>เราคิดอะไร


ตอน เจาะหู
"ถ้าพ่อกับแม่มีเงินขึ้นมามั่ง แมะกับน้อยอยากขออะไร ลูก?" แม่ถามเปรยๆ ขึ้นมาคืนหนึ่ง หลังจากนับเงิน ในกล่องไม้เสร็จแล้ว และสองพี่น้อง ก็อ่านหนังสือเรียน จบแล้วด้วย

พ่อเงยหน้าจากหนังสือที่กำลังอ่านขึ้นมองดูแม่ก่อนที่จะถามว่า

"ถูกหวยหรือไง แม่?"

"เปล่าหรอกค่ะ ถามไปงั้นแหละ พ่อเผื่อว่า_" แม่ตอบ แต่ทุกคนทราบว่า ลงแม่พูดอย่างนี้ แสดงว่า แม่กำลัง คิดอะไร บางอย่างอยู่แน่ๆ พี่แมะกับน้อยมองหน้ากัน ยังไม่ทันตอบว่า ตนต้องการอะไร แม่ก็พูดกับพ่อต่อว่า "วันก่อน ฉันแวะไปบ้านเป๊าะแม เรื่องยาง เห็นเมาะเยาะห์ เพิ่งกลับจากร้านทอง เค้าไปเอาทองหู ที่สั่งทำ ให้ลูกสาวเค้า ฉันเห็นมันแปลกดี ก็เลยลองถาม ลูกเราดูมั่ง"

ครอบครัวที่แม่พูดถึงนั้นเป็นมุสลิม มีบ้านเป็นห้องแถวสองชั้นในตลาด พวกเขาอพยพจาก ตรังกานู มาสร้าง หลักฐานใหม่ ที่อำเภอแว้ง เหมือนพ่อกับแม่ แต่เขาเลือกค้าและทำสวนยาง เพราะมีทุน ติดตัวมา พอสมควร เมื่อยางขึ้นราคา เขาก็เลยกลายเป็น คนรวยของแว้งไป ขณะที่พ่อกับแม่ ยังต้องเก็บหอม รอมริบไป อย่างช้าๆ แต่ทั้งสองครอบครัว ก็สนิทสนมกัน เหมือนญาติ ทั้งที่นับถือ ศาสนาต่างกัน อีกอย่างหนึ่ง อาจเป็นเพราะลูกทั้งสองของเขา เป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับพี่แมะ และน้อยด้วย

คนมุสลิมที่แว้ง ต่างมีชื่อทางศาสนาอย่างไพเราะ แต่คนพื้นถิ่น จะเรียกชื่อดังกล่าวกร่อนเสีย เหลือเพียง พยางค์เดียว หรือสองพยางค์ แถมยังมีคำนำหน้าชื่อ เพื่อแสดงความสนิทสนมให้ด้วย ก็เหมือนกับ ธรรมเนียมไทยทั่วไป ที่จะเติมคำว่า พี่ ป้า น้า อา ตา ยาย เข้าไปด้วยทันที แม้ว่าจะไม่เคย รู้จักกัน มาก่อนก็ตาม กรณีของครอบครัวนี้ก็เหมือนกัน เขาจะมีชื่อมุสลิมอย่างไร ไม่สำคัญ คนแว้ง จะเรียกเขา ว่าชื่อ เป๊าะแม และ เมาะเยาะห์ 'เป๊าะ' แปลว่า 'พ่อ' 'เมาะ' แปลว่า 'แม่'

ถึงคนที่ชื่อ เป๊าะแม เมาะเยาะห์ อาจมีหลายคนก็จริง แต่คนแว้งก็จะรู้ทันทีว่า คนไหนเป็นคนไหน โดยการบอกว่า เป๊าะแม เมาะเยาะห์ ที่บ้านไหน ตำบลไหน หากยังไม่แน่ใจ ก็จะตามด้วยการบอกว่า พ่อแม่เขาเป็นใคร ก็ยังได้ เช่น อาจจะบอกว่า 'เป๊าะแมอะเนาะมูเลาะห์แชอารง' ก็เท่ากับ เป็นการบ่งชัด ลงไปว่า 'พ่อแม่-ลูก(ของ)-ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ที่ชื่อว่า) -ปู่-อารง' เป็นต้น แค่นี้ผู้ฟังก็จะร้องว่า "ออ เหาะตู! (อ๋อ นั่นเอง!)"

หรืออาจจะใช้การบอกตำแหน่งทางสังคมของเขาก็ได้ เช่น ถ้าคนชื่อ ยูโซะห์ ได้ไป มะก๊ะ มาแล้ว ก็จะได้รับ การเรียกขาน ด้วยความนับถือขึ้นว่า 'หะยียูโซะห์' เป็นต้น 'ยูโซะห์' ก็คือชื่อทาง ศาสนาอิสลามว่า 'ยูซุฟ' ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ ชื่อคริสเตียนว่า 'โยเซฟ' นั่นเอง คนที่เป็นหะยีแล้ว มักจะสวมหมวกกลมๆ สีขาวเรียกว่า กปิเยาะห์ เป็นการบอก สถานภาพ หรือ ถ้าคนชื่อ มานัส มีอาชีพเป็นครู อย่างคุณครูมานัสของน้อย ผู้คนก็จะเรียกขาน ท่านว่า 'ครูมานัส' หรือยิ่งขึ้นไปว่า 'เจ๊ะครูมานัส' เป็นต้น ใครก็ตาม ที่ถูกคนเรียกขาน โดยมีคำว่า หะยี โต๊ะหะยี หรือ ครู เจ๊ะครู โต๊ะครู นำหน้า เขาผู้นั้น ก็จะต้องระมัดระวังกาย วาจา ให้สำรวม สมสถานภาพ พยางค์นำหน้าชื่อดังกล่าว มีให้ใช้กับเด็กๆ ด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง จะใช้ 'แมะ' นำ แปลว่า 'หนู (สำหรับเพศหญิง)' ถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็ใช้ 'อะแว' นำ แปลว่า 'หนู (สำหรับเพศชาย)'

เป๊าะแม และ เมาะเยาะห์ มีลูกสาวและลูกชายอย่างละคน ลูกสาวชื่อ แมะเยาะห์ ชื่อไทย ชื่อ ด.ญ.ทัศนีย์ ลูกชายชื่อ อะแวสะมะแอ ชื่อไทยชื่อ ด.ช.พิทักษ์ ทั้งคู่เป็นเด็กรูปร่าง หน้าตาผิวพรรณดีมาก กิริยาวาจา ก็เรียบร้อย จนขึ้นชื่อลือชา ไปทั่วอำเภอ จึงไม่แปลก ที่แม่ของเขา จะยิ่งเสริมความงาม ของลูกสาว ด้วยอาภรณ์ ทำจากทองคำ ที่หาได้ง่าย ในอำเภอแว้ง

พ่อหันมาถามน้อยอย่างล้อเลียนเรื่องเก่าว่า "ไง น้อย เอาสร้อยคอเส้นเท่าหนวดกุ้งอีกดีไหม?"

เรื่องมีอยู่ว่า นานมากมาแล้ว ตั้งแต่สมัยน้อยยังเล็กๆ พ่อชอบจับสายคอ ของลูกทั้งสอง แล้วพูดยิ้มๆ ว่า "โถ ลูกพ่อ ทองเท่าหนวดกุ้งนะ" แล้วแม่ผู้ชื่นชอบกลอน แบบสุนทรภู่ ก็จะต่อพ่อว่า "ทองสักนิด ก็ไม่ติด ข้อมือเลย นิจจาเอ๋ย เกิดมาเวลาจน"

"อ้าวแม่" พ่อจะขัดคอแม่เพราะทราบว่าแม่ชอบนางมัจฉา และสุดสาครมาก จนท่องได้ยาวๆ "อย่างสุดสาคร ของแม่น่ะไม่จนนะ เราสิจน นางเงือกเขามี ทั้งแหวน ทั้งปิ่นปักจุก เชียวนา" พ่อท่องบ้าง 'แล้วหยิบของสองสิ่งที่ซ่อนไว้ เป็นของพระอภัยให้โอรส ทำขวัญลูกผูกธำมรงค์รัตน์ ไว้กับหัตถ์เบื้องขวา ได้ปรากฏ กุณฑลทองขององค์พระทรงยศ ฝากดาบสเก็บไว้ให้กุมารี ' "

"ฉันว่าฉันก็พอมีให้ลูกเหมือนนางเงือกแล้วนา พ่อ" แม่ว่า เป็นการตัดสิน ให้ลูกไปด้วย

ความจริงน้อยเคยมีสร้อยคอเล็กๆเส้นหนึ่ง แต่ถูกคนร้ายในจังหวัด กระชากขาดเสียตั้งแต่ เธอยัง ไม่ประสี ประสา พี่แมะเห็นแต่ช่วยน้องไม่ได้ ส่วนน้อยได้แต่บอกพ่อกับแม่ว่า "เทศมีหนวดยาว เค้าดึงสายคอน้อย มันขาด แล้วเขาก็เอาไม้เท้าเขี่ยมันไปค่ะ เค้ามีหนวดยาวด้วย แล้วเค้าก็จะเอาไม้เท้าตีน้อย อย่างนี้ อย่างนี้ น้อยกลัวค่ะ"

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่ก็ไม่ให้ลูกทั้งสองคน มีทองหยอง ติดตัวอีกเลย จนกระทั่ง มาอยู่ที่อำเภอแว้ง ทางขึ้นโต๊ะโมะ ดินแดนแห่ง ทองคำใหญ่ที่สุด ของประเทศไทย ใครๆ มีเครื่องทอง ใส่กันอร่าม แม่จึงบอกลูก ให้รู้จักอดทน ไม่ร้องขออะไรจากพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่มีเงินพอแล้ว ก็จะหาให้เอง

"หรือตอนนี้ แม่มีเงินแล้ว ถึงได้ถามเราอย่างนั้น" น้อยคิด ก่อนที่จะสะกิดพี่แมะ ไปนอกชาน หลังบ้าน ขณะกำลังล้างเท้า เตรียมเข้านอน เธอถามพี่แมะว่า

"ถ้าแม่ให้จริงๆ น้อยจะขอแหวนสักวง พี่แมะชอบแหวนไหมล่ะ?"

"เอาทำไม แหวน พี่อยากได้ตุ้มหูอย่างของแมะเยาะห์นั่นแหละ พี่เห็นแล้ว สวยจะตาย" พี่แมะว่า น้อยทราบ มานานแล้วว่า พี่แมะชอบตุ้มหู แต่เธอไม่ชอบมันเลยสักนิด

"น้อยไม่ชอบ ใส่ตุ้มหูแล้วน่าเกลียด เหมือนอะไรก็ไม่รู้ น้อยอยากได้แหวน เหมือนของ สุดสาคร ที่พ่อเคยว่า ปิ่นไม่ต้องก็ได้ ไว้แม่รวยก่อน ค่อยขอ" น้อยบอกเรื่องของ ต้องประสงค์ ชัดเหมือนกัน แต่พี่แมะกลับพูดว่า

"บ้า! อยากได้ปิ่น แล้วตัวมีหัวจุกเหรอ อยากได้แหวน ค่อยว่าหน่อย"

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พ่อไปดูสวนยางที่เกิดไฟป่าไหม้ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในหน้าร้อน แม่ให้สองพี่น้อง ช่วยกันสอย ยางแผ่น ที่ตากไว้เต็มราว ในครัวลงมา เพื่อขายให้เถ้าแก่เต็ก ในตลาด ได้ยางหลายหาบ อยู่ แม่เดินตามรถจักรยาน ขนยางไปตลาด นานมากทีเดียว จนพ่อกลับมา จากสวนยางแล้ว แม่ก็ยังไม่กลับ

พี่แมะกับน้อยช่วยกันทำงานบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ชวนกันไปอาบน้ำคลอง เล่นน้ำกัน เสียจนชุ่มชื่น จึงได้กลับบ้าน พอขึ้นบ้านทางบันไดหลัง ก็ได้ยินเสียงแม่พูดกับพ่อว่า

"อย่าเพิ่ง พ่อ อย่าเพิ่ง เอาไว้กินข้าวเสร็จแล้วดีกว่า"

สองพี่น้องรู้สึกสงสัยตงิดๆ ก็พอดีได้ยินเสียงแม่เรียกมาจากหน้าบ้าน "กลับมาแล้วหรือ อ้าว มาช่วยกัน ยกข้าวของ ไปข้างในไป๊ พ่อจะปิดบ้านแล้ว เดี๋ยวจะได้กินข้าวกัน" น้ำเสียงของแม่ ร่าเริงเป็นพิเศษ เมื่อสั่งว่า "ยกเชี่ยนหมากแม่ไปที แมะ ถือดีๆ นะ"

น้อยยกกล่องไม้ใส่เงิน ที่ขายของได้วันนั้น ตามหลังพี่แมะไป เธอสังเกตเห็นว่า ในเชี่ยนหมากของแม่ มีห่อกระดาษ หนังสือพิมพ์เล็กๆ แบนๆ อยู่ด้วย จึงกระซิบถามพี่แมะว่า "อะไรน่ะ หนักไหม?"

"สงสัยว่าจะเป็น_ ไม่รู้ซี ไม่หนักหรอก" พี่แมะว่า

คืนนั้น พี่แมะกับน้อยอ่านหนังสือกัน อย่างไม่ค่อยมีสมาธินัก ดูเหมือนเรื่องที่อ่าน ไม่สนุกเอาเสียเลย พี่แมะอ่านหนังสือ ธรรมจริยา ที่มีพี่น้องชื่อ วิทย์ แวว วัลลี ผิดตั้งหลายคำ อ่านคำว่า หล่ม ในประโยค 'แววๆ มาดูตุ๊กตาตกหล่มแล้ว' ผิดแล้วผิดอีก เมื่อพ่อบอกให้อ่านใหม่ ก็อ่านเป็น ลม บ้าง ล่ม บ้าง ล้ม บ้าง จนพ่อต้องดุเอา หลายครั้ง และ แม่พูดว่า

"เอาอย่างนี้ดีกว่า แม่รู้นะว่า ทำไมคืนนี้ถึงได้อ่านกัน ไม่ถูกไม่ต้อง คงทายกันได้แล้วสิว่า พ่อกับแม่มีอะไรให้ ใช่ไหม? แต่ลูกต้องรู้จักอดทน ถ้าทำหน้าที่ ของตนเองได้ไม่ดี ก็ไม่ควร ที่จะได้ของนั้น เอ้าตั้งใจใหม่ อ่านหนังสือให้จบ แม่ถึงจะให้ดู"

เมื่อลูกอ่านหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม่จึงเรียกเข้าไปใกล้ แม่แก้ห่อแรกออก น้อยรู้สึกใจเต้น ตูมตาม พี่แมะเอง ก็อดอุทานไม่ได้ เมื่อเห็นของข้างใน

"อู๊ย สวยจังเลย แม่ กำไลข้อมือ แม่ทำให้เราใช่ไหมคะ? แมะดีใจที่สุดเลย"

"ใจเย็นๆ ลูก วงใหญ่นี่ของแมะ วงเล็กนี่ของน้อย แม่ให้เขาทำแบบเลื่อนได้ด้วย ลองให้ดูหน่อยซิ น้อยล่ะ ชอบไหม ลูก ข้อมือน้อยเล็กมาก ก็ให้พ่อช่วยเลื่อนวง เข้าไปได้ลูก" แม่พูด

นี่เป็นเรื่องเกินคาดหมายของสองคนพี่น้อง กำไลนั้นช่างแวววาว สวยเสียจน แทบไม่กล้าสวม ในตอนแรก ตรงปลายก้านทั้งสอง เขาทำเป็นรูป ดอกบัวตูม เล็กๆ แสนจะน่ารัก พี่แมะรับมาแล้ว ก็สวมทันที แถมนั่ง เท้าแขนอ่อนหยัด ให้แม่ดูเสียด้วย แต่น้อยรู้สึกกระดาก เพราะไม่เคยสวม ของสวยๆ สำหรับเด็กผู้หญิง มาก่อน นอกจากสร้อยคอ เท่าหนวดกุ้ง เส้นนั้น จนพ่อหัวเราะ จับเอาข้อมือ เท่าด้ามจวักของเธอ ไปสวมให้

"เอาละ สวยทีเดียว น้อย แต่จะชอบหรือ นี่เป็นทองแท้นะ สีเลยไม่แดง" พ่อแกล้งพูดล้อลูก

"ชอบค่ะ พ่อ น้อยชอบกำไล แต่น้อยไม่ชอบตุ้มหู" น้อยพูดพลาง ขยับกำไล ก่อนที่จะเท้าแขนบ้าง

แม่แก้ห่อที่สองออก พูดว่า "ยังมีอีกนะ นี่ แหวนคนละวง เป็นแหวนลงยา เหมือนของพ่อไง ของน้อยน่ะ แม่ให้ช่าง เอาขนาดวงเล็กที่สุด ของแมะถ้าไม่พอดี ก็ให้เขาบ่งได้ ลองสวมดูซี"

สองพี่น้องถอนหายใจดัง อย่างไม่รู้ตัวก่อน ยกมือไหว้แม่ รับแหวนแสนรัก มาคนละวง

"ของน้อยพอดีเป๊ะเลยค่ะแม่ โอ๊ย น้อยชอบที่สุด เห็นไหมพี่แมะ น้อยบอกแล้ว น้อยอยากได้ เหมือนของ สุดสาคร ของสุดสาคร ต้องไม่มีตัวหนังสือ เขียนว่า จง_เจ_ริน ไม่ใช่ จง_จะ_เริน อย่างของเราหรอก" น้อยพูด ตาเป็นประกาย เธอลืมไปแล้วว่า พี่แมะอยากได้ตุ้มหู จนเมื่อ แม่แก้ห่อที่สาม จึงนึกขึ้นได้

"เราไม่ได้รวยหรอกนะ ลูก แต่ลูกก็ช่วยพ่อแม่ได้มาก พ่อกับแม่คิดว่า ลูกน่าจะได้ของเล็กน้อย เป็นสมบัติ ส่วนตัวบ้าง ทองเป็นของ ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ารู้จักระวัง รักษาไว้ให้ดี ก็จะเป็นของลูก ไปอีกนาน" แม่สอนพลาง หยิบของ ชิ้นที่สามออกมา พี่แมะอุทานลั่น

"อุ๊ย ตุ้มหู แมะบอกน้อยว่า แมะอยากได้ตุ้มหูที่สุดเลย" พี่แมะพูด "แพงไหมคะแม่ แม่ให้เราตั้งหลายอย่าง"

ตุ้มหูนั้นวงใหญ่กว่าแหวนพี่แมะไปเสียอีก ข้างในกลวง ข้างนอกเป็นเหลี่ยมเล็กๆ มีจะงอย สำหรับสอด ในรูหู ที่เจาะด้วย

"เขาเรียกว่า ตุ้มหูยิปซี เหมือนกับของแมะเยาะห์" แม่บอก แล้วน้อยก็ต้องตกตะลึงพรึงเพริด เมื่อแม่บอก ต่อว่า "พรุ่งนี้โต๊ะอุมา เขาจะมาเจาะหูให้ลูก เจาะเสร็จ ก็ใส่ไว้ได้เลย หูจะได้ไม่มิดเสีย แหวนกับกำไล คืนนี้ จะใส่ไว้ก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยถอดฝากแม่ ทางโรงเรียน เขาไม่ให้ใส่อะไร มากมาย แค่ตุ้มหูคงได้ ลูกแขกเขา ก็ใส่กันนี่ เอ้า ไปนอนเสียที เลยเวลาแล้ว เดี๋ยวจะนอนไม่หลับ"

พี่แมะดูไม่กลัวเรื่องที่จะมีการเจาะหูพรุ่งนี้ แต่น้อยไม่ชอบ ทั้งการสวมตุ้มหูตุ้งติ้ง เพราะรู้สึก ไม่เหมาะ กับตน แล้วนี่ยังจะถูก เขาเอาเข็ม มาแทง จนหูทะลุ มีเลือดออกอีก เธอรู้สึก ใจไม่ดีเอาเสียเลย

"เชื่อซี ไม่เจ็บหรอก โต๊ะอุมา เขาว่ามนตร์เป็น ไม่เจ็บน่า เจาะแล้วสวย" พี่แมะปลอบใจน้อง

โต๊ะอุมาเป็นโต๊ะดาแล (ดาหลัง_คนเชิดหนัง) คนเดียวของอำเภอแว้ง "ใครๆก็รู้ว่า เขามีมนตร์ อาจจะไม่เจ็บ อย่างพี่แมะว่าก็ได้" น้อยคิดปลอบใจตัวเอง ก่อนหลับไป กึ่งสุข กึ่งกลัว

เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์ โต๊ะอุมามาแต่เช้ามืด แม่ให้น้อยไปซื้อน้ำชา และโรตี มารับประทานกัน สักครู่ต่อมา โต๊ะซารี และ มามุ ก็มาถึง แถมยังชวนเอา ป๊ะดออาลี และภรรยา มาอีกคู่หนึ่ง ทั้งสองท่าน เป็นหมอ ทางเวทมนตร์คาถา เหมือนกัน หน้าบ้าน จึงดูคับคั่ง ราวกับมีงานเล็กๆ

น้อยใจเสียมากขึ้น เมื่อโต๊ะอาลี หยิบเอาเข็มและด้าย ที่ควั่นไว้เรียบร้อยแล้ว ออกมาวาง ก่อนที่จะล้วง เอาขวด น้ำมันมะพร้าวเล็กๆ ในย่าม ออกมาวางไว้ด้วย

"นั่นต้องเป็นน้ำมันมนตร์ของแก เราจะได้ไม่เจ็บ เลือดก็จะไม่ออก"

เธอบอกตัวเองอย่างนั้น แต่ก็ไม่วายเสียวสันหลังวาบ เมื่อพี่แมะเลื่อนตัวเข้าไป ให้หมอมนตร์ เจาะหูให้ก่อน หน้าพี่แมะยิ้ม อย่างกล้าหาญ ทุกคนเข้ามาห้อมล้อมดู อย่างใจจดใจจ่อ หมอมนตร์สนเข็ม แล้วพึมพำ อะไรเบาๆ ก่อนที่จะเจาะติ่งหูพี่แมะ อย่างรวดเร็ว น้อยไม่กล้ามองมือหมอ เห็นแต่พี่แมะ ทำหน้านิ่วนิดหนึ่ง นิดเดียว เท่านั้น แล้วก็ยิ้มต่อ เสร็จไปข้างหนึ่ง ทุกคนที่ดู ก็ยืดตัว ถอนหายใจ หมอเจาะหูพี่แมะอีกข้าง แล้วก็ถาม พี่แมะว่า

"ซาเก๊ะกอเด๊าะ แมะ (เจ็บไหม หนู)?"

"เตาะซาเกะ ปะจู (ไม่เจ็บค่ะ อา)" พี่แมะตอบ

น้อยบอกตนเองว่า 'เขาว่ามนตร์แล้วก็ไม่เจ็บน่ะซี' แล้วก็สะดุ้งสุดตัว เมื่อโต๊ะอุมา เรียกให้เข้าไป 'ถึงตาเราแล้วหรือ' เธอนึกพลางขยับเข้าไป 'ถึงไงก็ต้องเข้า ไม่เข้าไป ก็ขี้ขลาด คนมุงอยู่อย่างนี้ ถึงกลัว ก็ต้องเข้าไป'

"ตาโกะก๋อ แมะ เตาะเซาะห์ตาโกะ เด๊ะห์ เตาะซาเกะ (กลัวหรือหนู ไม่ต้องกลัวนะ ไม่เจ็บ)"

"แหะห์ อะมอเตาะตาโก๊ะซิกิอะโบ๊ะ ปะจู (อู๊ย หนูน่ะไม่กลัวเล้ยซักกะนิด อา)"

น้อยได้ยินเสียงตนเอง ตอบความเท็จออกไปอย่างนั้นได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ทั้งๆ ที่ใจสั่นเป็นตีกลอง บอกตัวเองว่า "ถึงกลัว เราก็ต้องถูกเจาะอยู่ดี เราต้องกล้าหาญ กล้าดู กล้าแล้ว จะไม่กลัว ไม่กลัว แล้วจะไม่เจ็บ'

น้อยเห็นโต๊ะอุมาสนเข็มเล่มนั้น แล้วชะโลมเข็มและด้ายด้วยน้ำมันมะพร้าว จากนั้นเขาก็จับติ่งหูของเธอ รู้สึกว่าเขาดึงจนติ่งหูบาง ด้วยนิ้วมือข้างหนึ่ง อีกมือหนึ่ง เขาจับเข็มเจาะแล้ว ทุกคนเงียบหมด

เป๊าะ "เว้!"

เข็มของโต๊ะอุมาหัก พร้อมกับเสียงอุทานดังขึ้นจากหลายคน น้อยเห็นหมอมนตร์ สนเข็มใหม่อีกเล่ม จับติ่งหูน้อย แบบเดิม น้อยรู้สึกเจ็บจิ๊ด

เป๊าะ "เว้! อะปอนิง"

เข็มของหมอมนตร์หักอีกแล้ว เสียงอุทาน อะไรกันนี่ ! ดังกว่าครั้งแรก น้อยเห็นโต๊ะอุมา เม้มปากเล็กน้อย พึมพำ "เตาะแบซอกึเละห์บึละนิง! (ไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้!)" แล้วก้มลงมาถามน้อยว่า

"แมะมนึแตอะปอแฆเตะก๋อ (หนูกำลังต่อต้านอะไรอยู่หรือเปล่า)?"

เมื่อน้อยตอบปฏิเสธว่า "เด๊าะ (เปล่า)" เธอเห็นทุกคนเงียบ หมอมนตร์ทำท่านึกอยู่สักครู่ แล้วพูดว่า "นาตีสบินตา เด๊ะ(คอยสักประเดี๋ยว นะ)" น้อยเห็นมามุ กระโดดลงจากนอกชาน ตามเขาไป ทางสวน หลังบ้าน ไม่ถึงห้านาที ก็พากันกลับมา เธอเห็นมามุมองมา ทำหน้าแปลกๆ พลางส่ายหน้า

'อะไรอีกล่ะ ทีนี้' น้อยคิด แล้วก็ยิ่งรู้สึกเสียว เมื่อเห็นหมอมนตร์ เอาหนามมะนาวแหลมเปี๊ยบ ออกมา ถือไว้แล้ว ชะโลมด้วย น้ำมันมะพร้าวในขวด 'โอ๊ย ยิ่งแย่ใหญ่!' น้อยคิด ใจสั่น

พ่อถามขึ้นเป็นภาษามลายูทันที "ไม่เป็นไรหรือนั่นหนะ โต๊ะอุมา? แน่นะ รอยเข็มมีอยู่แล้วนะ"

โต๊ะอุมารับรองกับพ่อ น้อยรู้สึกชินกับการเจาะไปแล้วนิดหน่อย ความกลัวจึงลดลง เธอรู้สึกเจ็บพอสมควร เมื่อเขา เอาหนามมะนาว เจาะผ่านเนื้อติ่งหูเข้าไป บางคนที่มุงอยู่ เบือนหน้าหนี แต่มามุจ้องเป๋ง และ ถอนหายใจ เมื่อหนามโผล่มาอีกด้านหนึ่ง คราวนี้หมอมนตร์ เอาก้านกระเทียมเล็กๆ ที่ขอให้แม่เหลาไว้ ชะโลม น้ำมัน สอดให้ เสร็จไปข้างหนึ่งแล้ว ก็ทำอีกข้างหนึ่งเหมือนกัน จึงเป็นอันเสร็จ หมอมนตร์ ถอนหายใจ ราวกับผ่านการต่อสู้อะไร มาสักอย่าง พูดว่า

"คนนี้ใส่ก้านกระเทียมไว้ก่อน จนแผลหาย ค่อยใส่ตุ้มหู เด็กอะไร เจาะหูด้วยหนามมะนาว"

มามุลอยหน้าเข้ามา พูดว่า "น้อย เธอนี่เยี่ยมเลย ไม่กลัวหนามมะนาว เป็นฉันไม่เอาด้วยแน่"

ใครจะคิดว่าเรื่องเจาะหูนี่ยังไม่จบ แม่ต้องเก็บตุ้มหูยิปซีของน้อยไว้ให้ เพราะเจ้าของ ขอใช้ก้านกระเทียม ไปก่อนดีกว่า หลังจากที่แม่ได้พยายาม ลองใส่ ให้ครั้งหนึ่ง สำเร็จ เพียงข้างเดียว อีกข้างทำเอาน้อยร้องลั่น ด้วยความเจ็บ พ่อเข้ามาช่วยดู และลงความเห็นว่า เป็นเพราะการเจาะสองครั้งด้วยเข็ม และหนามมะนาว ทำให้รูไม่ตรง สอดตุ้มหูเข้าไป น้อยจึงเจ็บมาก

พี่แมะภาคภูมิใจมาก ที่กลายเป็นเด็กทันสมัย มีตุ้มหูวงใหญ่ห้อยต่องแต่ง จนวันหนึ่ง เมื่อสองพี่น้อง ไปเล่น น้ำคลอง ระหว่างเดินกลับบ้าน พี่แมะแกว่งหูสวย ของเขาเช่นเคย แต่คราวนี้ กลับร้องลั่น หน้าซีดเผือด

"ตายแล้ว ! ตุ้มหูหายไปข้างหนึ่ง! ช่วยพี่ด้วยน้อย!"

