เรื่องอย่างนี้ต้องช่วยกันเผยแพร่ - พิทยา ว่องกุล -

โครงสร้างเศรษฐกิจทุนข้ามชาติ : กับปัญหารวยแล้วต้องโกง


วิกฤติประชาธิปไตย หรือวิกฤติการเมือง มักเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จากความมัวเมา อำนาจ ของกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งมาจากการสุมหัวกันใช้ "ธนาธิปไตย (เงินเป็นใหญ่)" ทุ่มซื้อ เสียง กันในการเลือกตั้งเพื่อขึ้นมาบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยเสียงข้างมาก ยึดอำนาจรัฐสภา กำหนดนโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่ ตระกูลธุรกิจ ของผู้นำประเทศ และรัฐมนตรี แล้วผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ หรือ บริหารบ้านเมืองตามใจตนเอง โดยไม่ฟังเสียงฝ่ายค้าน หรือประชาชน รัฐบาลกลุ่มทุน จึงนำพาประเทศเข้าสู่ยุค "เผด็จการรัฐสภา"

การเมืองที่เป็นเผด็จการรัฐสภามีหลายระดับ ทั้งแอบแฝงและโจ่งแจ้ง สำหรับประเทศ พัฒนาแล้ว มักจะเป็นเผด็จการแบบแอบแฝง ในรูปนโยบาย การใช้กฎหมาย และ อำนาจการตัดสินใจ ให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย กลอุบาย เทคนิคการบริหาร กลไกสภา อำนาจเงิน โฆษณาหลอกลวง และการล็อบบี้ กลุ่มผล ประโยชน์ต่างๆ โดยผ่านกลไก ประชาธิปไตย ดังนั้น ภาพของผู้นำรัฐบาล จึงมิได้ ปรากฏชัดแจ้งว่า เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เช่น กรณีของประธานาธิบดีบุช ของอเมริกา หรือนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศในละตินอเมริกาและในเอเชีย มีหลักฐาน บ่งชี้ว่าในการฟื้นฟู ประเทศ ตามคำแนะนำ (แกมบังคับ) ของธนาคารโลก กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือสถาบันการเงิน ระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค เพื่อแลกกับเงินกู้นั้น ประเทศต่างๆ ต้องยอมรับแนวทาง การพัฒนา ที่มุ่งเปิดประเทศ สู่การค้าเสรี การเงินเสรี การลงทุนเสรี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งแท้จริงคือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ของธุรกิจ ทุนนิยมขั้นสูงสุด ที่จะขยายครอบงำโลกนั่นเอง

จากเงื่อนไขนี้ บรรดาธุรกิจใหญ่ที่เผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว จึงจำเป็นต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด พยายาม หาโอกาส จะสร้างความมั่งคั่งใหม่ คืนมาอีกครั้งหนึ่ง และ พวกเขามองเห็นทางรอด ช่องทางเดียวเท่านั้น ก็คือการเข้ามา ยึดอำนาจรัฐของประเทศ เอาไว้ แล้วใช้อำนาจ รัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย นโยบาย กลไกราชการ งบประมาณแผ่นดิน การประมูล สัมปทาน และอำนาจ ในการบริหารประเทศ เอื้อประโยชน์ ให้แก่ธุรกิจของพวกตน กีดกันคู่แข่งขันทางธุรกิจ หรือเจรจาต่อรองการค้า ระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ ของกลุ่มทุน นี่คือสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มทุนใหญ่ ในประเทศกำลังพัฒนา ทุ่มเทเงินทอง เข้าเล่นการเมืองโดยตรง

ดังจะเห็นได้ว่า ผู้นำรัฐบาลของประเทศเม็กซิโก อาร์เจนตินา โบลิเวีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ มาจากซีอีโอ เครือญาติ หรือระดับ ผู้บริหาร ของกลุ่มทุนใหญ่ ในประเทศ พวกเขาชนะเลือกตั้งทั่วไปได้ เพราะมีกลุ่มทุนใหญ่ ให้เงินทุนสนับสนุน อยู่เบื้องหลัง

มีข้อสรุปทางวิชาการที่ชัดเจนว่า บรรดารัฐบาลของกลุ่มทุนทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศ กำลังพัฒนา ปัจจุบันยึดแนวทางการพัฒนาหลัก ได้แก่ ลัทธิเสรีนิยม ทางการตลาด (Market Liberalism) เป็นแกนกลาง ขณะเดียวกัน ก็นำมาปรับใช้ เข้าเป็น ส่วนหนึ่ง ของการเมือง หรือ นโยบายทางการเมือง ด้วยวิธีประสานเข้ากับลักษณะเฉพาะ ในแต่ละสถานการณ์ เช่น ลัทธิชาตินิยม ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแส ความต้องการ ของประชาชน และความเป็นจริง ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางการเมืองใหม่ ที่มีลักษณะ ปฏิรูป อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังคงอยู่ บนฐานลัทธิเสรีนิยม ทางการตลาด เพื่อผลประโยชน์ ของนายทุนใหญ่นั่นเอง

ความจริงแท้ของการเมืองในประเทศประชาธิปไตยดังได้กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่บรรษัททุนข้ามชาติชูคำขวัญโลกาภิวัตน์ หรือ โลกไร้พรมแดน เราจะเห็นว่า กระบวน การพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนลัทธิเสรีนิยม ทางการตลาด ได้ยกระดับขึ้นสู่ ลัทธิ เสรีนิยมใหม่ทางการตลาด ที่ต้องการขยายขอบข่าย ปกคลุมไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิด การขยายตัว ของเศรษฐกิจทุนนิยม ขนานใหญ่ และกลายเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจ ๒ กระบวนที่อยู่ซ้อนกัน ก่อให้เกิดโครงสร้างทางการเมือง ๒ กระบวนที่ซ้อนกันด้วย ในที่นี้ จะประมวลให้เห็น เพียงภาพกว้าง ได้แก่

๑.โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ลัทธิเสรีนิยมก่อให้เกิดธุรกิจการค้า ที่รวม ศูนย์ เป็นทุนใหญ่ ภายในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติขึ้นมา จากนั้น การแข่งขันเสรี ที่ไม่เท่าเทียมกัน เพิ่มอำนาจให้ทุนใหญ่ เขมือบทุนเล็กกว่า ในระดับท้องถิ่น ในทุกภาค ส่วน เช่น บรรษัทธุรกิจ การเกษตรขนาดใหญ่ เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ลดจำนวนเกษตรกร รายย่อย หรือรายครัวเรือน จำนวนมากมาย จนกระทั่ง สหรัฐ มีจำนวนบรรษัทธุรกิจ การเกษตรขนาดใหญ่ และเกษตรกรขนาดกลาง ราว ๔ เปอร์เซ็นต์ของประเทศ บริษัท อเมริกัน ฟรุต สแตนดาร์ด เป็น ๑ ใน ๓ บริษัท ที่ยึดครอง การผลิตกล้วยหอม ในอเมริกา และโลก บรรษัทสื่อใหญ่ในอังกฤษและอเมริกา เข้าไปเทคโอเวอร์ สื่อเดี่ยว และสื่อ เล็กกว่า ภายในประเทศ จนกลายเป็น สื่อครบวงจร ทั้งวิทยุ ทีวี เคเบิลทีวี โทรคมนาคม ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ ฯลฯ บรรษัทค้าปลีกระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น วอลมาร์ท คาร์ฟูร์ ท็อป เทสโก เป็นต้น ไม่เพียงแต่จะครอบงำตลาดในประเทศ ยังขยายกิจการ ไปทั่วโลก

ในด้านตรงกันข้าม ประชาชนในแต่ละประทศที่เคยมีอาชีพอิสระ ร้านค้าย่อย เป็นเกษตรกร รายย่อย หรือกรรมกร นับวันจะสูญสลายไม่มีงานทำ ทั้งจากสาเหตุ การแข่งขัน กับทุนที่ใหญ่กว่า และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาแทนแรงงาน ก่อให้เกิด ปัญหา ว่างงานเพิ่มมากขึ้น และประชาชน ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ซึ่งกลายเป็นปัญหา เศรษฐกิจที่กำลังสะสมอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา แต่อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ยังไม่ลุกลาม ใหญ่โต เนื่องจากคนยากคนจน หรือประชาชนผู้ว่างงาน ของประเทศพัฒนาแล้ว ยังดำรง ชีวิตอยู่ได้ไปวันๆ หนึ่ง เพราะรัฐสวัสดิการที่มีเงินจำนวนหนึ่ง จากระบบ การเก็บภาษี ก้าวหน้า จากภาคธุรกิจและเอกชนมาใช้ยาไส้คนตกงาน

ความยากจน สภาวะไร้งานทำของประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้เกิด วิกฤติ เศรษฐกิจ ที่รอวันระเบิด และบรรษัทใหญ่ๆ ก็มิอาจขยาย ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ภายใน ประเทศต่อไปได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องขยายตลาด และส่งออกสินค้า ไปต่างประเทศ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางการตลาด หรือ การค้าเสรี ไร้พรมแดน การลงทุนไร้พรมแดน จึงเป็นทางออกที่ทุนใหญ่ใช้อ้าง เพื่อจะออกไปแสวงหา ความมั่งคั่ง และแย่งชิงทรัพยากร นอกประเทศ ดังนั้นในกระบวนการพัฒนาเช่นนี้ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้ว ก็ขยายตัว กลายเป็น บรรษัทธุรกิจข้ามชาติไปในที่สุด และการเขมือบทุนต่างชาติ จึงเป็น เป้าหมายขั้นสำคัญ ทางยุทธศาสตร์ ที่จำเป็นต้องผลักดันผ่านรัฐบาล หรือสถาบัน ระดับโลก เพื่อเปิดประตู ประเทศอื่นๆ ให้พวกเขาสามารถล่าอาณานิคม ทางเศรษฐกิจ ได้นั่นเอง

โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว จึงถูกยึดกุมด้วยบรรษัททุนข้ามชาติ และ ทุนยักษ์ใหญ่ ในแต่ละประเทศ ด้วยอำนาจ ธนาธิปไตย มากมายมหาศาล นายทุนใหญ่ บรรษัทข้ามชาติ ได้เข้าไปยึดครอง หรืออยู่เบื้องหลังรัฐบาล ของประเทศพัฒนาแล้ว ในการผลักดัน การค้าเสรี ไร้พรมแดน หรือข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้เปรียบ ในระยะยาว ทุกรูปแบบวิธีการ ดังนั้นโครงสร้างการเมือง ของประเทศพัฒนาแล้ว ย่อมกลายเป็น อำนาจเผด็จการ ทุนนิยมไปโดยปริยาย

สรุปกระบวนการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว ถูกยึดกุม โดยกลุ่ม บรรษัทข้ามชาติ มีความพยายาม ที่จะผลักดัน ให้รัฐบาลของตน และองค์กรระหว่างประเทศ ดำเนินการตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ เปิดประตูประเทศต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และตุลาการ เพื่อเข้าไปขยายความมั่งคั่ง และการอยู่รอด ของบรรษัท หรือประเทศตน โดยอ้างกระแส โลกาภิวัตน์ เข้ายึดครองเศรษฐกิจชาติอื่น

๒.โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ล้วนตก อยู่ภายใต้อิทธิพล ของทุนใหญ่ ภายในประเทศ และพัฒนา กลายเป็น ทุนพันธุ์ทาง ที่ผสมกับทุนข้ามชาติอื่นๆ โดยผ่านตลาดหุ้นเสรี นับวันทุนพันทาง จะขยายตัวใหญ่ขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศใด ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหา เพื่อความอยู่รอด และเพิ่มทุน ทำให้บริษัททุนชาติ ยอมเปิดทาง ให้บรรษัทข้ามชาติ เข้ามาถือหุ้น เพิ่มอัตราส่วนมากขึ้น และกลายเป็นทุนพันทางขนาดใหญ่ ที่ทรงอำนาจ การเงิน ในประเทศ

จากมุมมองกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจาก ไปเปิดการเงินเสรี การลงทุนเสรีและการค้าเสรี ตามความต้องการ ของประเทศ อภิมหาอำนาจ และประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลปรากฏว่า สังคมของประเทศ ที่กำลังพัฒนา เกือบทั้งหมด มักประสบปัญหา วิกฤติเศรษฐกิจรอบด้าน และที่ได้รับผลกระเทือน สูงมาก ก็คือ บริษัททุนชาติขนาดใหญ่ ทุนพันทาง หรือบริษัท ที่เข้าจดทะเบียน ในตลาดหุ้น ทั้งหลาย บรรดาธุรกิจเหล่านี้ จึงต้องกระเสือกกระสนดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดทุกวิถีทาง

อีกทั้งทางรอดที่เห็นอย่างชัดแจ้ง ก็คือการมีอำนาจที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และผู้อื่น โอกาสที่จะได้รับ อภิสิทธิ์ในการลงทุน แหล่งเงิน ทุนทรัพยากร โอกาสแข่งขัน ใหม่ และมีอำนาจจัดสรรผลประโยชน์

อำนาจยิ่งใหญ่นี้คืออำนาจรัฐ อำนาจในการบริหารประเทศ ด้วยเหตุนี้ บรรดานายทุน ใหญ่ๆ จึงรวมตัวกัน ตั้งพรรคการเมือง สนับสนุน พรรคการเมือง และลงไปเล่นการเมือง อย่างทุ่มเท รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร ในประเทศกำลังพัฒนา ก็ถูกกลุ่มทุนใหญ่ เข้ายึดโครงสร้าง ทางการเมือง เอาไว้ดังเช่น รัฐบาลอาร์เจนตินา โบลิเวีย เม็กซิโก หรือ ไทย เป็นต้น

บรรดากลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้เข้าบริหารประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก และสร้าง ความมั่งคั่งร่ำรวย แบบกบกระโดด ได้ในเวลา อันรวดเร็ว นั่นคือ

๑.คอรัปชั่นทางนโยบาย ได้แก่ การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัททุน ในด้านต่างๆ เช่น นโยบายแปรรูป รัฐวิสาหกิจ ของเม็กซิโก อดีตประธานาธิบดี ก็เอื้ออาทรให้นายทุนกลุ่มตน เข้าครองสายการบินของประเทศ การกำหนดนโยบาย การเงินการคลัง หรือตลาดหุ้นของไทย เสนอประโยชน์ให้ทุนใหญ่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่จัดสรรหุ้นใหญ่ให้บริษัทผู้มีอุปการคุณ หรือ ๑๐ ตระกูลใหญ่ การกำหนดนโยบาย เอื้ออาทร รูปแบบต่างๆ หากพิจารณาลงลึกแล้ว จะเห็นบริษัทตระกูลนักการเมือง ในระดับนำ เป็นผู้ผลิตสินค้า หรือเกี่ยวข้อง ด้านสิทธิ ผลประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย ฯลฯ

๒.คอรัปชั่นในการประมูลงาน สัมปทาน หรือล็อกสเปกไว้ให้แก่บริษัทในตระกูล นักการเมืองสำคัญ หรือธุรกิจ ที่สนับสนุนพรรคการเมืองรัฐบาล อันส่งผล ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลต่อเนื่องกัน หลายสมัย

๓.คอรัปชั่นในการบริหารและดำเนิน-การของหน่วยงานรัฐ เช่น การปั่นหุ้นโดยรัฐ เพื่อเอื้อ ประโยชน์แก่กลุ่มตน โครงการสาธารณูปโภค ก็ตัดถนนผ่าน บริษัทธุรกิจจัดสรรบ้านที่ดิน ของตระกูลนักการเมือง การประมูลซื้อขายที่ดิน ย่านกลางเมืองในราคาถูกกว่า การกำหนด อภิมหาโปรเจ็กต์ ให้บริษัททุนใหญ่ รับไปช่วงทำ เป็นต้น

๔.คอรัปชั่นในการทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศ ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ผู้นำ ประเทศ ในกลุ่ม ละตินอเมริกา ได้ทำสัญญา เขตการค้าเสรี อเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า ที่ทำให้เสียเปรียบทุนข้ามชาติอเมริกัน บ้างก็เอาผลประโยชน์ ด้านทรัพยากรของชาติ ไปแลกกับ ผลประโยชน์ของ บริษัทใหญ่ ที่แวดล้อมรัฐบาล รับสินบนบริษัททุนข้ามชาติ ในการเข้ามาทำธุรกิจ ด้านสาธารณูปโภค ที่ผูกขาด เช่น การผูกขาดน้ำในโบลิเวีย การให้บริษัท ทุนข้ามชาติอเมริกา เข้ามาทำการประมงอย่างเสรี ในข้อตกลงการค้าเสรี ที่ชิลีทำไว้กับอเมริกา

ไม่อยากกล่าวถึงข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ว่าถ้าไม่มีเลศนัยซุกซ่อนอยู่ หรือมี ผลประโยชน์มหาศาล ของตระกูล นักการเมืองสำคัญ ทำไมจึงไม่ยอมเปิดเผย และ ผ่านรัฐสภา อย่างเช่นอารยประเทศ เขาดำเนินการ!!

๕.คอรัปชั่นด้านการส่งเสริมการลงทุนด้วยการไม่เก็บภาษีบริษัททุนใหญ่ ด้านโทรคมนาคม ในเครือ ตระกูลผู้นำประเทศ รวมถึงบริษัท การเกษตรใหญ่ ในฐานะ ดีเด่น ด้านการลงทุน หรือการยกเว้นภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

มีตัวอย่างมากมายหลายประเภทซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายทุนใหญ่ในประเทศ กำลังพัฒนา ที่เผชิญ ปัญหาวิกฤติมาแล้ว เมื่อเข้ามา ยึดอำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลแล้ว พวกเขาสามารถพลิกแพลงรูปแบบวิธีการมากมาย เพื่อทำการคอรัปชั่น และขยายทุน เพิ่มทุน ให้บริษัทใหญ่ ในกลุ่มร่ำรวย มากมายมหาศาล กระทั่งติดอันดับธุรกิจ ที่รวย ที่สุดของประเทศ และติดอันดับโลก บทเรียนนี้ศึกษาได้จาก ประเทศเม็กซิโก อาร์เจนตินา ฯลฯ และต่อไป อาจจะรวมกรณี ประเทศไทยอีกด้วย

ดังนั้น มุมมองจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะต้อง ต่อสู้กับ บรรษัททุนข้ามชาติ ที่เข้ามาในนามการค้าเสรี เราจึงต้อง เข้าใจว่า ทุนใหญ่ ในประเทศต่างๆ จำเป็นเข้าไปยึดอำนาจรัฐ และต้องโกงบ้านโกงเมือง หรือขายชาติ ก็เพื่อที่พวกนายทุนใหญ่จะได้ร่ำรวยทัดเทียม และต่อสู้ได้สมศักดิ์ศรี กับทุนข้ามชาติ ได้ไงล่ะ!

นี่เป็นปัญหาของผู้มากด้วยโลภจริตที่ไม่สิ้นสุด แม้จะรวยมหึมาสักเพียงใด แต่ก็รู้สึก ไม่มั่นคง ในการแข่งขันเสรี กับทุนข้ามชาติ ที่ใหญ่กว่า ในยุคโลกาภิวัตน์
(จาก น.ส.พ. ไทยโพสต์ ๑๒ ก.ค. ๒๕๔๗)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -