>เราคิดอะไร


ตอน ประหยัด-ประดิษฐ์

บ่ายวันนั้นอากาศร้อนจัด น้อยกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านด้วยความรู้สึกหิว และคอแห้ง เป็นกำลัง เธอเห็นแม่มี แขก นั่งอยู่ด้วยที่หน้าร้าน จึงเลี่ยงไปขึ้นบันไดข้างบ้านเสีย แล้วตรงเข้าไปที่ห้องกลาง ด้วยความหวังว่า แม่อาจจะมีอะไร ให้รับประ ทานเช่นเคย

"โอ้โฮ! มีแตงโมเสียด้วย!" เธออุทานในใจเมื่อเห็นแตงโมซีกหนึ่ง คว่ำอยู่บนถาดใบเล็ก จับมันพลิกขึ้น พลางร้องในใจอีก ครั้งว่า "โอ้โฮ! เนื้อแดงเป็นทรายเชียว น่ากินอะไรอย่างนี้!"

แต่เธอทราบดีว่า จะต้องไม่ทำอะไรก่อนขออนุญาตแม่เสียก่อน กำลังจะลุกออกไปหน้าบ้าน แม่ซึ่งได้ยิน เสียงกุกกัก ก็ร้องสั่งมาว่า

"น้อยอย่าเพิ่งกินลูก คว่ำไว้ตามเดิมก่อน เดี๋ยวลมจะเข้าเสีย เอาไว้กินเย็นนี้พร้อมๆ กัน"

เธอทำตามที่แม่สั่ง ก่อนจะเดินออกไปที่นอกชาน ดื่มน้ำฝนเย็นๆ ในโอ่งดินเสียจน หายกระหายแล้ว จึงออกไป หน้าบ้าน ยกมือไหว้แม่แล้ว นั่งลงข้างๆ แต่ไม่พูดอะไร จนกระทั่งแขกที่นั่งอยู่ไปแล้ว แม่จึงหันมามองเธอ ถามว่า

"หน้าตาแดงเชียว ร้อนใช่ไหม? "

น้อยพยักหน้า ตอบแม่ว่า

"ร้อนมากเลยแม่ คุณครูให้วิ่งเปี้ยวตอนชั่วโมงสุดท้ายด้วย.. แม่ซื้อแตงโมมาจากตลาดหรือคะ? "

"ใช่ลูก ไม่ใช่แตงไร่โต๊ะยูนุห์ที่ตอแลหรอก เขาเอามาจากโกลก แม่อยากให้ลูกได้กิน แต่ก็ซื้อมาได้ แค่ซีกเดียวแหละ มันยังแพงอยู่ลูก เราเอาไว้กินพร้อมกัน เย็นนี้นะ หิวมากไหม? " แม่ถาม "ถ้าหิวก็เอาขนมปังปลาในปี๊บ กินก่อนก็ได้นี่"

ขนมปังปลาที่แม่ว่านั้นเป็นขนมปังกรอบแบนๆ โรยงาขาว หนึ่งในขนมปังหลายชนิด จากตันหยงมัส ที่ใส่ปี๊บ เรียงราย ไว้ขาย เขาทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ รสชาติเหมือนๆ กัน ราคาไม่แพง เด็กๆ ขอซื้อเพียงตัวเดียว แม่ก็ขายให้ น้อยไม่ค่อยชอบ รับประทานขนมแห้งพวกนั้น จ๊ะกือละ(๑) ในขวดโหล มีหลายแบบเหมือนกัน แต่เธอก็ไม่ชอบอีก เพราะพ่อบอกว่ามันจะ ยิ่งทำให้ฟันหน้าของเธอ ที่น่าเกลียด เพราะแมงกิน เป็นรูอยู่แล้ว กลายเป็นฟันผุ น้อยจึงถูกฝึกฝน ให้ชอบรับประทานผัก ผลไม้เป็นพื้น และเธอก็ชอบด้วย

"ไม่เป็นไรค่ะแม่ เดี๋ยวน้อยจะชวนมามุไปขึ้นต้นซาเมาะ(๒)ข้างต้นสาคูตรงโน้น" เธอตอบแม่ พลางชี้ไปที่ ชายนาหน้าบ้าน ติดกับทิวสาคู "น้อยว่ามันน่าจะสุกแดงแล้ว"

"อย่าไปนานนักนะ กลับมาช่วยแม่กับพี่แมะทำกับข้าว พ่อกลับจากไปดูสวนยางคงจะหิว" แม่ว่า

เย็นวันนั้น น้อยซึ่งทำกับข้าวไม่เป็นเลย ได้รับหน้าที่ควักเนื้อแตงโม ด้วยช้อนเล็กของเธอ แม่สอน ให้เอาช้อน ปักลงไป แล้วหมุนช้อนจนรอบ เนื้อแตงโมเป็นลูกกลม ปลายแหลมนิดๆ ก็หลุดออกมา น้อยทำ อย่างตั้งใจ และก็ทำได้ดีเสียด้วย พอเสร็จแต่ละลูก แล้วก็ใช้ส้อม ที่เข้าคู่กับช้อนส่วนตัวของเธอ ค่อยๆ เขี่ยเอาเม็ดแตง สีดำๆออกเสีย แม่สั่งเธอว่า

"น้อยไม่ต้องทำจนหมดเนื้อแตงสีแดงก็ได้ เหลือไว้เยอะหน่อย จะได้ยำแตงโม อีกอย่างหนึ่ง กินกับ ปลาแห้งย่าง อร่อยดี พ่อชอบ"

ระหว่างนั้น ปลาแห้งที่พี่แมะใส่ไม้ตับย่างข้างก้อนเส้า สุกดีทั้งสองด้านแล้ว พี่แมะจึงเอาออก จากไม้ตับ ปล่อยให้เย็นนิดหน่อย แล้วแกะเอาแต่เนื้อ ฉีกให้พอดีคำ ใส่ลงในจานแบน ส่วนน้อย แม่สอนให้ใช้ ช้อนสังกะสี ขูดเนื้อแตงโม ที่ตักเอาเนื้อแดงออกแล้วนั้น ให้เป็นริ้วยาวๆ เนื้อแตงที่ขูดแล้ว ไม่ต้องตักออก แม่ว่า ยำในชามเปลือกแตงได้เลย สวยดีเสียอีก

แม่ของน้อยช่างคิดช่างประดิษฐ์อย่างนี้เสมอ พ่อของน้อยก็เหมือนกัน แน่ะเสียงพ่อกลับมาแล้ว แม่เร่งมือ เตรียมอาหาร ให้เสร็จทันพ่อกลับมาจาก อาบน้ำคลอง เดี๋ยวจะได้รับประทานข้าวร้อนๆ กัน

เนื้อแตงโมที่น้อยขูดออกมาได้ตั้งครึ่งชามเปลือกแตงนั้น มีน้ำชุ่มฉ่ำ รสหวานเล็กน้อย แม่จัดแจงยำ ด้วยกุ้งแห้ง ที่พี่แมะ เป็นคนป่นจนฟู แม่ซอยหอมใส่ลงไปด้วย จำนวนมาก แล้วจึงปรุงรส อย่างที่พ่อชอบ ยำเปลือกแตงโมนี้ พอยำเสร็จ ต้องรับประทานกับข้าวร้อนๆ ทันที ไม่อย่างนั้น น้ำมันจะออกมามาก ทำให้รสจางเสีย ไม่อร่อยเท่าที่ควร

น้อยชอบมองเวลาแม่ซอยหอม เธอคิดว่าไม่มีใครอีกแล้ว ที่จะซอยหัวหอม ได้บางเสมอกัน และเร็วเท่า แม่ของเธอ ไม่ว่า หัวขนาดไหน แม่ทำได้เร็วทั้งนั้น เวลาหั่นหมวด(๓)ข้าวยำ หรือขนมจีน แม่ก็ทำได้เร็ว จนดูเหมือนนิ้วของแม่ ที่จับผักที่ม้วน จนแน่นแล้วนั้น ไม่ขยับเลย แม่บอกว่า ความจริงแม่ค่อยๆ หดนิ้วทีละนิด เพื่อให้ผักที่หั่นนั้น เป็นเส้นเล็ก เท่าเส้นด้าย แม่ว่าใครก็ตาม ที่หั่นหมวดข้าวยำ ไม่เล็กเหมือนเส้นด้าย แสดงว่าไม่เก่งจริง น้อยคิดว่า สักวันหนึ่งเถิด เธอจะทำให้สวย เหมือนของแม่บ้าง แต่นั่นก็ยังอีกนานนัก ปล่อยให้ใครๆ เขาหัวเราะกันก่อน ว่าเธอหั่นเป็นแต่แตงกวา แถมแตงกวาที่เธอหั่น ยังเหมือน หนูแทะเสียอีก

แล้วสำรับอาหารเย็นวันนั้น ก็ถูกจัดวางในถาดเคลือบสีชมพูแก่อย่างเรียบร้อย กับข้าวมี แกงคั่วสับปะรด ปลาแห้งย่าง และ ยำเปลือกแตงโม ของหวานสำหรับลบปาก คือแตงโม ที่น้อยเป็นคนควัก เป็นลูกกลม สวยๆ ทั้งหมดจัดใส่ในถ้วยชาม สะอาด น้อยตักน้ำฝนเย็นๆ จากโอ่งน้ำกินด้วย แม่ขัน(๔) มาวางไว้ ระหว่าง พ่อกับแม่หนึ่งขัน ระหว่างตนเองกับพี่แมะ อีกหนึ่งขัน พี่แมะนั่งข้างหม้อข้าวหม้อแกง ซึ่งวางอยู่ในกันหม้อ(๕) และเป็นคนมีหน้าที่ คอยตักข้าว และแกงเพิ่ม ระหว่าง ตัวพี่แมะกับม้ายาว วางหม้อ ข้าวหม้อแกง มีชามโคม ใส่น้ำสองใบ ใบหนึ่งแช่ทัพพีตักข้าว อีกใบหนึ่งวางจวักตักแกง

ทุกคนในครอบครัวนี้ รับประทานอาหารด้วยมือ จึงต้องล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้งไป เวลารับประทาน อาหารเย็น เป็นเวลาที่น้อยชอบมาก เพราะพร้อมหน้าพร้อมตากัน คุยกันได้ทุกเรื่อง เด็กๆ ได้รับอนุญาต ให้คุยได้เต็มที่ แต่ต้องไม่พูดสอด เวลาผู้ใหญ่กำลังพูดเท่านั้นเอง พ่อกับแม่เป็นคนพิถีพิถัน เรื่องมารยาทมาก เด็กๆ ต้องไม่เคี้ยวอาหารดังจับๆ เป็นอันขาด ซึ่งหมายถึง ต้องปิดปาก และไม่พูด เวลาเคี้ยวอาหาร

"พ่อต้องการให้ลูกๆ เป็นคนสุภาพ มารยาทนั้นหมายถึง การที่ไม่ทำอะไร ที่ทุกคนเขาเห็นว่าน่าเกลียด เช่น การพูดต้อง พูดอย่างสุภาพ การนั่งต้องพับเพียบเรียบร้อย ไม่เดินกรายหัวผู้อื่น เรื่องกินนี่ก็เหมือนกัน ลูกๆ ก็เห็นอยู่ บ้านเรากินข้าว ด้วยมือ เป็นธรรมเนียมไทย แต่ลูกก็ต้องไม่มูมมาม ไม่เปิบข้าวเป็นกำๆ ลูกเคยเห็นไหม อย่างที่บางคนกิน อย่างนั้นสวย ไหม?" พ่อเคยอธิบาย และถามอย่างนั้น

"ไม่สวยค่ะ" สองพี่น้องตอบพร้อมกัน พี่แมะพูดต่อว่า "แต่เพื่อนแมะบางคนว่ากินจับๆ แสดงว่าอร่อย"

"เราเคยลองกันค่ะพ่อ" น้อยเสริมพี่แมะ "มันไม่สวยจริงๆ ด้วยค่ะ แล้วน้อยก็เคยเห็น คนที่เขากินข้าว ไม่ค่อยชุบมือด้วย ค่ะ ข้าวติดตามนิ้วเต็ม ก็ไม่สวยเหมือนกัน"

"นั่นแหละ คนไทยเราเปิบข้าวด้วยมือ แต่เราสะอาดและสุภาพ" แม่พูดบ้าง

และน้อยก็พูดว่า "น้อยเข้าใจเรื่องมารยาทแล้วค่ะ ว่าเราทำเพื่อความสุภาพ และไม่ให้น่าเกลียด"

ครอบครัวเล็กๆ ที่ชายแดนไทยแห่งนี้ ต้องช่วยตัวเองกันแทบทุกอย่าง เพราะความขาดแคลน ข้าวของเครื่องใช้ หลังสงคราม พ่อไม่เคยทิ้งอะไร ให้เสียเปล่า สักอย่างเดียว เมื่อเปิดปลากระป๋อง ที่มีรูปร่างแบน เป็นรูปไข่ให้แม่ แล้วพ่อก็ใช้ ปลายพร้าค่อยๆ เลาะเอาฝากระป๋อง ออกจนหมด ใช้ฆ้อนเล็ก ทุบให้รอบ จนลูบดูแล้ว แน่ใจว่า จะไม่มีส่วนใดแหลมออก มาบาดมือลูก จากนั้น พ่อก็เจาะรู ตรงปลายรูปไข่ ของกระป๋อง ทั้งสองด้าน พ่อให้น้อยหาเชือกด้ายเหนียวมาสอด และ ผูกเข้าตรงรูที่เจาะนั้น

"แค่นี้ก็เป็นเรือให้น้อยวางลงในคู แล้วค่อยๆ ดึงให้เรือแล่นไปได้แล้ว" พ่อบอก

"แล้วรูอีกด้านหนึ่งไว้ทำอะไรคะพ่อ? " น้อยถาม

"ถ้าน้อยไม่อยากลากเรือ ลูกก็เอาใบไม้มาหนึ่งใบ เจาะรูเข้าสองด้าน เอาด้ายร้อยเข้า แล้วผูกยึดกับรู ที่พ่อเจาะไว้ให้ ใบไม้ก็จะกลายเป็นใบเรือ พอน้อยวางเรือกระป๋องลงในคู ลมก็จะช่วยให้เรือแล่นได้" พ่ออธิบาย

"เก๊าะเป็นเรือใบเลย ดีจังค่ะ" น้อยพูดอย่างชอบใจ ก่อนถามพ่อต่อว่า "แล้วทำไมเรือแล่นได้คะ?"

"ลมมันมีกำลัง ลูก ถึงเราจะมองไม่เห็นมันก็เถิด พอใบเรือโดนลม..เขาเรียกว่า กินลม เรือก็จะแล่นไป ตามทิศ ที่ลมพัด เข้าใจไหม?" พ่อถาม

"เข้าใจแล้วค่ะพ่อ แล้วถ้าน้อยเอากระดาษแข็งแทนใบไม้ได้ไหมคะ ..แต่.." น้อยถามก่อนที่จะคิดขึ้นได้เอง "ไม่ดีหรอกนะคะพ่อ พอกระดาษเปียกน้ำ มันจะหนัก เดี๋ยวเรือของน้อยจม เอาเตาะ(๖) ดีกว่าน้อย จะขอให้มามุ ลอกให้บางที่สุด มามุลอกเก่งกว่าน้อยอีกค่ะ"

"เอาหละ ไปทำกันเองได้เลย" พ่อบอก

แล้ววันนั้น น้อยกับมามุก็ได้แล่นเรือใบกันอย่างสนุกสนาน

พ่อของน้อยทำเล็บแมวไว้ใช้เองสองอัน เล็บแมวนี้ใช้สำหรับขูดเนื้อสาคูไว้ผสมกับรำ ให้เป็ดกิน พ่อเอาเศษ ไม้กระดานที่ เขาตัดทิ้งแล้ว มาเลื่อยให้ได้ขนาด ตามที่ต้องการ อันใหญ่สำหรับพ่อ อันเล็กสำหรับพี่แมะ และน้อย จากนั้น พ่อก็ค่อยๆ ถากข้างหนึ่งให้เล็ก สำหรับเป็นที่จับ พ่อเกลาเสีย จนเรียบหมดทุกด้าน เอากระดาษทรายขัดซ้ำจนลื่น แล้วจึงถึงตอน สำคัญที่สุด พ่อเอาตาปู ขนาดเล็ก และ สั้นเท่าๆ กัน ค่อยๆ ตอกตาปูทีละตัว อย่างบรรจง ลงไปบนแผ่นไม้ ให้เป็นแถว เสมอ กันหมด ปลายตาปู จะโผล่ออกมา อีกด้านหนึ่ง อย่างเป็นระเบียบ แค่นี้ก็เสร็จแล้ว เป็นเล็บแมว ที่น่าใช้อะไรอย่างนั้น

แต่แค่นั้นยังไม่พอ พ่อเจาะรูตรงกลางปลายมือจับ เอาเชือกที่พ่อฟั่นเป็นเกลียวอย่างเหนียว ผูกเป็นห่วง สำหรับแขวน เล็บแมว กับตาปูที่พ่อตอกไว้ กับคานใต้ถุน พ่อสั่งว่า "ทุกครั้งที่ใช้เล็บแมวนี้เสร็จแล้ว ทุกคนต้องเอามาแขวนไว้ตรงนี้ พ่อก็ทำเหมือนกัน จะได้เรียบร้อย ถ้าหายก็จะรู้ด้วย นี่เป็นคำสั่งนะ" พ่อพูดยิ้มแย้ม

"หยิบง่าย หายรู้ ดูก็งามตา น้อยจำได้ค่ะ อยู่ในหนังสือ แล้วคุณครูก็ให้ท่องจำด้วย" น้อยพูด

"ใช่ลูก แต่สิ่งดีๆ เราต้องเพาะให้งอกงามเป็นนิสัย ท่องเฉยๆ ไม่ทำ ก็ไม่มีประโยชน์" พ่อว่า

พ่อของน้อยลาออกจากราชการ มาทำงานที่เหมืองทองโต๊ะโมะ แล้วต้องลาออกจากงานที่นั่นอีก เพราะไข้ป้าง(๗) ที่ทำ ให้พ่อเกือบเสียชีวิต ตอนนี้พ่อกับแม่มาค้าขาย จนมีร้านค้า มีสวนยาง มีลูกจ้าง เป็นคนตัดยาง(๘) ไม่ต้องไปตัดเอง แม่เป็นคนขายของหน้าร้าน พ่อเป็นคนทำบัญชีร้านค้า และสวนยาง

ฐานะครอบครัวดีขึ้น แต่ความขาดแคลนข้าวของจากภายนอกยังคงมีอยู่ ทุกครอบครัว ต้องประหยัด กันทั้งนั้น สิ่งใดที่ทำกันเองได้ ก็ทำกันทั้งในครอบครัว และในอำเภอ แป้งสาคู ที่เดิมไม่มีใครคิดถึง ยามยาก ก็มีขนมแป้งสาคู ที่แสนอร่อย และสวยงาม ไว้รับประทาน น้ำมันมะพร้าว ก็เคี่ยวๆ กันเอง ตามหมู่บ้าน สำหรับไว้ใส่ผม ทำอาหาร และไว้ตามตะเกียง(๙)

พี่แมะกับน้อยไม่เคยมีเครื่องเขียนใดๆเลย ดินสอหินชนวน ก็ฝนกับพื้นซีเมนต์ที่โรงเรียน ดินสอไม้ ก็ใช้มีดบาง ของแม่เหลา แต่สองพี่น้องก็มักลืม ทำความสะอาดมีดของแม่ จนในที่สุด พ่อก็เกิดความคิด เรื่องมีดเหลาดินสอ ของลูก

แรกที่สุด พ่อ เลือกตาปูตัวใหญ่ที่สุด เท่าที่จะหาได้ในอำเภอแว้งสมัยนั้น ได้สองตัว เอาไปบ้านแขกในกำปง (หมู่บ้าน) ที่เขาเป็นช่างตีมีด ตีพร้าไว้ใช้เอง พ่อจ้างให้เขาตีตาปูสองตัวนั้น เป็นมีดเหลาดินสอ ให้ลูกไว้ใช้ เป็นมีดเหลาดินสอ ที่สวยเหลือเกิน ด้ามมันโค้งลงเล็กน้อย ให้จับถนัด ซ้ำปลายงอนขึ้น เป็นกนกเสียด้วยซี น้อยรักมีดด้ามนั้นมาก จนติดตัวไว้ใช้ อีกหลายปีต่อมา

สิ่งประดิษฐ์ของพ่อมีมากมายหลายอย่าง แต่ที่น้อยว่าเป็นยอดคือ ปฏิทินทำเองของพ่อ พ่อว่าบ้าน ต้องมีปฏิทิน แต่ตอนหลังสงคราม และอำเภอไกลปืนเที่ยงอย่างแว้ง ไม่มีปฏิทินใดๆ ไปถึง พ่อจึงต้อง ทำเอาเอง วิธีทำของพ่อมีดังนี้

แรกสุด พ่อเอาปกสมุดบัญชี ที่ไม่ใช้แล้วของพ่อมาสองแผ่น มันเป็นกระดาษแข็ง ที่ด้านในไม่มีสี แต่ข้างนอก เป็นสีฟ้า พ่อตัดด้านบนให้โค้งมน วางแผ่นที่ตัดแล้ว ลงบนอีกแผ่น แล้วตัดแผ่นล่าง ให้เท่ากับแผ่นบน ตัดให้เรียบ เสมอกัน จากนั้น พ่อจึงทากาวกระดาษแข็งทั้งสองแผ่น ประกบกันเข้า

"นี่จะเป็นตัวแผ่นหลังของปฏิทิน เห็นไหม?" พ่อบอกพี่แมะกับน้อยที่นั่งยองๆ ดูพ่อทำ

แล้วพ่อก็เอากระดาษอีกแผ่นหนึ่ง มาตัดเอาแค่เศษหนึ่งส่วนห้าของแผ่นเท่านั้น พ่อใช้มีดกรีดเบาๆ ตามยาว ห่างจากขอบ ประมาณหนึ่งนิ้วเศษ แล้วพ่อก็แบ่งด้านยาว เหนือเส้นที่กรีด ออกเป็นสามส่วน กรีดตามเส้น ที่แบ่งนั้น พ่อเอากรรไกรตัดปีกสองข้าง ใต้เส้นที่กรีดออกเสีย จากนั้น จึงพับปีก ตามรอยที่กรีดนั้น เข้าไป ทั้งสองข้าง และข้างล่างด้วย น้อยเริ่มเห็นแล้วว่า พ่อกำลังทำกล่อง อะไรสักอย่าง จากนั้น พ่อจึงกรีด ส่วนที่พับ ทั้งสองข้าง เท่ากับส่วนข้างล่าง คือหนึ่งนิ้ว พ่อพับตามรอยกรีดทุกรอย แล้วจึงทากาว ส่วนที่พับ ไปข้างหลัง พ่อทากาวมากทีเดียว และรอให้กาวเริ่มหมาด จึงติดกล่องนี้ เข้าตรงกลางส่วนล่าง ของแผ่น กระดาษแข็ง เป็นอันว่า แผ่นหลังของปฏิทิน และกล่องใส่ปฏิทิน เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องรอ ให้มันแห้ง ให้สนิทเสียก่อน

คราวนี้ถึงตอนทำแผ่นปฏิทินละ พ่อตัดกระดาษแข็งจากปกสมุดสีชมพู มาเป็นหลายแผ่น พ่อใช้ไม้บรรทัด วัดให้ขนาด กว้างเกือบเท่ากับ ความกว้างของกล่อง แต่ส่วนสูงไม่เท่ากัน พ่อตัดเป็นสามขนาด ขนาดเตี้ย ที่สุด จำนวน ๒ แผ่น สำหรับเป็นวันทั้ง ๗ วันของสัปดาห์ ขนาดกลาง พ่อตัดมามากหน่อย คือ ๘ แผ่น นี่จะใช้ สำหรับวันทั้ง ๓๐ หรือ ๓๑ วันของเดือน ส่วนขนาดสูงสุด พ่อตัดมาเพียง ๓ แผ่น พอดีกับ ๑๒ เดือน ของหนึ่งปี พอตัดเสร็จ พ่อก็พูดกับลูกทั้งสองว่า

"เอาละ ใครจะสมัครเขียนปฏิทินของบ้านเราบ้าง?"