สองพี่น้องวิ่งลงท้องคลองใหม่ ต่างคนต่างควานหาตุ้มหูในทราย ที่กระแสน้ำจากภูเขา พัดทับถม ลงมา เป็นละลอก จนพระอาทิตย์คล้อยต่ำ ก็ยังควานหากันอยู่ เหมือนไม่รู้สึก เหน็บหนาว เสียงนกกาเริ่ม 'ชุมรัง' ส่งเสียง เซ็งแซ่ ราวกับจะบอกเด็กทั้งสองว่า

'จะหามันพบได้อย่างไร หนูเอ๋ย วงมันใหญ่ เมื่อห้อยอยู่ปลายหู แต่มันจิ๋วมาก ในท่ามกลางธรรมชาติ'

น้อยใจสั่นแทนพี่แมะ เมื่อชวนกันเข้าไปสารภาพกับแม่ว่า ทำตุ้มหูหลุดหาย ไปในคลอง แม่นิ่งไปสักครู่ ก็เดิน เข้าไปในห้อง เด็กทั้งสอง ยังคงยืนหนาวอยู่ที่เดิม เมื่อแม่เดินออกมา พร้อมทั้งตุ้ม หูข้างหนึ่งของน้อย แม่มองน้อย เธอเข้าใจแล้ว แม้แม่จะไม่ถาม จึงตอบว่า "แม่ให้พี่แมะเถอะค่ะ ของน้อยยังมีอีกข้าง"

"แม่ขอบใจน้อยมาก ลูก ให้พี่เขายืมใส่ก่อนนะ" แม่พูดเมื่อยื่นตุ้มหู ให้พี่แมะไปใส่เอง

แล้วพี่แมะ ก็ได้สวมตุ้มหูยิปซีต่องแต่งนั้น อย่างภาคภูมิใจ ในความทันสมัยอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่ง น้อยสังเกตเห็น ใต้ติ่งหูที่เจาะข้างที่พี่แมะเพิ่งใส่ใหม่นั้น มีตุ่มสีแดงคล้ำ อยู่ด้านใน แล้วตุ่มนั้น ก็โตขึ้น เรื่อยๆ

"ไม่เจ็บหรือนั่นน่ะ? น้อยว่ามันเจ็บนะ" เธอถามพี่แมะ คืนวันหนึ่ง

"ไม่เห็นเจ็บอะไรเลย เดี๋ยวก็ยุบ" พี่แมะตอบอย่างไม่ยี่หระ ยังคงแกว่งตุ้มหูยิปซีต่องแต่งต่อไป

"น้อยจะบอกพ่อ" น้อยตัดสินใจยอมให้พี่แมะโกรธ เพราะเจ้าตุ่มน่าเกลียดนั้น มันไม่ยุบสักที

"เพาะเด หมันเป็นเพาะเด" คนไทยบือเลาะห์ คนหนึ่ง ที่บังเอิญนั่งกับพ่อแม่ วันที่พี่แมะถูกเรียกเข้าไป เรื่องตุ่มนั้น เจ้าตัวยืนยันว่าไม่เจ็บ แม่นั่งเงียบ พ่อตัดสินใจ จะพาพี่แมะ ไปให้หมอที่โกลก ดูวันเสาร์ที่จะถึง พ่อบ่นว่า

"แปลกจริง สองคนพี่น้อง พ่อแม่เดียวกัน คนหนึ่งไม่ชอบแต่งตัว อีกคนยอมเจ็บเพื่อสวย"

เย็นวันนั้น สองพี่น้องไปเล่นน้ำคลองตามปกติ ขณะเล่นผลักน้ำใส่กัน อย่างแรงนั้น พี่แมะก็ร้องว่า "โอ๊ย! ตุ้มหูจะหลุด"

น้อยเห็นพี่แมะตะปบติ่งหูข้างเดิมอย่างแรง เพื่อจับตุ้มหูยิปซีแสนสวยของเขา แต่ไม่ทัน ตุ้มหูตกลงน้ำ น้อยยิ่ง ตกใจ สุดขีด เหมือนจะเป็นลม เมื่อเห็นติ่งหูข้างนั้น ของพี่แมะ มีเลือดสีแดงปนดำ ไหลทะลัก ออกมา เป็นทาง ตามลำคอ แรงตะปบติ่งหู เพื่อรักษาตุ้มหูไว้นั่นเองที่ทำให้ 'เพาะเด' ขนาดเท่า ลูกตะขบ สุกก่ำแตก

"พี่แมะ เลือดเยอะแยะเลย โอ๊ย ตายแล้ว!" น้อยร้องลั่น ส่วนพี่แมะ กลับดำลงไป ล้างเลือดออก

พ่อรีบล้างติ่งหูพี่แมะด้วยน้ำอะไรใสๆ ในขวดเล็กๆ ที่น้อยพยายามสะกดตัวว่า 'ไฮ_โดร_เจน_เปอ_ร้อก_ไซ' แล้วเอายาเหลืองใส่ให้ พลางพูดว่า "เอาละ เจ้าตัวจัดการมันเองแล้ว ไม่มีเลือดคั่ง เหลืออยู่ข้างในอีก ไม่กี่วันคงหาย"

"น้อยยกตุ้มหูอีกข้างหนึ่งให้พี่แมะนะ เป็นคู่พอดี น้อยไม่ต้องใส่ก็ได้ ถึงใส่น้อยก็ไม่สวย" น้อยพูด

พี่แมะยิ้ม พยักหน้ารับอย่างดีใจ แต่แม่พูดว่า

"แม่ว่าแมะยังไม่ค่อยระวังรักษาข้าวของ รู้ไหม ตอนแรกแม่คิดจะทำโทษ ให้แมะเอาส้อน ไปนั่งช้อนทราย ในคลอง หาตุ้มหูเสียให้เข็ด แต่คิดว่า ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ แมะถอดอีกข้าง มาให้แม่เดี๋ยวนี้เลย น้องยก ของเขาให้แล้ว ก็ได้เป็นของแมะ นั่นแหละ แต่แม่จะเก็บไว้ให้ก่อน"

พ่อพอใจมาก ที่ลูกทั้งสองไม่ต้องมีทองหยองอะไรติดตัวอีก ตามการตัดสินใจของแม่เอง


* เขียนเสร็จเวลา ๑๒.๕๐ น. ๒๖ ก.ค.๔๖ ที่บ้านซอยไสวฯ ขอบคุณ สมาน มหินทราภรณ์ มาก ที่ช่วยตอบ เรื่อง ศัพท์ ภาษา มลายู ให้มั่นใจในการเขียน สยองเรื่อง ลูกชายซัดดัมจริงๆ วันนี้ไฟที่บ้านดับ เพราะฤทธิ์ ไต้ฝุ่น อิมบุโด ส่งผลให้ ต้องคอย พิมพ์คอมฯ และส่งวิทยุไม่ได้

๑. คนปักษ์ใต้ใช้คำว่า 'สร้อย' เหมือนภาคอื่นโดยเฉพาะในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงตั้งใจบันทึกไว้กันลืมว่า คนสมัยก่อน ยังใช้คำว่า 'สาย' ด้วย ทั้ง สายคอ สายมือ สายเอว ทำให้นึกถึงอาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี เคยบอกว่า คำว่า 'สะอิ้ง' ที่แปลว่า 'สายรัดเอว' นั้น ทางภาคเหนือ เรียกว่า 'สายเอ้ง'

๒. ผู้เขียนเคยได้รับการอธิบายจากศาสตราจารย์ U Hla Pe แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ทำให้ทราบว่า ลักษณะ การใช้วิธีบอก สถานภาพ แบบเดียวกันนี้ ทางพม่าก็ใช้กัน เช่น ชื่อของท่าน อาจจะซ้ำกัน เป็นจำนวนมาก ก็จะใช้ วิธีบอก โดยการ มีคำนำหน้า เช่น สำหรับท่าน ก็จะใช้คำว่า 'ซยา' นำหน้าชื่อ เพื่อบอกว่าเป็น 'อาจารย์' หากการบอก เช่นนั้น ยังไม่พอเพราะ 'อาจารย์ อู หล้า เพ' มีอยู่หลายท่าน ก็สามารถเพิ่มเป็น 'ศาสตราจารย์ อู หล้า เพ (แห่ง) เมาะลำไย (เมาะลำเลิง)' ฯลฯ เป็นต้น

๓. แมะเยาะห์ได้เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากมีบุตรชายหญิง ที่หน้าตาดีเหมือนพ่อและแม่ถึง ๑๒ คน ส่วนพิทักษ์ กาญจโนภาส ซึ่งผู้เขียนได้พบอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เขาศึกษาต่อ อยู่ในประเทศเยอรมนี เสียชีวิตที่นั่น ด้วยอุบัติเหตุ ทางรถยนตร์

๔. คนปักษ์ใต้ไม่ใช้คำว่า 'ต่างหู' ใช้แต่ 'ตุ้มหู' และ 'ทองหู' เท่านั้น

๕. ๑ หาบ = ๑๐๐ กิโลกรัม

๖ & ๗ คนไทยที่อยู่ตามหุบเขาทางใต้สุดของประเทศ จะมาจากไหน ตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีใครทราบชัด แต่มีวัฒนธรรม สำเนียง การพูดเฉพาะกลุ่ม คำว่า เพาะเด นี้ ผู้เขียนมาคิดได้ ทีหลังว่า มาจากคำว่า 'กระเพาะปลากระดี่' นั่นเอง อาจจะเป็น คำเรียก ตุ่มอุ้มเลือด ที่อักเสบก็ได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๗ สิงหาคม ๒๕๔๖)