>เราคิดอะไร

ข้าพเจ้าคดอะไร? - สมณะโพธิรักษ์ -
กำไร ขาดทุนแท้ ของอาริยชน
(ฉบับที่ ๑๖๐)


เขาจะรู้สึกว่า เขายิ่งรักยิ่งหวงแหน ยิ่งยึดเป็นของตัวของตน เขายิ่งปกปิดซ่อนเร้นลึกลับ "มนต์"เป็นสิ่งหนึ่ง ที่พราหมณ์ถือเป็นของรักของหวงที่มีคุณค่ายิ่งยอด เพราะเป็นโองการของพระเจ้า จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาว "เทวนิยม" เทิดทูนนับถือบูชา เขาจึงปิดบังไว้ ด้วยความเชื่อถือกันเยี่ยงนี้เอง ถือว่า ยิ่งปิดบัง ก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งขลัง ค่าของมนต์ก็จะยิ่งสูงขึ้น ผู้ยังไม่ก้าว ขึ้นสู่ฐานะอันสูงส่ง เพียงพอจะไม่มีสิทธิ์ได้รู้ได้เห็นมนต์นั้นๆ ก็ยิ่งก่อให้เกิดความอยากได้ อยากเรียนมาให้แก่ตน มากยิ่งๆขึ้น นี้เป็นผลทางจิตวิทยาสามัญ

มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังไว้ จึงรุ่งเรือง ด้วยประการฉะนี้

ทีนี้ก็ ข้อ ๓ ที่ว่า มิจฉาทิฏฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเข้าใจผิดความเห็นผิด โดยเฉพาะเห็นผิดไปจากเนื้อแท้ หรือหัวใจสำคัญ ของ ความเป็นพุทธ

เช่น มีความเห็นผิดเพี้ยนออกไปจากลักษณะของ "อเทวนิยม" เอียงโต่งไปเป็น "เทวนิยม" เป็นต้น ถ้าเอียงน้อยก็ผิดน้อย ถ้าเอียงมากก็ผิดมาก

สังเกตให้ดีเถิดจะเห็นว่า ทุกวันนี้ชาวพุทธได้พากันมี"ทิฏฐิ"(ทฤษฎีหรือความเห็นหรือความเชื่อหรือลัทธิ) ผิดเพี้ยนไปเป็น "เทวนิยม" กันอย่างไม่รู้ตัวเกือบจะทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว

เป็นต้นว่า พากันเชื่อหรือนับถือบูชาพลังอำนาจที่ลึกลับอยู่ในสากลโลกนี้ ว่า เป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ ที่ดลบันดาล อะไรต่ออะไร ต่างๆให้แก่ตนได้ประเสริฐยิ่งจริงแท้ ยิ่งกว่า จะเชื่อหรือนับถือบูชา พลังอำนาจกรรมวิบาก

จารีตธรรมเนียมของชาวพุทธเกือบจะทั้งนั้นได้กลาย ไปเป็นแบบเทวนิยมกันสนิทสนมแล้ว เช่น อวยพรกัน ก็ขอให้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยคุ้มครองหรือดลบันดาลให้รวยให้สุขให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ หลงพลังศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สารพัดที่จะหลง แล้วก็ไปบนบานอ้อนวอนขออำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นๆให้ช่วย แทนที่จะเชื่ออย่างมั่นใจ ชัดเจนว่า เราควรจะตั้งใจทำ "กรรม" ให้ดีให้เป็นกุศลแท้ๆ ให้แก่ตนเอง นั่นต่างหาก ที่จะเป็นพลังดลบันดาล เกื้อหนุน ช่วยตนเอง ได้จริงยิ่งกว่าไปหลงขออำนาจ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาดลบันดาล เลยกลายเป็นลัทธิ "อิสสรนิมมานเหตุวาท" ที่เชื่อถือการดลบันดาล ของเทพผู้ยิ่งใหญ่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ชาวพุทธส่วนใหญ่ ในปัจจุบันนี้ ไม่เหมือนชาวพุทธแท้แต่ดั้งเดิมแล้ว เพราะได้เปลี่ยนความเชื่อ หรือ ความนับถือ บูชาไปจากคำสอน ของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ผลวิบากของกรรม ที่ตนทำดีทำชั่ว มีจริง" (อัตถิ สุกตทุกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก) ซึ่งคำตรัสนี้มีนัยแฝง ชี้บ่งถึงลักษณะแท้ ยืนยันความเป็น "อเทวนิยม" อยู่อย่างสำคัญ

กล่าวคือ "ผลวิบากของกรรม" นี้แหละ

อ่านต่อฉบับหน้า

 

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-