พี่แมะยกมือทันที แต่น้อยลังเล เธออยากมีส่วนช่วยพ่อทำปฏิทินของบ้านเหมือนกัน แต่รู้ดีว่า ลายมือ ของตนไม่สวย ถึงจะหัดคัด สักแค่ไหน แล้วก็ยังไม่สวยอยู่นั่นเอง ไม่เหมือนของพ่อ ที่สวยมาก ทั้งตัวบรรจง และตัวหวัด เธอมองมาทางแม่ แต่แม่ก็พูดว่า "พ่อลูกทำกันไปเถิด ลายมือแม่ยิ่งแล้วใหญ่เลย"

ในที่สุด พ่อจึงตัดสินให้ว่า

"ถ้างั้นเอาอย่างนี้ พ่อจะเขียนส่วนที่เป็นชื่อเดือนและวันทั้งหมด ลายมือพ่อคงใช้ได้กว่าคนอื่นในบ้านจริงๆ ด้วย แมะกับ น้อยแบ่งส่วนที่จะเขียนวันที่ไป น้อยสามแผ่น แมะห้าแผ่น น้อยเขียนเลข ๑ ถึงเลข ๑๒ แมะเขียนตั้งแต่เลข ๑๓ ถึงเลข ๓๑ เลย แผ่นหนึ่งเขียนได้สี่วัน อย่าหลงนะ เขียนเรียงหน้าเดียวกัน สองวันก่อน แล้วค่อยพลิกไปเขียนอีกด้านหนึ่ง สองวันเหมือนกัน เวลาเขียน ต้องเขียนให้ตัวเลขโต ประมาณ หนึ่งเซ็นต์ แม่จะได้เห็น จากตรงโน้น แล้วก็เขียนให้อยู่ตรงกลางด้วย ตกลงนะ"

เมื่อเห็นน้อยรับคำช้ากว่าพี่แมะ ขณะยื่นมือมารับกระดาษ จำนวนสามแผ่นของตนไป พ่อจึงพูดว่า

"ประเดี๋ยวพอเขียนเสร็จ พ่อจะให้น้อยเป็นคนตอกตาปู สำหรับแขวนด้วย"

ในที่สุด ปฏิทินทำเองสำหรับครอบครัวก็เสร็จเรียบร้อย เป็นปฏิทินที่สวยอะไรอย่างนั้น พ่อเขียนชื่อปี และ พ.ศ.ตัวใหญ่ ไว้บนแผ่นกระดาษแข็งเหนือกล่อง แต่น้อยเป็นคนแขวน ปฏิทินแผ่นนี้ เข้ากับตาปู ที่พ่อตอกไว้ที่เสา ข้างใต้พระบรมฉายาลักษณ์ แขกมาที่บ้าน ก็ได้เห็น วันเดือนปี จากปฏิทินนี้ด้วย ใครๆ ต่างก็ชมความคิด ของพ่อกันทั้งนั้น

วันนั้นเพื่อนๆ ในอำเภอของน้อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะมาเที่ยวที่บ้าน เด็กผู้หญิงอยากไปเที่ยวในสวน และไปเล่น น้ำคลอง ส่วนเด็กผู้ชายบอกว่า จะไปขึ้นต้นซาเมาะ ที่น้อยบอกว่า ยังมีลูกสุก ให้กินอีกเยอะแยะ เสียก่อน แล้วค่อยไป คลองทีหลัง เป็นอันว่าตกลงตามนั้น

น้อยนึกภาพประพนธ์นุ่งกางเกงสีขาวลงแป้งรีดเรียบเช่นเคย สมาน วาดสมัย ไพฑูรย์ อุดม ล้วนแต่ จะนุ่งกางเกงกันมา ทั้งนั้น เพราะจะปีนต้นซาเมาะได้สะดวก เธอไม่มีกระโปรงสวย เหมือนของเพื่อนผู้หญิง ที่เป็นเด็กไทยพุทธ ส่วนเพื่อนผู้หญิง ที่เป็นมุสลิมนั้น คงนุ่งผ้าปาเต๊ะกันมา

แต่วันนั้นน้อยไม่คิดอยากนุ่งผ้านุ่งเช่นเคย เธอนึกถึงปรีดา ญาติที่บางนรา ที่นุ่งแต่กางเกงขาสั้น คล้ายของ พวกเด็กผู้ชาย แถมมีกระเป๋าเหมือนกันเสียด้วย ต่างกันนิดเดียวตรงที่ กางเกงของปรีดา ติดกระดุมแป๊ก ข้างซ้าย ส่วนของเด็กผู้ชาย มีกระดุมอยู่ข้างหน้า น้อยยังไม่กล้าขอ ให้แม่ตัดกางเกง เหมือนของปรีดา ให้สักตัว เพราะราคาคงหลายบาท เธอ ไม่ควรรบกวนแม่

เราอยากนุ่งกางเกงมีกระเป๋ามั่งจัง ทำยังไงดีน้า??

นึกออกแล้ว เอากางเกงพละตัวเก่านั้นแหละ มาทำกางเกง ให้เหมือนของปรีดา!!

มีกระเป๋าข้างเดียวก็เอาเหอะ แค่ได้ล้วงเข้าไปเอาของข้างใน ก็ดีถมไปแล้วน่า!!

น้อยเข้าไปในห้องของพ่อกับแม่ หยิบเอาถุงเท้าสีน้ำตาล ที่แม่ม้วนเป็นคู่ออกมา พ่อเคยบอกว่า ถุงเท้าคู่นั้น ตรงปลายเท้า ข้างหนึ่งทะลุเสียแล้ว และทั้งสองข้าง ก็ยืดจนหลวมโพลกเพลก สวมไปไหน ไม่ได้แล้ว แต่แม่ก็ยังซักตาก และม้วนไว้ในลิ้นชัก อย่างเรียบร้อย

"เผื่อไว้ใช้อะไรได้บ้าง" แม่ว่าอย่างนั้น และตอนนี้น้อยก็คิดทางที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้แล้ว เธอถือถุงเท้าคู่นั้น ไปหาพ่อที่ กำลังซ่อมแซมเล้าไก่อยู่ เพราะตะกวดในสระศักดิ์สิทธิ์ ได้ดอดเข้าไปขโมยไข่ไก่ ที่พ่อจะเก็บ ไว้ฟักเสียอีกแล้ว พ่อหันมามองลูกสาวคนเล็ก ถามว่า "ถืออะไรมาน่ะลูก?"

"ถุงเท้าของพ่อที่ขาดแล้วค่ะ น้อยขอข้างที่ยังดีได้ไหมคะ?"

"คิดจะทำอะไรอีกแล้วใช่ไหม? เอาไปซี พ่อให้แม่กลับมาจากตลาดพ่อจะบอกให้เอง" พ่ออนุญาต

น้อยดีใจมาก เธอม้วนถุงเท้าข้างที่ปลายทะลุเก็บไว้ที่เดิม จากนั้นเธอจึงวางกางเกงพละลงบนพื้น เอาถุงเท้า ของพ่อ สอดเข้าไปด้านข้าง ที่มีกระดุมแป๊กติดอยู่สี่คู่ จัดถุงเท้าให้แบนเรียบไปกับขากางเกง บอกตัวเองว่า "ใช้ได้เลยปลายถุงเท้าพ่อ สั้นกว่าขากางเกงกำลังดี" จากนั้น น้อยใช้ เหล็กไช(๑๐) อันเล็กของพ่อ มาเจาะถุงเท้า ให้ทะลุตรงกัน ทั้งสองซีก เธอเจาะอย่างนั้นสี่รู แต่ละรูตรงกัน กับกระดุมแป๊กแต่ละคู่ แล้วเธอก็วางถุงเท้าที่เจาะแล้ว เข้าตรงกลางเอากระดุมแป๊ก ผ่านรูที่เจาะนั้น มันผ่านเข้าไปได้ พอดิบพอดีเป๊ะ "นี่ เป็นกระเป๋ากางเกงแล้ว เอิงเอย" น้อยพูดกับตัวเอง ด้วยความภาคภูมิใจ กระดุมแป๊กทั้งสี่คู่ ช่วยยึดถุงเท้าของพ่อไว้ได้เป็นอย่างดี

แต่แล้วน้อยก็ต้องพูดกับตนเองอีกว่า "แล้วเราจะใส่กางเกงยังไง ว้า! งั้นต้องแกะกระดุมแป๊กออก แล้วนุ่งกางเกงก่อน อ้อ! เอายางวง (หนังสะติ๊ก) ใส่ในถุงเท้า เอ๊ยในกระเป๋าก่อนด้วย" เธอทำตาม ที่พูดไปพลาง "นี่ไง! ได้แล้ว ทีนี้ก็ติด กระดุมแป๊กผ่านรูได้ นี่ไง! สำเร็จเป็นกางเกง มีกระเป๋า เหมือนของ พวกนั้นแล้ว"

เมื่อเธอออกมานั่งคอยเพื่อนๆ อยู่ที่หน้าบ้านนั้น แม่กลับมาจากตลาดแล้ว และนั่งอยู่กับพ่อ เพื่อนๆ หมู่ใหญ่ กำลังเดินมา ใกล้หน้าบ้านแล้ว เสียงคุยกันดังขรม น้อยลุกขึ้นยืน หันมาลาพ่อกับแม่ ก่อนออกเดินไป รวมกับเพื่อนๆ เธอรู้สึกถึงกระเป๋าถุงเท้า ที่โป่งอยู่ในกางเกงพละนั้น และรู้สึกโก้ เหมือนคนอื่นเขาแล้ว เธอบอกเพื่อนว่า

"ฉันเอายางวงไปด้วยเผื่อไปเล่นกันที่หาดริมคลอง นี่ไง" ว่าแล้วน้อยก็ค่อยๆ แกะกระดุมแป๊ก ออกหนึ่งคู่ ล้วงนิ้วเข้าไป หยิบของเล่นออกมาให้เพื่อนดูนิดหนึ่ง ก่อนที่จะติดกระดุม ไว้เหมือนเดิม

น้อยไม่ได้สังเกตว่าที่หน้าร้านนั้น พ่อกับแม่ เห็นการกระทำของเธอโดยตลอด และเมื่อเด็กๆ เดินข้ามทุ่งนา ตรงไปที่ต้น ซาเมาะ แม่พูดกับพ่อว่า

"ลูกพ่อแท้ๆ น้อยน่ะ เย็นนี้ฉันจะพาเขาไปตัดกางเกงขาสั้นที่บ้านน้องผินสักตัว สงสารลูก"

"ความลำบากช่วยให้คนเราเกิดความคิดไปด้เสมอ แม้แต่เด็กเล็กอย่างลูกเรา" พ่อสรุป


* เขียนเสร็จเวลา ๑๒.๔๕ น. วันที่ ๒๐ พ.ค.๔๖ ที่บ้านไสว ต้องรีบเพราะต้องตรวจวิทยานิพนธ์ อีกหนึ่งเรื่อง และ เตรียมตัวไปเสนอ การวิจารณ์งานของพระคาธอลิก วันที่ ๒๔ นี้ พรุ่งนี้จะไปฟัง การประชุม ร่วมกัน ระหว่าง มุสลิมจากอิหร่าน และสงฆ์ไทย เพื่อสันติภาพโลก ที่พุทธมณฑล


(๑) ลูกกวาด เป็นคำที่คนไทยอิสลามใช้เรียกลูกกวาด ซึ่งทางปักษ์ใต้เรียกว่า ลูกอม เชื่อว่าศัพท์ 'จ๊ะกือละ' เป็นคำยืม จากภาษาอังกฤษว่า chocolate เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คำ ที่คนมลายูรับมา หลังจากตกเป็น เมืองขึ้น ของอังกฤษ แต่มา ออกเสียงเพี้ยนไปเสียจน เกือบจำคำเดิมไม่ได้

(๒) หว้าชนิดหนึ่ง ผลเล็ก กลม รสเหมือนลูกหว้าทั่วไป

(๓) คือผักนานาชนิดที่หั่นละเอียด สำหรับคลุกกับข้าวยำ หรือขนมจีน ตรงกับคำว่า 'เหมือด' ในภาษากลาง น่าจะเป็น คำไทย คำเดียวกัน มาแต่เดิม

(๔) ภาษาไทยปักษ์ใต้จะใช้คำว่า 'ลูก' และ 'แม่' ไว้ข้างหน้าคำนามเมื่อต้องการบอกขนาด ว่าเล็กหรือใหญ่ เช่น 'ลูกจอก' หมายถึง 'ถ้วย หรือ แก้วขนาดเล็ก' 'แม่ขัน'หมายถึง 'ขันขนาดใหญ่' เป็นต้น หรือดังที่ปรากฏ ในเพลงกล่อมเด็ก ของภาคนั้น เพลงหนึ่งว่า "อาบน้ำในแม่ขันแก้ว" 'แม่ขันแก้วี' ในที่นี้ หมายถึง 'ขันสาคร' ของภาคกลางนั่นเอง

(๕) 'กันหม้อ' คือภาชนะสำหรับรองหม้อที่มีมินหม้อ หรือหม้อที่บรรจุของร้อน มักสานด้วย ก้านมะพร้าว ภาคกลางเรียก 'เสวียน'

(๖) คือ กาบหมากที่ลอกเอาแต่เยื่อขาว ภาคกลางเรียกว่า กาบปูเล

(๗) คือไข้มาเลเรีย หรือไข้จับสั่น ทางปักษ์ใต้จะเรียกว่า ไข้ป้าง หรือไม่ก็เรียกไข้ป่า เวลาเป็น จะตัวเหลือง สั่นสะท้าน และเด็กบางคน ก็จะมีอาการพุงโรด้วย เพิ่งจะกำจัดให้หายได้เมื่อมี D.D.T.เข้ามาฉีด กำจัดยุงนี่เอง ส่วนการรักษา สมัยนั้น ใช้แต่ยาควินิน และยาสมุนไพร ยาป้องกันยังไม่ม

(๘) แม้ทางราชการจะใช้คำว่า 'กรีดยาง' ก็ตาม ชาวบ้านทางภาคใต้ยังคงใช้คำว่า 'ตัดยาง' อย่างที่เคยใช้ กันมาแต่เดิม ภาษามลายูใช้ว่า 'มอเตาะห์'

(๙) ภาษาปักษ์ใต้ยังคงการใช้คำว่า 'ตาม' แบบไทยเดิม ในความหมายว่า 'ใช้ให้แสงสว่าง' เป็นต้นว่า ตามไต้ ตาม(ตะ)เกียง ตามไฟฟ้า

(๑๐) คือ สว่าน ในภาษากลาง เป็นการสร้างคำจากวัสดุบวกกับการใช้งานคือ ทำด้วยเหล็ก และไว้สำหรับไช เช่นเดียวกับ กระต่ายขูดมะพร้าว ที่เรียกว่า 'เหล็กขูด'

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๕ มิถุนายน ๒๕๔๖)