอนหลับ ไม่รู้เรื่องเลยนะนี่ ป่านนี้ในตลาด คงโวยวายกันใหญ่" พ่อว่า "บ้านเราสูง น้ำคงท่วม ไม่ถึงหรอก แต่ไข่เค็มของแม่ ที่พอกดินเหนียว ผสมเกลือไว้ใต้ถุนน่ะ คงเสียหมดแหละแม่ ช่างมันเถอะ น้อยรอดมาได้ก็บุญแล้ว ว่าแต่น้อย ย่องลงไปจากบ้าน ทั้งยังมืดน่ะ จะไปไหน ฮึ?"

"น้อยจะไปเก็บเห็ดค่ะ" น้อยตอบเสียงเบา ภายในใจของเธอ รู้สึกสำนึกอะไรบางอย่าง แต่เธอพูดไม่ถูก "แม่คะ น้อยเอากระเชอ กับตะกร้า ของแม่ไปด้วย มันลอยไปกับน้ำแล้วค่ะ"

"ช่างเถอะ ลูก น้อยไม่ลอยไปด้วยก็ดีแล้ว" แม่พูด น้อยรู้สึกในตอนนั้นเองว่า สิ่งที่พ่อบอกว่า เป็นธรรมชาตินั้น ช่างมีอำนาจเสียจริง ถ้า สมมุติว่า เธอตะกายขึ้นมาจากซุง ที่พลิกไม่ได้ แล้วซุงท่อนนั้น ลอยไปกระแทก ซุงท่อนอื่น หรือแค่สายน้ำเชี่ยวกราก ที่บ่าลงมาจาก ภูเขาสูง อย่างที่พ่อบอกนั้น มันฉุด กระชาก ร่างเธอให้ลอย เข้าไปในดงสาคู ใครจะได้ยินเสียงเธอตะโกน ขอความช่วยเหลือเธอ ได้เล่า พ่อคงจะทราบว่า เธอรู้สึกอย่างไร จึงพูดว่า

"อะไรแล้วก็แล้วไปเถิด ฉันอยากกินข้าวร้อนๆ แล้วหละ เห็ดฟางที่นึ่งไว้ ยังอยู่ใช่ไหม เดี๋ยวเรากินข้าว กับไข่เจียว ร้อนๆ ใส่หัวหอมแล้วก็ เห็ดฟางกันดีกว่านะลูก"

ระหว่างนั่งล้อมวงรับประทานข้าวเช้ากันอยู่ อย่างเอร็ดอร่อยนั้น น้อยมองผ่าน ร่องกระดานลงไป น้ำเริ่มทรงตัว

"ที่แว้งนี่ดีไปอย่างนึง ถึงหน้าพะน้ำจะมาก แต่มันก็จะท่วมอยู่ แค่วันเดียวเท่านั้น อีกวัน ก็แห้งหมด นอกจากน้ำ ในคลอง เพราะฉะนั้น พ่อห้ามเป็นคำขาดนะว่า ไม่ให้ไปเล่นน้ำคลอง จนกว่า น้ำจะลดลง เป็นปกติแล้ว ได้ยินไหม ทั้งสองคนนั่นแหละ?" พ่อพูดน้ำเสียงธรรมดา ในตอนแรก และเฉียบขาดตอนท้าย เมื่อสองพี่น้อง รับคำแล้ว พ่อก็พูดต่อว่า "สำหรับน้อย พ่อว่าน้ำพะเงียบคราวนี้ สอนอะไรลูกหลาย อย่างแล้ว ใช่ไหม ไหนลองบอกซิว่า น้อยได้บทเรียน อะไรบ้าง?"

น้อยนิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนที่จะตอบออกมาว่า

"ทุกอย่างเป็นธรรมชาติค่ะ น้อยไม่ควรไม่พอใจธรรมชาติ พี่แมะ น้อยว่าภาคใต้ มีสองฤดูก็ดีแล้ว น้ำจากภูเขา ทำให้น้อยหนาวพอ แล้วค่ะ"

"แน่ะ! จำคำพ่อมาตอบเสียด้วย ดีแล้ว ช่างจำนัก จำสุภาษิตไทยเพิ่มเติมไว้ด้วยอีกหน่อยนึงว่า 'โลภนัก มักลาภหาย' แล้วก็บทนี้ด้วย 'เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว' จำไว้น้อย จะได้ไม่ไปไหนคนเดียว อย่างเมื่อเช้าไงลูก นี่พ่อเอามาจาก สุภาษิตพระร่วงเชียวนา"

"น้อยจำได้แล้วค่ะ พ่อ แล้วที่พ่อว่าอะไรพร้าๆ นั่นก็จากสุภาษิตพระร่วง ใช่ไหมคะ?"

"อ๋อ นั่นสำหรับพ่อ อยู่ในป่าแบบแว้งนี่ พระร่วงท่านก็สอนพ่อว่า 'เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า' " พ่อตอบก่อน ที่น้อยจะพูด ขึ้นมาว่า

"เมื่อเช้าน้อยจะไปเก็บเห็ด ก็ไม่ได้ลืมตะกร้า กับกระเชอค่ะ แต่ตอนนี้ มันไปกับน้ำหมดแล้ว น้อยโลภมาก ก็เลยลาภหาย ใช่ไหมคะแม่?"

พ่อหัวเราะเสียงดัง แม่กับพี่แมะก็ยิ้มกว้าง ทุกอย่างในครอบครัวนี้ ไม่ว่าตอนแดดร้อนจัด หรือน้ำจะพะ อย่างเงียบเชียบ เช่นเช้าวันนี้ ทุกคนก็รู้สึกเป็นสุข อบอุ่นพร้อมหน้ากันเสมอ
________________________________________________________________
หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลา ๑๓.๑๓ น. ของวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๖ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ เดี๋ยวจะไป ฝากเขาที่ ชมร. จตุจักร แล้วต้องรีบกลับมา ออกข้อสอบ สำหรับ BE. ให้เสร็จ


(๑) น่าจะเป็นศัพท์ปักษ์ใต้แท้เพราะยังไม่เคยพบในภาษาถิ่นอื่น มีความหมายว่า 'ท่วม' แต่จะใช้กับ การท่วม ในหน้าน้ำเท่านั้น หากเป็นน้ำมากธรรมดา ก็จะใช้ว่า 'ท่วม' เหมือนในภาคอื่น เป็นต้นว่า 'ฝนตกมาก จนน้ำท่วม ถึงเข่า' แต่ถ้าพูดว่า 'น้ำพะ' จะหมายถึง น้ำท่วมในหน้าน้ำเท่านั้น ฉะนั้น หน้าน้ำท่วม จึงใช้ว่า 'หน้าพะ'
(๒) ลักษณนามของผืนนาที่เป็นคำไทยเก่า และยังใช้กันอยู่ ในหลายจังหวัดของประเทศ
(๓) กรรไกรแบบจีนนี้ มีใช้กันทั่วไปในภาคใต้ รูปร่างแตกต่างจากกรรไกรแบบฝรั่ง ที่ใช้กัน ในปัจจุบันนี้ คือ ใบมีด จะเท่ากัน ทั้งสองใบ และขากรรไกร ซึ่งบางทีก็เป็นเหล็ก บางทีก็เป็นทองเหลืองนั้น ก็เท่ากัน ทั้งสองขา ใช้ตัดได้ ทุกอย่าง ตั้งแต่ผ้า กระดาษ ลงไปจนถึงพลู ผู้เขียนเข้าใจว่า กรรไกรแบบฝรั่ง ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น เพิ่งจะเข้ามา พร้อมกับ จักรเย็บผ้า ยี่ห้อซิงเกอร์
(๔) คำว่า 'มะนึเก๊ะ' แปลว่า 'ตลาด' เข้าใจว่า คนมลายู รับมาจากภาษาอังกฤษว่า 'market' พอมา ถึงชาวบ้าน เชื้อสาย มลายู แถบชายแดนไทย สำเนียงก็เปลี่ยนไป คงไว้แต่ความหมาย ส่วนคำว่า 'บาซา' ที่ท่านผู้รู้ว่า มาจาก ภาษา เปอร์เซียนั้น ก็มีใช้เหมือนกัน แต่ความหมายต่างไปจาก 'ตลาด' คือหมายถึงร้านเตี้ยๆ สำหรับขายของ อย่างที่ภาษา อินโดนีเซีย เรียกว่า 'pondok' แล้วชาวมลายูทางใต้ เพี้ยนไปเป็น 'ปอเนาะ' อย่างที่ใช้เรียก โรงเรียน ศาสนาอิสลาม ในปัจจุบัน
(๕) นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของเรื่องภาษา สามีภรรยาคู่นี้ อพยพจากรัฐ'กึด๊ะห์' (Kedah) หรือ ที่ไทยเราเรียกว่า
'ไทรบุรี' ทั้งคู่มีชื่อจริง แต่คนแว้งไม่เรียก พากันเรียกตามชื่อรัฐ ในมาเลเซียปัจจุบัน แต่ลากเข้า ตามความถนัด ของลิ้นตน
(๖) คือ 'กระทง' ของภาคกลาง ยังค้นไม่ได้ว่าเป็นคำเก่า หรือเป็นคำกร่อนจาก 'กระทง'
(๗) 'เกร็ดฟ้า' เป็นศัพท์ภาษาปักษ์ใต้ ใช้เรียกกลุ่มเมฆ ที่ลอยสูงเป็นริ้วๆ ในวันอากาศดี อีกความหมายหนึ่ง ใช้เรียก ผมเด็กผู้ชาย ที่ผู้ตัดให้ ตัดไม่เป็น จึงไม่เรียบ แต่เป็นคั่นบันได
(๘) คือ 'ตะกร้า' ของภาคกลาง

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)