>เราคิดอะไร

- ณวมพุทธ -

เอาเปรียบ อกตัญญู
เอาเปรียบอกตัญญู
ไม่รู้บุญคุณใครใคร
คนนี้ไม่ควรคบไว้
หลีกให้ห่างไกลได้ดี

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ซึ่งเป็นสวนป่าไผ่ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ของแคว้นมคธ เป็นสถานที่ร่มรื่น สงบเงียบ เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายเป็นสังฆาราม (อารามของสงฆ์)

มีอยู่วันหนึ่ง พระศาสดาทรงเอ่ยถึงความฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบ ความเป็นคนไม่รู้บุญคุณ ที่ผู้อื่น กระทำให้แก่ตน โดยตรัสถึงพระเทวทัตว่า

" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็เป็นคนเคยอกตัญญูมาแล้ว"

จากนั้นก็ตรัสเล่าเรื่องราวนั้น
----------

ในอดีตกาล ณ ป่าหิมพานต์ มีนกหัวขวานตัวหนึ่งขณะกำลังไต่อยู่ตามต้นไม้ เที่ยวขวนขวาย หาเหยื่อ โดยใช้ปากที่แข็งแรงเจาะต้นไม้เพื่อหากินแมลงอยู่นั้น บังเอิญเห็นราชสีห์ตัวหนึ่งที่ใต้ต้นไม้ กำลังดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดทรมานยิ่ง นกหัวขวานจึงบินลงมาจับกิ่งไม้ใกล้ๆ พื้นดิน แล้วถามว่า

"สหาย ท่านเป็นทุกข์อย่างนี้ เพราะเหตุอะไรกันเล่า"

ราชสีห์ได้ยินดังนั้น ก็พยายามส่งเสียงออกมาจากลำคอ ด้วยความเจ็บปวดอย่างยากลำบากว่า

"เราล่าเนื้อได้ตัวหนึ่ง รีบเคี้ยวกินด้วยความอยากและหิวจนกระดูกติดคอ จะกลืนก็ไม่ลง จะคาย ก็ไม่ออก ทำให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานนัก คอของเราบวมอยู่นี้ท่านเห็นหรือไม่"

นกหัวขวานสังเกตดูก็เห็นจริงตามนั้น เกิดความสงสารขึ้นมา จึงอาสาช่วยเหลือทันที

"สหาย เอาอย่างนี้เถิด เราจะช่วยกำจัดกระดูกที่ติดคอของท่านให้ แต่...เรากลัวว่า ขณะที่เราอยู่ ในปากของท่าน ท่านจะเคี้ยวกินเราเสีย"

"โถ...อย่ากลัวไปเลยสหาย เราไม่กินท่านเด็ดขาด เราเจ็บปวดลำบากอยู่อย่างนี้ ท่านจงช่วยให้ชีวิต เป็นสุขแก่เราด้วยเถิด"

"ดีล่ะ ถ้าอย่างนั้นเราจะช่วยท่าน"

แล้วก็ให้ราชสีห์นอนตะแคง อ้าปากให้กว้างที่สุดเข้าไว้ นกหัวขวานจึงหาท่อนไม้ มาค้ำปาก ทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้ราชสีห์ไม่สามารถจะหุบปากได้ ขณะกำลังกระโดดเข้าไปในปากนั้น ก็อดคิดไม่ได้ ....

"ใครจะไปรู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา"

เมื่อเข้าไปเห็นกระดูกที่ติดขวางคออยู่ จึงใช้จะงอยปากเคาะลงไปที่ปลายกระดูก ทำให้กระดูกหลุด เลื่อนตกลงไปได้ เสร็จแล้วจึงรีบออกจากปากราชสีห์ทันที ใช้จะงอยปากเคาะท่อนไม้ ที่ค้ำปากราชสีห์ ให้หลุดออก จากนั้นก็บินไปเกาะอยู่ที่กิ่งไม้ตามเดิม ส่วนราชสีห์ก็หายทุกข์ทรมาน เป็นปลิดทิ้ง สามารถจับเหยื่อกินได้ดังปกติของตน

วันหนึ่ง ราชสีห์ออกล่ากระบือป่าตัวโตมาได้ ขณะกำลังกัดกินเหยื่ออยู่อย่างมีความสุขนั้น ก็ปรากฏ นกหัวขวานตัวนั้น เกาะกิ่งไม้มองดูราชสีห์อยู่ พร้อมกับเกิดความคิดว่า

"เราจะลองใจราชสีห์นี้ดู เมื่อได้อาหารมามากขนาดนี้ จะมีใจต่อเราอย่างไรบ้าง"

จึงบินเข้าไปจับกิ่งไม้ใกล้ๆ ตัวราชสีห์ แล้วลองถามเพื่อวัดใจราชสีห์ดู

"สหายผู้เป็นเจ้าป่า ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านจำเราได้หรือไม่ เราเคยทำกิจอย่างหนึ่งให้แก่ท่าน
ตามกำลังที่เรามีอยู่ บัดนี้เราจะได้อะไรตอบแทนจากท่านบ้างเล่า"

ราชสีห์ย่อมจำนกหัวขวานนั้นได้ดี แต่เพราะความโลภเห็นแก่ตัว จึงกล่าวอย่างฉ้อฉลเอาเปรียบว่า

"จำได้สิ! เจ้ามุดเข้าไปอยู่ในปากของเรา ช่วยทำให้กระดูกที่ติดคอเราหลุดได้ แต่ตอนที่เจ้าอยู่ ระหว่างคมเขี้ยวของเรานั้น ซึ่งเป็นผู้กินเลือดเนื้อเป็นอาหาร เป็นผู้หยาบช้าฆ่าสัตว์อื่นอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น การที่เจ้ามีชีวิตรอดออกจากปากเราได้ ก็นับว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณเจ้ามากแล้ว"

นกหัวขวานได้ฟังอย่างนั้น ก็รู้ถึงนิสัยเลวร้ายของราชสีห์ทันที จึงกล่าวเตือนสติว่า

"น่าติเตียนนัก ผู้ที่ไม่รู้บุญคุณที่ผู้อื่นกระทำให้แล้ว ฉะนั้นผู้ที่ไม่ทำคุณให้แก่ใคร และผู้ที่ ไม่ตอบแทนคุณให้แก่ผู้มีบุญคุณ ผู้นั้นย่อมไม่มีความกตัญญู การคบคนอกตัญญูนั้น ย่อมไร้ประโยชน์

ดังนั้น หากไม่ได้มิตรที่ดี จากการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้ใด บัณฑิต (คนดีมีคุณธรรม) ไม่ต้องชิงชังผู้นั้น ไม่ต้องด่าว่าผู้นั้น พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้นไปเสีย"

สิ้นสุดคำกล่าว นกหัวขวานนั้นก็บินจากไป

...............................

พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้ว ก็ตรัสว่า

"ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต ในบัดนี้ ส่วนนกหัวขวานได้มาเป็นเราตถาคตนี่เอง"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๓๐ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๒๖)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)