รวย-โลภ-เลว (มณิสูกรชาดก)


อยากรวยเกิดโลภก่อเลว
ตกเหวลาภยศสรรเสริญ
มุ่งแต่ตนเองจำเริญ
ยับเยินคนอื่นช่างมัน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

กาลนั้นพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่ประชาชนมอบความเคารพ นับถือให้ พากันสักการะยำเกรงอยู่ ซึ่ง แตกต่างจากพวก อัญญเดียรถีย์ (ผู้ถือลัทธินอก พระพุทธศาสนา) ที่กลับเสื่อมลาภสักการะลงไปเรื่อยๆ ต้องอับรัศมีดุจแสงหิ่งห้อย ในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ฉะนั้น

พวกเดียรถีย์จึงรวมตัวกันประชุม หารือกันว่า

"พวกเราจะพินาศสิ้น หากยังชักช้าอีกต่อไป ต้องรีบหาใครมาร่วมมือด้วย เพื่อกำจัด ลาภสักการะของสมณโคดมให้อันตรธานไปให้หมดเกลี้ยง"

"เอาอย่างนี้สิ ! พวกเราน่าจะหลอกใช้นางสุนทรีนั่นแหละดี"

แล้วก็ตกลงกันอย่างนั้น พวกเดียรถีย์จึงแสร้งไม่พูดจาด้วย เมื่อนางสุนทรีมายัง อารามของพวกตน แม้นางสุนทรีจะเอ่ยปากถามอย่างไร ก็ไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งในที่สุดนางสุนทรีจึงอ้อนวอนว่า

"พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย เหตุใดจึงไม่ยอมพูดจาเล่า หรือว่าถูกใครบังคับเบียดเบียนไว้"

เมื่อได้โอกาสแล้ว อัญญเดียรถีย์จึงกล่าวว่า

"น้องหญิง เธอไม่เห็นหรือว่า สมณโคดมนั้นเบียดเบียนเราอยู่ ทำให้พวกเราต้องเสื่อมจากลาภสักการะไปทุกๆวันแล้ว"

นางสุนทรีได้ฟังอย่างนั้น ก็ถามอย่างสงสัยว่า

"ก็แล้วในเรื่องนี้ ดิฉันควรจะทำอย่างไรเล่า"

พวกเดียรถีย์ดีใจนัก รีบบอกอุบายให้ฟังทันที

"ตัวเจ้านั้นเป็นหญิง มีรูปร่างหน้าตา สะสวย เลิศด้วยความงาม ผู้คนทั้งหลาย ย่อมจะลุ่มหลง และเชื่อถือถ้อยคำของเจ้า เจ้าจะทำให้สมณโคดมเสื่อมลาภสักการะได้ โดยทำอย่างนี้..."

นับจากวันนั้นมา นางสุนทรีก็ถือดอกไม้ของหอม ตรงไปยังพระวิหารเชตวันทุกๆ เย็น หากมีผู้ใดถามว่า

"เธอจะไปไหนกันล่ะ"

นางสุนทรีก็จะตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า

"เราจะไปยังที่พักของสมณโคดม เพราะว่าเราอยู่ในพระคันธกุฎี (ที่พักของพระพุทธเจ้า) เดียวกันกับพระสมณโคดม"

แต่ความจริงแล้ว นางแอบหลบไปซ่อนตัวอยู่ในอารามของอัญญเดียรถีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ นั้น

พอรุ่งเช้า...จึงค่อยกลับมาตามทางที่ออกจากพระวิหารเชตวัน แล้วกลับเข้าสู่พระนคร หากใครพบเห็นถามไถ่ นางก็จะตอบด้วยอาการยิ้มแย้มเป็นสุข

"เราไปอยู่ที่คันธกุฎีหลังเดียวกันกับพระสมณโคดม ให้สมณโคดมรื่นรมย์ยินดีด้วยกิเลส แล้วจึงกลับ"

นางสุนทรีทำอยู่เนืองๆ เช่นนี้ จนพวก เดียรถีย์เห็นว่านานวันพอแล้ว ก็ได้ใช้เงินทองจ้างพวกนักเลง ให้ฆ่านางสุนทรีเสีย แล้วให้หมกศพไว้ในคูของพระวิหารเชตวันนั่นเอง

หลังจากนั้น พวกเดียรถีย์ก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงที่ประทับ กราบทูลว่า

"ขอถวายพระพร พวกเราทั้งหลายนี้มิได้พบเห็นนางสุนทรีมาหลายวันแล้ว เป็นที่น่าเป็นห่วงยิ่งนัก"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า

"พระคุณเจ้าทั้งหลาย ก็นางชอบไปยังที่ใดเล่า หรือพวกท่านสงสัยว่านางจะอยู่ในที่ไหนกัน"

"ระยะนี้นางมักไปที่พระเชตวัน สงสัยว่านางจะอยู่ในที่นั้น ขอถวายพระพร"

"ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดไปตรวจหาดูที่นั่นเถิด"

อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น จึงไปทำทีค้นทั่วพระวิหารเชตวัน แล้วแสร้งพาผู้คนไปพบศพ เจออยู่ที่ในคูของพระวิหาร นำศพหามกลับเข้าสู่พระนคร ในขณะที่ผ่านไปตามถนนหนทางและตรอกซอยต่าง ก็ได้พูดโพนทะนาว่า

"เชิญดูพฤติกรรมของเหล่าสมณะศากยบุตรเถิด ช่างไม่มีความละอาย ทุศีล (ผิดศีล บ่อยๆ) มีธรรมเลวทราม พูดเท็จ ไม่ประพฤติ พรหมจรรย์ แม้สมณะเหล่านี้ จะปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ประพฤติ พรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีธรรมอันงาม แต่ที่แท้ความเป็นสมณะ (ผู้สงบระงับกิเลส) หามีไม่ ความเป็นสมณะฉิบหายเสียแล้ว ความเป็นพรหม (ผู้ประเสริฐ) หามีไม่ ความเป็นพรหม ฉิบหายเสียแล้ว เพราะพวกสวกของพระ สมณโคดม คิดปกปิดกรรมชั่วของศาสดาตน ที่กระทำไว้กับนางสุนทรี จึงได้ฆ่านางสุนทรีหมกไว้ในคูเสีย"

พรรคพวกของเดียรถีย์ก็เที่ยวประกาศ ใส่ร้ายไปทั่วพระนคร ทำให้ชาวเมืองต่างพากันหลงผิด ดังนั้นพอได้พบเห็นภิกษุในที่ใด ก็จะด่าว่าด้วยอาการโกรธแค้น เบียดเบียนด้วยวาจาอันหยาบคาย ภิกษุทั้งหลายได้รับความลำบากเดือดร้อน จึงบอกเรื่องราวแก่พระตถาคตให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสียงด่าเหล่านั้นจะมีอยู่ไม่นาน แค่ ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันแล้วจะหายไปหมดสิ้น เพราะฉะนั้นพวกเธอพึง โต้ตอบผู้มาด่าเบียดเบียน ด้วยคาถานี้ว่า

คนที่พูดไม่จริง หรือคนที่ทำบาปกรรมแล้วพูดว่าไม่ได้ทำบาป ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก คนทั้งสองพวกนี้มีกรรมเลวทราม หากตายไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในนรกโลกหน้า"

เหล่าภิกษุเรียนคาถานี้แล้ว ก็นำไป โต้ตอบแก่ผู้มาประทุษร้ายด้วยวาจาทั้งหลาย พ้น ๗ วันเท่านั้น เสียงด่าทอต่างๆ ก็เงียบหายไปสิ้น ภิกษุเป็นอันมากจึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก เพียงกล่าววาจาเท่านี้ ตามที่พระองค์ตรัสสอน ไว้ แค่ ๗ วันเท่านั้น เสียงด่าทั้งหลายก็หายไปหมด พระเจ้าข้า"

พระศาสดาทรงรับทราบแล้ว ก็เปล่งพระวาจาว่า

"คนทั้งหลายผู้ไม่สำรวมแล้ว ย่อมทิ่มแทงคนอื่นด้วยวาจา เหมือนเหล่าทหารที่เป็นข้าศึก ย่อมทิ่มแทงกุญชร (ช้าง) ที่เข้าสงครามด้วย ลูกศร ฉะนั้นภิกษุผู้มีจิตไม่ประทุษร้าย หาก ฟังคำอันหยาบคายแล้ว พึงอดกลั้น"

ในเวลานั้นเอง พวกนักเลงที่ฆ่านางสุทรี เมื่อมีเงินทองมากจากการรับจ้างฆ่า ได้ร่วมกันดื่มสุราจนเมามายอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดทะเลาะวิวาทกัน ทุ่มเถียงด่ากัน หลุดปากออกมาว่า

"เจ้านั่นแหละ ! ฆ่านางสุนทรี ด้วยการใช้ดาบฟันนางเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แล้วหมกศพได้ที่คูนั้น"

บังเอิญพวกราชบุรุษได้ยินเข้า จึงจับตัวส่งให้พระราชา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรง สอบสวน นักเลงทั้งหมดก็ยอมสารภาพว่า เป็นผู้ฆ่านางสุนทรีด้วยตัวเอง โดยได้รับ ค่าจ้างจากพวกอัญญเดียรถีย์

เมื่อทรงรู้ความจริงแล้ว จึงรับสั่งจับกุมพวกเดียรถีย์ ให้พวกเดียรถีย์แห่ศพนางสุนทรีไปรอบพระนคร พร้อมกับต้องร้องตะโกนว่า

"พวกเราต้องการใส่ร้ายพระสมณโคดม จึงให้ฆ่านางสุนทรีเสีย พระสมณโคดมและสาวกไม่มีโทษใดๆ เลย เป็นโทษของพวกเราเองทั้งหมด"

ในที่สุดพวกเดียรถีย์ก็ถูกลงอาญา ในฐานจ้างฆ่าคนตาย ส่วนพระพุทธองค์กับสมณะ ศากยบุตรทั้งหลาย หลังจากโดนกล่าวตู่ใส่ร้ายแล้ว เมื่อความจริงปรากฏ ก็กลับได้รับลาภสักการะมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก

มีอยู่วันหนึ่ง เหล่าภิกษุนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า

"ท่านทั้งหลาย พวกเดียรถีย์คิดทำให้พระพุทธองค์มัวหมอง แต่ตนกลับมัวหมองเสียเอง ลาภสักการะใหญ่ยิ่งเกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์"

ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จมา ครั้นเมื่อทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครๆ ไม่อาจทำความมัวหมองให้เกิดแก่พระตถาคตได้ เช่นเดียวกับฝูงสุกรไม่อาจทำความมัวหมองแก่แก้วมณี ฉะนั้น"

เหล่าภิกษุทูลขอให้ทรงกล่าวถึงเรื่องราวนั้น พระศาสดาจึงได้ตรัสเล่า


ในอดีตกาล มีมาณพคนหนึ่งในตระกูลพราหมณ์ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จนกระทั่งได้เห็นโทษภัยในกามทั้งหลาย จึงเบื่อหน่ายในการครองเรือน ละทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง ออกเดินทางข้ามภูเขา ๓ ลูก ไปยังป่าหิมพานต์

แล้วประพฤติตนเป็นดาบส (นักบวชผู้บำเพ็ญตบะเผากิเลส) พำนักอยู่ที่ศาลา ซึ่งมุงบัง ด้วยใบไม้ โดยมีถ้ำแก้วมณีถ้ำหนึ่งอยู่ที่ใกล้ๆ นั้นเอง

ภายในถ้ำแก้วมณี มีสุกร ๓๐ ตัวอาศัยอยู่ แต่คราวใดที่มีราชสีห์ เดินผ่านมาที่หน้าถ้ำนี้ เงาของราชสีห์จะไปปรากฏอยู่ที่บรรดาแก้วมณีในถ้ำ ทำให้เหล่าสุกรต้องตาใจ สะดุ้งกลัวเงามากมายนั้น จนอยู่ไม่ผาสุก ร่างกายผ่ายผอม โลหิตจาง จะนั่งจะนอน ก็เต็มไปด้วยความหวาดผวา

ด้วยเหตุนี้ ฝูงสุกรจึงลงความเห็นกันว่า

"เพราะแก้วมณีในถ้ำสุกใสแวววาวเกินไป จึงปรากฏเงาขึ้นชัดเจนมากมาย ฉะนั้นน่าจะทำให้แก้วมณีเหล่านั้นมัวหมอง ไร้ราศีไปเสีย"

จึงพากันออกจากถ้ำ ไปยังสระน้ำแห่งหนึ่ง กลิ้งเกลือกตัวเองในเปือกตมให้สกปรกเลอะเทอะ จากนั้นก็กลับมาในถ้ำ ใช้ร่างกายขัดสีกับแก้วมณี เพื่อให้แก้วมณีเลอะเลือนขุ่นมัว

แต่...แก้วมณีเหล่านั้นเมื่อถูกขนสุกรขัดสี กลับยิ่งสุกใสแวววาวกว่าเดิม เงาสะท้อนก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น เหล่าสุกรพากันหมดปัญญาที่จะคิดวิธีการอื่นใดอีก ต้องไปหาดาบสให้ช่วยแก้ปัญหานี้

พวกข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณีมา ๗ ปีแล้ว ตอนนี้ช่วยกันพยายามกำจัดแสงแห่งแก้วมณีให้มัวหมอง เอาเลนและโคลนมาขัดสีแก้วมณี แต่แก้วมณียิ่งสุกใสกว่าเก่า พวกข้าพเจ้าจึงต้องมาขอถามท่านผู้ประเสริฐ ว่าพวกข้าพเจ้าจะกระทำอย่างไรดี

ดาบสได้ฟังแล้ว ก็ส่ายหน้าตอบว่า

"ดูก่อนสุกรทั้งหลาย แก้วไพฑูรย์ (แก้ว สีเหลืองแกมเขียวหรือสีน้ำตาลเทา หรือเพชรตาแมว) เหล่านั้น เป็นของแข็งมีสีงดงามสุกใส ใครๆ ไม่อาจกำจัดแสงของแก้วไพฑูรย์ ให้มัวหมองได้ พวกเจ้าอย่าเสียเวลาเลย จงพากันหลีกไปหาที่อยู่อื่นเสียเถิด"

ฝูงสุกรได้ฟังคำของดาบสแล้ว ก็ยินยอมรับคำ แล้วกระทำตามนั้น พากันสละถ้ำ แก้วมณี ไปอาศัยอยู่ยังที่อื่น ...............

พระศาสดาแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสเฉลยว่า

"ดาบสในครั้งนั้น กืคือเราตถาคต นั่นเอง"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๐๒
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๔๕๔
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๙๒
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๒๘๔)

 

โศลกธรรม
คนผู้รวยทรัพย์สินเงินทอง
แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้สูงด้วยยศถาบรรดาศักดิ์
แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้มากด้วยสรรเสริญเยินยอ
แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้โอ่อ่าไปด้วยโลกียสุข
สมบูรณ์พูนล้น
แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
จะประเสริฐอะไร...?
คนที่แม้จะจน
ก็ได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนไม่มียศเลย
แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้ได้รับแต่คำนินทาเสียด้วยซ้ำ
แต่ก็มีคนเคารพนับถือบูชา
คนผู้ไม่ไยดีโลกียสุขเลย
ทว่าได้รับการเคารพนับถือบูชา
นั่นต่างหากประเสริฐกว่า...!

สมณะโพธิรักษ์
(๓๐ ก.ค. ๒๓)

 

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -