ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
ไบโอดีเซล ๒ BIODIESEL


*** มลพิษจากไอเสียของน้ำมันดีเซล

คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซพิษมีฤทธิ์แพร่ซึมเข้าสู่ระบบเลือด ทำให้วิงเวียนหมดสติ เมื่อรับเข้าไป ปริมาณมากๆ อาจทำให้ถึงตายได้ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่น้ำมันไบโอดีเซล มีอ๊อกซิเจนอิสระอยู่ในตัว จึงทำให้มีการเผาไหม้ ที่สมบูรณ์กว่าน้ำมันดีเซล สามารถลดปริมาณ คาร์บอนมอนอกไซด์ ลงไปได้ราว ๑๐-๑๕ %

- สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (HC) ที่แปรสภาพจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งหลายชนิด เป็น สารก่อมะเร็ง โดยปกติ จะพบมากในไอเสีย ของเชื้อเพลิงปิโตรเลี่ยม เมื่อเทียบกับไอเสียของไบโอดีเซล สารดังกล่าวจะลดลงไปในราว ๑๐-๗๐ % แล้วแต่ชนิดของสาร

- ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ตัวการที่ทำให้เกิดฝนกรด และทำอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากสารกำมะถัน ที่ปนอยู่ในน้ำมันดีเซล รวมตัวกับอ๊อกซิเจน ในไอเสียของไบโอดีเซล จะไม่มี ซัลเฟอร์เลย

- เขม่า (Soot) ถ้าสะสมในปอด อาจเป็นสารก่อมะเร็ง และทำความสกปรกต่อสภาพแวดล้อม พบว่า ลดน้อยลง ในราว ๔๐-๖๐ %

ไบโอดีเซล สามารถใช้ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ระบบสันดาปหัวฉีดที่ใช้กับเครื่องยนต์ มาตรฐาน โดยทั่วไป โดยไบโอดีเซล นี้สามารถนำไปใช้เติม ในเครื่องยนต์ดีเซลได้เลย ใช้ได้ทั้งรูปแบบไบโอดีเซล ล้วนๆ หรือใช้ผสมกับ น้ำมันดีเซล แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายของไบโอดีเซล อาจจำเป็น ต้องมีการปรับเปลี่ยน ท่อส่งเชื้อเพลิง บางส่วน ส่วนกำลังม้าที่ได้เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติ มีผลต่างกันเล็กน้อย แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย ผลการทดลอง บนทางหลวง ของเมอร์เซเดสเบนซ์ ทำให้เห็นว่าต่อระยะทาง ไบโอดีเซลเทียบได้ปกติ และผลการทดสอบของ สถาบัน วิศวกรรมเกษตร ของออสเตรเลีย พบว่าการใช้น้ำมันไบโอดีเซล หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ดี และอัตราการสึกหรอของ เครื่องยนต์ เทียบเท่ากับ การทำงานของดีเซลปกติ แต่มีการใช้สิ้นเปลืองกว่าน้ำมันโซล่าเล็กน้อย

ข้อดีหลายประการนี้ ในด้านความปลอดภัยมีจุดวาบไฟสูง ไม่ระเบิดง่าย มีความเป็นพิษต่อมนุษย์ และ สัตว์ต่ำมาก และย่อยสลายได้ง่าย ในธรรมชาติ ไบโอดีเซลจึงเป็นทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง สำหรับ เครื่องยนต์ดีเซล และในหลายประเทศ ได้มีการผลิต ไบโอดีเซลใช้ เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีออสเตรีย และญี่ปุ่น


การทำไบโอดีเซล จากน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหารแล้ว
อุปกรณ์
- หม้อสเตนเลส ขนาดบรรจุ ๑๐๐ ลิตร
- เตาหุงต้มพร้อมเชื้อเพลิงและไม้พาย
- ปรอทวัดอุณหภูมิขนาด ๑๕๐ องศาเซลเซียส
- ขวดน้ำขาวขุ่นแห้งทำด้วยโพลีเอสทิลีนอย่างดีพร้อมฝาปิดขนาด ๒๐ ลิตร
- เครื่องชั่งน้ำหนักขนาดไม่เกิน ๓ กก.
- ผ้าขาวบางสำหรับกรองน้ำมัน
- ถังบรรจุน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับบ่ม

สูตร
- ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์จำนวน ๗๕ ลิตร
- เมทิลแอลกอฮอล์จำนวน ๑๕ ลิตร หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง
- โซดาไฟชนิดเกล็ดจำนวน ๕๐๐ กรัม หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง

วิธีทำ
กรองน้ำมันที่ผ่านการปรุงอาหารแล้วใส่หม้อขึ้นตั้งบนเตาต้มให้น้ำมันร้อนเกิน ๑๐๐ องศาเซลเซียส ( เพื่อไล่น้ำ ที่ปนมา เมื่อประกอบอาหาร ขณะต้มควรใช้ไม้พายกวนน้ำมันเป็นระยะ เพื่อป้องกัน น้ำมัน เดือดกระเด็น) ที่ ๑๐๐ องศาเซลเซียส น้ำที่ปนมาในน้ำมัน จะเดือดเป็นฟองลอยขึ้นสู่ผิวน้ำมัน ต้มต่อ จนสังเกตไม่มีฟองขึ้นมา หรือต้มต่อไป ประมาณ ๑๑๐ องศาเซลเซียส ดับไฟ

ทิ้งไว้ให้อุณหภูมิลดลงประมาณ ๗๐ องศาเซลเซียส จึงค่อยผสมโซดาไฟกับเมทิลแอลกอฮอล์ในขวด ขาวขุ่น (ให้ใส่โซดาไฟ ลงก่อน แล้วค่อยเติมเมทิลแอลกอฮอล์ลงไป) แล้วเขย่าขวดให้โซดาไฟ ละลาย ให้หมด ระหว่างที่ผสม โซดาไฟ กับเมทิลแอลกอฮอล์ จะมีความร้อนเกิดขึ้น และมีไอระเหย ควรทำ ด้วยความระมัดระวัง อย่าได้สัมผัสส่วนผสมนี้ หรือสูดดม ไอระเหย ควรทำในสถานที่อากาศ ถ่ายเท ได้ดี ( หากสัมผัสให้ล้างน้ำสะอาดทันที)

เมื่อน้ำมันที่ต้มลดลงที่อุณหภูมิ ๖๐ องศาเซลเซียส เทส่วนผสมของโซดาไฟกับเมทิลแอลกอฮอล์ ลงในหม้อน้ำมัน จนหมด กวนด้วยไม้พาย ให้ส่วนผสมเข้ากัน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ( พักได้ และ กวนเป็นระยะ) ขณะกวน อย่าสูดดม ไอระเหย แล้วทิ้งไว้ค้างคืน

ตอนเช้าจะพบฝ้าลอยอยู่บนผิวหน้าให้ตักออกแล้วตักของเหลวใสตอนบน ( ไบโอดีเซล) ตักพักไว้ ประมาณ ๗ วัน ค่อยนำไปใช้ เติมเป็นเชื้อเพลิง แทนน้ำมันดีเซล

หมายเหตุ การใช้น้ำมันไบโอดีเซล ควรหมั่นเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันดีเซลตามกำหนด หรือเปลี่ยนทุกครั้ง ที่ทำการเปลี่ยน น้ำมันเครื่อง และถ่ายน้ำจากกรองดักน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการอุดตันของสบู่ หาก เครื่องยนต์ มีอาการสะดุด ให้ตรวจสอบ ที่ไส้กรอง น้ำมันโซล่า

การทดสอบการใช้ไบโอดีเซล กับรถเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทยเกือบ ๒ ปีแล้ว รถที่ร่วมเข้าทดสอบ มีทั้งรถยนต์ปิกอัพ โตโยต้า ไฮลักซ์ เครื่องยนต์ ๒ D, รถอีซูซุ ทีเอฟอาร์, รถตู้มิตซูบิชิ, รถหกล้ออีซูซุ, รถลากตู้คนโดยสาร สนามกอล์ฟ, รถไถนา คูโบต้า ฯลฯ รวมทั้งผู้เขียน ได้เริ่มใช้กับนิสสันบิ๊กเอ็ม ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๖ ที่ใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช ที่ใช้แล้ว ( ในอัตราส่วน ๑๐๐ %) และ ในสัดส่วนต่างๆ ตั้งแต่ร้อยละ ๕ ถึง ๑๐๐ ทั้งนี้ไม่พบความผิดปกติ ที่ห่อหัวฉีด ปั๊มหัวฉีด หรือ เครื่องยนต์ ของพาหนะทั้งหมด แต่อย่างใด แต่เครื่องยนต์กลับมีประสิทธิภาพ และรักษาอุปกรณ์ ของเครื่องยนต์ ได้ดีเสียอีก

การทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันดีเซล โดยรถนิสสันบิ๊กเอ็มขนาด ๒,๕๐๐ ซี.ซี. โดยใช้ความเร็วคงที่ ๖๐ กม./ช.ม.
น้ำมันไบโอดีเซล ๑๐๐% ระยะทาง ๑๕ กม./ลิตร
น้ำมันดีเซล ๑๐๐% ได้ระยะทาง ๑๗ กม./ลิตร
น้ำมันไบโอดีเซล ๑๐% ได้ระยะทาง ๑๗ กม./ลิตร


*** อันตรายจากการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาปรุงอาหาร
วันนี้คนไทยตายด้วยโรค "มะเร็ง" มากที่สุด สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือการได้รับ "สารเคมี" ที่ปนเปื้อน ในอาหาร ปี ๒๕๔๔ อัตราการตาย ด้วยโรคมะเร็ง สูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ๖๘.๔๔ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน มีการสุ่มตัวอย่าง พืชผลไม้ มาตรวจสอบ มีสารเคมีตกค้างถึงร้อยละ ๓๖ และยังพบ สารเคมีอื่นๆ เช่น เนื้อหมูซึ่งมีสารเร่งเนื้อแดง อาหารทะเล อาบน้ำยาดองศพ ถั่วงอกมีสารฟอกขาว ลูกชิ้นมีสารบอแรกซ์ เป็นต้น ที่มีสาเหตุอีกประการหนึ่ง คือ การทอดอาหาร ในน้ำมันพืช หรือ น้ำมันสัตว์ มีรายงานการวิจัยจากต่างประเทศ น้ำมันพืชและไขสัตว์ เมื่อถูกความร้อน จะเกิดปฏิกิริยา อ๊อกซิเดชั่น เมื่อน้ำมันพืชหรือไขสัตว์ได้รับความร้อนสูงจะเกิดการสร้างสารเปอร์อ๊อกไซด์ อัลคีไฮด์
คีโตน ไฮโดรเปอร์อ๊อกไซด์ และสารโพลิเมอร์ชนิดต่างๆ สารเหล่านี้ล้วนเป็นสารที่มีพิษข้างเคียง ความร้อนดังกล่าว จะเปลี่ยนองค์ประกอบของน้ำมัน ถ้าน้ำมันที่ผ่านความร้อนนาน ๒ ชั่วโมง ไปทำเป็นอาหาร ให้กับสัตว์ทดลอง จะก่อให้เกิดความผิดปกติ ที่ตับของสัตว์ทดลองเหล่านั้น จากการทดลองนำสารเคมีใส่เข้าไปในเซลล์มะเร็ง พบว่าทำให้เซลล์มะเร็ง แบ่งตัวเร็วยิ่งขึ้น ในประเทศ ที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมีการควบคุมคุณภาพของอาหารที่จำหน่ายเพื่อเป็น การคุ้มครองสุขภาพ ของผู้บริโภค ห้ามนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาจำหน่าย แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีการค้าน้ำมันประกอบอาหารที่ใช้แล้วสู่ผู้ประกอบการตลาดนัด ในกรุงเทพ มหานคร พบว่าร้อยละ ๘๐-๙๐ ของน้ำมัน ในตลาดนัด เป็นน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้ว แปรรูปนำมา ประกอบ อาหารอีก และมีส่วนหนึ่ง ที่รับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้ว นำไปเป็นส่วนผสม ของอาหารสัตว์ ราคาที่รับซื้อ แหล่งที่มีน้ำมันใช้แล้ว เช่น ร้านทอด ปาท่องโก๋, ร้านอาหาร, ภัตตาคาร, ขายอาหารเกี่ยวกับการทอด และจากโรงงานผลิตอาหารจากการทอด ฯลฯ ราคาประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ บาทต่อปี๊บ จึงเป็นการนำ เปอร์อ๊อกไซด์ อัลดีไฮด์ คีโตน ไฮโดรเปอร์อ๊อกไซด์ โพลิเมอร์ต่างๆ และอนุมูลอิสระ ไปสะสมในสัตว์ การสะสมสารเหล่านี้จะมากขึ้นในห่วงโซ่อาหารที่สูงขึ้น และกลับมาสู่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ ในปริมาณสูง วงจรนี้เอ งอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคตับ ในปริมาณสูงเกินปกติ ในประเทศไทย

หากประเทศไทยต้องการเปลี่ยนวิกฤติทางด้านพลังงานให้เป็นโอกาส เราควรหันมาผลิต ไบโอดีเซล ใช้กันเถิด!

(ข้อมูลจากคุณไพบูลย์ เหล่าลดา)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -