เวทีความคิด - เสฏฐชน -
เก่งช่วยตน หรือ เก่งช่วยคน


ไม่ว่าชาติไหนก็ต้องการพลเมืองที่เป็นคนเก่ง เพราะมั่นใจว่าคนเก่ง จะทำประโยชน์ ให้แก่ชาติบ้านเมืองมากกว่าคนไม่เก่ง ประเทศต่างๆ จึงยินดีให้ทุนสนับสนุน ส่งเสริม คนเก่ง ทุกประเภท ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด อาชีพใด สังเกตได้จากมีทุน มอบให้คนเก่ง เสมอมา ทั้งๆ ที่คนเก่ง มีโอกาสมากกว่า คนไม่เก่ง ทุกประตูอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ คนส่วนมาก ฝักใฝ่ที่จะเป็นคนเก่ง ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ยกเว้น แม้เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เดียงสา เมื่อได้รับคำชมว่า "หนูเก่งจริง เก่งจังเลย" เด็กจะยิ้มแก้มแทบปริ จะกล่าวไปไย ถึงผู้ใหญ่ ที่แสวงหาไขว่คว้าอยู่แล้ว

ความเก่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่คนจำนวนไม่น้อยอุตสาหะ เห็นภาพชัดเจน จากสถาบัน การศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย ง่ายกว่าอาชีพอื่น เพราะมีการให้คะแนน วิชาต่างๆ เป็นตัวบ่งชี้ หรือไม่ก็อาจ วัดความเก่ง ได้จากการได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว ได้ยศ สูงกว่า ในระดับเดียวกัน ได้เงินมากกว่าคนอื่น ตามปกติ เพราะใครๆ ก็ต้องการคนเก่ง ไปทำงานด้วย จึงมีการประมูลตัวคนเก่ง ในแทบทุกวงการ

ดาราภาพยนตร์ที่แสดงเก่ง ค่าตัวจะแพง ไม่ต่างจากนักร้องที่ร้องเพลงเก่ง แม้นักการเมืองเก่ง ค่าตัว ก็จะแพงเหมือนกัน ใครมีเงินหว่านซื้อ มอบให้มากที่สุด ก็มักจะได้คนเก่ง มาครอบครอง และคนเก่งเอง ก็ชอบที่จะเข้าร่วมด้วย กับคนเก่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ชักชวนเก่ง พูดคุยเก่ง วางแผนเก่ง มีผลส่งให้คนเก่ง ได้มารวมกัน ทำงานเก่งๆ ด้วยกัน จนกลายเป็นแหล่งที่จำเพาะคนเก่งเท่านั้น จึงจะมีช่องทาง เข้ามาได้

คนเก่งกับคนมีเงินมักอยู่ด้วยกัน ในทัศนะคนในสังคม เพราะเขามีความรู้สึกว่า คนมีเงิน น่าจะมีโอกาส มากกว่าใครทั้งหมด เช่นคนที่เดินทาง ไปศึกษาต่างประเทศ ก็ย่อมมีเงินพอ ที่จะจ่ายค่าเครื่องบิน ค่าเล่าเรียน และค่าอื่นๆ ตามอัตราเงินแลกเปลี่ยน ที่แตกต่างกัน อยู่แล้ว รวมทั้งคนมีเงิน ก็ต้องเรียนรู้อะไร ได้ดีพอกับความเก่งของเขา และพร้อมที่จะ จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อสนองความเก่ง เพิ่มความเก่ง ให้แก่ตัวเองด้วย

คนจน(เงิน)ก็ต้องหาทางออกด้านอื่น เพื่อให้มีความเก่งเพิ่มขึ้น แล้วเงินจะตามมา ภายหลัง เช่น คนจน ต้องเรียนหนังสือเก่งๆ เพื่อขอรับเงิน (ทุน) ไปเล่าเรียนสถาบันที่สูงขึ้น โก้ขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้น ทั้งนอก และในต่างประเทศ

คนเก่งส่วนใหญ่จึงมักลำพองตัว หยิ่งถือในความเก่งเป็นเดิมพันชีวิต และ มักยอมหัก แต่ไม่ยอมงอ จึงเกิดศึก คนเก่งกับคนเก่ง ให้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะแวดวงการเมือง ถึงฤดูเลือกตั้ง ผู้ที่เชื่อมั่นว่า ตัวเองเก่ง ก็จะเริ่มเคลื่อนไหว เสนอตัวให้ประชาชนรับทราบ เพื่อเลือกเขา เข้าไปทำงาน บริหาร ระดับประเทศ ประชาชนจะเลือกใคร ที่ตัวเองเชื่อ คิดว่าเขาเก่ง สังเกตได้จากฐานะการเงิน ปริญญา ความรู้ ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงนิสัยใจคอ ความประพฤติ ฝีไม้ลายมือ ที่เคยฝากไว้แล้ว

การโฆษณาตัวเองเพื่อให้ผู้เลือกตัดสินใจในช่วงมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเลือกตั้ง ระดับ ท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ ไม่ถือว่าเป็นการคุยโม้โอ้อวด และดูเหมือนว่า ถ้าใครคุย ได้มากกว่า คนนั้นอาจจะมีช่องรอด ยิ่งกว่าคนอื่น ด้วยซ้ำ การหาเสียงด้วยการเปิด อภิปราย ตามเวทีต่างๆ ที่จัดขึ้น จึงเป็นแหล่งข้อมูล ตรวจทาน อย่างดี ที่ประชาชน จะตัดสินใจเลือก

นอกจากเรื่องการพูดแล้ว เรื่องการจ่ายแจกเงินเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง อันเป็นที่มาของ คะแนนเสียง จะไว้วางใจ เพียงความเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ในเมื่อคนเก่ง กับคน มีเงิน ถูกกำหนดคู่ไว้ แต่ไหนแต่ไร ฉะนั้นคนเก่งที่จนเงินมักเดือดร้อนกว่าคนเก่งที่มีเงิน จึงต้องหาทางเข้าร่วม ลงขันด้วยกัน พรรคการเมือง ที่มีเงิน จึงกระหยิ่มใจว่า พรรคตัวเอง นั้นมีแต่จะรุ่งโรจน์ ตราบที่คนเก่งๆ ยังพิสมัย อยากร่วมหอ ลงโรงด้วยกันอยู่

แม้ว่าคราใดที่เวลาผ่านไปๆ เนิ่นนานเข้า คนเก่งเหล่านี้จะหยุดใช้ความเก่ง ทำประโยชน์ ให้แก่ผู้ที่ตัวเอง ไปขอคะแนนไว้ ในเบื้องแรกบ้าง ก็ไม่เป็นไร

และแม้ว่าบางคนที่เก่งแต่จนเงิน จะร่ำรวยเงินขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดา คิดแทนให้เบ็ดเสร็จ ว่าคนทำงานเก่ง ควรมีบำเหน็จบ้าง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

ยืนยันความจริงแง่นี้ได้จากตอนเกิดปัญหาครูขาดแคลน ก็มีผู้เสนอ ให้ขึ้นเงินเดือนครู หมอขาดแคลน ก็มีผู้ส่งเสริม ให้ขึ้นเงินเดือนหมอ แม้แต่พระนักเทศน์ขาดแคลน ก็ยังมีการจัดนิตยภัตรใหม่

เงินได้แน่ ถ้าเก่งจริง ห่วงแต่ว่าไม่เก่งดังปากพูด ไม่ดีดังที่บอกเท่านั้น มิหนำซ้ำ จ่ายเงินไปแล้ว ก็สูญเปล่า หรือไม่ก็ได้ไม่คุ้มเสีย อีหรอบนี้แหละแย่

มือปืนรับจ้างที่ว่าแน่ ตรงที่เขาค้ำประกันว่า "ยิงปืนเก่ง แม่นยังกะจับวาง" ยังมีสิทธิ์ ร้องเรียก ค่าจ้างเพิ่ม จากข้อตกลงเดิม ไม่ต้องพูดถึงนักวิชาการ นักปกครอง นักบริหาร นักธุรกิจ ฯลฯ ย่อมจะมีสิทธิ์ ทำเช่นนี้ เป็นทวีคูณ เพราะประโยคที่ว่า "พร้อมจะรับใช้..." นำร่องไปก่อนหน้านั้น

ส่วนการจะทำจริง ทำได้มากแค่ไหน ดังปากว่า คำสัญญารับรอง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงเกิดคำท้าทาย จากนักการเมือง ระดับหัวว่า "ถ้าไม่ดี ต่อไปอย่าเลือกก็แล้วกัน" แค่นี้เองแหละ ที่เขานำมาแก้ปัญหา

พ่อค้าก็ไม่ต่างกับอาชีพนักการเมืองนัก ผู้ซื้อจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อยามสอบถามคุณภาพ ราคาสินค้า "ของดีไม่ถูก ของถูกมักไม่ดี" เป็นสิ่งการันตีแทบทุกราย

เพราะแม้ซื้อมาแล้ว แม้ไม่ถูก ผู้ซื้อก็คร้านที่จะไปร้องเรียกแหกกระเฌอ ให้อายคนอื่น จากการเสียค่าโง่ ของตัวเองไปเปล่าๆ สู้อดทนข่มใจให้คนอื่นเขาโง่ตามไม่ดีกว่าหรือ ถึงจะเสียเงิน เสียรู้ไปบ้าง ก็ยกเหตุผล ขึ้นปลอบใจตัวเองว่า "เสียค่าโง่" ไปก็ทำให้วางใจ ลงได้บ้าง แม้จะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่ได้ทำให้คนระอา ยกเลิก ความสนใจ ไม่ต่างจากการแทงหวย ความมันสนุก กับการเก็งผล เป็นรสเสน่ห์ ที่ดึงดูด ให้บทบาทของผู้กำลังเดินทางใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ ยังลอยนวลอยู่ได้

โลกจะไม่อาจตำหนิใครได้เลย ถ้าใครคนนั้นใช้ความเก่งไปหาเงิน มิหนำซ้ำ คนที่หาเงิน ได้มากๆ ยังได้รับ คำยกย่องว่า เป็นคนเก่งไปเสียอีก ยิ่งถ้าใครทั้งมีเงิน ทั้งมีความเก่ง ก็คงไม่แคล้ว ตำแหน่ง เทพบุตรในฝัน บุคคลที่สมบูรณ์แห่งยุค

แม้ฐานะคนเราจะต่างกันโดยกำเนิด คนก็ยังยกฐานะได้ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ไม่ว่า จะผันแปร ด้วยวิธีเรียน เพิ่มดีกรี หรือวิธีทำงาน เพิ่มกิจการขยายวงกว้างใหญ่ขึ้น ซึ่งก็หมายถึง เงินก็มากขึ้นด้วย บริวารก็เพิ่มขึ้นด้วย ผลผลิตไม่ต้องพูดถึง

การประกอบอาชีพที่มีโอกาสนั่งบอก นั่งเก็บเงินดอกผล เป็นภาพลักษณ์ของ ผู้ทำอาชีพ ก้าวหน้า เจริญเติบโตงอกงาม นับวันที่แต่จะเพิ่มยอดเงินในธนาคาร เพิ่มยอดทุนการผลิต ส่วนผลตอบแทนให้แก่พนักงาน คนงานที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นฝ่ายออกแรง เหงื่อออกแทบไม่มีชั่วโมงหยุดไม่ต้องพูดถึง ต่อให้ออกโรงปลุกม็อบ เดินขบวนประท้วง เรียกร้องขอเศษขอเลยจากผู้เป็นเจ้านายแม้เล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องสุดจะหวัง เพราะถึง อย่างไรพนักงานก็ต้องยอมเจ้านายอยู่แล้ว

คนรวยขึ้นด้วยการขายที่แพง เมื่อผู้ซื้อทักท้วงให้ไตร่ตรอง การตอบรับจากเจ้านาย หรือ ผู้ลงทุนให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ โสหุ้ยแพง น้ำมันขึ้นราคา ต่างประเทศ เกิดศึก กำลังรบกัน สุดแต่จะอ้างให้เห็นจริง เห็นตามได้ เพื่อให้ตัวเองยังคงความมี ความรวย เหล่านั้นอยู่ก็แล้วกัน

นักธุรกิจ นักการเมือง นักปกครอง ฯลฯ จึงพยายามก่อร่างสร้างตัว ให้ตนเอง เป็นผู้มี ฐานะดี หวังลบล้างคำสบประมาทมาแต่ไหนแต่ไรว่า "ของดีไม่ถูก ของถูกไม่ดี" แต่ของถูก ไม่จำเป็นว่าต้องไม่ดีเสมอ และของแพงก็ใช่ว่าจะเป็นของดีเสมอเช่นกัน

เพราะของบางอย่างไม่ได้วัดกันที่ของชิ้นนั้น แต่ใจของผู้กำหนดราคา หรือผู้ซื้อของนั้น ต่างหาก ที่เป็นตัวบันดาลให้ของเป็นของดี ของถูก เข้าในทำนองว่า "หากถูกใจเสียอย่าง" จะไม่เกี่ยงราคาเลย

ตรงกันข้าม ถ้าไม่ถูกใจแล้ว ต่อให้ให้เปล่าๆ ก็ไม่พึงประสงค์

ของขวัญสำหรับคนดี ที่คนนิยมให้กันมาก ก็ไม่พ้นเรื่องเงินๆทองๆ เห็นได้ง่าย จากพฤติกรรม ของเด็กๆจะชัดเจนมาก ผู้ใหญ่จะให้เงินแก่เด็กเมื่อเด็กคนนั้นเป็นเด็กดี

หายนธรรมเหล่านี้จึงเป็นทางมาแห่งความฟุ่มเฟือย ปลูกฝังนิสัยให้กลายเป็นคน "หว่านพืชหวังผล" ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เผื่อประโยชน์ให้คนอื่นลดน้อยหายไป และ ความเป็นคนดี ก็จะกลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในการตั้งราคาตัวเอง ทำให้เกิดเป็นเครดิต ที่คนดีคนนั้น จะนำไปเป็นหลักฐานรับรองตัวเอง ในเรื่องต่างๆ ได้ด้วย

คนจึงมีวิธีรวยขึ้นจากการทำความดีก็ได้เหมือนกัน เมื่อคนอื่นแน่ใจในความดีของเขาแล้ว เขาก็ย่อมจะยึดถือความดีที่เขามีอยู่นั่นแหละมาเป็นข้อต่อรองให้คนอื่นยอม คล้อยตาม ดังใจ และนำเครดิตความดีนั้นแหละมาเป็นแรงดึงดูดให้เกิดผลได้ต่างๆ อีก

เวลาของการสั่งสมตัวให้เกิดคุณภาพ จึงเป็นหนทางเดียวที่คนในสังคม จะต้องหาทางไว้ ตราบเท่าที่ คนในสังคมยังเชื่อว่า "ทางไกลพิสูจน์กำลังม้า เวลาพิสูจน์ใจคน"

ใจคนดีที่แท้จริง ดีอย่างบริสุทธิ์ใจ มักจะเป็นใจที่เสียสละ ก่อประโยชน์ให้แก่คนอื่น โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น เพราะเพียงแต่ได้รับความสุขใจ สบายใจ ในการให้คนอื่นเท่านั้นก็เพียงพอ เพราะเขาไม่จนใจ แม้บางคนอาจจะจนเงินก็ตาม

การฝึกคนให้เป็นคนดี น่าจะง่ายกว่าการฝึกคนให้เป็นคนจน เพราะคนในโลกนี้ ตั้งข้อรังเกียจความจน ด้วยกันทั้งนั้น คนที่ไม่หลงความรวย ก็จะเลือกเป็นคนดีก่อน แม้ไม่รวย ก็ไม่ทุกข์ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า "จนอย่างมีศีลธรรม" ชีวิตจะปลอดภัย น่าภาคภูมิใจกว่า "รวยอย่างไร้ศีลธรรม"

คนรวยไม่ว่าจะรวยมากเท่าไหร่ก็มีวันกินหมด และคนรวยก็จะจนลงได้พอๆ กับคนจน ที่ไม่มีอะไรเลย ถ้าคนรวยประมาท สำหรับคนจนนั้นเสมอตัวอยู่แล้ว

คนรวยจะแข่งกับคนรวยอื่นๆเพื่อจะได้ตำแหน่งรวยยิ่งกว่าไม่ง่ายนักทีเดียว ถ้าคนรวย เหล่านั้น ตระกูลเหล่านั้น ไม่นึกถึงความดีด้านทาน แจกจ่ายให้คนอื่นๆ ด้วย

ตระกูลที่มั่งคั่ง น่าจะประกอบสัมมาอาชีพ มีอิทธิบาทในการผลิต มีความระมัดระวัง ในการใช้จ่าย มีเมตตากรุณา มีสติปัญญา มีความเชี่ยวชาญในงาน มีคุณธรรม ไม่เห็นแก่ได้ ถ่ายเดียว รู้จักคืนกำไรกลับสู่สังคม ไม่คิดแต่จะกอบโกยเข้าหาตัวเอง ไม่คิดเล็กคิดน้อยเรื่องเงินทองข้าวของที่ตนจะได้มา หรือมีสิทธิ์ มีช่องทางพิเศษ ในการครอบครอง ทั้งไม่หวังผลในธุรกิจเพียงเรื่องรายได้ ที่จะทำให้ร่ำรวยเท่านั้น แต่ควรหาโอกาสช่วยสังคมไปด้วย

ระหว่างคนรวยที่มุ่งแต่เรื่องสะสมเงิน เพิ่มตัวเลขเงินฝาก จำนวนสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว กับคนรวยที่รู้จักละอายในการฉกฉวยโอกาส ที่ตนมี เหนือกว่าคนอื่นๆ อีกมากมาย แล้วหาทางสละคืนไปสู่คนหมู่มาก จะด้วยวิธีทานออก บริจาค สร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ ก็ได้ คนรวยชนิดนี้จะได้รับความนิยมนับถือ ที่มีค่ายิ่งกว่า ความรวยของเขา

นับว่าเป็นความฉลาดถ้าคนรวยที่ดีจะคิดอย่างนี้ เพราะเขากล้าทำทานจำนวนมาก โดยไม่กลัวสมบัติพร่องลงไป ด้วยความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมว่าทำดีเพื่อความดีแท้ๆ ไม่มีใครแย่งชิงของใครไปได้ นอกจากจะเป็นของเจ้าตัวผู้กระทำนั้นๆ คนผู้นั้นจะได้ทั้ง ความเป็นคนเก่ง คนดีควบคู่กันไป ถ้าทานจนหมดตัวได้เหมือนกับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในสมัยพุทธกาล ก็ยังไม่ขัดสน ในเมื่อผลบุญนั้นยังคงทนต่อการพิสูจน์อยู่

โลกที่กำลังคลั่งไคล้บริโภควัตถุ เป็นภาวะที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้มัวแต่หวงแหน ตระหนี่ เพราะนิสัยเช่นนี้จะนำมาซึ่งการโจรกรรม จากการบีบคั้นรอบด้าน ส่งผลให้คนจน เลือกประทุษกรรมคนอื่น ที่มีมากกว่า ทั้งเพื่อปากท้องและเพื่อประชดสังคม ย่อมไม่เกิด ผลดีแต่อย่างใดแก่ใครๆ เลย รังแต่จะพาให้เดือดร้อนกันไปทั่ว

ฉะนั้น คนเก่งที่ดีจะไม่วิตกเรื่องความร่ำรวย แม้ใครร่ำรวยแล้วก็ไม่กักตุนไว้อีก ถ้าเขา ไม่มีนิสัยเอาแต่ได้ ทั้งไม่กลัวความจนด้วย เขาก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมได้ดีที่สุด

คนที่เก่งด้วยดีด้วย จะเป็นคนช่วยทั้งตนเองและคนอื่นไปพร้อมๆกัน ตรงที่เขาไม่กลัว ความจน

ส่วนคนที่ยังจนอยู่ แต่อยากรวย จนเสแสร้งทำดี เพื่อให้คนเห็นว่าเป็นคนดี เป็นใบเบิกทาง ไปสู่ความร่ำรวย คนนั้นก็คือคนเบียดเบียนสังคมอยู่เช่นเดิม

ความดีคงทนต่อการพิสูจน์ เช่นเดียวกับคนดีก็จะคงทนต่อความยากลำบาก ในการช่วย คนอื่น ไปพร้อมๆ กับช่วยตนเอง แม้จะไม่ร่ำรวยขึ้นจากการช่วยใครๆ เลยก็ตาม

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -