>เราคิดอะไร

ตอน ถึงจนก็งามได้

นานๆ อำเภอแว้งถึงจะมีงานของคนไทยพุทธสักที คราวนี้จะเป็นงานแต่งงานระหว่าง ปลัดอำเภอ ชื่อปลัดสันทัด กับ ครูประคอง ปลัดสันทัดเป็นคนหนุ่ม มาจากจังหวัดไหน น้อยไม่ทราบ ส่วนครูประคอง เป็นครูที่โรงเรียน ประชาบาลแว้ง ครูเป็นลูกสาวคนที่สาม ของผู้หมวดคล้าย และคุณนาย จึงเป็นพี่สาวของ ประพนธ์ เพื่อนของน้อย

บ้านของผู้หมวดคล้าย เป็นบ้านพักหัวหน้าตำรวจอำเภอแว้ง ตั้งอยู่ในเขตสถานีตำรวจภูธร เป็นบ้าน หลังเดียว ในบริเวณ สถานีตำรวจ และที่ว่าการอำเภอแว้ง ปลูกอยู่ตรงหัวมุมหนึ่ง ของสี่แยกกลางอำเภอ อีกสามหัวมุม เป็นร้านกาแฟของอาลีมุมหนึ่ง มุมที่สองเป็นบ้านของผู้ดีมีเงิน ตระกูลวุฒิศาสตร์ ซึ่งเป็น คนไทยมุสลิม มุมที่สาม มีต้นชะมวงอยู่ตรงมุม เป็นห้องแถวบ้านพักตำรวจ ลูกน้องของผู้หมวดคล้าย

บ้านพักของผู้หมวดคล้าย แตกต่างจากบ้านคนอื่นทั้งหมด ในบรรดาบ้านพักของทางราช การ สองด้าน มีรั้วไม้ไผ่ พันธุ์เตี้ย ปลูกแน่นเอี้ยด บังใต้ถุนบ้านไว้เกือบมิด เห็นแต่ตัวบ้านพัก สีฟ้าปนเทา ดูสง่า สมกับเป็นบ้านผู้ใหญ่ ของอำเภอ แถมยังมีห้องอาบน้ำ และส้วมซึม สูงระดับเดียวกับ ตัวเรือนใหญ่ แยกกันด้วย ระเบียงยาวเสียด้วย ประพนธ์จึงไม่ต้องฝ่าดงทาก ไปส้วมหลุมท้ายสวน เหมือนน้อย โดยเฉพาะ ในหน้าฝน

พ่อบอกว่าจริงๆ แล้วผู้หมวดคล้ายมียศเป็นถึงร้อยตำรวจเอก คนแว้งควรเรียกท่านว่า ผู้กอง แต่ทุกคน กลับเรียก ท่านติดปากว่า ผู้หมวด เพราะท่านอยู่ประจำ ที่อำเภอนี้มา ตั้งแต่ยังเป็น นายร้อยตำรวจโท และท่าน ก็ไม่รังเกียจ ที่จะถูกเรียกอย่างนั้นด้วย ส่วนภรรยาของท่านนั้น ทุกคนเรียกกันว่า คุณนาย

น้อยเคยเห็นผู้หมวดคล้าย แต่งตัวเต็มยศครั้งหนึ่ง เป็นเครื่องแบบสีขาว หมวกก็สีขาว แถมยัง มีกระบี่ยาว เป็นเงาวับ ห้อยข้างสะเอวด้วย เห็นแล้ว เธอรู้สึกกลัวท่านมาก

"พ่อคะ พ่อของประพนธ์กับพ่อของจริยา แล้วก็พ่อของไพฑูรย์ใครต้องกลัวใครคะ น้อยว่าพ่อ ของจริยา กับพ่อของ ไพฑูรย์เขา มาจากกรุงเทพ ต้องสำคัญกว่าพ่อประพนธ์ใช่ไหมคะ?" น้อยเคยถามพ่อ อย่างนั้น ครั้งหนึ่ง พ่ออธิบายว่า

"ตำรวจเขาเคารพกันตามยศลูก ไม่ใช่ที่มา พ่อของไพฑูรย์เป็นพลตำรวจเท่านั้น ส่วนหมอ จรูญพ่อของจริยา เป็นนายสิบ ก็ต้องเคารพพ่อของประพนธ์เพราะเขาเป็นนายร้อย"

"แล้วถ้ามีนายพัน นายหมื่น นายแสน ก็ต้องสำคัญกว่าพ่อของประพนธ์ใช่ไหมคะ?" น้อยซัก พ่อต่อ

พ่อหัวเราะก่อนอธิบายว่า

"นายพันเป็นยศที่สูงกว่าพ่อของประพนธ์ ถูกแล้วลูก นายหมื่น นายแสนอาจจะเคยมี ในสมัย ก่อน แต่สมัยนี้ ไม่มีแล้ว เหนือจากนายพันก็เป็นนายพล แต่ละชั้นยศเขายังแยกเป็นชั้นย่อย อีก เช่น นายร้อย ก็มีร้อยตำรวจตรี พอต่อไปก็ได้เลื่อนเป็น ร้อยตำรวจโท ร้อยตำรวจเอก พ่อของประพนธ์เป็น ร้อยตำรวจเอก สูงที่สุด ในอำเภอแว้งของเราแล้วลูก เพราะแว้งเป็นเพียงอำเภอเล็กๆ เท่านั้น จึงไม่มีนายพัน"

"เหมือนนับเลขเลย สิบ ร้อย พัน แล้วก็เหมือนวรรณยุกต์ในหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ของ น้อยด้วยค่ะพ่อ แต่ในหนังสือ เขาต้องว่า เอกก่อน แล้วถึงจะโท ตรี แล้วก็จัตวาหลังสุด ตำรวจเขาว่า กลับกันเสีย คูณครูบอกว่าเอก โท ตรี จัตวา แปลว่า หนึ่ง สอง สาม สี่ ที่จริงตำรวจน่าจะว่าเหมือนกัน แต่ร้อยตำรวจเอก กลับใหญ่ว่า ร้อยตำรวจโท และตรี แปลกจัง"


น้อยพูด เมื่อเห็นพ่อนั่งยิ้มมองเธออย่างเอ็นดูและไม่ได้ว่าเธอผิด จึงพูดต่อว่า

"แต่พ่อคะ น้อยว่าแว้งน่าจะมีนายพัน นายหมื่นก็ยังได้เลย เพราะในเพลงอำเภอแว้ง บอกว่า แว้งเป็นอำเภอ ที่สำคัญมาก" เมื่อพูดดังนั้นน้อยไม่ได้แย้งพ่อ แต่เธอกำลังคิดถึงเนื้อเพลงแว้งตรงที่ว่า

'อำเภอแว้งชายเขต แดนประเทศของ ชาติไทย แม้นจะอยู่ห่างไกล
ห่างไกลมหาศาล เป็นถิ่นสำคัญ เป็นที่ป้องกัน กีดกั้นรุกราน'

"น้อยยังเล็กจึงเห็นว่าแว้งเป็นอำเภอใหญ่ ต่อไปเมื่อลูกโตขึ้น ได้ไปเห็นบางนรา ที่ตั้งของจังหวัด
น้อยก็จะว่า อำเภอแว้ง ของเราเล็กจริงๆ เพราะแว้งเป็นอำเภอเล็กจึงมีแค่ นายร้อยตำรวจเอก พ่อของประพนธ์ เป็นผู้ใหญ่ที่สุด น้อยเข้าใจแล้วใช่ไหม บางอย่างน้อยจะต้องรู้จักรอ"
พ่ออธิบายต่อ

เด็กๆ ที่โรงเรียนรู้กันหมดว่าคุณครูประคองจะแต่งงาน ประพนธ์ถูกเพื่อน ซักถามมากที่สุด

"แต่งงานของคนไทยก็เหมือนคนแขกนิเก๊าะห์นั่นแหละ" ประพนธ์บอกเพื่อนๆ ในห้องเดียวกัน

"ปลัดต้องนุ่งผ้าสีทองแว้บๆ ทับกางเกงขายาวใช่ไหมล่ะ แล้วก็เหน็บกริชด้วย ฉันเคยเห็นแล้วแหละ แล้วเขาก็โพกหัว สวยมากด้วย ยังงี้ ยังงี้ ไม่ใช่โพกกับผ้าขาวม้านะ" น้อยว่า ทำท่าทางไปด้วย

"เห่ย! ใครว่า นั่นคนแขกเขาแต่งงาน นี่เป็นคนไทย ไม่เหมือนกันหรอก ฉันเคยเห็นคนไทย แต่งงานที่กรุงเทพ แล้วแหละ" จริยาเด็กจากกรุงเทพฯ อ้างเมืองหลวงทันที "เขาไม่ได้แต่งตัวอย่างนั้น ซักกะหน่อย เขาแต่ง แบบคนไทยนี่แหละ มีสร้อยมีแหวนอะไรสวยๆ ด้วย"

"แล้วคนไทย เขาต้อง ให้เจ้าบ่าว เจ้าสาว นั่งบนโรงสวยๆ แต่งด้วยทางมะพร้าว ใบมะพร้าวแบบ ของคนแขกไหม?" มานิตถามบ้าง เธอเป็นเด็กมุสลิมลูกครึ่งจีนกับแขก ตัวอ้วน หน้ากลมป๊อก มีลักยิ้มด้วย

"ไม่มี้" จริยาลากเสียง "เขามีพระมาสวดให้พร แล้วพระก็กินข้าวที่เจ้าบ่าว เจ้าสาวตักให้"

"พ่อบอกว่า ถ้าพระกินข้าวต้องว่าพระฉันข้าว แล้วคนตักให้เขาว่าตักถวาย ภาษาสำหรับพระ ไม่เหมือน ภาษาธรรมดา" น้อยท้วงเพื่อน

"ลำบากจัง ภาษาไทยนี่มีหลายแบบ"
มณีพรรณผู้น่ารักและเรียนเก่งพูดบ้าง "แต่ก็เหมือนกันนะ คนไทย มีพระมาสวดให้พร คนแขกก็มีโต๊ะอิหม่ามมาสอน แล้วก็มีงานกินเลี้ยง เหมือนกันด้วยใช่ไหม มีไข่ต้ม ย้อมสีแดง ด้วยใช่ไหม ประพนธ์ พวกเรา เด็กๆ จะได้รับแจกด้วย ไหมล่ะ?"

"มีงานเลี้ยงที่สนามหน้าบ้านฉันไง ข้างสถานีตำรวจน่ะ แต่เด็กอย่างเรา เขาไม่ให้เข้าไปในงานหรอก ฉันว่า ไม่เป็นไร ฉันจะเก็บไว้ให้เอง เราไปกินกันหลังบ้านก็ได้" ประพนธ์ว่า "ไข่ต้ม ย้อมสีแดงเหรอ ไม่มีมั้ง ไม่รู้ซิ ก็แม่ของน้อย เป็นคนทำของหวานทั้งหมดนี่ มีอะไรมั่งล่ะ น้อย?"

"ไม่เห็นแม่พูดถึงไข่ย้อมสีนะ แต่เห็นแม่พูดกับพ่อว่า ต้องมีข้าวเหนียวขาว หน้าสังขยา ข้าวเหนียวเหลือง หน้ากุ้ง ป้าหรุ่นจะเป็นคนทำหน้ากุ้ง งานแต่งงานของแขก เขาก็ต้องมีเหมือนกัน ใช่ไหม?"
น้อยพูด


"ก็เหมือนแขกนิเก๊าะห์ ต้องมีข้าวเหนียวสังขยาเหมือนกัน เรียกว่า 'มาแกปูโละ'(๑) " มณี พรรณว่า "แล้วมีขนม อย่างอื่นอีกไหมล่ะ น้อย?"

"มี แม่ว่าใครๆ ว่าแว้งของเราเป็นบ้านป่า แต่แม่ก็จะทำขนมให้สุดฝีมือเลยแหละ แม่จะทำ วุ้นน้ำเชื่อมนะ แล้วก็จะทำ ของพิเศษด้วย"
น้อยว่า เมื่อเห็นเพื่อนๆ จ้องมองอย่างอยากรู้เต็มที่ จึงพูดต่อว่า "แม่จะทำขนมลูกจันทร์กับขนมลูกลิ้นจี่"

"ลูกจันทร์กับลูกลิ้นจี่เป็นยังไง ใครเคยเห็นมั่ง พวกเรา?" อุทัยถาม

ทุกคนส่ายหน้า น้อยจึงพูดว่า "ฉันถามแม่แล้ว แม่ว่าที่แว้งไม่มีลูกลิ้นจี่ ลูกจันทร์อาจจะมี ในกำปง พ่อกับแม่ เคยเห็นลูกลิ้นจี่ แต่นานแล้ว พ่อว่าข้างใน มันคล้ายกับลูกเมาะแต(๒) แต่ เปลือกมัน ไม่มีขน อย่างเมาะแต เปลือกมัน สีแดงสวยมาก มีลายเหมือนเป็นเม็ดเล็กๆ ด้วย แม่ว่าคนสมัยก่อน เขาทาแลจ(๓) เป็นสีลิ้นจี่ ส่วนลูกจันทร์นั้น สีเหลืองสวย แล้วก็หอมมาก ฉันก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน แม่ถึงอยากทำไง"

"แล้วน้อยเคยเห็นแม่ทำไหม?"
มณีพรรณถาม

"ไม่เคย เห็นแม่ว่าไม่มีใครทำหรอก แม่คิดทำขึ้นเอง" น้อยตอบ

"เราไปดูแม่เธอทำได้ไหมล่ะ?" เพื่อนๆ รุมถาม

"เห็นแม่บอกว่าวันนั้นจะมีผู้ใหญ่มาช่วยมากเด็กๆ ต้องไม่เข้าไปยุ่มย่าม เป็นอันขาด กีดทาง เค้าเปล่าๆ ถึงเข้าไป ก็ทำไม่เป็น แต่ฉันว่า พวกเราไปก่อนสักวันก็ดีนะ วันจริงเราค่อยไปแอบดูแม่ฉันทำ ทางหน้าต่าง ครัวก็คงได้" น้อยชวนเพื่อนๆ ทุกคนตกลงตามนั้น

วันสำคัญของแม่มาถึง ก่อนวันงานหนึ่งวัน เพื่อนๆ ของน้อย ไปออกันเต็ม แม่สั่งของทุกอย่าง สำหรับ ทำขนม มาไว้ที่บ้านก่อนหน้านั้น หลายวันแล้ว เป็นต้นว่า น้ำตาลทราย มะพร้าว ไข่เป็ด ข้าวเหนียว แล้วก็อะไรต่อ มิอะไร ในห่ออีกหลายอย่าง พ่อบอกลูกทั้งสองว่า แม่ทำอาหารเก่ง ไม่ใช่ เพราะได้รับการสอน จากยาย แต่เพราะแม่เป็นคน มีไหวพริบดี ความจำดีมาก แม่ช่างสังเกต และรู้จักสอบถาม เรื่องเคล็ดลับ เล็กๆ น้อยๆ เอามาลองทำดู

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆที่พ่อบอกว่าขนมแค่สี่อย่าง ที่จะทำให้บ้านผู้หมวดคล้ายนั้น แม่ทำได้สบายมาก เพราะแม่ เคยทำขนมขาย วันละตั้งไม่รู้กี่อย่าง น้อยก็ยังสังเกตเห็นท่าทาง แม่ครุ่นคิด แม่คงอยากทำ ขนมครั้งนี้ ให้ดีที่สุด เพราะทั้งผู้หมวด และคุณนาย เป็นเพื่อนที่ดี ของพ่อและแม่ แม่บอกว่า ถ้าเด็กๆ เพื่อนของน้อยมา ก็ให้อยู่ห่างๆ คอยฟังผู้ใหญ่เรียกใช้งาน ถ้าไม่เรียก ก็อย่ามายุ่ง น้อยจึงไม่กล้ารบกวน ถามอะไรแม่มากนัก

แม่เริ่มสั่งให้คนที่มาช่วยงานแช่ถั่วเขียว ในกะละมังก่อน เพราะจะต้องแช่ทิ้ง ไว้ให้ถั่วทุกเม็ดพองตัว เปลือกหลุด ออกมาลอยอยู่ในน้ำ แม่ค่อยๆ รินเอาเปลือกถั่วออก แล้วเติมน้ำ ลงไปอีก คนให้เปลือกถั่ว ที่เหลือ หลุดลอยออก มาจนหมดจริงๆ เหลืออยู่แต่ เมล็ดถั่วสี เหลืองนวลสะอาด จากนั้น แม่ก็เอาเมล็ดถั่วนี้ ไปนึ่งจนสุก แล้วให้คนช่วยกันตำ ด้วยครกหินใหญ่ๆ ที่แต่ละบ้านเอาของตนเอง มาช่วยตำจนถั่วแหลก ละเอียด เหมือนแป้ง ระหว่างนั้น แม่ให้เขาขูดมะพร้าว อย่างระมัดระวัง ไม่ให้มีส่วนสีดำ จากก้นกะลา ลงไปปน เอามาคั้นด้วยน้ำอุ่น แม่ตักเอาหัวกะทิ ที่เขาคั้นแล้ว มาใส่ในกระทะทองเหลือง ใบใหญ่ ที่ยืมของแขกมา ใส่น้ำตาลที่ แม่ให้น้อยและ เพื่อนๆช่วยกันเลือก เอาผงออก จนหมดแล้ว ใส่ลงไปด้วย

แม่กะขนาดกะทิและน้ำตาลทรายด้วยความชำนาญ คนส่วนผสมนี้ บนไฟอ่อนๆ จนกะทิ และน้ำตาล เข้ากันดีเสียก่อน แล้วจึงใส่ถั่วเขียว ตำลงไปกวนต่อ จนส่วนผสมแห้ง ได้ที่ส่งกลิ่นหอมฉุย จึงให้เขายกลง จากเตาก้อนเส้าใหญ่ ทิ้งไว้จนเย็น

แม่เอาถั่วกวนนี้ใส่ลงในโถใบใหญ่ เอาเทียนอะไรก็ไม่ทราบ น้อยไม่เคย เห็นมาก่อน มันไม่เป็นแท่งตรงแต่ เป็นวงกลม สีก็ดูมอๆ เหมือนไม่สะอาด แม่จุด ไส้เทียน พอติดดีแล้วก็รีบดับเหลือ แต่ควันเทียน หอมวางลง ในถ้วยเล็ก ที่วางอยู่บน ถั่วกวนในโถอีก ทีก่อนที่จะปิดฝาโถ อย่างรวดเร็ว น้อยทราบต่อมาว่า นั่นคือเทียนอบ มันจะถูก ทิ้งไว้อย่างนั้นทั้งคืน พรุ่งนี้พอเปิดออก ถั่วกวนในโถ จะหอมกลิ่นควันเทียน ที่อบนั้น

ถึงตอนนี้แม่ออกคำสั่งให้เด็กๆ ช่วยทำงานแล้ว ทุกคนกรูกันเข้าไปเด็ดก้าน ดอกมะลิ งานนี้ง่ายมากก็จริง แต่แม่บอกว่า เป็นสิ่งที่ขาด ไม่ได้เลย พอเด็กทำเสร็จแล้ว แม่ก็เอาไปโรยในขัน น้ำฝนใบใหญ่ เอาจานข้าว ปิดขันไว้ ตลอดทั้งวัน ถึงตอนเย็น แม่เอาน้ำฝนที่กลายเป็นน้ำหอม กลิ่นดอกมะลิ นั้นไปเคี่ยว กับน้ำตาลทราย สะอาด ที่เด็กๆ ช่วยกันเก็บเอาเผ้าผง ออกหมดแล้ว จนค่อนข้างข้น กลายเป็นน้ำเชื่อม หอมหวาน พอเย็น แม่ก็กรองด้วยผ้าขาวบาง ถึงสองครั้ง จนใสสะอาด เก็บไว้สำหรับใส่ในวุ้น เป็นขนม วุ้นน้ำเชื่อม

เย็นวันนั้น พ่อเหลาไม้ไผ่เล็กๆ ไว้ให้แม่เสร็จ เด็กๆ รวมทั้งมามุด้วยตามพ่อ ไปในสวน ผลไม้หลังบ้าน จะไปตัด กิ่งมะนาว มาเตรียมไว้ให้แม่ ทำอะไรสักอย่างพรุ่งนี้ พ่อเลือกตัดเอามาแต่กิ่งที่ดูสวย คือใบของมัน ไม่แก่ไม่อ่อนนัก แม่ไว้ใจพ่อ เรื่องนี้เพราะ พ่อเป็นคนมีความสามารถ ในการประดิษฐ์สิ่งของ ให้สวยงาม มากกว่าแม่เสียอีก เมื่อตัดมา ได้มากพอสมควร เด็กๆ ก็ช่วยพ่อล้าง ทั้งกิ่งทั้งใบ อย่างระมัดระวัง จนสะอาดดี

เพื่อนๆ กลับไปหมดแล้วเมื่อพ่อลงมือตัดกิ่งมะนาวเหล่านั้น ด้วยมีดบางคมกริบ พี่แมะ น้อย และมามุ เข้าไปนั่งดู อยู่ข้างๆ พ่อจับกิ่งมะนาว ขึ้นมาพิจารณาก่อน แล้วก็ลงมือตัดออก เป็นกิ่งเล็กๆ แต่ละกิ่ง มีใบติด อยู่สองถึงสามใบ พ่อใช้กรรไกรเล็มตรงส่วนบน ของแต่ละกิ่งน้อยให้เรียบร้อย ไม่ให้มีอะไร แหลมขึ้นไป ตรงส่วนล่าง ของกิ่งน้อยนั้น พ่อวางลงบนเขียง ก่อนที่จะเฉือน ก้านทะแยง เหมือน กับการทำไม้กลัด ไม่มีผิด

"ทำไมต้องตัดแบบนั้นคะพ่อ?"
พี่แมะถาม

"แม่เขาจะได้ปักลงไปบนขนมไงล่ะ"
พ่อตอบ

"ยังไงคะพ่อ?" น้อยถามบ้าง

"เอาไว้ค่อยดูพรุ่งนี้ก็แล้วกัน" พ่อตอบยิ้มๆ

แม่เหลือบดูนาฬิกา เพื่อกะเวลาให้พอดี ก่อนที่จะสั่งให้เขาแช่ข้าวเหนียว ในกะละมังใบใหญ่ สองใบ ใบที่หนึ่ง ใส่น้ำจืดธรรมดา ใบที่สอง แม่ตำขมิ้นสด ที่พี่แมะไปขุดจากกอ ในสวนหลังบ้าน มาห่อผ้าขาว สะอาด ลงไปคนน้ำ ในกะละมังนั้น เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดทันที สีนี้จะถูกดูดเข้าไป ในเม็ดข้าวเหนียว นี่เป็นวิธี การเตรียมทำข้าวเหนียวเหลือง โดยใช้สีธรรมชาติ

จากนั้นแม่เอาสารส้มห่อผ้าลงไปแกว่งในกะละมังทั้งสองด้วย นี่ก็เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ ข้าวเหนียว ของแม่ เหยียดตัวยาวใส ไม่ติดเละหนึบหนับ เหมือนของแม่ค้าบางคน

น้อยนอนพังพาบแอบดูผู้ใหญ่เขาเตรียมงานอยู่ รู้สึกว่าแป๊บเดียวเท่านั้นเอง พี่แมะก็มา สะกิดให้ตื่น บอกว่า จะรุ่งแล้ว เธอรีบตาลีตาลานลุกขึ้นล้างหน้าล้างตา เผื่อจะช่วยอะไร ผู้ใหญ่ได้บ้าง

น้อยมองเข้าไปในครัว คนมาช่วยงานคุยกันจ้อกแจ้กเต็มไปหมด บนแม่ไฟ ฟืนกำลังลุกคึ่กๆ อยู่ทั้งสองเตา บนเตา มีกระทะใส่น้ำวางอยู่ และในกระทะ มีหวดนึ่งข้าวเหนียว ที่แม่ปูผ้าขาวบาง รองไว้ พอน้ำใน กระทะ เดือดพล่าน แม่ก็ตักข้าวเหนียว ที่แช่ไว้จนไน่(๔) ดีแล้ว ใส่ลงไปบนผ้าขาวบาง ทีละครึ่งหวด ข้าวเหนียวขาว หวดหนึ่ง เหลืองหวดหนึ่ง แม่ดึงผ้าขาวบาง ขึ้นมาพับซ้อนไปมา ปิดข้าวเหนียวนั้น แล้วปิดฝาหวด ไอน้ำเดือด จะทะลุผ่านรูก้นหวดขึ้นมา ทำให้ข้าวเหนียวสุก

ที่นอกชาน น้าเหลี่ยนกำลังคั้นกะทิให้แม่ แม่เปิดฝาหวดออก เพื่อโยง(๕) ข้าวเหนียวให้ ได้รับไอทั่วกัน พอข้าวเหนียว สุกดีทั่วกันแล้ว ก็ยกลงมาทั้งห่อผ้าขาวบาง เทลงในกระด้ง จากนั้นก็ถึงการ มูนข้าวเหนียว การมูนข้าวเหนียว มีสองแบบ ถ้าต้องการให้ข้าวเหนียวอยู่ได้นานหน่อย ก็เอาหัวกะทิขึ้นไฟ คนให้สุกเสียก่อน แต่วิธีนี้ จะไม่อร่อยเท่ากับ มูนกะทิสด วันนี้แม่ทำแบบหลัง เพราะข้าวเหนียว จะใช้ไม่เกินเที่ยงวัน น้อยเห็นแม่ เอาน้ำเกลือ และ น้ำตาลทราย ที่ละลายผสมกันไว้แล้ว ลงคนในกะทิให้เข้ากัน เสียก่อน แล้วค่อยๆ ราดลงไปบนข้าวเหนียว ที่ร้อนจัด จนควันขึ้นฉุย จากนั้นแม่ก็คนข้าวเหนียว จนได้รับหัว กะทิ เสมอกัน

แปลกจริงๆ! หัวกะทิได้กลายเป็นน้ำมันเคลือบเม็ดข้าวเหนียวทุกเม็ด จนดูใสสวยไปแล้ว จากนั้น แม่ก็เอา กานพลูเสียบลงไป บนข้าวเหนียวทั้งสองสี หลายดอก กานพลูนี้ จะช่วยให้ข้าวเหนียวมูน หอมยิ่งขึ้น

"ดูแม่ทำก็ไม่น่าจะยากอะไร วันหลังน่าลองทำดูมั่งก็ยังได้" น้อยคิด

อีกด้านหนึ่งของครัวติดหน้าต่าง ผู้ช่วยแม่กำลังเตรียมทำสังขยา สำหรับเป็นหน้าข้าวเหนียว ตามที่แม่ สั่งไว้ ตอนแรก เป็นการขยำสังขยาก่อน เพื่อกำจัดกลิ่นคาวของไข่เป็ด แม่ให้เอาใบตะไคร้ ล้างจนสะอาด ใส่ลงไป ในชามอ่างดิน ใบใหญ่ บุบหัวหอมใส่ลงไปด้วย จากนั้น แม่ก็เรียกให้พี่แมะและน้อย หิ้วตะกร้าใส่ไข่เป็ด ที่ล้างไว้แล้ว เข้ามาในครัว ทั้งสองคน ได้รับอนุญาต ให้ตอกไข่กับขอบอ่าง ใส่ลงไปในอ่างทั้งเปลือก แล้วขยำ ทั้งไข่ เปลือกไข่ หัวหอม และตะไคร้ด้วยกันพักใหญ่ จนแม่กะว่า หมดกลิ่นคาวแล้ว จึงกรองด้วยผ้า ขาวบาง เพื่อเอาเปลือกไข่ หัวหอมและใบตะไคร้ออก เอาใบเตยหอมใส่ลงไปแทน เพื่อให้สังขยา หอมกลิ่น ใบเตย แม่ใส่น้ำตาลปี๊บ แล้วบอกให้น้าเฮียง ภรรยาน้ากิม บ้านริมคลอง ตีสังขยานั้นด้วยที่ตี ทำด้วย ลวดทองเหลือง ขดเป็นวง มีด้ามจับ ตีไปพลางก็ค่อยๆ ตักหัวกะทิ ใส่ไปทีละน้อย สองพี่น้อง อยากลองทำบ้าง แต่ไม่กล้าขอ เพราะแม่เคยบอกว่า ถ้าตีสังขยาไม่เป็น สังขยาจะไม่ขึ้น เท่ากับ ว่าคนทำๆ ไม่เก่งจริง ซึ่งวันนี้จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เป็นอันขาด

ระหว่างที่น้าเฮียงกำลังตีสังขยาอยู่ แม่ก็ต้มน้ำสะอาดในกระทะทองเหลืองอีกใบ เอาวุ้นที่แช่น้ำไว้ จนนิ่มแล้ว ใส่ลงไปในน้ำเดือดนั้น ต้องกะน้ำให้พอดีกับเส้นวุ้น ไม่อย่างนั้น วุ้นจะอ่อนไป แป๊บเดียวเท่านั้น วุ้นก็ละลายหมด แม่ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง อย่างละเอียด สองชั้น ใส่ลงในหม้ออีกใบ

วุ้นนี้ทำง่ายและแม่เคยทำให้รับประทานบ่อย ถ้าจะทำเป็นวุ้นหวานๆ ก็ใส่น้ำตาล ลงไปตอนเคี่ยว เท่านั้นเอง แต่วันนี้ แม่จะทำวุ้นน้ำเชื่อม จึงไม่ต้องใส่อะไรเลย แค่ทิ้งไว้ให้เย็น มันก็จะกลายเป็นก้อน แข็งใสน่ากิน น่าเล่น เป็นที่สุด แม่เอาน้ำเย็น หล่อไว้รอเวลา ตัดด้วยมีดหยักๆ ก่อนนำไปบ้านงาน เท่านั้นเอง

แม่ได้เคี่ยวกับน้ำตาลทรายกับน้ำฝนแช่ดอกมะลิ เพื่อทำเป็นน้ำเชื่อม เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่น้อย ยังไม่ตื่น ตอนนี้มันอยู่ ในหม้อเคลือบสีน้ำเงินของแม่ และเย็นสนิทแล้วด้วย น้อยแอบเปิดดูนิดหนึ่ง มันหอมชื่นใจ และแม่ก็ยังเอา ดอกมะลิบาน ลอยไว้ข้างบนอีกด้วย วุ้นน้ำเชื่อม จึงเป็นอัน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้แม่และผู้ช่วยสองคนกำลังจะนึ่งสังขยาแล้ว แม่เอากรอบไม้ไผ่สี่เหลี่ยมวางลง ในกระทะเหล็ก ต้องวาง ให้ตรงจริงๆ เอียงนิดเดียวก็ไม่ได้ แล้วเอาถาดทองเหลือง วางบนกรอบนั้น อีกที พอน้ำ เดือดพล่านเต็มที่ แม่ก็ตักส่วนผสมสังขยา ใส่ลงไปประมาณครึ่งถาด แล้วรีบปิดฝาลังถึง โดยเร็ว ไฟที่ใช้นึ่ง สังขยานี้ จะต้องร้อนเสมอกัน จนขนมสุก ไม่เช่นนั้นแล้ว สังขยาก็จะขึ้น ไม่เสมอกัน ถือว่าไม่ดี พอแม่กะว่า สังขยาสุกดีแล้ว ก็เปิดฝาลังถึง กลิ่นหอมของขนมอบอวลไปทั่ว พอยกถาดนี้ออกมาแล้ว แม่ก็เอาถาดใหม่ วางลงอีก แล้วก็นึ่งใหม่อีก

ในที่สุดก็เหลือส่วนผสมอีกเล็กน้อยไม่พอที่จะนึ่งถาดใหญ่ได้ เสียงแม่พูดว่า "เหลือนึ่ง ได้อีกถ้วย หนึ่งพอดีสำหรับเด็กๆ กินกับข้าวเหนียวที่มูนไว้เหลือพอดีเหมือนกัน"

น้อยหันไปมองพ่อที่นั่งยิ้มอยู่ เธอรู้สึกว่า แม่อาจจะแกล้งพูด แต่ตั้งใจทำให้พวกเด็กๆ รับประทาน กันมากกว่า ประเดี๋ยวพวกเพื่อนๆมา ก็จะได้ลองชิมฝีมือแม่แล้ว

แม่รีบทำโน่นนี่ให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ก็เพื่อจะได้มีเวลาทำขนมพิเศษ ที่ไม่มีใครทราบ ว่าแม่คิด จะทำอย่างไร เพื่อนๆ ของน้อย พยายามแย่งกันโผล่ดูแม่ ทางหน้าต่างครัว ต่างคนต่างอยากดู เสียจนรอมชอม ผลัดกันไม่ ค่อยจะสำเร็จ พอใครได้ดูแล้ว ก็กระโดด ลงจากม้า นั่งพูดว่า

"โอ้โฮ! สวยจังเลยเธอ! โอ้โฮ! น่ารักที่สุดเลยเธอ!"

ขนมพิเศษแสนสวยที่เด็กๆ ทุกคนไม่อยากเสียสิทธิ์หน้าต่าง เพื่อดูแม่ทำนั้น แท้จริงแม่ ดัดแปลง มาจาก ขนมเม็ดขนุน ที่ใครรู้จักกัน ทั่วไปนั่นเอง แต่แม่ทำเป็นอย่างอื่น ที่สวยงามกว่า แรกสุด แม่แบ่งถั่วกวน อบควันเทียน ออกเป็นก้อนเท่าๆ กัน คลึงก้อน เหล่านั้น จนกลมป๊อก วางเรียงไว้ในถาด จนหมด จากนั้น จึงถึงเวลาที่ใครๆ ก็คอยดู อย่างใจจดใจจ่อ

แม่ต่อยไข่ไก่หลายฟอง แยกเอาแต่ไข่แดงมาใส่ถ้วยตีเบาๆ ไม่ให้ขึ้นแบบไข่ไว้เจียว บนเตาสามขา ขนาดเล็ก ใบที่หนึ่ง แม่วางกระทะทองใบเล็กน่ารัก ใส่น้ำเชื่อมที่แม่แบ่งมา จากน้ำเชื่อม สำหรับวุ้น น้ำเชื่อมนี้เดือด อยู่เล็กน้อย บนเตาเล็ก เตาที่สองแม่ต้มน้ำ ในกระทะเล็กเหมือนกัน ในกระทะมีถ้วยอยู่ใบหนึ่ง แม่เคี่ยววุ้น เหลวไว้ในนั้น วุ้นนี้จะไม่แข็งตัว เพราะอยู่ในน้ำเดือดนั่นเอง

แม่หยิบถั่วกวนขึ้นมาค่อยๆ บีบให้แบนลงไปๆ แล้วใช้ปลายนิ้วกดตรงกลางให้ลึกกว่า ตรงอื่น ถั่วกวนอบควัน เทียนนั้น ก็กลายเป็น รูปลูกจันทร์ ไปในทันที แม่เอาก้านไม้ไผ่ ที่พ่อเหลาไว้ให้ อย่างเล็กแหลมที่สุด จิ้มเข้า ไปตรงกลาง ขนมลูกจันทร์ นั้นนำไปจุ่มในไข่แดง จนเหลืองทั่วทั้งลูก แล้วแม่ก็จุ่มลงไป ในกระทะน้ำเชื่อม ที่ร้อน ไข่แดงนั้นก็สุก และติดแน่นกับตัวขนม กลายเป็นขนมลูกจันทร์สีเหลือง งดงาม แค่นั้นยังไม่พอ แม่จุ่มขนม ลูกจันทร์ ลงไปในถ้วยวุ้น พอยกขึ้น วุ้นก็ช่วยเคลือบผิวลูกจันทร์นั้น จนเป็นเงาใส และช่วยไม่ให้ ไข่สีเหลือง หลุดร่อนด้วย เมื่อเสร็จแต่ละลูกแล้ วแม่ก็ดึงก้านไม้ไผ่ออกเสีย

ทุกคนที่ล้อมแม่อยู่ในครัวถอนหายใจยาวอย่างพึงพอใจผลงานของแม่ เด็กๆ ที่ออกัน สลอนที่หน้าต่าง ก็พา กันซี้ดปาก ร้องชมกันไม่หยุด แม่เท่านั้นที่ไม่มีเวลานั่งชม ฝีมือของแม่เอง หรือรับคำชมของใคร เพราะต้องรีบ ทำขนม ลูกจันทร์นี้ให้หมดถั่วกวน ที่ปั้นไว้ครึ่งถาด จะได้มีเวลาทำขนมลูกลิ้นจี่ อีกอย่างหนึ่ง

แม่เทสาคูเม็ดขนาดกลางลงในกะละมัง แม่ผสมน้ำร้อนกับน้ำเย็น ให้เป็นน้ำอุ่น พอดีแล้ว จึงหยด สีผสมอาหาร ลงไป สีเพียงไม่กี่หยด ก็ทำให้น้ำอุ่นนั้น กลายเป็นสีแดงไปแล้ว แม่ค่อยๆ รินมันลงไป บนเม็ดสาคู แล้วรีบนวดทันที สาคูก็กลายเป็นเม็ดสีแดง เหนียวๆ ติดกัน แต่ละเม็ด ยังมีไตตรงกลาง ที่ไม่ได้ดูดสีแดง เข้าไปจึงยังเป็น สีขาวอมชมพู เรื่อๆ จากนั้น แม่ก็แบ่ง สาคูขึ้นมาแผ่ไว้ ในอุ้งมือ เอาถั่วกวน อบควันเทียน วางลงตรงกลาง แม่ห่อมือเข้า สาคูสีแดง เป็นเม็ดๆ ติดกันนั้น ก็หุ้มถั่วกวนไว้ข้างใน แม่แต่ง แต่ละลูก ให้ห่อขนมให้มิดดี ทุกคนเริ่มมองเห็น แล้วว่า นั่นคือขนมลูกลิ้นจี่ แต่เมื่อแม่ยังไม่มีทีท่า บอกว่าเสร็จ ทุกคนจึงยังจ้อง มองแม่ ตาแทบไม่กะพริบ แม่เรียงลูกลิ้น จี่เหล่านั้น ลงในลังถึง ก่อนยกขึ้น ไปนึ่งบนเตาใหญ่ แค่สามสี่นาที ก็ยกลง เมื่อแม่เปิดฝาออก ทุกคนจึงได้เห็นลูกลิ้นจี่สีแดงก่ำ วางเรียงอยู่ในนั้น เต็มไปหมด

เมื่อขนมผลไม้เหล่านั้นเย็นลง ก็ถึงขั้นตอนสุดท้าย พ่อยกเอาถาดก้านมะนาว ที่ตัดไว้เข้ามา ให้แม่เสียบ ก้านมะนาว ที่มีใบติดอยู่เข้าไปที่ ขนมแต่ละลูก ขนมนั้น ก็เหมือนผลไม้แสนสวย วางเรียงอยู่ในถาดแก้ว ขนาดใหญ่ สองถาด

น้อยตอบตัวเองไม่ถูกว่าเธอชอบลูกจันทร์หรือลูกลิ้นจี่มากกว่า เพราะทั้งสองอย่าง สวยเสียจน ตัดสินไม่ได้ พ่อเป็นคนพูดว่า "สวยจริงๆ แม่ สวยกว่าที่ฉันคิดไว้เสียอีกนะนี่"

เที่ยงวันนั้น น้อยกับเพื่อนแอบดูการกินเลี้ยงงานแต่งงานอยู่ใต้ต้นหูกวางใหญ่ ข้างรั้วไม้ไผ่ บ้านประพนธ์ เธอเห็นนายอำเภอ ลุกขึ้นยืนอวยพร คู่บ่าวสาว เสร็จแล้วแทนที่จะนั่งลง ท่านกลับหยิบ เอาจาน แก้ว ใบหนึ่ง มาถือไว้ ในจานนั้น มีขนมลูกจันทร์ และขนม ลูกลิ้นจี่ อยู่อย่างละลูก มันยิ่งสวยเด่นกว่าเดิมเ มื่ออยู่ใน จานแก้ว แวววาวอย่างนั้น

"โอ๊ย! นั่นท่านกำลังจะทำอะไรน่ะ!" น้อยร้องลั่นในใจ ไม่รู้สึก แม้เมื่อเพื่อนกระตุก แขนเธอ ครั้งแล้วครั้งเล่า ตาเธอพร่าพราย ไม่กล้าแม้แต่จะมองพ่อกับแม่ ที่นั่งอยู่ในงานนั้นด้วย หูเธออื้ออึง เมื่อได้ยินเสียง ท่านนายอำเภอ กล่าวพร้อมกับชูจานแก้ว ให้ทุกคนเห็นว่า

"...แว้งของเรากันดาร อยู่ถึงชายเขตแดน เราไม่ร่ำรวย แต่ดูนี่ซีครับ ถึงจนเราก็งามได้..."
_________________________________________________________________________

หมายเหตุ เขียนเสร็จเช้ามืดวันที่ ๒๗ มิย.๔๖ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ หลังจากไป เกาะเกร็ด กับพ.ต.หญิง
ศิริลักษณ์ ศรีเมือง และคุณรัตนาภรณ์ ได้พบกับคุณนักรบ และคุณแม่ ซึ่งเป็นคนบางนรา และ เคยไป อำเภอแว้งด้วย ขอบพระคุณ คุณสุมาลี เจ้าของสวนเกร็ดพุทธ ที่พาไปบ้านเกร็ดตระการ จนได้พบ ท่านทั้งสอง


(๑) มาแก แปลว่า กิน เป็นภาษามลายูทางภาคเหนือคือแถบรัฐกลันตันในปัจจุบัน ในภาษายาวี ก็ออกเสียง อย่างเดียวกัน ภาษามลายูกลาง ออกเสียงว่า มากัน ส่วน ปูโละ แปลว่า ข้าวเหนียว เป็นของที่ขาดไม่ได้ ในพิธีแต่งงาน จนบางครั้งคำว่า กินเหนียว และ มาแก ปูโละ ใช้ในความหมายว่า แต่งงานได้ด้วย

(๒) คำว่า เมาะแต นี้แปลก แปลว่า ผลเงาะ เข้าใจว่ามาจากภาษามลายูกลางว่า รัมบูตัน (rambutan) แล้วกร่อนมาเป็น เมาะแต ส่วนภาษาอังกฤษ รับเอาคำภาษามลายูกลางไปใช้ ตรงตัวทีเดียว ชื่อผลไม้ ชนิดนี้ ในภาษาไทย ก็แปลก ผู้เขียนเคยได้ยินคนแก่คนเฒ่าเรียกว่า 'ลูกผมเงาะ' ซึ่งเป็นคำเรียก ที่บ่งลักษณะ ได้ถูกต้อง เป็นอย่างยิ่ง น่าจะเป็นคนภาคกลาง ที่มากร่อน พยางค์เสีย จนเหลือเพียง 'เงาะ' ทำให้ขาด ลักษณะ ของผลไม้ไป

(๓) แลจู เป็นคำที่คนมลายูเรียกชาดทาปากที่คนไทยปัจจุบันเรียกกันว่า ลิปสติก ตามคำเรียกใน ภาษาอังกฤษ คือ lipstick ผู้เขียนทันเห็น คนสมัยก่อนใช้ชาด เป็นแผ่นกระดาษสีแดง (เข้าใจว่า มาจาก ประเทศจีน) เม้มไว้ระหว่างริมฝีปากบนและล่าง แล้วสีแดงบนกระดาษ ก็จะติดที่ริมผีปากเป็นสี แดงก่ำ เหมือนสี เปลือกลิ้นจี่ อย่างที่ปรากฏในวรรณ คดีไทยว่า ริมฝีปากหญิงที่สวยนั้นแดงดังสี 'สีลิ้นจี่จิ้ม' คำว่า แลจู ในภาษามลายู อาจจะมาจาก ลิ้นจี่ ได้กระมัง ไม่แน่ใจนัก

(๔) ไน่ คำนี้มีใช้แต่ในภาษาถิ่นภาคเหนือเท่านั้น ภาคอื่นไม่มี และเขาใช้แต่กับข้าวเหนียวที่แช่น้ำ ได้ที่แล้ว จึงขอนำมาใช้ ในที่นี้เพราะเห็นว่า ควรอนุรักษ์ไว้

(๕) โยง คำกริยานี้ก็ต้องเก็บไว้เพราะในปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินแล้วและต่อไป ก็คงหมดด้วย อิทธิพลหม้อ ไฟฟ้า

 

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)