>เราคิดอะไร

ข้าพเจ้าคิดอะไร ? - สมณะโพธิรักษ์ -
กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๕๖)


งานดังกล่าวนี้ ก็ตั้งชื่อเรียกกันหลากหลาย เช่น แบบ"ศิลปนามธรรม"(abstract art) บ้าง "ลัทธิประทับใจ" (impressionism) บ้าง "ลัทธิเน้นแสดงพลังอารมณ์" (expressionism)บ้าง "ลัทธิเหนือจริง" (surrealism) บ้าง "ลัทธิเกินพอดี" (mannerism) บ้าง แบบ"มายาสัจนิยม" (magic-realism) บ้าง

ยัง!..ยังไม่หมดเท่านั้น ยังมีอีก เช่น "ปัจเจกนิยม" (individualism)บ้าง "วิญญาณนิยม" (animism) บ้าง "บาศกนิยม"(cubism)บ้าง "อนาคตนิยม"(futurism)บ้าง "อนุตรนิยม"(suprematism)บ้าง กระทั่ง "นามธรรมแบบคลาสสิก" (classical abstraction) ซึ่งหนีห่างจากศิลปะนามธรรม ที่ยังอาศัย รูปทรงอิสระ ไปเลยบ้าง ฯลฯ

และยังมีอีกมากกว่านี้ ข้าพเจ้าคงจะยังไม่สาธยาย ประเด็นนี้ในตอนนี้ เดี๋ยวจะยาวไป ซึ่งเป็นเรื่องความรู้ เกี่ยวกับ ศาสตร์ของศิลปะ ที่ข้าพเจ้า จะยังขอผัดไปก่อน ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน

แต่เท่าที่สาธยายมาบ้างแล้วนั้น เราก็คงจะพอมีหลักเกณฑ์ที่จะชี้แบ่ง "ผลผลิต"ใด หรืองานใด ว่าจะเป็น "ศิลปะ" หรือ "อนาจาร" ด้วยหลักสำคัญ ประเด็นหนึ่ง ก็คือ

ถ้าผลผลิตใดของใครหรืองานชิ้นใด ที่คนทั่วไป ได้เห็นได้สัมผัสแล้ว เกิดอารมณ์กาม งานนั้นเป็น "อนาจาร" แต่ถ้าหาก ผลผลิตใด ของใคร หรืองานชิ้นใด ที่คนทั่วไป ได้เห็นได้สัมผัสแล้ว ช่วยลดอารมณ์กาม งานนั้น นับว่า เป็น "ศิลปะ" ได้จริง

เช่น ใครสามารถเขียน หรือถ่ายภาพคนเปลือยกายออกมาให้คนทั่วไปดูแล้ว สัมผัสแล้ว ไม่เกิดอารมณ์กาม หรือ ยิ่งดู ยิ่งกามลดลงๆ ประสิทธิภาพของ"งาน"ชิ้นนี้ ถึงขั้นสามารถทำให้"กามลด"ได้ นี้คือ คุณค่าแท้ เป็น "ศิลปะ" สมรรถนะของภาพ มีฤทธิ์จนก่อผล ทำให้คนได้รับกุศลประโยชน์ เป็นมงคลอันอุดม

เพราะงานนี้ มี "สารสัจจะของภาพ" ถึงขั้นสามารถทำให้คนผู้ได้เห็น ได้สัมผัสแล้ว เกิดประโยชน์แก่ชีวิต พัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นคุณต่อตน และสังคม

นอกจากจะมีประสิทธิภาพดังกล่าวนั้นแล้ว หากงานชิ้นนั้น สามารถทำให้ผู้ชมชื่นชอบ ในภาพ ในผลงาน นั้นอีกด้วย งานนี้ก็นับเป็นศิลปะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นโดยแท้ ที่สร้างงานได้ดี จนดูดดึงใจ ให้คนดูคนชมชอบ ประทับใจ เพราะงานนี้มี"สุนทรีย์ของภาพ" จะด้วยเทคนิกหรือฝีมือเชิงใด ของศิลปินผู้สร้างงานก็ดี นั่นแหละคือ สมรรถนะทางศิลปะ ของศิลปินผู้นั้น ยิ่งถือว่าเก่งยิ่ง สูงยิ่ง ก็ยิ่งเป็น "งานศิลปะ" ที่มีคุณค่ามาก เพราะงานชิ้นนี้ สมบูรณ์พร้อมทั้ง "สารสัจจะ" (เนื้อหาแท้) และทั้ง "สุนทรียภาพ" (ภาพที่มีจุดเด่น จูงใจชวนชม) ดีครบ

ผลผลิตนี้ก่อเกิดกุศล จึงนับเป็น"คุณค่า" ไม่ใช่งานที่ก่อความเสื่อมให้แก่จิต จึงไม่ใช่"อนาจาร"

หากงานใด ไม่ว่าจะเป็นการวาดการปั้นการก่อสร้าง หรือการประพันธ์นาฏกรรมเพลงดนตรีการ ก็ตาม คนชม แล้วก่อ"อกุศล"ขึ้นในจิต งานนั้นก็ชื่อว่า "เป็นข้าศึกแก่กุศล" งานนั้นไม่ใช่งานศิลป์ แต่เป็น"อนาจาร" เช่น ใคร สามารถเขียนหรือถ่ายภาพ คนเปลือยกาย ออกมาให้คน ทั่วไปดูแล้ว สัมผัสแล้ว เกิดอารมณ์กาม ประสิทธิภาพของ"งาน"ชิ้นนี้ก่อให้เกิด"อกุศลจิต" นี้คือ ข้าศึกแก่กุศล มิใช่"ศิลปะ" สมรรถนะของงาน มีฤทธิ์ ก่อผล ทำให้คนเสื่อม จึงไร้ค่า เป็นสิ่งไม่ควรกระทำ (อนาจาร)

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)