หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


ตำนานโพธิสัตว์

ในร่างกาย มีเม็ดเลือดขาวคอยคุ้มครองปกป้อง

ในสังคม ย่อมมีคนดีดูแลรักษา

คนดีที่อุทิศตัวเสียสละ เพื่อคนอื่นจำนวนมากมาย เขาเรียกโพธิสัตว์

ปุถุชนหลายคน บำเพ็ญประโยชน์เพื่อคนอื่น ขนานนามตัวเอง "ปุถุชนโพธิสัตว์" เป็นพันธุ์ผสมเหมือน ปลาร้า กับแฮมเบอเกอร์ ! ยังเป็นพันธุ์ไม่ขนานแท้

พระเถรานุเถระ เชื่อในโพธิสัตว์

โลกใบนี้ตามภูมิประเทศต่างๆ จะมีพระโพธิสัตว์เกิดมาเพื่อช่วยมวลมนุษย์

บางองค์ ไปอยู่ถิ่นกันดาร
บางองค์ ไปอยู่กับผู้คนยากไร้
บางองค์ ไปอยู่แดนศิวิไลซ์
บางองค์แค่ไปศึกษา ไปดูด้วยตาก็มี ด้วยเหตุมนุษย์ถิ่นนั้น เป็นบัวใต้น้ำ

โลกไม่แล้งพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ก็ไม่เคยขาดหายไปจากโลก

สมัยพุทธกาล พระโพธิสัตว์มาบำเพ็ญบารมีของท่านต่างหาก ก็ยังมี

"พุทธมหายาน" ศรัทธาในพระโพธิสัตว์ ตายแล้วยังต้องมาบำเพ็ญบารมี

ชีวิตหลังความตาย เหล่าพระโพธิสัตว์จะไปรวมกันในดินแดนพุทธเกษตร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะไปรวมกันที่นั่น หลังปรินิพพาน และเหนือพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระอวโลกิเตศวร คือ ประมุข ของดินแดน!

ความคิดมหายาน จึงสุดโต่งไม่จบสิ้น

"พุทธหินยาน" ที่มีแดนสยามเป็นศูนย์กลาง ปล่อยวางโพธิสัตว์ เตือนสติเอาตัวเองให้รอด อย่ามัวแต่ รื้อขนสัตว์ อรหันต์เป็นให้ได้พอแล้ว เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

สองความคิดขาใหญ่ ล้วนโต่งสุดๆ พระเถรานุเถระบอกไม่ขัดแย้งกันหรอก อย่ายึดมั่นถือมั่น

พุทธธรรม กำมือเดียว ทำ "ทูอินวัน" ได้ไม่มีปัญหา ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน ครบพร้อม เดินไป ด้วยกันได้ และเป็นความเหมาะสม ในยุคแห่งปัจจุบัน

ธรรมะของพระพุทธองค์ จึงลงตัวเป็นสันทิฏฐิโก เป็นอกาลิโก เป็นเอหิปัสสิโก เป็นโอปนยิโก เป็น ปัจจัตตัง..

ความจริงแล้ว พระอรหันต์แทบทุกองค์ ล้วนตั้งจิตโพธิสัตว์ทั้งสิ้น มาเกิดแล้วเกิดเล่า ในมาดใหม่ มิใช่มัวเมา แต่เรียนรู้ใบไม้นอกกำมือให้หมดสิ้น

พระพุทธเจ้า คือ ชาติสุดท้าย ของพระอรหันต์ที่บำเพ็ญความดี

พระโพธิสัตว์ ตัวจริงเสียงจริง จึงผ่านฐานอรหันต์ทั้งสิ้น!

สิ่งที่ท่านจะต้องมาบำเพ็ญเพียรเพิ่มเติม ก็คือ "ปฏิสัมภิทาญาณ" เพื่อความแตกฉานในอรรถ -ธรรมะ-นิรุตติ-ปฏิภาณ

เพื่อสอนคนได้เก่งขึ้น ช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ได้มากขึ้นๆ

พระอรหันต์ที่ตั้งจิตเกิดอีก เวลาตาย ท่านจึงเรียก "นิพพาน"

ส่วนท่านที่เลือกดับสูญท่านจะได้รับปัญญาบัตร "ปรินิพพาน"! (ต้องขออภัย ที่แปลไม่เหมือน กับท่านที่เรียนมา!)

อุดมการณ์โพธิสัตว์กล่าวไว้ "เป็นผู้มีอัชฌาศัยอันทนไม่ได้ด้วยกรุณา"

ช่วยได้เป็นต้องช่วย แม้ตัวเองจะทุกข์ จะลำบาก จะเดือดร้อน

แม้ตกนรก ก็ยอม!

เพราะเหตุนี้ คนใหญ่ในโลก ปกครองคนมากมาย บางครั้งต้องเด็ดเดี่ยว ต้องกล้าหาญ ต้องเสียสละ

กล้าทำกล้ารับผิดชอบ
ได้บุญก็มาก ได้บาปก็เยอะ
นี่คือวิถีชีวิตของนักปกครอง ที่ท่านเลือกทางเดินเอง

การปกครองมนุษย์ปุถุชน โดยไม่ยอมให้ตัวเองบาปเลย อยากจะบริสุทธิ์เหมือนพระภิกษุ จึงเป็นไปไม่ได้

มือข้างหนึ่งจึงคือดอกบัวงามยิ่งกว่าหยกกลางหิมะ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งนั้น คือ โลหิตสดๆ ที่แดงฉาน หยดติ๋งๆ

เป็นความจำเป็น เป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับ เพราะปุถุชน ไม่ใช้ความดุดัน ย่อมหลงระเริง มัวเมา ทำร้ายคนอื่น

พระคุณเจ้าแอบกระซิบ นักปกครองผู้เสียสละ ท่านก็ต้องไปลงนรก ชำระล้างก่อนขึ้นสวรรค์!

ไม่มีสิทธิเอาความดีมาลบล้างความชั่ว
เพราะเหตุนี้ คนห่วงบ้านเมือง ยอมทำบาปเพื่อประชาชน จึงมิใช่คนธรรมดา
จนมีอุดมการณ์ พระโพธิสัตว์ ที่แค่พูดออกมาต่างก็รู้กัน (ในหมู่โพธิสัตว์)

"เราไม่ลงนรก แล้วใครจะลง?"

กระต่าย แลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตเดินผ่าน เกิดจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า ยอมกระโดด เข้ากองไฟ พลีชีวิตถวาย ยังมีโอกาสเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต!

ยิ่งนักปกครองที่รู้ว่าบาป แต่ก็ยอมทำ ย่อมมิใช่คนธรรมดา

แอบเจาะวงเวียนแห่งสังสารวัฏ เราจะพบว่าท่านผู้กล้าหาญเสียสละเพื่อสังคมเหล่านี้ ล้วนต่าง วนเวียน มากู้ชาติ กู้วิกฤติให้แผ่นดิน ตลอดมา จะผิดแผกแปลกต่าง ก็วิธีกู้ชาติเท่านั้น

ถ้าเป็นสมัยโบราณ ท่านจะใช้อาวุธมีดดาบช้าง ฯลฯ แต่ถ้าเป็นสมัยโลกาภิวัตน์ ก็จะเปลี่ยนเป็น เรื่องเศรษฐกิจ ความรู้ความสามารถอื่นๆ ที่เอาไว้จัดการกับสัตว์สังคมในแต่ละยุค

ยุคเกลือสำคัญ ท่านผู้นั้นก็จะมีเกลือเป็นอำนาจ
ยุคไสยศาสตร์ ท่านผู้นั้นก็จะเจนจบ
ยุคไฮเทค ท่านผู้นั้นก็จะเก่งไฮเทค
ยุคสมองเป็นเลิศ ท่านผู้นั้นก็จะมีสมองเป็นเลิศ
ทั้งหมดนี้เพื่อไว้ข่มริปู

สายธารย่อมเปลี่ยนทาง แต่วิถีแห่งโพธิสัตว์ไม่เคยเปลี่ยน
เกิดชาติไหนของท่าน เป็นไปเพื่อรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ยาก
และปกป้องชีวิต ไม่เลือกแบ่งชั้น ไม่ว่าจะเป็น เวไนยสัตว์ หรืออเวไนยฯ
และบางชาติก็เปลืองตัวยิ่งนัก

เผ่าพันธุ์โพธิสัตว์ ขู่ท่านด้วย "บาป" ไม่ค่อยหวั่นไหว
แต่ขู่ด้วย "ความทุกข์" ของประชาชน ได้ผลตลอดเวลา (จะเหนื่อยหรือป่วยขนาด ต้องคลานมาช่วย เปลื้องทุกข์สรรพสัตว์ ท่านยังเอาเลย)

เป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็ง ช่วยกันพิจารณา

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)