เราคิดอะไร



กีฬาโรงเรียน ๒

พอสักสิบโมงเศษ คุณครูของโรงเรียนทั้งหลายก็ประกาศให้บรรดานักกีฬาที่อยู่กลางสนามพักดื่มน้ำ ๔๕ นาทีแล้ว ถึงจะมาแข่งขันกันต่อ

เด็กนักเรียนต่างกระจายไปรวมตัวกันตามกลุ่มของตนเอง แดดเริ่มร้อนขึ้นแล้วแต่อากาศของอำเภอ ในอุ้งภูเขาแห่งนี้ ก็ยังสดใสอยู่เช่นเดิม คุณครูมนัสประกาศว่า เครื่องดื่มพิเศษ ที่เด็กๆจะได้ดื่มกัน วันนี้ เรียกว่า น้ำมะเน็ด(๑) โรงเรียนแว้งเป็น เจ้าภาพทำเลี้ยงนักเรียนทุกโรงเรียนให้ดื่มแก้กระหาย ร่วมกับรับประทานขนมปำ(๒) น้ำมะเน็ด คือน้ำมะนาว คั้นสดๆ ผสมกับน้ำตาลทราย ที่คุณครูต้ม กับน้ำฝนสะอาด และกรองด้วย ผ้าขาวบาง เอาผงออกหมดสิ้นแล้ว ผสมเกลือลงไปด้วยเล็กน้อย เพื่อเด็กๆ จะได้ไม่เสาะท้อง มีน้ำมะเน็ดนี้ ใส่โอ่งน้ำกินให้แต่ละโรงเรียนอย่างเพียงพอทีเดียว

เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่เคยดื่มน้ำมะเน็ดมาก่อน ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน จึงพากันลังเลบ้างในตอนแรก แต่พอได้จิบ จากกระบวยเข้าหน่อย ก็ทำตาโตด้วยความชอบใจ และขอดื่มเพิ่มอีก จนคุณครู ต้องปรามว่า อย่าดื่มมากนัก เดี๋ยวจะจุกน้ำ ตอนออกวิ่ง

สมัยโน้นยังไม่มีขันเพ็ดสะติกอย่างที่จริยาเรียกกันหรอก ทุกบ้านต่างทำกระบวยด้วยกะลามะพร้าว ไว้ใช้เองทั้งนั้น กระบวยสำหรับ ตักน้ำมะเน็ดในวันนี้ ก็ไม่ต้องซื้อหา เพราะเด็กผู้ชายโรงเรียนแว้ง ทำส่งคุณครู เป็นงานการฝีมือ มากมายจนอัดแน่น อยู่ในตู้ใหญ่ที่กั้นชั้นล่าง เป็นห้องเรียนชั้นมูล และชั้นป.๑ วันนี้แหละ ที่การฝีมือของเด็กๆ ได้ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด

ถึงน้ำมะเน็ดแสนอร่อยนั้นก็ไม่ต้องซื้อเหมือนกันเพราะชาวบ้านในอำเภอต่างปลูกมะนาวไว้เยอะแยะ ที่บ้านน้อย ก็ปลูกไว้ตั้งหลายต้น ทั้งมะนาวไข่และมะนาวพวง แม่ได้ใช้ให้พี่แมะ และน้อยช่วยกันเก็บ ใส่กระสอบเล็ก มาให้โรงเรียนตั้งแต่วันก่อน แต่น้อยไม่ได้ทราบว่า คุณครูจะเอามาทำ น้ำมะเน็ด อย่างนี้ พ่อแม่ของเด็กอื่นๆ ก็เอามาให้ด้วยเหมือนกัน สำหรับน้ำตาลทรายและเกลือ ร้านค้าในอำเภอ บริจาคให้ ไม่ต้องซื้อ โรงเรียนช่วยกันออกเงินซื้อเพียงอย่างเดียวคือ ขนมปำที่ให้แม่ค้าในตลาดแว้ง ทำขายให้ ในราคาพิเศษ เป็นขนมที่อร่อยมากเพราะมันขึ้นฟูและมีมะพร้าวขูด ผสมกับเกลือป่น นิดหน่อยโรยหน้า

อำเภอแว้งพึ่งตัวเองและพึ่งพาซึ่งกันและกันได้อย่างนี้ จะไม่เป็นแว้งที่รักของน้อยกระไรได้

ปรี๊ด ปรี๊ด ปรี๊ด !

เสียงนกหวีดของคุณครูอรุณ ครูโรงเรียนเจ๊ะเหม ดังขึ้นพร้อมกับเสียงประกาศว่า

"ต่อไปจะเป็นการแข่งขันวิ่งสวมกระสอบระยะทาง ๘๐ เมตรชาย ต่อด้วยวิ่งสวมกระสอบหญิง"

ผลการวิ่งสวมกระสอบชาย โรงเรียนที่น้อยคิดว่าดาฆะ (บ้านนอก) จากตอแลได้ที่ ๑ เธอเริ่มเข้าใจ แล้วว่า โรงเรียนแว้ง อาจไม่เป็นฝ่ายชนะเสมอไป และเมื่อมีคนชนะ ก็ต้องมีคนที่แพ้ แต่แล้วเธอ ก็กลับรู้สึกอีกว่า ในการแข่งขัน วิ่งสวมกระสอบหญิง พี่แมะน่าจะได้ที่ ๑ อีกซึ่งหมายถึง โรงเรียนแว้ง ชนะ

น้อยไปยืนตะโกนให้กำลังใจพี่สาวอยู่กลางแดดเปรี้ยง ผู้ใหญ่รอบสนามต่างพากันหัวเราะเห็นขัน เมื่อเด็กๆ ออกวิ่งในท่าต่างๆ กัน บางคนชิดเท้าทั้งสองเข้าแล้วกระโดดตุ๊บๆเหมือนกบ บางคนกางขา เอาเท้าจิกเข้าที่มุมกระสอบ แล้ววิ่งไปอย่างนั้น เธอเห็นพี่แมะตัวอวบอ้วนเม้มปาก ท่าทางขึงขัง ดึงขอบกระสอบป่านขึ้นมา จนสุดถึงคอ แล้วกระโดดเป็นจังหวะตุ๊บๆ ไปก่อน พอเห็นคนอื่น เขาล้ำหน้า ก็เปลี่ยนวิธีใหม่ เป็นวิ่งถ่าง มุมกระสอบบ้าง แล้วก็เปลี่ยนวิธีใหม่อีก โดยวิ่งพลาง ม้วนริมกระสอบที่ยาวถึงคอ ให้ลดลงไปพลาง ที่ผู้คนโดยรอบหัวเราะกันใหญ่ คงจะเป็นพี่แมะ นี่เองแหละ วิธีสุดท้ายนี้ ทำให้พี่แมะ วิ่งเร็วขึ้นนำ เป็นที่หนึ่ง น้อยและเพื่อนๆ โรงเรียนแว้ง ยิ่งตะโกนกันใหญ่ จนพี่แมะมั่นใจว่าต้องชนะแน่ จึงยิ้มเสียกว้างสุดมุมปาก

อยู่ๆ เท้าพี่แมะก็เกิดผิดจังหวะขัดกันเอง น้อยหลับตาเมื่อเห็นพี่สาวล้มคะมำไม่เป็นท่า กว่าจะลุกขึ้นมา ยืนในกระสอบได้อีกที นักกีฬาโรงเรียนอื่นก็พากันตุ้บตั้บขึ้นหน้าไปหมดแล้ว ผู้คนเฮกันลั่น พ่อกับแม่ ก็ขำพี่แมะเหมือนกัน

'โอ๊ย พี่แมะได้ที่โหล่ หัวเราะอะไรเล่า!' น้อยคิด นึกไม่ถึงว่าการแข่งขันกีฬาจะกลายเป็นเรื่องสนุก สำหรับคนดู ไปได้เหมือนกัน พี่แมะได้ที่โหล่ก็จริง แต่พี่ของเธอ ก็ทำให้คนรอบสนาม ชอบใจ มากที่สุด มากกว่าคนได้ที่หนึ่ง ด้วยซ้ำไป เมื่อถึงตาของเธอ ผู้คนก็อาจจะชอบอย่างนั้นบ้าง เหมือนกัน

"ต่อไปจะเป็นการแข่งขันวิ่ง ๘๐ เมตรหญิงรุ่นจิ๋ว" เสียงคุณครูอรุณประกาศต่อ

แดดเวลา ๑๑ นาฬิกาตรงร้อนเปรี้ยง จนครูผู้หญิงหลายคน หลบเข้าไปอยู่ชั้นล่างของโรงเรียน และ ชาวบ้านก็ถอยร่น จากขอบสนาม เข้าไปตรงชายสวนยาง เพื่ออาศัยร่มเงา ของใบยาง ที่หนาทึบ จนแดดแทบส่องลงมา ไม่ถึงพื้นดิน นักเรียนเล็กๆ ทั้งหญิงชายเท่านั้น ที่ยังเดินเกลื่อนกล่น กันในสนามอย่างไม่สะทกสะท้าน เพื่อคอยเข้าแข่งขันบ้าง คอยตะโกนให้กำลังใจเพื่อนที่ลงแข่งบ้าง ไม่มีใครถอย สำหรับ ยุวชนของชาติ แล้วจะไปกลัวทำไม กับแดดแค่นั้น

น้อยใจสั่นเล็กน้อย แต่ความมั่นใจที่จะเอาชนะเด็กโรงเรียนอื่น ในการวิ่งนัดนี้มีสูงกว่า เธอไม่ได้ มองไป ทางพ่อและแม่ ไม่ได้มองพี่แมะ ไม่ได้มองแม้แต่มณีพรรณเพื่อนรักที่ยืนอยู่ข้างๆ เสียงเรียกของ คุณครูอรุณคนนั้น สำคัญกว่าอะไรหมด เธอจะทำให้ทุกคนผิดหวังไม่ได้ ก็ทุกคนรู้กันแล้วว่า เธอซ้อมวิ่งทุกเช้าเย็น จนเรียกว่า ปลิวไปตามลมได้แล้วนี่นา

น้อยออกเดินตรงไปที่ลู่วิ่ง รู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างชื้นๆ อยู่ในหน้า พระอาทิตย์แผดแสงจ้า ผ่านเมฆลงมา จนหลายคนต้องป้องตา อะไรชื้นๆ นั้นเคลื่อนต่ำลงมาในช่องจมูกของเธอ วูบหนึ่ง น้อยคิดว่าเหงื่อไหล แล้วก็คิดว่า 'เอ๊ะ! เหงื่ออะไร ทำไมจะไหลทางช่องจมูก ทำไมไม่ไหลลงมา ที่หน้าผาก?' ก็พอดีกับเสียงคุณครูมนัสดังขึ้นว่า

"เดี๋ยวครับ คุณครูอรุณ เด็กเลือดกำเดาไหลครับ"

หลายคนวิ่งเข้ามารุมล้อมเธอ คุณครูคำเล็กเอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดเลือดที่กำลังไหลจากจมูก ข้างขวาของเธอ ลงมาเป็นทาง คุณครูพาเธอไปอยู่ใต้ร่มไม้ จับเธอแหงนหน้าขึ้น บอกให้นักเรียน คนหนึ่ง ไปเอาน้ำเย็นมาให้ คุณครูวักน้ำลูบผม ลูบหน้าให้ด้วย 'อ้อ! คุณครูทำอย่างที่สอน ในวิชาอนุกาชาดเลย' น้อยคิดพยายามไม่กลัวเลือด

"เดี๋ยวก็หยุดไหลแล้ว ไม่ต้องกลัว" เสียง คุณครูคำเล็กบอก

น้อยเหลือบตาขึ้น เห็นพี่แมะออกวิ่งไปที่ขอบสนาม แม่กับพ่อยืนอยู่ที่นั่น มีแม่ก็ต้องมีหมากพลู อยู่ด้วย อย่างแน่นอน แป๊บเดียวพี่แมะก็วิ่งกลับมาพร้อมด้วยใบพลู

"คุณครูคะ" พี่แมะพูด "แม่หนูเคยใช้ใบพลูอุดที่จมูกหนูเวลาเลือดกำเดาไหล แล้วมันหยุดค่ะ ให้หนูทำให้น้องนะคะ"

พี่แมะขยี้ใบพลูให้ช้ำนิดหน่อยแล้วม้วนเข้าไปอุดไว้ในจมูกน้อง พลางถามว่า

"แล้วตัวจะยังแข่งไหวเหรอ?"

น้อยพยักหน้าแทนคำตอบ หันไปบอกครูอรุณด้วยว่า "พอเลือดหยุด หนูจะแข่งค่ะ"

เธอเดินออกไปที่เส้นเริ่มต้น มีเพื่อนๆหลายคนเดินตามไปด้วยรวมทั้งมามุและมณีพรรณ เลือดกำเดา หยุดไหลแล้ว แต่ใบพลูที่พี่แมะอุดไว้ยังจุกแน่นอยู่ที่จมูกข้างขวา ฤกษ์วิ่งแข่งของเธอ ดูไม่ดีเสียแล้ว หลายคนคงรู้สึกอย่างนั้น แต่น้อยยังมั่นใจอยู่ว่า จะวิ่งให้ชนะให้จงได้

นักกีฬาหญิงรุ่นจิ๋ว ๕ คนยืนเรียงกันอยู่ที่เส้นเริ่มต้น น้อยมองซ้ายขวา มีเธอคนเดียวที่เป็นเด็กซิแย (สยาม หมายถึงคนไทย ที่เป็นพุทธศาสนิก) นอกนั้นล้วนเป็นเด็กมลายู (หมายถึงเป็นมุสลิม) ทั้งสิ้น เสียงครูอรุณ ออกคำสั่งว่า

"นักกีฬาเตรียมตัว!"

น้อยก้าวเท้าขวาไปชิดเส้นเริ่มต้น เหมือนกับเด็กหญิงข้างๆ เธอ ถอนเท้าซ้ายไปข้างหลังหนึ่งก้าว คุกเข่าลง และขณะที่กำลัง จะโค้งตัวลงเอามือทั้งสองจรดเส้นเริ่มต้น เพื่อเตรียมวิ่งนั่นเอง เรื่องเลวร้ายที่สุดก็เกิดขึ้น

"ปรี๊ดๆๆๆๆ" คุณครูอรุณโรงเรียนบ้านเจ๊ะเหมเป่านกหวีด

น้อยยืดขาหลังที่งออยู่จนตึง ยกตัวโค้ง เงยหน้าขึ้นพร้อมที่จะพุ่งออกไปเมื่อได้ยินสัญญาณวิ่ง แต่นักกีฬาโรงเรียนเจ๊ะเหม ที่ยืนอยู่ริมสุดออกวิ่งไปก่อนโดยไม่คอยนกหวีดดัง ปริ๊ด! จากคุณครูของเขา

นักกีฬาหญิงรุ่นจิ๋วอีกสามคนลังเลอยู่อึดใจหนึ่งก็ออกวิ่งตามไปด้วย น้อยยังหวังว่าครูอรุณ ที่เป็นกรรมการ จะต้องเรียกเด็ก กลับมาเริ่มใหม่ จึงยืนนิ่งอยู่อย่างมีสมาธิ

แต่ผิดคาด เขาไม่เรียก ปล่อยให้เด็กของเขาวิ่งไปล่วงหน้าคนอื่น ทำไม? ทำไม?

เสียงเพื่อนๆ ร้องตะโกนลั่นอยู่ข้างลานวิ่ง "น้อย ออกวิ่งเร้ว! วิ่งซี วิ่ง วิ่ง!"

น้อยออกวิ่งหลังเพื่อน เธอเร่งฝีเท้าเต็มที่ รู้สึกหูอื้อ ตาลาย เธอโกรธคุณครูที่เป็นกรรมการอย่างที่สุด บอกตัวเองว่า ต้องวิ่งให้เร็วกว่าตอนซ้อม แล้วเธอก็เริ่มแซงนักกีฬาที่วิ่งอยู่ข้างๆ ทีละคนๆ จนเหลืออีก เพียงคนเดียว ที่จะต้องแซงขึ้นไปให้ได้ เด็กจากเจ๊ะเหมคนนั้น เสียงตะโกนให้กำลังใจ ของเพื่อนๆ ดังขึ้นๆ

แต่ระยะทางที่เหลือสู่เส้นชัยของเธอสั้นมากเสียแล้ว และนักกีฬาจากโรงเรียนเจ๊ะเหม ก็ออกวิ่งไป ก่อนหน้าเธอมากด้วย น้อยเร่งฝีเท้าอย่างสุดกำลัง เหลือระยะทางอีกเพียงไม่กี่ก้าวก็จะไล่ทันเขาแล้ว เธอเร่งความเร็วอีก แต่เด็กคนนั้นก็เข้าใกล้เส้นชัยมากเหลือเกิน แล้วเสียงกรรมการเป่านกหวีด ดังเข้ามาในหูที่อื้ออึงของน้อย พร้อมกับเสียงประกาศว่า

"นักกีฬาโรงเรียนเจ๊ะเหมชนะที่หนึ่ง นักกีฬาโรงเรียนประชาบาลแว้งได้ที่สอง"

พี่แมะและน้อย เดินกลับบ้านพร้อมพ่อแม่เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อน ก่อนที่จะต้องกลับมา ที่สนามใหญ่ หน้าอำเภอ เพื่อแสดงกายบริหาร ร่วมกับนักเรียน โรงเรียนประชาบาลแว้งทั้งหมด

น้อยเดินหน้ามุ่ยไม่พูดจากับใคร เมื่อถึงบ้านก็ไม่ยอมรับประทานอาหารอย่างดีที่แม่เตรียมไว้ให้

"พ่อคะ แม่คะ ครูโรงเรียนเจ๊ะเหมเขาขี้ฉ้อ น้อยเลยแพ้" น้อยคิดว่าเธอทำให้พ่อแม่ และโรงเรียน ผิดหวัง พี่แมะพยายามพูดหันความสนใจของเธอว่า

"แต่น้อยก็ได้ที่สองนะ พี่สิได้ที่โหล่ ช่างมันเหอะ น้อยก็หัวเราะที่พี่หกกะล้มไม่ใช่เหรอ?"

น้อยนึกภาพที่พี่แมะคุบกบ() แล้วอดขำไม่ได้จริงๆ ด้วย แต่แล้วเธอก็กลับเห็นภาพ เด็กจากเจ๊ะเหม คนนั้น วิ่งนำหน้าลิ่ว ออกไปก่อนสัญญาณและภาพครูอรุณ ที่ไม่เป่านกหวีด ให้เขาหยุด ความรู้สึกโกรธ เสียใจ คับแค้นผุดขึ้นมาอีก เธอหยุดรับประทานอาหารที่เริ่มและเล็ม ลงนั่งหน้ามุ่ยต่อ เอาเท้ายันกระสอบป่าน บรรจุข้าวสาร พลางกรีดนิ้วกับข้างกระสอบไปด้วย พูดว่า

"ก็ถ้าครูคนนั้นไม่โกงให้นักกีฬาเขาชนะ น้อยก็ได้ที่หนึ่งแล้ว อุตส่าห์ซ้อมวิ่งเกือบตาย" แล้วก็นึกอะไร ขึ้นได้ จึงพูดต่อเหมือนบ่นว่า "ไม่เห็นครูอรุณเขาทำเหมือนในเพลงเลย ครูขี้ฉ้อ"

"เพลงอะไร น้อย ไหนว่าให้พ่อกับแม่ฟังซิ อย่าว่าครูเขาอย่างนั้น" พ่อพูดมองหน้าแม่ยิ้มๆ

"ก็เพลงกราวกีฬาไงคะ เขาสอนว่า-" น้อยร้องออกมาเป็นทำนอง "ไม่เล่นเอาเปรียบเฉียบแข่งขัน สู้กันซึ่งหน้า อย่าลับหลัง มัวส่วนตัวเบื่อเหลือกำลัง เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัว -เห็นไหมคะ เพลงยังว่าครูคนนั้นเลย น้อยเกลียด ครูอรุณ คอยดู ถ้ามาบ้านเรา น้อยจะไม่พูดด้วย"

"เอาละน้อย" พ่อพูดเสียงเย็นเมื่อเห็นลูกคนเล็กเอาเท้ายันกระสอบข้าวสารแรงขึ้น "น้อยรู้ไหมว่า น้อยกำลังโกรธ จนกินข้าวไม่ได้ อย่างนี้ในเพลงนั้น เขาว่าน้อยมีอะไรในใจ รู้ไหม?"

น้อยเงยหน้าเง้ามองพ่อ ในใจนึกถึงตอนต่างๆของเนื้อเพลงแต่ตอบพ่อไม่ถูก จึงส่ายหน้าแทน

"เขาเรียกว่า 'กิเลส' มันทำให้น้อยเศร้าหมอง ไหนลองร้องตอนต้นที่มีคำว่า'กิเลส'ซิ" พ่อสั่งอีก

น้อยต้องทำตาม เธอร้องขณะที่แม่กับพี่แมะหัวเราะเบาๆ ว่า "กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษฮ้าไฮ้ ๆ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน" พอถึงตรงนี้พ่อก็พูดทันทีว่า

"เอาหละ ไหนน้อยร้องว่ากีฬาที่น้อยเล่นเป็นยาวิเศษ แล้วทำไมมันแก้กองกิเลสไม่ได้ล่ะลูก?"

หน้าเง้าของน้อยคลายลง เธอเริ่มคิดว่าในเนื้อเพลงเขาสอนอย่างหนึ่งแต่เธอลืมไป นึกแต่เรื่องที่ถูกโกง จึงตอบพ่อว่า

"ก็ครูอรุณเขาโกง น้อยแพ้ น้อยก็ต้องโกรธยาวิเศษก็เลยแก้กองกิเลสไม่ได้ จะแก้ยังไงคะ?"

"ถ้าน้อยมีน้ำใจนักกีฬาจริงอย่างที่น้อยคิดก็ต้องแก้ได้สิ" พ่อเริ่มอธิบาย "จริง ครูอรุณไม่ได้เป่านกหวีด แต่เขาอาจไม่ได้ตั้งใจโกง พ่อรู้ น้อยกำลังเถียงพ่อในใจอีกสิว่า เขาตั้งใจจะให้เด็กเขาชนะ สมมุติว่า เป็นอย่างนั้นจริง- เอาหละ ไหนน้อยลองร้องเพลงต่ออีกหน่อย ร้องตอนที่สามน่ะ ก่อนตอนที่น้อยเอามาว่า ครูอรุณเขาน่ะ"

น้อยเริ่มเข้าใจความหมายของพ่อแล้ว และเข้าใจกระจ่างในขณะที่ร้องเพลงกราวกีฬาท่อนนั้นว่า

"ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักทีหนีทีไล่ รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง"

"น้อยเข้าใจแล้วใช่ไหม อย่าเอาแต่ร้องเป็นและจำได้ ผู้แต่งเขาสอนไว้ดีแล้ว แต่น้อยโกรธเสียจนลืม ที่เขาสอน คิดแต่จะเอาชัยชนะมาให้โรงเรียน ตอนนั้นน้อยมีกิเลสคือน้อยโกรธ ก็เลยคิดแต่จะไล่ เขาให้ทัน แล้วก็จะหนีเขา ไม่ให้ตามน้อยทันด้วยใช่ไหม ใจน้อยก็เลยไม่มั่นคง ไม่ทรงศักดิ์ พอผลออกมาว่าน้อยแพ้เขา ลูกก็เลยยิ่งโกรธใหญ่ จนไม่รู้แพ้รู้ชนะ และที่สำคัญที่สุด ครูอรุณ เขาอาจจะพลาด แต่น้อยพลาดกว่า คือไม่รู้จักอภัย มีแต่ความโกรธเขา และไปคิดว่าการแพ้ เป็นความน่าอาย ไม่ใช่เลย อภัยอย่างในเพลงว่า อย่างไรเล่า ลูกคือทางแก้ที่น้อยถาม ยากไปไหม?"

"เค้าหกกะล้มจนคนหัวเราะทั้งสนาม ไม่เห็นเป็นอะไร ได้ที่โหล่ด้วย" พี่แมะเสริมคำพูดพ่อ

เนื้อเพลงกราวกีฬาที่หัด ฝึก และซ้อมจนร้องได้คล่องขึ้นใจ เพิ่งจะกระจ่างแก่ใจน้อยตอนนี้เอง เมื่อพ่ออธิบายให้ฟัง ร่วมกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นตัวเธอ และการที่พี่แมะได้ที่โหล่ เป็นตัวอย่างให้เห็น เธอหดเท้าที่เหยียด ไปยันกับกระสอบป่านออก หันมารับประทานอาหารกลางวันต่อ ในสมอง เห็นภาพพี่แมะ ล้มคุบกบสองสามทอด จึงหัวเราะออกมา อย่างเห็นขัน ฤทธิ์หิวและรสอาหาร ที่แม่เตรียมไว้ให้ ก็เพิ่งจะรู้สึกว่า สุดโอชะเดี๋ยวนี้เอง

ทุกอย่างกลับเป็นปรกติ น้อยเริ่มนึกถึงรายการตอนบ่ายสี่โมงเย็น ในสนามหน้าอำเภอต่อ

ปริ๊ด-ปรี้-ปริ๊ด ๆๆ ดังมาจากถนนใหญ่ หน้าโรงเรียนแล้ว ครูซาลาม(๔) แต่งตัวอย่างนักฟุตบอล เต็มที่ สวมกางเกงขาสั้น เสื้อยืดเป็นลายขวาง สีน้ำเงิน-ขาว รองเท้าหนังสีดำสำหรับวิ่ง ถุงเท้า ของเขา ก็ยาวเกือบถึงเข่า เป็นลายเหมือนเสื้อยืด เดินถือลูกฟุตบอล นำหน้าแถว นักฟุตบอลของ อำเภอแว้ง ชายเขต ที่แต่งตัวแบบเดียวกัน มาอย่างสง่าผ่าเผย ตามด้วยแถวเด็กนักเรียน โรงเรียน ต่างๆ ที่มาแข่งกีฬาทั้งหมด แต่ก็มีเพียงนักเรียน ประชาบาลแว้งเท่านั้น ที่มีธงเล็กสีสันต่างๆ อยู่ในมือด้วย

น้อยรู้สึกภาคภูมิใจจนคับหัวอกขณะเดินตัวตรงร่วมกับเพื่อนๆ เป็นยุวชนของชาติในอำเภอแว้ง ที่รักแห่งนี้ ทุกคนเดินอย่างกระฉับกระเฉง แข็งแรง ถูกจังหวะ ปริ๊ด-ปรี้-ปริ๊ด ซ้าย-ขวา-ซ้าย พร้อมกับ ร้องเพลง กราวกีฬากระหึ่ม ไปถึงตลาด

รอบสนามฟุตบอลใหญ่หน้าที่ว่าการอำเภอและโรงพักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่เกือบจะเรียกว่า ทิ้งบ้านเรือน มาชมการแข่งขัน และการแสดงกายบริหารของลูกหลานในวันนี้ ร้านค้าส่วนมาก ปิดไป เพราะถึงเปิด ก็ไม่มีใคร มาซื้อของหรอก พวกแม่ค้าในตลาดยกข้าวของมาขายรอบสนาม บนอำเภอ บนโรงพัก ก็มีข้าราชการ และตำรวจ ออกันออกแน่นไป คุณครูที่เป็นกรรมการการแข่งขัน ได้จัดการ เว้นที่ เกือบชิดขอบสนามไว้ให้เด็กนักเรียนที่เดินแถว เข้ามาได้เดินเข้าไปชม การแข่งขัน ฟุตบอล ระหว่างโรงเรียนประชาบาลแว้ง และประชาบาลบ้านสามแยกอย่างชัดเจน จะได้ตะโกน ให้กำลังใจ นักกีฬาของฝ่ายตนด้วย

ตอนนี้ ครูซาลามนำแถวนักฟุตบอลของอำเภอ นักฟุตบอลตัวจ้อยๆ ของทั้งสองโรงเรียน ตามด้วย นักเรียนทั้งหมด เข้าไปในสนามแล้ว น้อยเชื่อว่าทั้งเธอ พี่แมะและเด็กทุกคนต่างเดินท่าทางเข้มแข็ง ตั้งใจฟังคำสั่ง ของคุณครูคำเล็ก อย่างใจจดใจจ่อ เมื่อคุณครูยังเป่าปริ๊ด-ปรี้-ปริ๊ด ทุกคนก็ย่ำเท้า อยู่กับที่ ในแถวที่ตรง และดูงดงามอย่างยิ่ง สักครู่ก็ได้ยินเสียงบอกแถวว่า แท้ว-ยุ้ด เด็กๆ ก็ย่ำเท้า ซ้าย-ขวา อีกสองครั้ง ก่อนหยุดนิ่ง พร้อมกัน แล้วคุณครูก็บอกอีกว่า แท้ว-พัก ตอนนี้ทุกคน เอามือจับไว้ข้างหลัง และย่อเข่าผ่อนคลายได้ แต่แค่แป๊บเดียวเท่านั้น ก็ได้ยินคำสั่งอีกว่า

"นักเรียนทั้งหมด แท้ว-ตร้ง! ร้องเพลงชาติ 'ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย-'"

น้อยยืนตัวตรงแหนว ร้องเพลงชาติอย่างเต็มเสียงเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ทุกโรงเรียน เธอมองเห็นผู้คน ที่ขอบสนามได้ชัดเจน เมื่อช้อนสายตามองขึ้นไปบนโรงพักและที่ว่าการอำเภอ ก็เห็นทุกคนบนนั้น ยืนตรงหมด ไม่มีเสียงอื่นใด ทั้งสิ้น นอกจากเสียงเด็กๆ ร้องเพลงชาติ นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่น้อยได้เห็นภาพ อันบอกถึงพลังความแข็งแกร่ง ของความสามัคคีและความรัก ที่ทุกคนมีต่อ ประเทศชาติ อันเป็นที่รัก

เมื่อเพลงชาติอันศักดิ์สิทธิ์จบลง เสียงคุณครูก็นำขึ้นต้นเพลง อำเภอแว้งชายเขต กระหึ่มขึ้นอีก

อำเภอแว้งชายเขตแดนประเทศของชาติไทย
แม้จะอยู่ห่างไกลห่างไกลมหาศาล
เป็นถิ่นสำคัญเป็นที่ป้องกัน กีดกั้นการรุกราน
อาจยั้งไพรี ใครกล้าโจมตี
ไทยผลาญชีวี แตกหนีแหลกลาญ
ธงไทยสะบัดอยู่ใน เขตไทยไพศาล
เรารักษาเขต ชโย! ทุกวัยทุกเพศ ชโย!
เป็นเขตอาจหาญ
ชาวแว้งเลือดไทย น้ำใจร่วมกัน
รักเกียรติแผ่นดินถิ่นฐาน ของไทยยิ่งเอย ฯ
(๕)

หลังจากแถวนักเรียนเดินออกจากสนามแล้ว ครูซาลามก็นำทีมนักกีฬาฟุตบอลแว้งลงไปเตะฟุตบอล ให้ชาวบ้าน ได้ชมเป็นตัวอย่างพักหนึ่ง จากนั้น ทีมฟุตบอลโรงเรียนประชาบาลแว้ง และโรงเรียน ประชาบาลสามแยก ก็เดินเป็นสองแถวลงสนาม เด็กๆ ตะโกนให้กำลังใจนักกีฬาของตน กันอึงคะนึง สมานวาด อุดม เพื่อนร่วมชั้นของน้อย ก็ได้ลงเล่นด้วย

น้อยดูฟุตบอลไม่เป็น ไม่รู้กฎกติกาใดๆเกี่ยวกับการเล่นประเภทนี้ เธอรู้แต่ว่าต่างฝ่าย ต่างต้อง พยายาม เตะลูกหนังกลมๆ ให้เข้าไปในช่องเสาสองเสาของอีกฝ่าย ที่มีนายโก คอยป้องกันอยู่ และเมื่ออีกฝ่าย จะเอาลูกบอล มาเตะเข้าทางช่องเสาของฝ่ายตนบ้าง ก็ต้องป้องกันไม่ให้เขาทำได้ ทุกคนต้องเตะลูก จะเอามือไปจับไม่ได้นอกจากนายโก อีกอย่างหนึ่งที่เธอทราบจากเพื่อนก็คือ ครูซาลามเป็นผู้ตัดสิน โดยใช้นกหวีด ทุกคนต้องฟังเขา ถ้าใครทำผิด ครูซาลามจะไล่ออกได้ด้วย

น้อยจับตาไปที่เพื่อนแต่ละคนในสนาม เธออยากเห็นสมาน ซึ่งบอกว่าเขาเป็นเซ็นเต้อ เบอเจ็ด แย่งลูกฟุตบอล มาจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ แล้วเตะมันไปให้อุดม ซึ่งเป็นหาบส่งต่อไปให้พี่ ป.๔ เพื่อนพี่แมะ ที่เป็นวิงพาลูกบอลนั้น ไปเตะเข้าระหว่างเสาสองเสาที่มีนายโก ของโรงเรียน สามแยก ยืนเฝ้าอยู่

เธอไม่อยากให้นักกีฬาโรงเรียนสามแยกแย่งลูกไปได้ ไม่อยากให้มีพวกเขาแม้แต่คนเดียว มาขวาง ฝ่ายเธอ ได้เอาเลยแหละ เมื่ออีกฝ่ายได้ลูกไป เธอก็ตะโกนให้วาด เพื่อนตัวล่ำบึ่ก ซึ่งเล่นเป็นแบ๊กซ้าย คอยกันไม่ให้ลูก ไปใกล้โก ได้เป็นอันขาด สักพักใหญ่น้อยก็รู้สึกเหนื่อย แทนเพื่อน ในสนามเสียจน อดคิดไม่ได้ว่า

'เราวิ่งคนเดียวยังเหนื่อยแทบตาย นี่ทั้งวิ่งไล่ลูกบอลแล้วยังถูกเขาเตะเอาอีกด้วย'

ในที่สุดเธอก็ลงความเห็นว่าคนที่โก้ที่สุดในสนามฟุตบอลในวันนี้ไม่ใช่นักกีฬาที่ลงไปเล่นหรอก ไม่ใช่ครูซาลาม ที่เป็นผู้ตัดสินด้วย แล้วเธอก็ละสายตาจากผู้เล่น ไปดูคนที่โก้และเด่นที่สุด ในสนามวันนั้นเสีย

ก็คนที่วิ่งไปวิ่งมา อยู่ที่เส้นขอบสนาม ต่างหากเล่า เป็นคนโก้ที่สุด เด่นที่สุด เขาเป็นเด็กนักเรียนชาย ของโรงเรียนแว้งทั้งคู่ คนหนึ่งวิ่งอยู่ด้านอำเภอและโรงพักชื่อสมหมาย แต่เขาตัวดำ ผมหยิกหยอง เหมือนเงาะ ซ้ำตาข้างหนึ่ง ก็เหล่ด้วย ต้องอีกคนหนึ่งซี คนที่อยู่ด้านบ้านพัก ปลัดอำเภอ ชื่อ ไพฑูรย์ คนนี้สิถึงจะหล่อจริง เป็นเด็กกรุงเทพผิวเหลืองอ๋อย เพราะแม่เขาทาขมิ้น ให้ทุกวัน แถมยังพูด บางกอกได้ เพราะกว่าทุกคน ในโรงเรียนแว้งด้วย!

วันนี้ไพฑูรย์แต่งตัวแบบนักกีฬา มีถุงเท้ารองเท้าด้วย เขาวิ่งไปมาตามเส้นขอบสนาม อย่างไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อย ในมือมีธงชาติผืนเล็กมีด้ามปลายแหลมอยู่ด้วย เมื่อใดที่ลูกฟุตบอลออกนอกเส้นขอบ เขาก็จะวิ่งไปยืน ตรงจุดนั้น ชูธงขึ้นก่อนแล้วปักมันฉึกลงบนสนาม จากนั้นก็จะยืนตรงอยู่ข้างธง ที่ปักไว้บนดิน จนกระทั่ง นักกีฬามาเก็บลูกฟุตบอลไป เขาก็จะถอนธงขึ้นมาวิ่งตามเส้นขอบต่อ

ใครๆ ก็ชมว่าไพฑูรย์โก้จริงๆ ปักธงทีไหนธงก็ติดตรงในดินตรงนั้น แล้วเวลาเขายกธงขึ้น ครูซาลาม ผู้ตัดสินยังต้องเป่านกหวีด และนักกีฬาทุกคนต้องหยุดเล่นอย่างเชื่อฟัง ทำให้น้อยสรุปว่า

'ไพฑูรย์ต่างหากเล่าที่มีอำนาจสูงสุดในสนามฟุตบอลแห่งนี้ ใครว่าครูซาลาม ไม่ใช่ซักกะหน่อย สมหมายก็ไม่โก้เท่า ถึงจะพยายามทำท่าให้เหมือนไพฑูรย์ก็เถอะ ปักธงที่ไหนธงล้มทุกที'

จนกระทั่งครึ่งหลังของการเล่น นักกีฬาทั้งสองฝ่ายต้องกลับข้างกัน ไพฑูรย์ต้องไปวิ่งตามขอบสนาม อีกด้านหนึ่ง สมหมายมาอยู่ด้านที่น้อยยืนอยู่ เธอยังจับตาชมความโก้ของไพฑูรย์ต่อไป แต่คราวนี้ เธอต้องแปลกใจ อย่างล้นพ้น ที่เขาปักธงทีไหนธงก็ล้มทีนั้น ส่วนสมหมายปักทีไหน ธงกลับติดตรงทุกที จนคนดูพากันตบมือให้เหมือนกัน น้อยรู้คำตอบแล้ว คำตอบมาพร้อมกับ ความโก้ของไพฑูรย์ ที่ลดลงไปกับความจริงนั้น

'โธ่เอ๋ย! ก็สนามฟุตบอลแว้งมันลาดเอียง ฟากที่น้อยยืนอยู่ต่ำกว่าอีกฟากหนึ่ง ดินอ่อนตัวเพราะ มีน้ำอยู่ข้างใต้ จะเป็นไพฑูรย์หรือสมหมาย ก็ปักธงตั้งทั้งนั้น อีกฟากสูงกว่า ดินแห้งแข็ง ใครปักธง ก็ล้มอยู่ดีแหละ!'

น้อยไม่รู้สึก เดือดร้อนอะไรนัก ที่ผลการแข่งฟุตบอลวันนั้นเสมอกัน ๒-๒ สำหรับเธอ กายบริหาร ที่กำลังจะเป็นการแสดงปิดท้ายวันสำคัญนั้นต่างหากเล่า ที่สำคัญที่สุด ฟุตบอลเล่นกันแค่ข้างละ ๑๑ คนเท่านั้นเอง ต้องกายบริหารนี่สิ นักเรียนแว้งทั้งโรงเรียน กำลังจะลงไปแสดง อย่างพร้อมเพรียงกันหมด น่าดูไหมเล่า?

น้อยกับมณีพรรณเดินเข้าแถวคู่กัน มณี-พรรณมีธงสีเหลืองสองอันเหน็บอยู่ที่สะเอวข้างหลัง ส่วนน้อย มีธงสีแดง ทุกคนเดินปริ๊ด-ปรี้-ปริ๊ด ซ้าย-ขวา-ซ้าย ตามเสียงนกหวีดของคุณครูคำเล็ก พอถึงจุด ที่คุณครูมนัสยืนอยู่ ก็แยกเป็นแถวหน้ากระดาน ทุกคนทำอย่างนั้น เมื่อขยายแถวออก แต่ละแถว ก็ถือธงสีเดียวกันหมด จากนั้นจึงเป็นท่ากายบริหารง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยยากขึ้น สุดท้าย จึงถึงตอน สวยงามจับใจ คนชมมากที่สุด นั่นคือ เมื่อเด็กได้รับเสียงสัญญาณนกหวีดพิเศษ ต่างก็ไขว้มือ อ้อมไปข้างหลังดึงธงออกมาถือไว้ทั้งสองมือ น้อยรู้สึกภูมิใจนักที่ได้ยินเสียงคน ตบมือกันเกรียวกราวรอบสนาม ตอนที่นักเรียนทุกคนชูธงขึ้น และลดธงลงพร้อมๆ กัน เสียงตบมือ ยังดังมาไม่ขาดสาย เมื่อเด็กเริ่มตีธงไปทางซ้ายทางขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน ตามมาด้วยท่า นั่งคุกเข่า ท่านอน และท่าวิ่งวนไปมาเป็นวงกลมสีต่างๆ ประสานกัน

ไม่มีใครรู้สึกเหนื่อยเลยเมื่อการแสดงสิ้นสุดลง เด็กๆ เดินแถวเรียงสองออกจากสนาม ไปแยกเรียงหนึ่ง รอบสนามฟุตบอลอีกครั้ง

เสียงคุณครูคำเล็กเป่านกหวีดเป็นสัญญาณให้ทุกคนยืนตรงและรับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ที่สุด อีกเพลงหนึ่ง ของชาติไทย โดยคุณครูเป็นคนร้องนำเสียงกังวานไปทั่วสนามว่า

'ข้าวรพุทธเจ้า
เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาลบุญญดิเรก
เอกบรมจักรินฯ...'


หมายเหตุ : เขียนเสร็จเวลา ๑๕.๑๕ น. ๒๘ พ.ย.๔๖ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ บางซื่อ กทม. ขอขอบคุณ สมาน มหินทราภรณ์ เป็นอย่างยิ่ง ที่อุตส่าห์โทรศัพท์ทางไกล มาร้องเพลง อำเภอแว้งชายเขตให้ฟัง เพื่อยืนยันว่า จำได้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเรื่องผู้แต่ง และเรื่องทีมฟุตบอล ของแว้งที่รักของเรา ครั้งกระโน้น และขอขอบพระคุณ คุณสุชาดา สิมาโรจน์ สำหรับข้อมูลภาษาจีน

(๑) คำนี้เราคงยืมมาจากภาษาอังกฤษ "lemonade" อย่างแน่นอน แต่กร่อนเสีย พร้อมกับเติม คำว่า "น้ำ" เข้าไปด้วย แรกเริ่มน่าจะเข้ามาเป็นขวดปากคอด มีลูกแก้วอัดไว้ตรงคอขวด ต้องกดลูกแก้ว นั้นลง ให้น้ำหวาน ที่ผสมโซดาฟู่ขึ้นมา เป็นของใหม่ในยุคโน้น ซึ่งบัดนี้ก็หายไปแล้วเช่นกัน

(๒) "ขนมปำ" เป็นคำปักษ์ใต้ ตรงกับ "ขนมถ้วยฟู" ของภาคกลาง กรรมวิธีการทำและลักษณะ เหมือนกัน ทุกประการ คือทำในถ้วยตะไล และรับประทานกับมะพร้าวขูด ผสมเกลือป่นเล็กน้อย มีสีสันสวยงาม ขนมอย่างนี้แต่เป็นสีน้ำตาลอ่อน เคยเห็นคนจีนหาบขายที่จังหวัดสงขลา แต่ทำในถาด และตัดขายเป็นชิ้นๆ เขาร้องขายว่า "ปาถ่องโก๋" คล้ายกับขนมถ้วยฟูรูปกลมสีขาว ที่คนจีนแต้จิ๋ว ในกรุงเทพฯ ทำในงานมงคล เรียกว่า "ฮ้วกก้วย" แปลว่า "ขนมฟู" หมายเอาคำว่า "ฟู" เป็นคำมงคล ให้แก่กัน ส่วนคำว่า "ขนมปำ" ที่คนปักษ์ใต้ เรียกนั้น น่าจะยืมมาจากภาษามลายูว่า "อะปำ" ที่เขาใช้เรียกขนมถ้วยฟู เหมือนกัน

สรุปว่า คนไทยเราสามารถมากในการรับเอาสิ่งที่ดีของคนอื่นเข้ามาผสมกับของไทย รับมาทั้งชื่อ และ ความหมาย อย่างนี้นี่เองที่ทำให้เราเข้ากับใครก็ได้แบบชาวพุทธแท้ คือช่างปรับมากกว่า ปฏิเสธ

(๓) คำนี้น่าจะเป็นคำกริยาเปรียบเทียบเดิมของไทย หมายความว่าล้มคว่ำหน้าเหมือนกบ หรือล้มในท่า คนตะครุบกบ ตัดเสียงประวิสรรชนีย์แบบปักษ์ใต้เสีย เหลือเป็น 'คุบกบ' แถมในบางครั้ง เปลี่ยนไปเป็น 'ฟุบกบ เช่น ในบทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนราห์ เขียนว่า "ฟุบกบกระหยบเงียบมิเกรียบได้"

(๔) ครูซาลามท่านนี้เป็นคนไทยมุสลิม ย้ายมาเป็นครูที่อำเภอแว้ง แล้วเลยตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ตลอดชีวิต มีชื่อจริงว่าครูสุวัฒน์ ปรีชากุล เป็นนักกีฬาฟุตบอล ผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลอำเภอแว้ง จนเป็นทีมที่เก่ง สามารถ เอาชนะทีมปาเซมัสของมาเลเซีย และเคยขึ้นไปแข่งถึงจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

(๕) ได้รับการบอกจากสมาน มหินทราภรณ์ อบต.อำเภอแว้งว่าผู้แต่งเพลงนี้มีหลายคน เช่น คุณประดับ (จำนามสกุลไม่ได้) และปลัดสันทัด ทิพยทัศน์

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -