เศรษฐกิจบุญนิยมพึ่งตนได้ และหมดหนี้สิน (รวยแต่ผันช่วยสังคม)
เศรษฐกิจทุนนิยมพึ่งเงินได้ แต่เพิ่มหนี้ (รวยไปที่นายทุน)

ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม (จีดีพี) คือการทวีคนยากจนเพิ่มมากขึ้น ตามไปด้วย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าอเมริกาหรือจีนก็ตาม ต่างประสบปัญหาคนยากจน มีอัตราเพิ่มขึ้น สูงสุดไปด้วยกัน ในปี ๒๕๔๖ คนยากจนของอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง ๑๒.๕ % หรือ ๑.๓ ล้านคน ทำให้มีประชากร ที่ยากจนทั้งประเทศถึง ๓๕.๙ ล้านคน (มติชน ๒๙ ส.ค ๔๗) ส่วนจีนประสบปัญหา ทั้งคนยากจนมีอัตราสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ ๒๕ ปี (ผู้จัดการรายวัน ๒๑ ก.ค. ๔๗) และมีปัญหาการ ว่างงานสูงถึง ๔.๓ % สูงสุดในรอบ ๒๓ ปี (มติชน ๒๑ มิ.ย. ๔๗)

เมื่อหันมาดูการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอยู่ในแถวหน้าๆ ของเอเซีย การที่หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น โดยเป็นหนี้ที่นำไปใช้ในการบริโภคมากกว่าการลงทุน ย่อมเป็นสัญญาณร้ายบ่งบอกถึง อัตราคนยากจน ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นนี้ ได้ขยายวงกว้างจากรากหญ้า ไปหาข้าราชการ ที่เป็นเสมือนคนชั้นกลางอีกด้วย ทั้งนี้จากการวิจัยของธนาคารประเทศไทยพบว่า ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือน ของไทยเมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี ๒๕๔๗ ขยายตัวที่ระดับ ๓๕ % หรือประมาณ ๑๑๐,๕๖๖ บาท นอกจากนี้เมื่อได้สำรวจถึงสภาวะการครองชีพ ของข้าราชการพลเรือน ระดับ ๑ - ๑๐ พบว่าข้าราชการ มีหนี้สินสูง ถึงร้อยละ ๘๑.๖ โดยมีจำนวนเงินที่เป็นหนี้สินทั้งสิ้น ๑๕๒,๕๑๕ ล้านบาท หรือเฉลี่ย ๔๙๒,๒๕๓ บาทต่อครัวเรือน และเมื่อพิจารณาจำนวนเงิน ที่เป็นหนี้ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามระดับ ตำแหน่งที่สูงขึ้นกล่าวคือ จาก ๑๔๓,๖๙๕ บาทต่อครอบครัว ที่เป็นหนี้ ในข้าราชการระดับ ๑ - ๒ แต่ในข้าราชการ ระดับ ๙ - ๑๐ เป็นหนี้ถึง๑,๑๙๗,๔๔๔ บาท ต่อครอบครัว (มติชน ๒๒ ก.ย. ๔๗)

ดังนั้นในระบบชีวิตทุนนิยมที่พึ่งเงินเป็นหลัก แม้จะมีรายได้มากเพียงใดก็ยากที่จะเอาตัวรอดได้ ไม่ต้องพูดถึง ระดับรากหญ้าที่กำลังจะเป็นรากเน่า รัฐบาล และ ธ.ก.ส. จึงได้ทุ่มเททุกวิถีทาง ที่จะให้ ชาวบ้าน ตั้งหลัก จนพึ่งตนได้ จนวาดฝันกันไว้ว่า ต่อไปไทยจะเป็นครัวของโลก และเกษตรอินทรีย์ คือยุทธศาสตร์ระดับชาติ

แต่น่าเสียดาย โครงการเกษตรพันธุ์ใหม่ของ ธ.ก.ส. กลับสอดไส้ยัดเยียดปุ๋ยเคมีให้ชาวบ้านเอาไปใช้ เงิน ๑๐,๐๐๐ บาทที่ขอกู้จาก ธ.ก.ส. จะถูกหักค่าปุ๋ยเคมี ค่าโน่น ค่านี่ ที่เป็นโครงการต่างๆ ของธนาคาร ทำให้ชาวบ้านเหลือเงินจริงๆ เพียงครึ่งเดียว (๕ พันกว่าบาท) ซึ่งอาจเป็นวิธีการ เฉพาะ ที่ของบางสาขา ในเขต จ.อำนาจเจริญเท่านั้น และอาจจะไม่ได้บังคับซื้อโดยตรง แต่ชาวบ้านไม่กล้า ปฏิเสธ เท่านั้นเอง

การยัดเยียดปุ๋ยเคมีให้เกษตรกรเอาไปใช้ แทบจะเป็นการดับฝันของทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะพนักงาน ธ.ก.ส. จำนวนไม่น้อย ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจพาชาวบ้านทำปุ๋ยใช้เอง ร่วมกินอยู่หลับนอนกับชาวบ้าน ๕ วัน ๔ คืน เพื่ออบรมทำปุ๋ยอินทรีย์ให้เป็นกันจริงๆ ซึ่งไม่น่าจะมีธนาคารใดๆ ในโลกที่พนักงานเสียสละ กันได้ขนาดนี้ แต่นโยบายระดับสูง ที่มีคะแนนพิจารณาความดีความชอบให้สูง ถ้าใครขายปุ๋ยเคมี ได้มาก จึงเท่ากับเป็นการ ผลักภาระความยากจนและหนี้สินให้กับชาวบ้าน อย่างชนิดที่ ไม่มีสิทธิ์ จะโงหัว ขึ้นมาได้เลย

คุณชมภู เบ้าทอง เกษตรกรบ้านโพธิ์สิน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ชนิดกลับ หลังหันสู่เศรษฐกิจบุญนิยม จากเดิมที่เคยหาเงินทุกวิถีทางที่จะทำให้ร่ำรวยขึ้นมา เคยเป็น พ่อค้าขายควาย ส่งโรงฆ่า หาวิธีเพิ่มน้ำหนักควายโดยการแวะปั๊ม เอาสายยางกรอกเข้า ปากควาย จนท้องป่อง ทำให้ขายควาย ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่แล้วก็กลัวบาปก็เลยเลิก มาเป็นเถ้าแก่โรงสี พร้อมเลี้ยงหมู ควบคู่ไปด้วยเป็นร้อยตัว กิจการของโรงสีไปได้ดีจนมีผลทำให้ครกตำข้าว สามหมู่บ้าน หายไป แม้จะหาเงินได้คล่องแต่ติดการพนัน และทำโรงสีทำให้ไปเที่ยวที่ไหนไม่ได้ เลยเลิกกิจการ มาวิ่งรถโดยสารถึงสามคัน คันที่สามขับเอง รับส่ง หมอลำ เอาไปเอามาก็ได้นางเอกหมอลำ เป็นภรรยาน้อย ชีวิตในช่วงนี้ต้องทุกข์ทรมาน และดิ้นรนสุดขีด เพราะทั้งติดอบายมุข และผิดศีล อย่างเลวร้าย ครบเครื่อง

วิบากกรรมที่ทำบาปเอาไว้ ทำให้โลกซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำทำให้คนบาดเจ็บ ต้องเสีย เงินทองไปมากมาย พอกิจการทำท่าไม่ดี ต่อมาไม่นานเมียน้อยก็หนีจาก สิบล้อที่พึ่ง ออกมา ใหม่ๆ ก็ถูกยึดคืน เพราะไม่มีปัญญาส่งค่างวด สุดท้ายก็เหลือแต่ผ้าใบผืนเดียว ที่เอาลงจาก รถสิบล้อ มาทำเป็นบ้านเล็กๆ พออยู่อาศัย

ในท่ามกลางความมืดมนและอับจนของชีวิต โชคดีที่ถูกขอร้องให้ไปอบรมสัจธรรมชีวิตแทนเพื่อนบ้าน ที่ไปไม่ได้ ที่ศูนย์อบรมสวนส่างฝัน อำนาจเจริญ ที่นั่นได้จุดประกายความคิดของคุณชมภู จนเห็นฟาง เป็นทองคำ เมื่อกลับมาบ้านก็พาครอบครัวช่วยกันขนทองคำทั้งวัน จนชาวบ้านค่อนขอดว่า กลายเป็น บ้าหอบฟางไปแล้ว

ชีวิตใหม่ที่ไม่มีอบายมุข ถือศีลห้า กินอาหารมังสวิรัติ ทำให้น้ำหนักจาก ๘๒ กก. เหลือเพียง ๕๖ กก. ในพื้นที่ สวน สามไร่ ถูกปกคลุมไปด้วยฟางหนา ๖๐ ซม. เต็มพื้นที่ เพียงหนึ่งปีก็สามารถฟื้นชีวิต มีอาหาร เป็นพืชผักที่กินได้ถึง ๕๘ ชนิดอยู่ในสวนตัวเอง จนพอแบ่งแจกจ่ายให้คนอื่นได้

และพอย่างเข้าปีที่สองก็ได้ปลูกพืชผักที่กินได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยกว่าชนิด ทำให้ปัจจุบันคุณชมภู มีรายได้ถึง ๒๐๐ บาทต่อวัน และเมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์พืชผักเจริญงอกงามได้แล้ว ค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ลงทุน ในสวนนี้ ก็แทบจะหมดไป

คุณชมภูได้พบความสุขในชีวิตที่หาได้ง่ายขึ้น ตื่นเช้าเพียงแค่เดินเข้าสวนก็มีความสุขแล้ว ผิดกับ ชีวิตแต่ก่อน กว่าจะสุขได้ ต้องใช้เงินหลายแสน แล้วต้องวิ่งหาเงินเหมือนหมาหอบแดดทั้งคืนทั้งวัน แต่ตอนนี้ ทั้งพ่อแม่ลูก ต่างพากันนั่งอยู่กับที่ ในสวน ที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วให้เงินวิ่งมาหาเอง

ใครอยากรู้เทคนิคการทำสวน และเทคนิคทำชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ก็ยินดีเปิดเผย อย่างไม่ปิดบังอำพราง เพราะเมื่อเขาได้พบแสงสว่างของชีวิตแล้ว ก็อยากจะเสียสละ ช่วยให้คนอื่น ได้พึ่งตน จนหมดหนี้สิน และช่วยกันเสียสละให้แก่สังคมได้เช่นเดียวกับเขา

- จริงจัง ตามพ่อ -

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -