ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ


ในความเป็น"โลกุตรภูมิ" จะมี"อธิปัญญา" หรือ"วิชชา ๙" ที่สามารถเข้าใจในความเป็น"ประโยชน์" (อัตถะ) ต่างๆ อย่างละเอียดประณีตซับซ้อนซ่อนเชิง ไม่ว่าจะเป็น"ทิฏฐธัมมิกัตถะ" หรือ "สัมปรายิกัตถะ" ไม่ว่า "ประโยชน์ตน" ที่เรียกว่า "อัตตัตถะ" ไม่ว่า"ประโยชน์ผู้อื่น"ที่เรียกว่า"ปรัตถะ" และทั้งประโยชน์ของตนทั้งของผู้อื่น ๒ ฝ่ายที่เรียกว่า"อุภยัตถะ" จะประโยชน์ตนก็ดี ประโยชน์ผู้อื่นก็ดี ประโยชน์ ๒ ฝ่ายก็ตาม ก็ยังแยกออกไปเป็น "ประโยชน์แบบโลกียะ" นั้นก็อย่างหนึ่งเป็น "ประโยชน์แบบโลกุตระ" นั้นก็อีกอย่างหนึ่ง และถ้าประโยชน์นั้นเข้าขั้นอาริยะ หรือเป็น "ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็เรียกว่า "ปรมัตถะ" หากประโยชน์นั้นถึงขั้นอาริยะสูงสุด คืออรหันต์ ก็เรียกว่า "อุตตมัตถะ"

เรามานิยามความว่า "ประโยชน์แบบโลกีย์" กับ "ประโยชน์แบบโลกุตระ" กันให้ชัดๆว่า เป็นไฉน และ เส้นแบ่งเขต ความแตกต่างกัน ที่คมชัดที่สุดอยู่ตรงไหน

คำจำกัดความของ "ประโยชน์แบบโลกีย์" ก็คือ "เราได้วัตถุได้แรงงานหรือได้อารมณ์สุข ได้อะไรๆ ก็ตาม ที่ตนพอใจ" ไม่ว่าจะเป็นทางรูปธรรมหรือทางนามธรรม ชาวโลกีย์ต่างก็ถือกันว่า นี่คือ "ผลประโยชน์"

ส่วน"ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็คือ หมายเฉพาะจิต..เจตสิก เป็นสำคัญ ชาวโลกุตระถือกันว่า "ผลประโยชน์"ที่แท้ ที่เราจะได้ คือ "เราได้ลดละกิเลสตัณหาอุปาทานในจิต" แม้เราจะทานวัตถุ หรือให้แรงงานแก่ผู้อื่น เราไม่ได้วัตถุ เรา "ให้" ออกไปด้วยซ้ำก็ตาม ประโยชน์ที่ชาวโลกุตระ "ได้" ก็คือ ต้องรู้จักจิต..เจตสิก ปฏิบัติที่จิต ถ้าทำจิตใจของตน ให้ละโลภโกรธหลง หรือทำให้กิเลสตัณหา อุปาทานของตนลดได้ นั่นคือ "ผลประโยชน์แบบโลกุตระ"ที่แท้จริง

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -

 

ส่วน"ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็คือ หมายเฉพาะจิต..เจตสิก เป็นสำคัญ ชาวโลกุตระถือกันว่า "ผลประโยชน์"ที่แท้ ที่เราจะได้ คือ "เราได้ลดละกิเลสตัณหาอุปาทานในจิต" แม้เราจะทานวัตถุ หรือให้แรงงานแก่ผู้อื่น เราไม่ได้วัตถุ เรา "ให้" ออกไปด้วยซ้ำก็ตาม ประโยชน์ที่ชาวโลกุตระ "ได้" ก็คือ ต้องรู้จักจิต..เจตสิก ปฏิบัติที่จิต ถ้าทำจิตใจของตน ให้ละโลภโกรธหลง หรือทำให้กิเลสตัณหา อุปาทานของตนลดได้ นั่นคือ "ผลประโยชน์แบบโลกุตระ"ที่แท้จริง

ขยายความอีกที "ประโยชน์แบบโลกีย์" นั้น "ประโยชน์ตนหรือผลประโยชน์"ที่ชาวโลกีย์ นับว่า ตนเป็น"ผู้ได้" สำหรับส่วนที่เป็นภายนอก ก็คือ "เราได้วัตถุนั้นๆหรือรูปธรรมนั้นๆ มาให้แก่ตน" ส่วนที่เป็นภายในหรือด้านนามธรรม ก็ถือเอาตรงที่ "เราได้ความสุขหรือได้อารมณ์อันน่าพอใจ" และในขณะที่ "ได้" สิ่งเหล่านั้น ในจิตใจของชาวโลกีย์จะมีจิตใจโลภหรือหวงแหน แม้ถึงขั้นทุจริต ชาวโลกีย์ก็ไม่ได้คำนึง ไม่ได้สังวร ขอให้ "ได้มา" เป็นสำคัญ ก็นับว่านั่นคือ"ผลประโยชน์ หรือประโยชน์ตน"

ชาวโลกีย์บางคนคำนึงในเรื่องความโลภอยู่บ้าง สังวรบ้าง บางคนถึงขั้นเป็นนักปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำก็เถอะ แต่ถ้าคนผู้นั้นไม่รู้จักทฤษฎี"โพธิปักขิยธรรม ๓๗" แม้จะรู้จักแต่ปฏิบัติจนมีความสามารถบรรลุมรรคผลให้แก่ตนยังไม่ได้ "กรรม"ที่กระทำทั้งหลายถึงจะเข้าข่าย"กุศล" ก็ยังอยู่ในวัฏฏะอยู่ในโลกของ"ประโยชน์ตนหรือผลประโยชน์"แบบโลกีย์ อยู่นั่นเอง

เพราะผู้ที่ขึ้นชื่อว่ายังอยู่ใน "ภูมิโลกีย์" ก็คือ ยังไม่มีความรู้เข้าขั้น "โลกุตระ" ดังนั้นย่อมจะไม่รู้จัก ความเป็น "ประโยชน์แบบโลกุตระ" แน่ยิ่งกว่าแน่
[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -