>เราคิดอะไร

กำไรนั้นไซร้ ได้กำ(อะ)ไรกันแน่
- วิมุตตินันทะ -

ในที่สุดประชุมเอเปคผ่านไปเรียบร้อย ข่าวว่าหมดเงินถลุงไปตั้ง ๕,๐๐๐ ล้านบาท น่าจะถามว่า คุ้มค่า ขนาดไหน ที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเจ้าพระยาปานนั้น คนที่หน้าบานเป็นกระด้ง กลางดงสวน ผักชีโรยหน้า อย่างนายกฯทักษิณ รับรองต้องบอกว่าแสนคุ้มจะตายไป ประมาณนั้น...

มันก็ฟังดูมีเหตุผล เมื่อเทน้ำหนักให้แก่งานสร้างภาพประเทศไทยฉายเด่นขึ้นมาบนเวทีโลก เมืองไทย ไม่ใช่ขี้ไก่ เพราะผู้นำกล้าคิดกล้าทำอวดวิสัยทัศน์กว้างไกลระดับอินเตอร์ได้เหมือนกัน ไม่เสียทีเลยที่มีนายกฯ ชอบพูดไทยคำฝรั่งสองคำ...

ท่ามกลางพิธีกรรมต้อนรับขับสู้อันหรูเริด แม้จะถูกจะแพงเงินอีลุ่ยฉุยแฉกไปบ้าง ยังเป็นเรื่องเปลือกกระพี้ นอกๆ ไหนๆ อุตส่าห์ตีกลองประชุมผู้นำเบิ้มๆ ใหญ่น้อยตั้ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจ มีทั้งจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย และอเมริกา รวมตลอดถึงเสือเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นต้น

งานรวมหัวผู้นำเอเปคมาพร้อมหน้ากันเช่นนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษสำคัญบนหลักการ "โลกแห่งความแตกต่าง (ร่วมสร้าง) หุ้นส่วนเพื่ออนาคต" สามัคคีธรรมตามเป้าหมายดังกล่าว แม้พวกจะอยู่ห่างไกลกันคนละขอบฟ้า ก็น่าจะสาธุการยิ่งนักไม่ใช่หรือ!

เสร็จแล้ว เมื่องานเลี้ยงเลิกรา แต่ละท่านได้อะไรกลับไปบ้าง...หรือสายตาคนไทยฐานะเจ้าภาพ ซึ่งถูกเชิญ ให้ออกนอกมหานครไปเที่ยวให้พ้นหูพ้นตา ไม่มาเกะกะขวางทางแขกบ้านแขกเมือง คนไทยที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ปิดหูปิดตา จะรู้สึกอย่างไรบ้าง งานนี้เข้าตากรรมการแค่ไหนเชียว...

มันน่าคิดทีเดียว เมื่อเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า จัดเอเปคขึ้นเพื่อถกปัญหาเศรษฐกิจ เอาเข้าจริง กลายเป็นลงลึก วาระก่อการร้าย เป็นคุ้งเป็นแคว เลยเข้าเป้าเดิมๆ ของอเมริกากับออสเตรเลีย สองชาติที่เดือดร้อน กว่าเพื่อน กับภัยก่อการร้าย

แทนที่จะจับประเด็นก่อการร้ายทางการเงิน ดังกรณีต้มยำกุ้งไทยแลนด์ คือ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยค่าเงินบาทโดนถล่มเป็นประเดิม จนเราตกเป็นหนี้แทบล้มละลายเพียงชั่วข้ามคืน มหาภัยสุดจะเจ็บปวด อันนี้ มหามิตรอเมริกาซึ่งนายกฯ ทักษิณนับถือยกย่องยิ่งนัก เขาช่วยอะไรเราได้บ้าง... ทำไมคุณโซรอสถึงทำ กับฉันได้? ก็ไทยอยากเป็นหนี้เองทำไมล่ะ! เรื่องมันทำนองนี้แหละ พี่น้องไทย

น่าเสียดายที่เอเปคหนนี้ ไม่มีข้อตกลงร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยก่อการร้ายทางการเงินการค้า แต่กลับ ตั้งหน้าต้านอาวุธพกพาเครื่องยิงจรวด (MANPADS) เป็นวรรคเป็นเวร

นี่ หากเกิดฟองสบู่แตก ซ้ำซากรอบสองอีกที มันจะเป็นอย่างไรหนอ ตัวใครตัวมันสิท่า?

เพราะฉะนั้น หากจะรวมความสั้นๆ น่าจะสรุปตรงประเด็นว่า โดยรูปแบบพิธีการ ฐานะไทยเป็นเจ้าภาพ เต็มตัว แต่โดยเนื้อแก่นสาระ เหมือนอเมริกาสอดไส้กินรวบเบ็ดเสร็จ ดังเช่น เอาภัยก่อการร้าย นำหน้าภัย เศรษฐกิจ เป็นต้น

โดยเฉพาะเรื่องที่ประธานาธิบดีบุช ประกาศให้ไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต พี่ไทยโดยนายกฯ ทักษิณ ออกขานรับ เต็มๆ ว่า เราได้กำไรลูกเดียว ไม่มีเสีย เพื่อนซี้ ๑๗๐ ปีรายนี้เชื่อใจได้...คนชื่อทักษิณเขารับประกัน (ฮา)

แต่ถ้ากล้าคิดใหม่ให้ลึกซึ้ง มันเป็นอุบายตื้นๆ ของเศรษฐีค้าอาวุธคือต้องการให้ไทยเป็นลูกค้าพิเศษ เพื่อจุดประกายให้แข่งขันกันสะสมอาวุธในภูมิภาคเอเชียใต้

น่าเศร้าจริงๆ ถ้าผู้นำไทยจะวิ่งตามก้นอเมริกา ดุ่ยๆ เช่นนี้โดยไม่ไหวทันบ้าง

พูดก็พูดเถอะ คิดได้ยังไง ถึงจะต้องสะสมอาวุธวิเศษอื่นใดอีกนักหนา หรือจะเอาไว้รบกันเพื่อนบ้าน ประเทศใด วานบอก ในเมื่อต่างอยู่กันอย่างจนๆ พออยู่พอกินเท่านั้น ไม่เห็นหน้าไหนที่ว่างงาน จนกระทั่ง ต้องหาเรื่อง มาโจมตีไทย หรือว่าเศรษฐกิจเราดีวันดีคืน เงินทองเหลือกินเหลือใช้ จนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ถึงจะเอาไปซื้ออาวุธนานามาซ้อมเล่นแก้เหงา และกันสนิม ทั้งนี้เพราะเท่าที่สะสมไว้ล้นเหลือ เช่น เอฟสิบหก ไม่รู้กี่ฝูง มันใช้ประโยชน์อะไรนักหนาพอคุ้มตรงไหนบ้าง

ดังนั้น ถ้าฝันได้เชื่อว่าอนาคตบทบาทผู้นำไทยจะไปโลดโดดเด่นล้ำหน้า ดร.มหาเธร์ ก็น่าเป็นได้ไม่ยาก หากผู้นำไทย หันมาสร้างมิตรให้ถึงจิตวิญญาณกับเพื่อนบ้านรอบทิศ แทนที่จะมุ่งหน้า ตั้งตา สร้างศัตรูทั่วโลกา อย่างผู้นำอเมริกากำลังหลงทาง ดีแต่คอยปราบผู้ก่อการร้าย ให้สูญพันธุ์ ในขณะที่ตัวเอง กำลังเป็นต้นเหตุก่อการร้ายตัวจริงเสียงจริงโดยแย่งชิงเบียดเบียนตามวิสัยผู้มีอำนาจ บาตรใหญ่ ไม่ฟังเสียง แม้ประชาคมโลกเช่นยูเอ็น มหาอันธพาลแบบนี้หรือจะเป็นมหาอำนาจพันธุ์แท้ได้อย่างไรเอ่ย สาธุชนผู้มีมโนธรรม สำนึกดี ย่อมแยกแยะได้ไผเป็นไผ...

เมื่อใดไทยสามารถสร้างมิตรเป็นผลสำเร็จจนน่าพึงพอใจคือแทนที่จะแข่งขันสะสมอาวุธ กลับจะต้องลด อาวุธยุทโธปกรณ์ไปตามลำดับ เมื่อเป็นหุ้นส่วนเพื่อนซี้ทั่วเอเชียจริงๆ เมื่อนั้นมีอาวุธ ไว้พอไล่จับ โจรสลัดอ่าวไทย หรือโลดจับเรือสำราญเปิดบ่อนกลางทะเลไทย แค่นี้ คงพอเพียงแล้วนี่ ก็เป็นไปได้ ในวันหน้าโน้น

อนึ่งกับงานเอเปค นานปีทีหน คนไทยพลอยตื่นเต้นเสียยกใหญ่ พอผ่านพ้นไปแล้ว เหมือนจะไม่ค่อยได้ผล เป็นที่แก่นสารอะไรเท่าที่ควร เลยอยากจะคิดเองต่อเล่นๆ ว่าชะรอยจะเป็นกลุ่มรวม กันหลวมๆ เกินไปกระมั้ง น่าจะตั้งต้นรวมแค่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็มากพอแล้ว สำคัญที่รวมตัวให้เข้ามาเต็มตัว สักหน่อย โดยเฉพาะ ประชุมทั้งที่น่าจะออกมติที่มีผลนำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมร่วมกันชัดเจน ไม่ใช่ลอยๆ ว่างๆ ใครจะทำตามหรือเปล่า ไม่ว่ากัน แล้วเมื่อไหร่เอเปคจะมีความหมายกว่าเขียนเสือให้วัวกลัวตรงไหน

ผลพวงเอเปค อีกอย่างที่น่ากล่าวถึง คือผู้นำไทย รัศมีจับจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งภูมิภาคเอเชีย แทนที่ดาวเด่น ดร.มหาเธร์ ซึ่งกำลังลงจากตำแหน่งนายกฯ มาเลเซีย เสียงวิจารณ์คาดฝันดังว่านี้ พอฟังขึ้นอยู่บ้าง แม้จะมีหลายปัจจัยห่างกันอยู่ไม่น้อยก็ตาม เช่นความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งดร.มหาเธร์ มีสูงถึงขนาด ไม่มีหงอ กับอเมริกา ทั้งมีสัมมาทิฐิในเศรษฐกิจประเด็นสำคัญน่าสนใจ ไม่ได้หลงใหล ทุนนิยมเต็มๆ ดังเช่นแยกแย ะการค้าเสรี กับการค้า ที่เป็นธรรมนั้น ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับคนไทย ดร.ทักษิณถือเป็นผู้นำที่เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในหลายๆ ด้าน อย่างที่ไม่เคย มีผู้ใด อาจหาญทำมาก่อน ยิ่งหากยึดถือหลักธรรมพุทธศาสน์มาปฏิบัติรัฐกิจให้เคร่งครัด ลึกซึ้งดังเช่น ที่ยาบ้า กล้าล้างบาง เด็ดขาด แต่กับหวยบ้าๆ ห่วยแตก กลายเป็นหวยเอื้ออาทร มันยิ่งพาจนดักดานทั่วไทย แล้วจะแก้จน ยังไงไหว ต่อเมื่อเลิกบ้าหวย ค่อยเห็นทางหายจนทันตา นอกจากนี้แง่มุมของงานเอเปค ยังสะท้อนให้เห็นข้อสังเกต สำคัญอีกว่า เมื่ออเมริกา ยึดเวทีเอเปค เป็นเวทีทหาร ชูประเด็นภัยก่อการร้ายที่ต้องกวาดล้างเร่งด่วน อเมริกันชน ทุกวันนี้ อยู่อย่างหวาดผวา อกสั่นขวัญแขวน โรคประสาทกินหนักขึ้นใช่หรือไม่ อะไรทำให้อเมริกาวันนี้ น่าเกลียดน่าชัง มากขึ้นกว่า อเมริกาในวันก่อนโน้น มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า...

วิถีอเมริกันแบบฉบับเจ้าลัทธิทุนนิยมเสรีและลัทธิบริโภคนิยม น่าจะต้องปรากฏข้อผิดพลาด อันมโหฬาร โทษฐาน พาบังเกิดทุกข์ โดยยั่วยุเพิ่มพูนกิเลสตัณหาหลงสนองอารมณ์ตัณหาโลภะ โทสะ ไร้ขอบเขต เพื่อกินสุข ดื่มเสพ โลกียารมณ์ต่างๆ ค่านิยมกำไรชีวิตแบบนี้ ในวิสัยทัศน์เชิงพุทธ ถือว่าสุดโต่งข้าง กามสุขัลลิกานุโยค จึงไม่ต้องกังขาว่า จะเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ร้อนนอนทุกข์มากกว่าที่จะอยู่เย็นเป็นสุข

ครั้นหันมาด้านวิถีไท ตามภูมิปัญญาพุทธอันเป็นวัฒนธรรมตะวันออกปลูกฝังกันมาตั้ง ๒๕ พันปีแล้ว ไม่ใช่เพื่อคลั่งไคล้ กันแค่ไม่กี่ร้อยปีอย่างฝรั่งวัตถุนิยมด้วยเหตุลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงนำพามักน้อยสันโดษในการบริโภค จึงกลายเป็น ตรงกันข้าม กับลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งผลาญพร่าทรัพยากรไม่รู้ประมาณ ขณะเดียวกัน ทุนนิยมถือว่า การบริโภคนี่แหละ เป็นตัวกระตุ้น เศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขยายตัว จะปล่อยให้บริโภคน้อยไม่ได้ เศรษฐกิจจะตกต่ำชีวิตพวกบูชาทุนนิยม จึงน่าสังเวช ไหนจะต้องเหนื่อยยากแย่งชิงกำไรจากเพื่อนมนุษย์ พร้อมกันนั้น ยังต้องเหนื่อยเหน็ด เพื่อกินสูบ ดื่มเสพให้มากสุดๆ อีก ช่างวุ่นวายไม่เสร็จ ไม่ผิดอะไรกับ หมาหอบแดด หน้าร้อนตับแตกกลางถนน

ดังนั้น เศรษฐกิจเอเปค นับเป็นโลกที่แตกต่าง ตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมถ้าเป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพ พึ่งตนเองได้ ทำจนเหลือกินเกินใช้ค่อยขาย แรงขี้โลภ ย่อมไม่จัดจ้าน ไม่บีบคั้นให้ต้องฟาดฟันกำไรโหดๆ แบบธุรกิจ สมัยใหม่ สนามการค้า ทุกวันนี้ กลายเป็นสนามรบธุรกิจหรือสงครามเศรษฐกิจ โดยทำลายล้าง กันอย่างเลือดเย็น จะค้าขาย อะไรที่ไหน เมื่อไหร่กับใคร นับเป็นโอกาสที่จะต้องเอาเปรียบกันให้ได้ ทุกคนต้องการใช้ลาภน้อยไปต่อลาภใหญ่ เพื่อจะได้ส่วนเกินเป็นเหยื่อ เรียกว่า กำไรเหนาะๆ

ขืนมีใครเอาลาภก้อนใหญ่ ไปแลกลาภก้อนน้อยของจ้อยจะกลายเป็นเรื่องประหลาดดีพิลึก ไม่มีใครกล้าคิด กล้าทำ นอกจากลัทธิบุญนิยม

ก็คงจะเห็นชัดเจน จะค้าจะขาย ใครๆ ต้องซื้อถูกขายแพง เอาของน้อย ต่อของมากทั้งนั้น เรื่องเลยไม่ต่างจาก การพนันสักเท่าไหร่ เป็นธรรมดา ซื้อขาย จะไม่ให้เกิดได้เปรียบเสียเปรียบกันเลย คงยากเต็มที ประเด็น ยุติเพียงว่า ใครจะแย่งได้เปรียบ หรือใครจะกล้าเสียเปรียบดี คนกล้าเสียเปรียบโดยเต็มใจเต็มที่ เท่ากับ เสียสละเต็มๆ เป็นบุญแท้ๆ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

เพราะฉะนั้นเมื่อซื้อขายมันหนีไม่พ้น เลี่ยงไม่ออก ที่จะต้องมีส่วนเกินส่วนขาด โดยเฉพาะส่วนเกิน ที่เป็นค่าเหนื่อย น้ำแรงหยาดเหงื่อพอตัว คงไม่ว่ากัน ปัญหาฉกฉวยส่วนเกิน ควรเป็นกำไร ล้นๆ มากกว่านั้น น่ากลัวว่าจะเป็นกำหนี้กำเวรเป็นลาภมิควรได้หรือเปล่า มันเท่ากับอทินนาทาน ขโมยเอาส่วนที่ คนเขาไม่อยากให้ แต่เล่นหมกเม็ดซ้อนเร้น เลยงุบงิบเอากำไรมาได้ ถ้าหากค้าขายโปร่งใส โดยบอกต้นทุน ตรงไปตรงมา คงไม่มีใคร ยอมจ่ายกำไรส่วนเกินล้นเหลือเป็นบ้า อย่างโง่ๆ นักดอก

สรุปแล้วโลกนี้ ไม่มีอะไรฟรี อยู่ที่เราจะเลือกเป็นลูกหนี้ใครหรือเป็นเจ้าหนี้คน เราท่านจะทำกำไรล้นๆ หรือ จะรับส่วนเกินเล็กๆ...

น่าคิดถึงกำหนี้บุญหนี้กรรมอกุศลก่อนกำ(อะ)ไร

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-