เราคิดอะไร

คนบ้านนอก บอกกล่าว
- จำลอง -

ผมเคยพูดเคยเขียนไว้นานแล้วว่า ผมเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่รู้ศาสนาพุทธน้อย แต่ปฏิบัติให้มาก ถือศีล เคร่งครัดขึ้น จนหลายคนเรียก "มหา" ไม่ต้องการเด่นดังหรือทำตัวสุดโต่งให้ใครๆ สนใจ ผมดีขึ้น ก็ อยากมีส่วนช่วย ลงหลักปักฐาน สืบสานพระพุทธศาสนา

เพราะเอาธรรมะ กับการเมืองมาเป็นเรื่องเดียวกัน ตอนที่ผมเป็นนักการเมือง จึงถูกหาว่าเป็น โคไมนี่ เอาศาสนาบังหน้า เพื่อเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ช่วงนั้นเริ่มเปิดโรงเรียนผู้นำใหม่ๆ เลยไม่กล้านำ พระพุทธศาสนา ไปสอนในหลักสูตร

สิบสองปีที่แล้ว ผมไปรับรางวัลจากเกาหลีใต้ จึงทราบว่าเขามีโรงเรียนเหมือนเรา แต่เปิดก่อนเรา ๒๔ ปี ชาวคณะโรงเรียนผู้นำ ถือคริสต์เคร่งครัด ผู้เข้ารับการฝึกอบรม จะเป็นคนชาติไหน ถือศาสนาใดก็ตาม ถึงวันอาทิตย์ เขาพาเข้าโบสถ์สวดมนต์ ฟังธรรม กลับมาผมจึงหารือกับผู้ร่วมงาน ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ นำหลักธรรม ในพระพุทธศาสนา มาแทรกอย่างเต็มที่ ผู้เข้ารับการอบรม ละอบายมุข และถือศีลห้าเคร่ง โดยไม่รู้ตัว ศีลข้อ ๑ เคร่งถึงขนาด กินมังสวิรัติทุกมื้อ ทุกวัน

คุณหมอประเวศ วะสี พูดบ่อยๆ ว่า ตอนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ไม่รู้ว่าเราจะนำไปทางไหน ต่อมาจึงเข้าใจ ว่าสอนให้ลด ความเห็นแก่ตัว เลยไปช่วยสอน

ท่านอธิบดีกรมที่ดินพาคณะไปปรึกษาหารือที่โรงเรียนผู้นำ ผมเคยพบสมัยท่านเป็นผู้ว่าฯ สงขลา ต่อมา ย้ายเข้า กระทรวงมหาดไทย และเป็นอธิบดี ท่านเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า แก้ปัญหาต้องพัฒนาคน กำหนด นโยบายใหม่ ของกรมที่ดินว่า "คุณธรรมนำการบริหาร" ได้ยินเรื่องโรงเรียนผู้นำมานานแล้ว กล่าวอย่าง ดีใจ

"ลูกน้องผมคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการ จบจากโรงเรียนผู้นำกลับไป ไม่ยอมรับเงิน ประจำตำแหน่ง เดือนละ ๕,๖๐๐ บาท พูดเท่าไหร่ก็ไม่รับ ทำงานดีมาก ให้สองขั้นก็ไม่เอา เอาขั้นเดียว ช่วยผลิตมากๆ และเร็วๆ เอาคนดีเข้มข้น อย่างนี้เป็นแกน เปิดสาขาโรงเรียนผู้นำ ทุกภาคเลย

ลูกน้องผมคนนั้น เดี๋ยวนี้เขากินมังสวิรัติ และกินอาหารวันละมื้อ"

หลักสูตรสำหรับข้าราชการระดับรองอธิบดีทั่วประเทศรุ่นที่สอง (เสริมด้วยนักอุตสากรรม จำนวนหนึ่ง) จบ ไปเมื่อปลายเดือน มิถุนายน ในชั่วโมงทำการเกษตร ซึ่งผู้ช่วยครู ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นผู้ดำเนินรายการ เจ้าของโรงงาน อุตสาหกรรมใหญ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดใจกับผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดว่า

"สามีดิฉันบอกว่า เขาจบจากโรงเรียนผู้นำ ไปเป็นสามีใหม่แล้ว ดิฉันต้องมาเข้าโรงเรียน เพื่อกลับไปเป็น ภรรยาใหม่ วันที่เขาจบ เราจะเอารถมารับที่เมืองกาญจน์ หรือที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ยอม ขึ้นรถไฟกลับเอง ดิฉันและลูกๆ ๕ คนไปรับ เขาพาไปเลี้ยง เราเคยกินกันมื้อละพันสองพัน มื้อนั้นจ่ายสามร้อย กินแต่ผัก

เมื่อคืนนี้ลูกเป็นห่วงโทรศัพท์มาว่า มาม้าเรียนจบแล้วอย่าเป็นอย่างปาป๊านะ"
การมีส่วนช่วย ลงหลักปักฐาน สืบสานพระพุทธศาสนา เริ่มมีผลขึ้นเรื่อยๆ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)