'เศรษฐกิจรุ่ง' แต่ 'สังคมร่วง' ความเป็นห่วงที่ต้องเร่งแก้ไข
- สุขุม เฉลยทรัพย์ - อธิการบดีสถาบันราชภัฏสวนดุสิต
** มติชนรายวัน ๒๐ ม.ค. ๔๗ หน้าที่ ๗

หรือจะเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้เข้ามารับหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา "เศรษฐกิจ" โดยเฉพาะ ประเทศไทย ในเวลานี้ จึงเหมือนจะมีแต่มุมมองที่สดใส ไม่ว่าจะเป็นการประมาณการ การขยายตัว ของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ในปี ๒๕๔๖ ของกระทรวงการคลัง จาก ๖.๑ % มาเป็น ๖.๔ % และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปถึง ๘ % ในปี ๒๕๔๗ ทั้งการส่งออก ที่มีการคาดการณ์ว่าทั้งปี จะขยายตัวถึง ๑๐.๕๘ %

กอปรกับการแข็งตัวของค่าเงินบาทที่มีมากขึ้นจนแตะระดับ ๓๙ บาทต่อเหรียญสหรัฐ และ ดัชนีตลาดหุ้น ที่พุ่งสูงเกือบ ๘๐๐ จุด ตอกย้ำความเชื่อมั่น ในภาวะเศรษฐกิจว่าดีขึ้นจริง มิใช่เป็นเพียงภาพลวงตา ด้วยการปรับอันดับ ความน่าเชื่อถือ ตราสารหนี้ โดยบริษัทจัดอันดับ ฟิตต์และเอสแอนด์พี

อีกเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของ "รากหญ้า" ก็ดีวันดีคืนแทบไม่มีประชาชนคนไหน จะไม่ได้ "อานิสงส์" จากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาล "จัดให้" ชนิดตรงใจไม่ผิดเป้า แม้จะถูก กระแหนะ กระแหนว่า เป็นเรื่องของ "ประชานิยม" ก็ตาม

ชาวบ้านคนใดอยากประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริม หากไม่มีเงินทุน ก็ให้กู้ยืม จากกองทุนหมู่บ้าน มาผันก่อน ชาวบ้านคนไหนอยากก้าวหน้าทันเทคโนโลยี ต้องการมีสารสนเทศข้ามโลก โดยใช้อินเทอร์เน็ต รัฐบาลก็จัดให้ ด้วยนโยบาย คอมพิวเตอร์ เอื้ออาทร ชาวไทยคนใดไร้ที่อยู่อาศัย ทำงานหนักมาหลายปี ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง รัฐบาลก็จัดให้ ด้วยนโยบาย บ้านเอื้ออาทร (ผ่อนน้อย ผ่อนนาน ผ่อนจนบ้านเกือบพัง ก็ยังไม่หมด)

ชาวไทยคนไหนไม่สะดวกใช้โทรศัพท์สาธารณะ อยากจะสื่อสารผ่านเครื่องไร้สาย รัฐบาลก็จัดให้ ด้วยนโยบาย มือถือเอื้ออาทร

เด็กนักเรียนคนใดมีบ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน เดินทางลำบาก ซ้ำครอบครัวยังยากไร้ ไม่สามารถไปรับ ไปส่งลูกได้ รัฐบาลก็มี จักรยานเอื้ออาทร แบบไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องดาวน์ เพราะให้ "ยืม" ใช้ได้ฟรีๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนด

อดีตข้าราชการเกษียณแล้วคนใด อยากเอาเงินบำเหน็จตกทอดมาใช้ หลังจากที่เคยเบิกได้ เมื่อเสียชีวิต รัฐก็จัดให้ ตามความประสงค์

ส่วนชาวไทยคนใดที่มีความลำบาก ประสบปัญหาจากภาวะต่างๆ ตามเกณฑ์ ๗ ประการ ที่รัฐบาลกำหนด ก็ไปลงทะเบียนคนจน รัฐจะได้แก้ปัญหาให้ อันได้แก่ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เป็นคนเร่ร่อน หรือถูกทอดทิ้ง เป็นผู้ประกอบอาชีพ ผิดกฎหมาย เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่อยากมีรายได้ จากอาชีพที่เหมาะสม เป็นคนมีหนี้สินภาคประชาชน มีปัญหาเรื่อง ที่อยู่อาศัย เป็นคนที่ถูกหลอกลวงทุกประเภท ให้มีสิทธิ์ลงทะเบียนได้ เพราะจัดอยู่ในข่ายคนจนทั้งสิ้น

จึงดูเหมือนว่า "สารพันปัญหา" ของคนไทยน่าจะถูก "อุด" ไว้แล้วทุกช่อง ในเรื่องการตอบสนอง ความต้องการ ทางด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลชุดนี้สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม !!!

แต่ทว่า เมื่อหันมามองในด้านของ "สังคม" แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดอยู่ในขณะนี้ กลับเพิ่มจำนวน และ ทวีความรุนแรง ขึ้นมาก จนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็ก และเยาวชน รวมทั้งปัญหาชีวิต ในครอบครัวที่น่ากลัว ถึงขึ้นพ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ

ปัญหาอาชญากรรม ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดถึงความ "รุนแรง" มากกว่า ปัญหาเด็ก และเยาวชน เช่น ปัญหาโจรสะพานลอย หรือโจรปล้นโทรศัพท์มือถือ ที่มีลักษณะโหดร้าย ทารุณ ต่อเจ้าของทรัพย์สิน จนเกินเหตุหรือเกิน "ราคา" ของทรัพย์เป้าหมาย ไม่วาจะเป็นการประทุษร้าย ต่อเจ้าของทรัพย์สิน อย่างรุนแรงอาทิ การทุบศีรษะ ฟันแขนด้วยมีด หรือใช้ปืนยิง จนเสียชีวิต หรือพิการ

เพียงเพื่อชิงเงินสดไม่กี่ร้อยบาทหรือโทรศัพท์ มือถือเพียงไม่กี่พันบาท ซึ่งเป็นข่าวสะเทือนขวัญ ประชาชน จนชาชินแล้ว

รวมทั้งปัญหา "โจรใจกล้า" ที่เข้าไปลักทรัพย์ตามบ้านเรือนประชาชน ทั้งๆ ที่เจ้าทรัพย์อยู่ในบ้าน แลหากเจ้าทรัพย์คนใด เกิดเอะอะโวยวาย หรือมองเห็นโจรใจร้ายนั้นเข้า ก็จะถูก "ฆ่าทิ้ง" ทันที ดังกรณีของ ประจักษ์เบเกอรี่ ร้านขนมปังชื่อดัง ที่ต้องสูญเสียลูกสาว อันเป็นที่รักไป อย่างไม่มีวันกลับ เพราะบังเอิญตื่นขึ้นมาพอดี ซึ่งถ้าเป็น ในสมัยก่อน การลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว หรือพวกขโมย ตีนแมว นั้นจะไม่ค่อยปรากฏ การกระทำที่รุนแรงถึงเพียงนี้

แม้จะมีการเข้าไปลักทรัพย์สินภายในบ้าน ก็มักจะเลือกในเวลาที่ไม่มีใครอยู่ หรือถ้าเป็น การปล้น ก็มักไม่ฆ่าเจ้าทรัพย์ หากเพียงแต่มัดตรึง ไว้เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

ปัญหาเด็กและเยาวชน ที่ทวีความ "หนักข้อ" ขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนอาชีวะ ที่ก่อเหตุ รุนแรง ถึงขั้นเข่นฆ่า เกินกว่าในยุคเก่า ที่เพียงแค่ชกต่อย ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อน ต่อประชาชน ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จนเสียชีวิต หรือพิการไป อย่างไม่น่าให้อภัย หรือปัญหา ทัศนคติของวัยรุ่น ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง ที่น่าเป็นห่วง อันจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ของสังคมและวัฒนธรรม ตามมาในภายหลัง เช่น การเปลี่ยนคู่นอน ทั้งหญิง และชาย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา และถือเป็น "แฟชั่น" เกิดการแข่งขันสะสมสถิติ ในเรื่องเพศ และเรื่องของ "กิ๊ก" ที่นิยมอย่างแพร่หลาย ในหมู่ของเยาวชนอยู่ในขณะนี้

ดังนั้นการที่รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน จนประสบ ความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ จากคนส่วนใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศแล้ว ในส่วนของสังคม ที่ปรากฏเป็นปัญหารุนแรง และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง สำหรับรัฐบาล คงไม่ใช่เรื่องยาก จนเกินไป หากหันมาแก้ไขและให้ความใส่ใจ ต่อปัญหาดังกล่าว อย่างจริงๆ จังๆ เหมือนดังปัญหาเศรษฐกิจ

เพราะจะมีประโยชน์อะไร หากไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งกว่าจะหามาได้ ก็แสนจะเหนื่อยนัก ซ้ำไม่มีโอกาส ได้ใช้ด้วยถูกขโมยไป หรือต้องเสียชีวิตลง จะมีประโยชน์อะไร หากประชาชนกินดีอยู่ดี ในขณะที่สังคมล้มเหลว เนื่องจากเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นอนาคต ของชาติ ขาดความสำนึกในหน้าที่ ในอนุรักษ์วัฒนธรรม อันดีงามเอาไว้ ต่อไปประเทศไทยก็จะ "ร้าง"

ร้างอะไรน่ะหรือ? ก็ร้างเอกลักษณ์ไทย กลายเป็นเมือง "ประหลาด" ทั้งชาติ ภาษา และวัฒนธรรม คงจะผสมปนเป จนแยกไม่ออก ประหนึ่ง "ขนมปังคลุกต้มยำกุ้ง ปรุงด้วยวาซาบิ" รสชาติ จะเป็นเช่นไร ก็ให้ลองชิมดู!!!

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -