ตอน บาดแผล


เด็กๆ ที่แว้งเรียนรู้การอ่านเขียนและรู้วิชาต่างๆ เช่น เลขคณิต สุขศึกษา ธรรมจริยา จากครูที่ โรงเรียน ประชาบาลอำเภอแว้ง และยังได้เรียนรู้อะไรๆ อีกมากมายหลายอย่าง จากการเห็นผู้ใหญ่ ทำตามกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

สองข้างทางถนนที่ทอดยาวผ่านหน้าบ้านของน้อยจากตัวอำเภอไปสู่ชายแดนระหว่างประเทศไทย และสหพันธรัฐมลายอีกจุดหนึ่งที่บูเก๊ะตา จะมีเส้นทางแยกไปตามหมู่บ้านมากมาย ในป่ายาง ไปจนถึงทิวเขาโต๊ะโมะ พืชพันธุ์ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ตลอดเส้นทางดังกล่าวเด็กๆ รู้จักดีว่า ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เช่น ลูกตาเป็ดตาไก่ ลูกนมแมว ลูกโทะ นั้นรับประทานได้ ต้นปาจ๊ะ เป็นเฟิร์นแสนสวย สามารถเอามาหักปล้องเล็กของมัน แล้วเสียบต่อใหม่ ก่อนให้เพื่อนๆ ทายว่า ต่อไว้ตรงไหน อย่างนี้เป็นต้น

ต้นไม้ที่ขึ้นเต็มตามชายป่าอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นสาบเสือ เด็กๆ รู้ดีว่า ใบของมันมีประโยชน์มาก ถ้าโดนมีด หรือพร้า บาดเอาจนเลือดไหล หรือโดนทากกัด ก็ต้องรีบเด็ดเอาใบสาบเสือมาเคี้ยว ให้แหลก มันจะมีน้ำจากใบเขียวๆ ออกมา จากนั้น จึงใช้ทั้งใบและน้ำสาบเสือมาโปะไว้ตรงแผล เลือดที่กำลังไหล จะหยุดทันที ถึงไปเล่นน้ำในคลอง เลือดก็จะไม่ออกอีก ต้นสาบเสือจึงเป็น สมุนไพร ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และความรู้เรื่องการห้ามเลือด ด้วยใบสาบเสือ ก็เป็นสิ่งที่มี ประโยชน์มากเหมือนกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น้อยและเด็กแว้งเคยใช้ในการห้ามเลือดเวลามีดบาดมือ คือใยแมลงมุม ตามหลังคา จาก มันเป็นแผ่นวงกลม ขนาดเล็กสีขาวจั๊วะ เหมือนสำลีตามร้านหมอ รู้สึกว่าจะมีอยู่ตาม หลังคา จากเท่านั้น และบ้านท่าฝั่งคลองของน้อย ในสมัยหลังสงคราม ก็มุงด้วยจากเพราะไม่มีกระเบื้อง และสังกะสีขาย ในอำเภอแว้ง ถึงมีพ่อก็คงไม่ใช้ เพราะมุงด้วยจาก ที่ชาวบ้านเย็บด้วยใบสาคู จะเย็นกว่ากัน มากมายนัก

อย่างไรก็ตาม บนหิ้งยาของพ่อจะไม่เคยขาดยาในขวดกลมยาวเล็กๆ ที่มีฉลากบอกว่า "ยาแดง" และ "ยาเหลือง" น้อยอ่านตัวหนังสือบนฉลากนั้นออก เขาบอกว่ายาแดงใช้สำหรับใส่แผลสด ส่วนยาเหลืองไว้สำหรับแผลเปื่อยและเรื้อรัง เธอไม่ทราบว่ายาทั้งสองชนิดนี้เขาทำด้วยอะไร แต่แน่ใจว่า การเรียกชื่อตามสี เพราะยาแดงนั้นเวลาพ่อเอาสำลีปิดปากขวดแล้วค่อยๆ เอียงเท ออกมาทาหรือปิดปากแผลให้ สีมันจะแดงแจ๊ดอยู่หลายวัน ส่วนยาเหลือง พร่องน้อยกว่ายาแดง เพราะที่บ้านไม่ค่อยมีใครเป็นแผลเรื้อรัง ยาเหลืองนี้ เวลาทาก็จะเป็นสีเหลือง แต่จะจางเร็วกว่า สีแดง

เรื่องยานี้แม่ไม่ทันสมัยเท่าพ่อ คือแม่ชอบใช้ตามแบบพื้นบ้านมากกว่า เช่นเวลากวาดยาตานซาง ในปากน้อย แม่ก็ใช้โคนตะไคร้ฝนกับก้นหม้อดิน แล้วผสมกับเกลือและน้ำมะนาวกวาดให้ ซึ่งเป็น ยากวาดซาง ที่อร่อยมาก เวลามีแผลหรือฝี แม่ก็เอาน้ำหมากทาให้ หรือไม่ก็โปะชานหมากไว้เลย โดยแม่ผสมพิมเสน ลงด้วยสามสี่เกล็ด พิมเสนนี่ แม่จะห่อกระดาษใส่ไว้ในเชี่ยนไม่ให้ขาดบ้านเลย เพราะแม่มักเวียนหัวบ่อย ทุกครั้งที่เป็น ถ้าไม่เป็นมาก แม่ก็จะเอาพิมเสนสองสามเกล็ด ใส่ตรง กลางใจมือ บี้ด้วยเล็บหัวแม่โป้ง จนเป็นผงละเอียดสีขาว แล้วแม่ก็จะสูดผงนี้เข้าจมูก เดี๋ยวเดียว แม่ก็หายวิงเวียน แต่ถ้าเป็นมาก แม่ก็จะรับประทานยาหอม ซึ่งส่วนมาก ไม่น้อยก็พี่แมะ จะเป็นคน
บดยา ในถ้วยโกร่งให้แม่ ทั้งสองพี่น้องรู้ดีว่า ก่อนใส่ยาหอมลงไป จะต้องบดขิงแห้ง ดอกมะลิแห้ง ดอกพิกุลแห้ง และพิมเสน ให้ละเอียดเสียก่อน เพราะบดยากกว่ายาที่เขาทำมาเป็นเม็ดๆ พอเติม น้ำเข้าหน่อย ก็ละลายแล้ว แม่ว่ายาหอมที่ผสมของแห้งเหล่านั้นหอมชื่นใจ แต่น้อยว่ามันเหม็น แม่ว่าหอมได้อย่างไรกันนะ

ยังมีแผลอีกชนิดหนึ่งที่น้อยเกลียดมาก เขาเรียกว่า หิด บางทีเป็นติดต่อกันทั้งโรงเรียน มันเป็นเม็ด คันตามง่ามมือ ง่ามเท้า ต่อไปก็กลายเป็นหนองสีขาวขุ่น ชาวบ้านบอกว่าหิดนี้มี 'แม่หิด'อยู่ใกล้ๆ เม็ดหนองนั้น และเป็นตัวแพร่เชื้อหิด บางปีเด็กที่โรงเรียนแว้งเป็นกันเกือบหมดโรงเรียน จนน้อย คิดว่า คนที่ไม่'ติดหิด' เป็นคนไม่ทันสมัย และไม่โก้เก๋

ถึงพ่อและแม่จะไม่เห็นด้วยกับความคิดของน้อยและคอยกำชับให้ลูกทั้งสองล้างมือ ฟอกสบู่บ่อยๆ พี่แมะก็ยังไป 'ติดหิด'มาจากโรงเรียนจนได้ สองพี่น้องแอบนั่งพิจารณาหา 'แม่หิด' ตรงง่ามนิ้วชี้ และ นิ้วกลางของพี่แมะ พอเห็นจุดขาวเล็กๆ ข้างเม็ดหนองที่ดูน่าเกลียดนั้นแล้ว น้อยเป็นคนใช้ เข็มเย็บผ้า ค่อยเขี่ยไปรอบๆ ในที่สุดก็ได้อะไรไม่รู้เป็นเม็ดเล็กๆ สีขาวขุ่นออกมา

"นั่นแหละ แม่หิด" พี่แมะบอกแล้วสั่งน้อยต่ออีกว่า "เดี๋ยวตัวเองลองหาตรงอีกง่ามนึงซิ อาจมีอีก แม่นึงนะ"

แต่น้อยไม่ทันหา "แม่หิด" ตัวที่สองพ่อก็เข้ามาเห็นเสียก่อน เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ พ่อบ่งเม็ดหนอง บนมือพี่แมะทุกเม็ดออก อย่างไม่สงสารว่าพี่แมะจะเจ็บ พี่แมะร้องโอดโอยลั่น จนแม่เข้ามาดู อีกคนหนึ่ง พอบ่งจนหมดแล้ว พ่อก็ออกคำสั่งเสียงเฉียบขาดว่า

"ไปล้างมือฟอกสบู่เดี๋ยวนี้ทั้งสองคน ไปติดหิดมาแล้วยังจะมานั่งหาแม่หิดกันอยู่ได้ ไปเดี๋ยวนี้! ล้างมือแล้วเช็ดให้แห้งมาใส่ยา!"

น้อยเดินตามพี่แมะซึ่งร้องไห้ไม่หยุดจนหูตาแดง น้ำตาไหลเป็นทาง ครางฮือๆ ไปล้างมือกัน ที่นอกชาน หลังบ้าน ตามที่พ่อสั่ง ขณะเช็ดมือ พี่แมะต้องระวังมาก พอเช็ดถูกแผลหิดเข้า ก็ร้องโอดโอย ด้วยความปวด

"เดี๋ยวก็หายน่า" น้อยว่าหวังปลอบใจพี่สาวติดหิดของเธอ

"ตัวเองไม่เจ็บ ตัวเองก็ไม่รู้ ให้ถูสบู่ตรงแผล มันแสบจะตาย เดี๋ยวก็ต้องจับเค้าใส่ยาเหลืองอีก แสบอีก แค่เช็ดมือนี่ยังแสบเลย" พี่แมะบ่นก่อนเดินอย่างจำใจออกไปหาพ่อแม่ที่หน้าร้าน

"ร้องทำไม?" แม่ดุ "ไปติดหิดมายังจะร้องไห้อีก มานี่มาทาน้ำหมากเสียก็หาย"

แต่คราวนี้แม่เป็นฝ่ายแพ้เมื่อพ่อพูดมาจากโต๊ะเขียนหนังสืออีกด้านหนึ่งของร้าน

"มานี่ พ่อบดยาซัลฟาไดอะซีนไว้ให้แล้ว มาโรยใส่แผลเสีย จะได้ไม่ลามต่อไป"

"น้ำหมากนี่แหละยอดดี ไม่เอา" น้อยซึ่งไปนั่งลงข้างแม่ได้ยินเสียงแม่พึมพำ

"น้อยเขี่ยเอาแม่หิดออกให้แล้ว หิดก็ตายแล้ว ไม่ลามเหมือนกัน" น้อยคุยโวส่วนที่ตนทำบ้าง

"ไหนว่าเรียนอนุกาชาด ไปอ่านกันเสียอีกไป ทั้งคู่นั่นแหละ" พ่อพูดอย่างเด็ดขาด

หลังจากนั้นมือพี่แมะบางวันก็ขาวด้วยผงซัลฟาไดอะซีนของพ่อ บางวันก็แดงฉาน ด้วยน้ำหมาก ของแม่ จนหายสนิท ไม่มีเม็ดหิดเหลือสักเม็ดเดียว พี่แมะยิ้มเมื่อยกมือขึ้น กางนิ้วให้น้อยดู พูดว่า

"ไม่ยักกะเป็นแผลเป็น" ดูสิน้อย มือพี่เหมือนเดิมแล้ว

"ไม่เป็นแผลเป็นหรอก ก็น้อยเอาแม่หิดออกให้แล้วนี่" น้อยอ้างบุญคุณ

"แผลหิดไม่ทิ้งรอยแผลเป็นหรอกลูก" พ่ออธิบาย "แต่จำไว้ว่า ต้องรักษาตัวเอง ไม่เอาเชื้อโรคมาใส่ตัว แผลบางชนิด ไม่ทิ้งแผลเป็นให้เห็นเป็นรอยให้จำ แต่แผลบางอย่าง จะทิ้งรอยไว้ตลอดชีวิตทีเดียว"

น้อยนึกอะไรขึ้นได้เมื่อได้ยินพ่อพูดอย่างนั้น เธอก็มองรอยแผลเป็นที่น่องใต้เข่า และที่นิ้วเท้าซ้าย พลางพูดว่า

"อย่างของน้อยนี่เป็นแผลเป็นตลอดชีวิตเลยนะคะพ่อ ร้ายกว่าแผลหิดพี่แมะเสียอีก ทำอย่างไร ให้หายคะ?"

"รอยแผลบางชนิดจะเป็นรอยแผลเป็นตลอดไป ของแมะก็มีเหมือนกัน ที่ท้องแขนไงลูก เหมือนที่ นิ้วเท้าน้อย ของแมะเกิดจาก ขี้ไต้ร้อน ของน้อยเกิดจากคมเคียว นั่นเพราะความประมาท ไม่ระมัด ระวังตัว ทุกคนมีแผล แบบนี้ทั้งนั้น ไม่เป็นไรหรอกลูก แผลหายแล้ว ไม่เจ็บปวดอะไร มีแต่รอย ที่เตือนเราไม่ให้ประมาท แต่บางทีก็เรียกว่า เป็นอุบัติเหตุ" พ่ออธิบาย พี่แมะไม่ได้ฟังพ่อแล้ว นั่งยกมือกางนิ้ว ที่สะอาดเป็นพิเศษ ขึ้นดูต่อ แม่นั่งเจียนหมากอ่อน ฟังอยู่เงียบๆ มีน้อยเท่านั้น ที่ตั้งใจฟังพ่อ และพูดต่อว่า

"อย่างแผลเป็นใต้เข่าน้อยนี่ก็เรียกว่า อุ-อุบัติเหตุใช่ไหมคะ เพราะน้อยไม่ได้ประมาท พี่สิทธิ์ ทำน้อยให้มีแผลเป็น เสียโฉมไปตลอดชีวิตเลย"

พี่ประสิทธิ์เป็นลูกป้าดำพี่ของแม่ อายุแก่กว่าน้อยร่วมยี่สิบปี เคยพาผู้หญิงหนีตามกันมาอยู่กับพ่อ และแม่ ที่บางนรา มีลูกด้วยกันที่นั่นคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า นรา พ่อกับแม่ลงความเห็นว่า พี่สิทธิ์ เป็นหลาน ที่ดีที่สุดในโลก และน้อยก็ว่า พี่สิทธิ์เป็นพี่ที่ดีที่สุดในโลกเหมือนกัน

แม่พูดว่า

"พี่สิทธิ์เขาไม่ได้เจตนา ตอนนั้นน้อยยังเป็นทารกอยู่ พ่อกับแม่ก็งานเต็มมือ พี่สิทธิ์เขาช่วยเลี้ยงน้อย แล้วต้องเลี้ยงพี่นราด้วย เขาไม่ทันสังเกตว่า สะพานมันผุ อุ้มน้อยอยู่แล้วตกลงไป เสี้ยนไม้ผุ ตำเอาขาน้อย รักษานานหน่อย ก็แค่นั้นเอง พี่สิทธิ์เขาก็เสียใจมาก"

"น้อยก็ไม่ว่าพี่สิทธิ์หรอกค่ะ น้อยรักพี่สิทธิ์" น้อยยืนยัน

"บางทีเจตนาดีแต่ผลออกมาเป็นร้ายก็มีเหมือนกัน ข้อสำคัญ เหตุเกิดขึ้นแล้ว น้อยมีรอยแผล น้อยก็ต้องกลับเสียให้เป็นรอยแผล ที่น้อยเข้าใจว่า เกิดจากการไม่เจตนา ต้องรู้จักให้อภัย แผลเป็น บางอย่าง เตือนใจ ไม่ให้ประมาท แผลเป็นบางอย่างเตือนใจให้รู้จักอภัย แผลเป็นอย่างหิดของ แมะน่ะ เล็กน้อยมาก แต่มันก็จะอยู่ในความทรงจำ ของลูกตลอดไป เท่านั้นเอง" พ่อพูด ให้ทุกคนคิด

เด็กผู้ชายตามกาปง (หมู่บ้าน) สมัยโน้นมักจะเดินเขยกแบบยกส้นเท้าขึ้น ส่วนมากจะเขยก ข้างเดียว แต่บางคนก็เขยกทั้งสองข้าง ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็เดินแบบไม่ยี่หระ ไม่เดือดร้อนอะไร เอาเสียเลย

จู่ๆ พี่จบ หลานชายเกเรของแม่ก็เกิดเดินเขยกแบบนั้นบ้าง พ่อบ่นกับแม่ว่า "จบมันไปติดคุดทะราด มาได้อย่างไรนะ ไม่รักษาความสะอาด นี่เป็นแล้วก็ไม่มาขอหยูกยาไปใส่ ใส่ซัลฟาน่าจะหาย"

"ไม่หายหรอกพ่อ เปลืองยาเปล่าๆ ใส่ซัลฟาแล้วจบมันจะยอมพันผ้าหรือก็จะไปซนไปสกปรกอีก ยาเอาไม่อยู่หรอก ต้องจัดการแบบโบราณ" แม่ว่า

แล้วแม่ก็ออกคำสั่งให้พี่จบไปเก็บใบชุมเห็ดข้างคลองมาให้ แม่ต้มใบชุมเห็ดในปี๊บ เอาส้มแขก ใส่ลงไปด้วย จำนวนมาก แม่ต้มอยู่นานมากทีเดียว แล้วจึงทิ้งให้พออุ่นๆ

พี่จบต้องนั่งแช่เท้าในน้ำยานั้นทั้งเช้าทั้งเย็น แช่แล้วพ่อก็ยังบังคับให้โรยผงซัลฟาด้วย จนหายสนิท แม่ว่าหาย เพราะใบชุมเห็ด และส้มแขก พ่อว่าหายเพราะซัลฟา น้อยเลยไม่ทราบว่า ยาไทย หรือ ยาฝรั่งดีกว่ากัน

ที่สุดเธอก็ได้คำตอบด้วยตัวเองเมื่อวันหนึ่งเพื่อนๆ ในอำเภอมาเที่ยวที่บ้านจริยา ลูกหมอจรูญ แมะนะ ที่ตาหยีหน้ากลมป๊อก วิมลลูกสาวคนเดียวของปลัดสว่าง แล้วยังมีอุทัย เด็กผู้หญิง ที่สวยที่สุดมาด้วย เขาเป็นลูก คนสุดท้อง ของป้าฝ้อย นามสกุล อภิบูลสุวรรณ เป็นคนรวยที่สุด คนหนึ่ง ในอำเภอแว้ง พี่ๆ ผู้ชายของอุทัยถูกส่งไปเรียน ที่โรงเรียนประจำในกรุงเทพฯ ชื่อโรงเรียน วชิราวุธวิทยาลัย

น้อยรู้สึกว่าอุทัยนี้ช่างโชคดีเสียจริง ป้าฝ้อยรวยเลยไม่ต้องทำงานหนักเหมือนแม่ของน้อย พี่ๆ ของอุทัย ก็ไม่ต้องเรียน ในโรงเรียนบ้านนอก แบบโรงเรียนแว้ง ชื่อโรงเรียนของพี่ๆ เขาก็ไพเราะ หนักหนา 'วชิราวุธวิทยาลัย' ต่างจากชื่อ โรงเรียนประชาบาล อำเภอแว้งลิบลับเลยทีเดียว

ที่สำคัญที่สุดก็คือตัวอุทัยเอง จริยาก็ผอมขี้โรคถึงจะเป็นเด็กจากราชบุรีก็เถอะ แมะนะถึงตัวขาว ก็หน้ากลมตาหยี วิมลตัวขาวเหมือนกัน เป็นลูกปลัดด้วย แต่ก็มีปานขาวเป็นปื้น ใต้คอเห็นชัด อุทัยคนเดียว ที่สวยที่สุด ผิวสวย ตาสวย ผมหยักศก เสื้อผ้าที่สวมมาวันนั้นก็สวยมาก เวลาไป โรงเรียนก็หิ้วกระเป๋าหนัง เหมือนกระเป๋าเดินทางของพ่อ แต่ใบเล็กสวยน่ารักที่สุด กระเป๋าจันทบูร สีแดงของน้อย ว่าสวยแล้ว ก็ยังสู้ไม่ได้เลย ยิ่งเวลาเขากด ที่ปิดเปิดดังกริ๊กๆ ด้วยแล้วยิ่งโก้ใหญ่

น้อยเคยบอกพี่แมะว่า เธออยากเปลี่ยนชื่อเป็นอุทัยแล้วให้อุทัยมาชื่อน้อยแทน "บ้าอีกแล้วตัวเองน่ะ เปลี่ยนไปชื่ออุทัยแล้วไง?" พี่แมะว่า

"ก็อุทัยไม่ผอมเหมือนน้อย ขาเขาก็สวยไม่ยาวเหมือนขาน้อย ถ้าเปลี่ยนชื่อเขาเป็นชื่อว่าน้อย แล้วน้อย ชื่ออุทัย น้อยก็จะได้ยินใครๆ ว่า อุทัยสวย ไม่ผอม จะได้ว่าน้อยโน่นดำ ขายาวเหมือนปาด น้อยจะได้หายน้อยใจไง เพราะเวลาใครๆ ว่าน้อยยังโง้นยังงี้ ก็ไปโดนเขา เวลาใครชมอุทัยว่าสวย ก็เท่ากับชมน้อย เพราะน้อยชื่ออุทัย" น้อยอธิบาย

พี่แมะงงอยู่พักใหญ่ คิดไม่ออกว่าจะตอบน้อยแบบไหน น้อยเองก็ยิ้มกริ่มอยู่พักหนึ่ง นึกว่าตัวเอง เปลี่ยนเป็นอุทัย แต่พอคิดไปนานๆ ก็คิดออกว่าตนเอง ที่เป็นลูกของพ่อและแม่ก็จะเป็น 'ยายอุทัย' ตัวดำผอมเก้งก้าง ส่วน 'น้อย' ลูกป้าฝ้อยก็จะเป็นเด็กสวยงดงาม ถึงความคิดจะยังสับสน สางไม่ออก น้อยก็ตอบพี่แมะที่ยังงงไปว่า

"ช่างเหอะ ไม่ชื่ออุทัยก็ได้ ชื่อน้อยนี่แหละ"

"เด็กบ้า" พี่แมะพูดได้แค่นั้นก่อนจะพูดว่า "เค้าจะไปเล่าแม่"

"เชิญ คนขี้ฟ้อง เชิญขี่ม้าสามศอก ไปบอกไวไว" น้อยย้อนอย่างไม่กลัว

แล้ววันนั้นน้อยก็รู้ว่าคนสวยและรวยทำอะไรไม่เป็นตั้งหลายอย่าง เขาไม่ชอบดูหนังสือในหีบ ของพ่อ เขาทำว่าวไม่เป็น ฟัดลูกข่างก็ไม่เป็น ที่สุดเธอก็ชวนเพื่อนๆ ไปปีนต้นมังคุด เพื่อเฉาะ ลูกมังคุด ที่เนื้อใสเป็นแก้ว รับประทานกัน

"น้อยสอนทัยให้ปีนต้นมังคุดนะ ทัยก็ชอบกินมังคุดเนื้อเป็นแก้ว" อุทัยว่าก่อนจะค่อยๆ ปีนต้นมังคุด ตามน้อยขึ้นไป เสียงเพื่อนๆ ข้างล่างร้องบอกให้ปลิดมังคุด โยนลงมาดังขรม

อุทัยปีนตามน้อยขึ้นไปถึงกิ่งที่มีลูกมังคุดสีน้ำตาลอมเขียวห้อยอยู่เต็ม น้อยดึงขวานเล่มเล็ก ออกมา จากผ้าถุง ตรงสะเอว ปลิดมังคุดมาเฉาะแล้วแงะเนื้อส่งให้อุทัย อุทัยพูดว่า

"น้อย ทัยอยากผ่ามังคุดแบบน้อยมั่งจัง ได้ไหม? น้อยทำยังไง !"

"ทัยก็ปลิดมังคุดลงมาแล้วเอาลูกขวานเฉาะเป๊าะแบบนี้ไง ง่ายมาก" น้อยตอบพลางส่งขวาน ให้เพื่อน คนสวย "ทัยระวังนะ ขวานของน้อยคมกริบเลยแหละ"

น้อยพูดยังไม่ทันขาดคำ อุทัยผู้งดงามแต่จับลูกขวานไม่เป็น ก็วางมังคุดลงบนง่ามกิ่งแบบน้อย เอาขวานสับลงไป แต่...

"โอ้ย!" อุทัยร้องลั่นเมื่อสับลงบนนิ้วชี้ตนเอง เธอปล่อยขวานหล่นลงไปใต้ต้น เลือดทะลักออกมา น้อยผู้กลัวเลือดร้องบอก ท่ามกลางเสียงหวีดของเพื่อนๆ ใต้ต้นมังคุด

"ทัยกำแผลไว้! กำไว้! อย่าปล่อยนะ ไต่ตามน้อยลงมาเร็ว เอ้า! กระโดดเลย!"

อุทัยร้องไห้ลั่น มือกุมแผลสดไว้ตามน้อยสั่ง เด็กๆ วิ่งตามน้อยมาหลังบ้านเป็นแถว ล้วนหน้าซีด ตัวสั่น น้อยนั้นวิ่งพลาง คิดอย่างสับสนพลาง

"พ่อสอนแล้วว่าอย่าประมาท เราประมาทให้อุทัยถือขวาน เราผิด ทำไงดี? เข้าไปบอกแม่ เราต้อง ถูกตี ทำไง ทำไง?"

เท้าพาน้อยมาหลังบ้าน ขึ้นบันได เธอกระชากผ้าขี้ริ้วถูบ้านมาฉีกเป็นแถบยาว แต่พอจะพันนิ้ว ให้อุทัย เธอชะงัก แถบผ้าขี้ริ้วนั้นสกปรกนัก พ่อสอนให้สะอาด เธอโยนผ้าขี้ริ้วทิ้ง ปากยังบอกเพื่อน ให้ "กำนิ้วไว้ๆๆ" ไม่หยุด

คราวนี้เธอวิ่งเข้าไปหลังบ้าน เงยหน้าขึ้น อ้อ! ใยแมงมุมขาวจั๊วะอยู่นั่น น้อยลากเก้าอี้มา โหย่งขา ที่ยาวเหมือนปาดขึ้น ค่อยๆ แกะใยแมงมุมลงมา บอกให้อุทัยปล่อยนิ้วออก แล้วเอาใยแมงมุม ค่อยๆ พันให้เพื่อนคนสวย ซึ่งตอนนี้ร้องไห้ จนหมดสวย สักครู่เลือดก็เหลือแค่ซึม อุทัยยังกระซิกอยู่ แล้วโฮออกมาอีก เมื่อเหยียดนิ้วจนแผลเปิด และเลือดทะลักออกมาอีกครั้ง

น้อยปิดปากอุทัยเพราะกลัวแม่ได้ยินพลางกระซิบบอกเพื่อนให้ลงบันไดตามไปท้ายสวน เธอนึกได้ แล้วว่า คราวนี้จะใช้อะไร สาบเสือไงเล่า! สาบเสือขึ้นเป็นดงอยู่ท้ายสวน จะช่วยห้ามเลือดให้อุทัย ได้แน่ !

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป แม่เดินมาดูว่าเด็กๆ หายไปไหนจึงได้เงียบนัก ถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว ยังไม่มีใคร โผล่ไปหน้าบ้าน แม่ได้ยินเสียงคุยกันเบาๆ ของเด็กๆ เข้าแล้ว

"น้อย เธอรู้ได้ไงว่าใยแมงมุมห้ามเลือดได้? เธอรู้ได้ไงว่าใบสาบเสือห้ามเลือดได้?

ทัยยังเจ็บอยู่ไหม? ทัยอย่าโกรธน้อยนะ เธอโกรธไหม? ๆๆ"

"ออกมานี่ ทุกคนนั่นแหละ!" แม่ออกคำสั่ง "ใครเป็นอะไรไป? ออกไปหน้าบ้านเดี๋ยวนี้!"

น้อยสารภาพเรื่องที่เกิดให้พ่อแม่ฟังอย่างละเอียด เพื่อนๆ ก็ช่วยขอไม่ให้แม่ตีน้อย ในที่สุด แม่ก็พูดว่า "ไม่เป็นไร อุทัย แผลแค่นี้ เดี๋ยวน้าใส่น้ำหมากให้ก็หาย ไม่ต้องกลัว" ส่วนพ่อเดินมาลาก ตัวอุทัยไปดูแผล แล้วพูดว่า "ไม่ต้องกลัวหนู น้อยใส่อะไรให้เพื่อนน่ะ อ้อ! ทั้งสาบเสือ ใยแมงมุม แล้วยังพันผ้าสะอาดไว้ด้วย! เอาละเลือดหยุดแล้ว มาให้น้าล้างแผล ใส่ยาแดงให้ด้วยคนนะ"

"น้าคะ" อุทัยพูดกับพ่อเบาๆ "เดี๋ยวพวกเรากลับบ้านแล้วน้าอย่าตีน้อยนะคะ ทัยผิดเอง ทัยผ่ามังคุด ไม่เป็น แต่ทัยอยากเก่งเหมือนน้อยมั่งก็เลยขอน้อยผ่ามังคุด ทัยอยากเก่งเหมือนน้อย เขาห้ามเลือด ทัยให้หยุดก็ได้ ทัยอยากทำอะไรๆ เป็นเหมือนน้อย"

น้อยตัดสินใจได้ในวินาทีนั้นว่าเธอจะไม่อยากชื่ออุทัยอีกต่อไป ชื่อน้อยก็ดีแล้ว


หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลา ๑๐.๔๕ น. วันพฤหัสฯที่ ๒๗ พ.ค. ๔๗ ที่บ้านซอยไสวฯ เสียดาย ที่เมื่อวานซืนและเมื่อวาน ไม่ได้ไปฟังเรื่องการซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ที่อาจารย์เขาสัมมนากันที่ ม.ธ. เพราะต้องเอาหลาน จากใต้ไปนครปฐม

๑. เป็นชื่อเรียกก่อนเปลี่ยนมาเป็น Malaysia
๒. ปัจจุบันมีด่านตรวจคนเข้าเมืองระหว่างอำเภอแว้งและรัฐกลันตัน
๓. ไม่เคยเห็นในภาคอื่น เป็นไม้พุ่ม ผลเล็กรูปร่างเหมือนแจกัน รสหวาน รับประทานได้

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ -