กล้าได้กล้าเสีย -วิมุตตินันทะ-

คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่อง กล้าได้กล้าเอา ในเมื่อใครๆ ก็กล้าเป็น ทั้งนั้น เพราะความขี้โลภตัวเดียว นี่แหละ ปัญหาโลกแตกจึงตามมาให้แก้ ไม่จบสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้รู้จึงสอนเป็นนัยสรุป ได้ว่าในความดีชั่วของคนเมื่อกล่าวโดยย่อ ย่อมอยู่ที่ตัวเอาเปรียบหรือเสียสละ อะไร มันมากกว่ากันนี่เอง

ฟังดูอาจจะน่าเบื่อ เมื่อต้องพูดถึงความโลภของมนุษย์ขี้เหม็น ครั้นจะให้คนหมดตัวโลภไปเลยเปล่าๆ ขนาดก้าวกระโดดทิ้งโลกทุกอย่าง ไปใช้ชีวิตอย่างฤาษีประมาณนั้น มันคงจะสุดโต่งไปข้างอัตกิลมถานุโยค คือทรมานตัวเองให้ลำบาก โดยเปล่าประโยชน์ เพราะมัวจมปลักดักดานอยู่กับโลกอัตตาและกดข่มกิเลสไว้เหมือนหินทับหญ้า

ทีนี้เมื่อจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นจริงร่วมสังคม มันก็อดไม่ได้ ที่จะต้องอยากมีโลภกับเขาบ้าง ทางที่ดีมัชฌิมาจึงจำเป็นต้องลดละตัว ขี้โลภจัดให้มันเบาบางจางคลายไปตามลำดับศีลที่สามารถปฏิบัติได้ ตามกำลังวิสัยของแต่ละคนอันหลากหลาย

วิถีพุทธเลยแตกต่างกับฤาษีในมรรคปฏิบัติ เพราะมีลำดับต้นกลางปลาย คือเข้าใจพาทำจนสำเร็จผลตามลำดับหยาบกลางละเอียดเป็นเรื่องๆ ทีละขั้น เหมือนมหาสมุทรที่ลาดลุ่มเอียงเทลึกไปเรื่อย ไม่โกรกชันเหมือนเหว

ดังนั้นใครๆ ที่มักรู้สึกว่าธรรมะของพุทธ ช่างลึกซึ้งกว้างใหญ่เหลือเกิน เข้าใจยาก แม้อยากจะตัดกิเลสอันแสนหนักหนาสาหัส มันชวนท้อแท้ เสียก่อน ไม่รู้จะทำกับมันยังไงดี

แท้จริงแล้ว หากเราตั้งต้นเอาเรื่องที่ใกล้ตัวกินอยู่กับปาก อยากอยู่ กับท้อง ตื้นๆ ง่ายๆ เช่น อบายมุข เมาเหล้า เล่นหวย หลงแฟชั่นบ้าแต่งตัว ของหยาบๆ เทือกนี้ มันควรจะลดราวาศอกกันได้ทั้งนั้น หรือบางคนไม่ชอบอยู่แล้วด้วย ถ้าอ่านตนออก บอกตนได้ว่า อันนั้นอันนี้เราไม่หลงติดเลย หรือเคยติดบ้าง แต่เลิกแล้ว ตัวหลุดพ้นในแต่ละเรื่องเหล่านี้ เมื่อมีปัญญาประจักษ์แจ้งว่า มันวิเศษสบายดี จริงๆ ไม่ไปหลงโดนใจมัวเมากับมันอีกเด็ดขาด นี่เท่ากับวิมุติกังขาเล็กๆ สำคัญอยู่ที่รักษาเนื้อรักษาตัวให้สะอาดเป็นไททำนองนี้แหละ ทุกคนจึงมีโอกาสยกระดับชีวิตจิตวิญญาณตัวเองทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว

ดังนั้น ต่อให้กิเลสตัณหาจะยิ่งใหญ่เป็นภูเขาเลากา เรามีสิทธิมนุษยชนสามารถทำปาฏิหาริย์ตามวิถีพุทธ โดยทำกิเลสให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้เลย หลายคนอาจจะอ้างว่า ฉันทำไม่ได้ดอก กิเลสมันหนาเกินไป ถ้าใครไม่คิดขุดหลุมฝังตัวเองทั้งเป็นแบบนี้ จะลองเถียงตัวเองเสียใหม่ไหมว่า ที่ทำกิเลสหนาขึ้นทุกวัน ทำไมถึงเป็นทำได้ ทำเอา ทีจะทำให้มันลดน้อยถอยลงเบาบางบ้าง ทำไมจะทำไม่ได้เลยเล่า...

ใครจะคิดนึกรู้สึกไหมว่า ตั้งแต่เด็กไร้ เดียงสามาจนแก่หาที่ตายใกล้แค่รูจมูกขณะนี้ กิเลสตัณหามันหนาขึ้นหรือเบาบางลงเท่าใดอย่างไรกันแน่ ปุถุชนแปลว่าคนกิเลสหนา เราเติมใส่กิเลสตามใจมันทุกวันคืน มันเป็น ผู้ก่อการร้ายตัวจริงเสียงจริง เรารู้เนื้อรู้ตัวกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย มันคงไม่ง่ายสินะ ที่จะรู้ว่าไผเป็นไผ...

กิเลสของใครใครก็หวง จนสุดจิตสุดใจขาดดิ้น ในชีวิตจิตวิญญาณ ยังจะมีอะไรน่าหวงแหนยิ่งกว่านี้บ้าง

ท่านจึงสอนว่า คนเราหลงหวงกิเลสยิ่งกว่าอะไรๆ หมด เมื่อมัวแต่ประคบประหงมเอื้ออาทร เหมือนเลี้ยงมารร้ายในใจให้ โตวันโตคืน เสร็จแล้วอนาคตจะจบลงตรงไหนดี

ปุถุชน กับ อาริยชน จึงห่างไกลกันคนละอีกฟากฟ้าหนึ่ง

และกว่าคนเราจะเห็นทุกข์ในกิเลสสำคัญอะไรสักอย่าง มันช่างยากเหลือล้น ค่านิยมเสพสมสุขสมของคนจึงต่างๆ นานา นรกสวรรค์ของใคร ก็ว่ากันไปตามอุปาทาน สวรรค์ของคนกินเหล้า มันกลับเป็นนรกของคนไม่ชอบไม่ติด เทือกนี้เป็นต้น

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่คนไทยกินเหล้าติดอันดับ ๕ ของโลก หากเลิกเหล้าได้ มากเท่าไหร่ คนไทยจะรวยขึ้นและสุขภาพดีทันตาเห็น อุบัติเหตุเจ็บตาย พิการน้อยลง ทันที เหตุผลชัดเจนแบบนี้ สมควรแล้วที่เกิดมีโครงการ อดเหล้า เข้าพรรษา รณรงค์เอา วันเข้าพรรษา เป็นวันงดเหล้าแห่งชาติ ปีหนึ่งตั้งต้นงดเหล้าเด็ดขาดทีละวันสองวัน จนกระทั่งงดทุกวันอาทิตย์เลยได้ยิ่งแจ๋ว ถ้าไทยรักไทย มากกว่าไทยรักเงิน งานนี้คงไป ฉลุยโลด โดยเฉพาะศาสนาพุทธ จะได้มีความหมายกับคนไทยรากหญ้าขึ้นมาจริงๆ บ้าง แทนที่จะเป็นทาสน้ำเมาเสียคนพันธุ์แท้ไปหมด

สาธารณทุกข์ อันเป็นวาระแห่งชาติ เช่น เหล้า อบายมุข สมควรแล้วที่จะต้อง ล้างสมอง ชายไทยกันเสียใหม่

มันน่าคิดเหลือเกินว่า ทำไมคนถึงชอบกินเหล้าอยู่ได้ ทั้งที่อร่อยลิ้นชื่นปากสู้น้ำเปรี้ยว น้ำหวานไม่ได้เลย ขมบาดคอด้วยซ้ำ โทษภัยของเหล้ามีอย่างไรๆ คนมันแสนจะรู้ดี แต่คนติดมันอดไม่ได้ แล้วจะให้ทำยังไง บางคนกินเหล้าแล้วต้องตาย ยังยอมลงทุน แลก เพราะถ้าไม่ได้เหล้ากิน มันพานจะตายเหมือนกัน บ้าไปโน่นเลยปานนั้นเทียว

สัจธรรมอันนี้ ชี้ให้เห็นว่า คนเราไม่ได้อยู่ด้วยเหตุผลเท่านั้น ใครอย่ามัวหลงบูชา เหตุผลเป็นสรณะกันนักเลย คนชอบแก้ตัว หรือตีความเข้าข้างตัวก่อนเสมอ ข้อ สำคัญ คนมีอคติในการใช้เหตุผล อคติ ๔ มี ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ เรียกว่าลำเอียงเพราะชอบ ชัง หลง และกลัวภัย ตราบใดที่ใครยังเป็นทาสเห็นแก่ตัว ผลประโยชน์ เป็นทาสโลกธรรม ๔ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อันคู่กับเสียลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เรื่องที่ฝันหาความบริสุทธิ์ยุติธรรม คงจะได้เจอผลสำเร็จที่ขอบฟ้า ยามอาทิตย์ลับแสง

เชื่อไหมว่า โจรทุกคนมีเหตุผลของ ตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่มันรับไม่ได้กับสังคม กับคน ที่ไม่ใช่โจร การเอาเหตุผลของใครๆ มาตีมาชนกัน มันต้องขัดแย้ง ทะเลาะบาดหมาง ไม่มีวันจบสงบสันติอะไรได้

พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์จึงสอนว่า เหตุผลคือความบ้า อัตตาคือความจริง

คนเราที่ยื้อแย่งแก่งชิง ถ้าไม่ใช่ผลประโยชน์โลกธรรมต่างๆ มันก็เป็นไปด้วยอำนาจ ทิฐิมานะอัตตานั่นเอง

ตัวอย่างข่าวใหญ่ในสาธารณสุข ที่กลายเป็นสาธารณทุกข์ไปแล้วกระมัง คือคดี ช้างสาร ชนกัน ระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวง ร.ม.ต.สุดารัตน์ กล่าวโทษ น.พ. วัลลภ ไทยเหนือว่า ไม่สนองนโยบายรัฐบาล ฝ่ายหมอก็ออกมาเต้นว่า เพราะไม่สนอง นโยบายให้สั่งยกเลิกประมูลคอมพ์ ๙๐๐ ล้านบาท ไม่มีสาเหตุอื่น ฟังข่าวสรุปได้ ประมาณนี้

เรื่องมันสนุกตรงที่เหตุผลไม่ตรงกันเลย ฝ่ายไหนมีข้อเท็จข้อจริงมากกว่ากัน วงนอก ยากที่จะรู้ลึกด้วย ที่แน่ๆ คือถ้าผู้มีอำนาจย้ายฟ้าผ่า ทำถูกดีแล้ว คนโดนย้าย ก็เป็น ฝ่ายผิด หรือถ้าอดีตปลัดที่โดนเด้ง มีจุดยืนกรานถูกต้อง ร.ม.ต.ย่อมเป็นฝ่ายพลาดท่า

ใครจะผิดถูก อยู่ที่คณะกรรมการตัดสินหาข้อเท็จจริง จะไต่สวนหาความจริงได้ แค่ไหน ไม่ต้องรอทราบก็ได้

จากผลโพลล์สำรวจ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมให้น้ำหนักเชื่อใครไม่เชื่อใครไปแล้วระดับหนึ่ง

ในที่นี้อยากชี้ให้เห็นว่า คดีน่าจะมีมูล ส่วนใครโกงกินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรณี ร.ม.ต.ติดคุกโทษกินสินบนก็เคยมีมาแล้ว ข้าราชการผู้ใหญ่ถูกไล่ออกฐานทุจริต มีอยู่ไม่ขาดสาย และยังจะมีต่อๆ ไปไม่จบสิ้น

ตัวอย่างอุทาหรณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นแนวปฏิรูปราชการที่ล้มเหลวหรือเปล่า เมื่อคนระดับ แนวหน้าของชาติ ยังมีปัญหาไว้วางใจกันไม่ได้เลยขนาดนี้ ไม่มีประกันเลยว่า มือสะอาด แค่ไหน แล้วจะหวังอะไรกับงานบริหารแผ่นดิน ของท่านทั้งหลาย

อนึ่งการใช้เงินผลประโยชน์ขี้โลภ จูงใจให้เศรษฐกิจพัฒนา ให้คนทำงานสาธารณะ มันหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดผลข้างเคียง เช่นโกงกิน แข่งกันงาบตลอดเวลา

ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ มนุษย์พันธุ์กล้าเสียสละกล้าจน แทนพวกกล้าเอา กล้ารวย คงจะช่วยบรรเทาสาธารณทุกข์ สร้างสาธารณสุขได้จริงจังยั่งยืน

เมืองไทยจึงออกจะขาดแคลนผู้นำเสียเหลือเกิน ขบวนการสรรหาผู้นำ ไม่ว่าด้าน การเมืองหรือข้าราชการประจำ ยังเชื่อได้ยาก รู้หน้าไม่รู้ใจ ประชาชนควรรวมพลัง ร่วมขบวนการกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น ดังเช่นผู้สมัครผู้ว่า กทม. บางคนมีเสียงหนุน จากราษฎรอาวุโส และนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มเสียดายคนดีบางท่าน ชาวกรุงหนุน ให้เป็น ผู้ว่าฯ เต็มที่ แต่ไม่ยอมฉลองศรัทธา การเมืองที่ให้เสียงมาหา แทนที่จะใช้เงิน หาเสียง จึงเป็นไปได้จริงๆ

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -