หน้าต่างความคิด - ศิวกานท์ ปทุมสูติ -

๑๑. เมื่อยังตั้งคำถามว่า "ทำไม"


จะหาว่าผม "ยกตนข่มคุณ" หรือคิดอย่างไรก็ตามแต่คุณจะคิดเถิด แต่ผมอยากจะบอกคุณว่า ผมมักจักตั้งคำถามที่มีคำว่า "ทำไม" กับตัวเองอยู่เสมอ เพราะผมเชื่อว่า มันจะทำให้ผม พัฒนาตนเอง และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผมได้ เช่นคำถามว่า

ผมเกิดมาทำไม?

ผมทำ (สิ่งนั้น/สิ่งนี้) ทำไม?

ทำไมผมไม่ลองทำไม่ทำดูบ้าง?

ผมจะต้องมัวไปถามอยู่ทำไมว่าคุณทำไมไม่ทำนั่นทำนี่?

ทำไมผมไม่ทำเสียเองล่ะ?

โลกทำไมต้องเป็นอย่างที่เป็นมาและจะต้องเป็นไป?

ทำไมผมจะต้องมีศาสนา, ผมแค่เรียนรู้ธรรมปรัชญาของแต่ละศาสนาเท่านั้นไม่ได้หรือ?

คำถามเหล่านี้มันทำให้ผมรู้สึกกระตือรือร้นที่จะค้นหาคำตอบ ทบทวนตนเอง หาทางเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำอะไรๆ และที่สำคัญมันทำให้ผม "สว่าง" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผมไม่หลงตนเอง ไม่ยึดติดกับคำตอบเก่าเมื่อมีคำตอบใหม่ที่ดีกว่า...สว่างกว่า

คุณล่ะ เคยตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวเพื่อจะค้นหาคำตอบให้กับตนเองอย่างจริงจังบ้างหรือยัง หรือมัวแต่ตั้งคำถามกับคนอื่นอยู่ร่ำไปว่า

ทำไมเขาทำเช่นนั้นนะ?

ทำไมเขาไม่เป็นเหมือนเช่นที่พูดเอาไว้เลย?

ทำไมเธอ (ท่าน/มัน/อ้ายหมอนั่น...) ช่างโง่เสียจริง?

ทำไมสังคมไม่พัฒนาซะที?

ทำไมพวกเขาไม่ยอมเข้าใจฉันเอาเสียเลย?

ถ้าคุณยังเป็นนักส่งออกคำว่า "ทำไม" ให้ออกไปนอกตัวตนของคุณอยู่ คุณก็ไปไม่ถึงไหนหรอก จิตของคุณจะหมกมุ่นกับการเพ่งโทษคนอื่นอยู่ร่ำไป แม้ว่าคุณจะมีความจริงใจก็เถอะ คุณก็จะพกพาแต่ความเศร้าหมอง คุณไม่อาจที่จะแก้ไขหรือช่วยอะไรสังคมนี้ให้ดีขึ้นมาได้ ยิ่งคุณพอกพูนการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นปรกตินิสัย อัตตาแห่งความคับแคบก็จะเพิ่มทวีในตัวตนของคุณ

คุณและสังคมของเราวันนี้มักเป็น "ซีดีตกร่อง" ถามคำว่าทำไมกับผู้อื่นมากเกินไปหรือเปล่า ลองหันกลับมาถามตัวเองซิครับว่า

ทำไมฉันไม่หาวิธีช่วยให้เขาไม่ทำ (หรือไม่เป็น) เช่นนั้นนะ?

ทำไมฉันช่างโง่เสียจริงนะ?

ทำไมฉันไม่เรียนรู้สังคมนี้ให้ลึกซึ้งให้สว่างเพื่อจะได้หาทางพัฒนาให้ดีกว่านี้?

ทำไมฉันไม่ทำความเข้าใจพวกเขาให้รู้เห็นความเป็นเขาเหล่านั้นแต่ละคนอย่างจริงจังล่ะ?

หยุดคำถามว่าทำไมในผู้อื่น ย้อนกลับคืนถามตนได้ผลกว่า
จะพบโทษพบผิดอวิชชา ที่บดบังอัตตามานานแล้ว.

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -