กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา
ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง


ความพยายามในการสร้างบรรยากาศให้คนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมและต่างภาษา ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ อย่างมีความสุขสงบนั้น นับว่าเป็น สิ่งที่ใฝ่ฝัน ของผู้รักสันติทุกท่าน ที่กำลังกระทำอยู่ในขณะนี้

เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นว่า เมืองปัตตานี มีอาณาเขตกว้างขวางปกครองไม่ทั่วถึง และเกิดกบฏชิงเมืองขึ้นบ่อยๆ จึงให้แบ่งเมืองปัตตานีเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองยะลา เมืองราห์มัน และเมืองระแงะ แต่ละเมือง มีพระยาเมืองปกครอง เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ได้เกิดขึ้น หลังจากดาโต๊ะบึงการัน เจ้าเมืองปัตตานี ก่อการกบฏ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศทางยุโรปพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชีย และได้เกิดยุค การล่าเมืองขึ้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งพระยาศักดิ์เสนีย์ นักเรียนเก่า ซึ่งสำเร็จวิชาทหารช่าง จากเยอรมนี และมีภรรยา เป็นชาวเยอรมนี เป็นข้าหลวงใหญ่ ประจำบริเวณ ในตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวง เทศาภิบาล มณฑล นครศรีธรรมราช ขณะนั้น ให้เป็นพระยาเดชานุชิต เข้ารับตำแหน่งเทศาภิบาล เพราะทรง ทราบว่า เยอรมนีสนับสนุน รัฐปัตตานีให้ประกาศเอกราช ทั้งอังกฤษ ก็พยายามเข้ามายึด ปัตตานี

ต่อมาเมื่อพระยาสุขุมนัยพินิจมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนนั้น เคยเป็น ข้าหลวงพิเศษ ไปจัดการเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง ในนามพระวิจิตรวรสาร มาก่อนแล้ว ประชาชนในพื้นที่ปัตตานี มีความรู้สึกกดดัน และ กระด้างกระเดื่อง ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ที่พระยาสุขุมพินิจ ได้ใช้อำนาจ ตามกฎหมายไทย ไทยพุทธกับชาวมุสลิม ได้เกิดความขัดแย้ง เพราะกฎหมายในขณะนั้น ขัดต่อหลัก ศาสนาอิสลาม ทำให้มุสลิม ยอมรับไม่ได้ จึงได้มีหนังสือร้องเรียน ไปยังผู้สำเร็จ ราชการที่สิงคโปร์ เพื่อขอความเป็นธรรม

เพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ปรากฏในมณฑลปัตตานี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงวางหลัก นโยบายสำหรับ มณฑลปัตตานีไว้ เป็นการเฉพาะว่า ระเบียบ วิธีปฏิบัติอย่างใด ที่ให้พลเมืองรู้สึกเห็นว่า เป็นการเบียดเบียน คนศาสนาอิสลาม ให้ยกเลิก และแก้ไขเสียทั้งสิ้น และกฎหมายใดที่ออกใหม่ ห้ามไม่ให้ขัดกับลัทธินิยม ของศาสนา อิสลาม การกะเกณฑ์เก็บภาษี ต้องเป็นธรรม อย่างถูกต้อง ให้เสมอเหมือนกับ มณฑลอื่นๆ มิให้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ให้ระมัดระวัง การกดขี่บีบคั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้ดูถูกดูแคลน ชาวพื้นเมือง โดยให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ทั้งทางกิจการใด รับจำต้องบังคับ แก่ราษฎร ต้องระวัง อย่าให้ราษฎร ต้องขัดข้องเสียเวลา และเสียทางทำมาหาเลี้ยงชีพ เกินสมควร ทั้งให้เลือกเฟ้น ข้าราชการที่ไปรับราชการ ในมณฑลปัตตานี ที่มีนิสัย ซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ให้สอดส่องผลอบรม ในด้านคุณธรรมต่างๆ ให้เจ้ากระทรวง ทั้งหลาย จัดวางระเบียบการ อย่างใดๆ ขึ้นใหม่ หรือบังคับการอย่างใด ในเมืองปัตตานีว่า มีเหตุขัดข้อง โดยกราบบังคมทูล ฝ่าละอองธุลีพระบาทก่อน เพื่อขอพระราชทาน บรมราชวินิจฉัย

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ ของรัฐก่อตัว แสดงออกค่อยๆ ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ในสมัยรัฐนิยม ในขณะที่ หลวงพิบูลสงคราม หรือรู้จักกันในนาม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นปกครองประเทศ และเปลี่ยนชื่อ ประเทศสยาม เป็นประเทศไทย และได้เรียกบุคคล ในราชอาณาจักร ทั้งหมดว่าคนไทย และนำวัฒนธรรม ตะวันตก เช่น การสวมกางเกง การสวมหมวก มาใช้ โดยไม่ละเว้น แม้แต่บุคคล ในเขตปัตตานี หรือชาวมุสลิม มีการกล่าวหาว่า มีการนำ พระพุทธรูป ไปวางในโรงเรียนต่างๆ ที่นักเรียนนับถือศาสนาอิสลาม จึงก่อให้เกิดการขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ และประชาชนพื้นเมืองตลอดมา ครั้นต่อมา จอมพล ป. ได้ยกเลิก ตำแหน่ง กอดี (ดะโต๊ะยุติธรรม) ที่มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ส่วนกฎหมายอิสลาม ที่ว่าด้วยครอบครัว (การสมรส การหย่า) และมรดก ซึ่งใช้มาก่อนนั้น ก็ยกเลิกทั้งหมด ให้เปลี่ยนมาใช้ กฎหมายไทย และใช้อำนาจศาลไทย

วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นเหตุให้กลุ่มบุคคลมุสลิมชั้นแนวหน้า พยายามร้องเรียนต่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ผ่านนักการเมืองจำนวนมาก บรรยากาศ ทางการเมือง การขัดแย้ง เริ่มรุนแรงขึ้น เป็นเหตุให้นายหะยีสุหลง หรือนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ บิดา ของ นายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นตัวแทน ของชาวมะลายู ยื่นคำขอ ๗ ข้อ ต่อรัฐบาล พลเรือตรีถวัล ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๙๐ โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

๑. ขอให้ปกครอง ๔ จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง (รวมสตูลเข้าไปด้วย) โดยมีผู้ดำรงตำแหน่ง สูงสุด ให้มีอำนาจ ในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจ แต่งตั้ง และปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ต้องเป็นมุสลิมใน ๔ จังหวัด
๒. การศึกษาในชั้นประถมปีที่ ๑ จนถึงชั้นประถมปีที่ ๗ ให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอด
๓. ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ใน ๔ จังหวัดเท่านั้น
๔. ข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละแปดสิบ
๕. ขอให้ใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
๖. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีเอกสิทธิออกระเบียบ เกี่ยวกับการปฏิบัติการ ศาสนาอิสลาม โดยความเห็นชอบของ ผู้มีอำนาจสูงสุด
๗. ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะการี (กอดี หรือ ดะโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควร และมีเสถียรภาพ ในการพิจารณาชี้ขาด

ต่อมาหะยีสุหลงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกศาล พิพากษาจำคุก จึงเกิดความขัดแย้ง ระหว่างมุสลิม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปรากฏชัดเจนขึ้นอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ เมื่อตำรวจไทย ซึ่งเป็นชาวพุทธ ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกกลุ่มของ นายอาแว มะเซ็ง ลอบสังหาร ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจโกรธแค้น และ มีการจลาจล เผาหมู่บ้านวอดวาย ประมาณ ๒๕ ครัวเรือน ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ เกิดเหตุปะทะกันรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับชาวบ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กบฏ ดุซงญอ ทำให้เด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิต ประมาณ ๑๐๐ คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ก็เสียชีวิต ไปหลายสิบคน รวมทั้งเป็นเหตุให้กำนันมูฮำหมัด บ้านตันหยงมัส และมุสตอฟา ซึ่งเป็นผู้นำ มุสลิม ชาวตะลุบัน ถูกจับกุม และถูกฆ่าในเวลาต่อมา หลังจากนั้น จึงเกิดกระบวนการ แบ่งแยกดินแดน ตามมาภายหลัง พ.ศ.๒๔๙๗ มีการจับกุมหายีอามีน โต๊ะมีนา (ทาซีมิง) ข้อหาบ่อนทำลายชาติ ในปี ๒๕๑๐ และจับกุมครูเปาะซูวาแมดีซา ชาวบ้านท่าธง ตำบล ท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ข้อหา กบฏแบ่งแยกดินแดน ต่อมามีชาวบ้านบางส่วน เข้าไปอยู่ในป่า ตั้งขบวนการ บี.เอ็น.พี.พี. , หน่วยพี.อาร์เอ็น. , หน่วยปูโล ฯลฯ และหลายคน ถูกจับเข้าร่วมกระบวนการ คอมมิวนิสต์มาลายา

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๓ ตึงกูชาลันนาเซ (นายอดุลย์ ณ สายบุรี) ทายาทเจ้าเมืองสายบุรี ได้ความเห็นชอบ จากขบวนการต่างๆ ตั้งองค์การร่วม เพื่อกอบกู้อิสรภาพรัฐปัตตานี โดยทำในรูปกองโจร นำโดยปอยิด หรือนายดือเระ มะดีเยาะ หรือปอเยะ แต่นายปอยิด เสียชีวิต เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๗ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วม อิสลามปลดปล่อย ปัตตานี หรือ บี.ไอ.พี.พี.

เหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ถึง ๒๕๑๕ การเดินทางผ่านถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ช่วงตั้งแต่ ตลาดต้นไทร ตำบลมะลูกาซาเมาะ อำเภอ บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส หลังสี่ทุ่ม จนถึงหกโมงเช้านั้นไม่ปลอดภัย ที่หมู่บ้านตือลาซอมือเด (บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง นราธิวาส) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมุสลิม เข้าไปจับกุมผู้นำศาสนา ที่กำลังละหมาด โดยกล่าวหาว่าชายผู้นั้น สนับสนุนโจรก่อการร้าย เมื่อมีการขัดแย้งเกิดขึ้น ในระหว่าง มุสลิมด้วยกัน ความวุ่นวายทำให้หลายครอบครัว แม้แต่เป็นชาวมลายู ก็อพยพไปอยู่ ในประเทศ สหพันธรัฐมาเลเซียบ้าง อพยพเข้าไปทำมาหากิน ในกรุงเทพมหานครบ้าง ทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ตลอดจน จังหวัดชายแดน ภาคใต้อื่นๆ บ้าง โรงเรียน ปอเนาะหลายโรง ต้องเป็นโรงเรียนร้าง

เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ มีการจับกุมชาวมุสลิมที่เป็นชายจากหมู่บ้านอูแตบือราเง จำนวน ๕ คน และที่หน้าวัด บ้านเชิงเขา ตำบลปาลูกาซาเมาะ อำเภอ บาเจาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งทหาร นาวิกโยธิน ต่อมามีผู้พบศพ บุคคลกลุ่มดังกล่าว ๔ คน ในแม่น้ำสายบุรี มีผู้รอดชีวิตเพียง ๑ คน คือ เด็กชาย สือแม บราแซะ อายุ ๑๔ ปี ต่อมาได้มีการทำสัญญา ระหว่างญาติผู้ตาย และผู้เสียหาย กับทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ตาย เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของการประท้วง เรียกร้องความเป็นธรรม ที่มัสยิดกลาง ปัตตานี ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อปลายปี ๒๕๑๘ และยืดยาวไปถึงเดือนมกราคม ๒๕๑๙ และมีการระเบิดขึ้น ในขณะการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต ๕ ศพ หลังจากนั้น ผู้ที่ไม่สามารถ อยู่ใน พื้นที่ได้ ได้เข้าร่วมขบวนการโจรเข้าป่า และได้มีการเรียกร้องค่าคุ้มครอง จากนักธุรกิจบ้าง ชาวไทย เชื้อสายจีนบ้าง หรือชาวไทยพุทธ ที่ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ชายแดน ภาคใต้บ้าง เพื่อนำเงินไปดำเนินการ แบ่งแยกดินแดน ผู้ที่ขัดขืน ก็จะถูกฆ่าบ้าง ถูกทำลาย ทรัพย์สินบ้าง ในเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นที่รองรับ ของผู้กระทำผิดกฎหมาย มากขึ้นๆ ผู้ที่บริสุทธิ์ ก็ไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเกิดจากการปราบปราม ของเจ้าหน้าที่ หรือการกระทำของ ผู้ก่อการร้าย ชาวบ้านที่ไม่ยอม เสียค่าคุ้มครอง ก็ถูกโจรก่อการร้าย ทำร้าย

จากประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ความขัดแย้งค่อยๆ ก่อขึ้น โดยความไม่เข้าใจ ซึ่งกันและกัน เห็นว่า ถ้าเรายังแก้ปัญหา ในรูปแบบเดิม ปัญหาแบบเดิม ก็ยังติดตามมาไม่จบสิ้น ถึงเวลาแล้ว ที่ทั้งสองฝ่าย จะต้องหันหน้าเข้าหากัน และอยู่ร่วมกัน ให้ได้ อย่างมีความสุขสงบสันติ เพราะแต่ละคน ต่างก็มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศ เช่นเดียวกัน ผู้เขียน เข้ามารับราชการ ที่จังหวัดยะลา ได้พยายามศึกษา และวิเคราะห์ถึง สาเหตุต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า แม้จะเกิดจาก คนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน แต่ส่งผลกระทบ อย่างใหญ่หลวงต่อสังคม ประเทศชาติส่วนรวม ผู้ที่ก่อความขัดแย้ง แม้จะได้รับความเดือดร้อนบ้าง แต่ก็ไม่มาก เท่าผู้บริสุทธิ์ ที่ทำมาหากินโดยสุจริต ไม่ว่า จะเป็นไทยพุทธ หรือไทยมุสลิมก็ตาม ข้าราชการที่ตั้งใจทำงาน รับใช้พ่อแม่พี่น้อง โดยไม่เลือกศาสนา เชื้อชาติ ก็ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา ธุรกิจต่างๆ ก็หยุดชะงัก ต้องใช้ ระยะเวลา ในการแก้ไข อีกยาวนาน ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องศึกษา ประวัติศาสตร์เพื่อแก้ไข ข้อขัดแย้ง ไม่ใช่ศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ซึ่งกันและกัน ในโลก ปัจจุบัน เป็นโลกแห่งพหุชน คือในหมู่กลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยชนหลายศาสนา หลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม แต่ต้องพยายาม ร่วมกันแก้ไข ปัญหาของกลุ่มชน ให้ฟันฝ่า อุปสรรคต่างๆ และแข่งขันกับสังคม หรือกลุ่มชนส่วนอื่นๆ ของโลกได้

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -