เป็นต้นว่า ศีล ๕ ที่ปกติมนุษย์ จะต้อง "เวรมณี" ซึ่งหมายความว่า คนจะต้องประพฤติหรือปฏิบัติ "งด-เว้น" จึงจะเจริญ แล้วที่ว่างด-เว้นนั้นปฏิบัติอย่างไร แค่ไหน จึงจะเป็น "การปฏิบัติไม่ผิด (อปัณณกปฏิปทา) ออกนอกพุทธ"

"ศีล"ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าให้ประพฤติ "งด" หรือให้ประพฤติ "เว้น" หรือให้ปฏิบัติ "เลิกละ" นั้น ต้องเป็นอกุศลแน่ๆ เป็นบาปอันคนไม่ควรประพฤติ หรือเป็นความเลวความชั่วร้ายจริง แน่นอนที่สุด หากผู้ใดประพฤติอยู่ กระทำอยู่ ก็เป็น "บาปสมาจาร" (การประพฤติสิ่งที่บาปที่ชั่วอยู่)

ดังนั้น ใครที่ยังไม่ประพฤติงด ไม่ประพฤติเว้น สิ่งที่เป็น"บาปสมาจาร" หรือไม่ปฏิบัติศีล ไม่สมาทานศีล เลยนั้น ย่อมจะต้อง "กระทำ" (กรรม) ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงให้งดให้เว้น "การประพฤติสิ่งที่บาปที่ชั่ว" (บาปสมาจาร) แน่ๆ เพราะคนผู้นั้นไม่มีความรู้ (อวิชชา)ในสัจธรรมนี้นั่นเอง คนผู้นั้น จึงสะสมบาป สะสม ความชั่วร้าย ตามที่ตนมี"การกระทำ" (กรรม)นั้นอยู่ ตามที่ตนมี"การประพฤติ"บาปนั้นจริง ด้วยอวิชชาทุก "บาปสมาจาร" โดยไม่รู้ตัว

ใครจะบอกว่า ฉันไม่ได้ "ถือศีล" นี่ จึงไม่ต้องงดไม่ต้องเว้น ตนจะบาปยังไง? ตนประพฤติหรือ กระทำอะไร อย่างไร ก็ไม่เห็นจะต้องบาป เพราะไม่ได้สมาทานศีลซักหน่อย ผู้คิดเช่นนี้ คือผู้ไม่รู้ หรือ ผู้มีอวิชชาแท้

เพราะสัจจะที่ปฏิเสธไม่ได้นั้นก็คือ ใครก็ตาม "มีความประพฤติ-มีการกระทำ" นั้นๆอยู่จริง การประพฤติ หรือการกระทำนั้นก็คือ "กรรม" คือมีการกระทำของผู้กระทำอยู่นั่นเอง ผู้ประพฤติอยู่แท้ๆจะไม่รับว่า การประพฤติหรือการกระทำนั้นเป็นของตน ย่อมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อ "การกระทำ" (กรรม)ใดๆ ถ้าเป็น การกระทำที่บาปที่ชั่ว ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนให้"งด" ให้"เลิกละ" เพราะเป็น "บาปสมาจาร" มันก็ต้อง เป็น "บาป" เป็น"ความชั่วความร้าย"อยู่ตามสัจจะแห่งความเป็นความมีนั้นๆแน่ ผู้ทำจะถือศีล หรือ ไม่ถือศีล ก็ตาม หาก"กระทำ"หรือมีพฤติกรรมอันเป็นบาปเป็นชั่วนั้นจริง บาปนั้นก็ต้องเป็น ของตนแล้ว โดยไม่ต้องมีใครกำหนด จะถือศีลหรือไม่ ก็ได้บาปแน่ เพราะตนทำจริงๆ ตนก็มีวิบากบาปจริงๆ

พระพุทธเจ้าทรงประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ "ความตรัสรู้" เชียวนะ ว่า "กรรม" คือ "การกระทำ" ทุก
การกระทำ ทุกความประพฤตินั้น เป็นสมบัติของตนๆ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า คนทุกคน "มีกรรม เป็นสมบัติของผู้กระทำเองหรือมีกรรมเป็นของตน" (กัมมัสสกะ) "ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว นั้นมีจริง" (อัตถิ สุกตทุกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก) ถ้าใคร ไม่เห็นจริง หรือ ไม่เชื่อว่า "ผลวิบาก ของกรรม ที่ทำดี ทำชั่วนั้นมีจริง" ผู้นั้นก็คือ ผู้มี "มิจฉาทิฏฐิ" อยู่แน่แท้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๕)

"ความเชื่อ" (ศรัทธา) อันสำคัญยิ่งของศาสนาพุทธมี ๔ ประการ คือ
๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฏแห่งกรรม เชื่อว่าการกระทำเป็นของจริงมีอยู่จริง
๒. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผลแก่ตน ไม่ว่าดีหรือชั่ว
๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อว่า "ตนทำ" ตนก็ต้องเป็นเจ้าของ การกระทำนั้นๆ เชื่อว่า"การกระทำของตน"เป็นสมบัติของตน
๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

และในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๕๘๑ พระพุทธเจ้า ตรัสความเป็น "กรรม ๕" ไว้ว่า
) กัมมัสสกา "การกระทำ" เป็นสมบัติของตน
) กัมมทายาทา "การกระทำ" เป็นตัวสืบสันดาน
) กัมมโยนี "การกระทำ" เป็นตัวพาเกิดพาเป็น
) กัมมพันธู "การกระทำ" เป็นเผ่าเป็นพันธุ์
) กัมมปฏิสรณา "การกระทำ" นี้แลเป็นที่พึ่งแท้

แล้วพระองค์ก็สรุปในเรื่องกรรมว่า กัมมัง สัตเต วิภชติ ยทิทัง หีนัปปณีตตายาติ "การกระทำ" นี่เอง ที่จำแนกสัตว์ ให้เลวและประณีตได้

[มีต่อฉบับ๑๗๑]

กรรม หรือ การกระทำ จึงเป็นเรื่องหลักของศาสนาพุทธ ซึ่งเทียบเท่า "พระเจ้า" เพราะทุกความประพฤติ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -