จะรวยนั้น ยาก ช้า แย่ง ตุน ไร้คุณค่า เสริมอัตตา
จะจนนั้น ง่าย เร็ว สละ สะพัด มีคุณค่า ละอัตตา

ถ้าตั้งคำถามสำหรับชาวพุทธว่า พุทธศาสนามีเป้าหมายเพื่อละอัตตาหรือเสริมอัตตา ?

สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องอนัตตาอยู่บ้างก็พอจะตอบได้ว่า พุทธศาสนาย่อมมีเป้าหมายเพื่อลดละอัตตา ไปสู่อนัตตา

แต่ถ้าถามกันใหม่ว่าแล้ววิถีชีวิตจริงๆ ของชาวพุทธทุกวันนี้ ต่างพยายามลดละอัตตา หรือพยายาม เสริมอัตตาให้พูนเพิ่ม ถ้าตั้งหลักพิจารณากันให้ดีๆ ก็จะเห็นได้ว่าชีวิตของชาวพุทธพยายามทำ ทุกวิถีทางที่จะให้ชีวิตมั่งคั่งร่ำรวยมีบ้านหลังใหญ่ๆ มีที่ดินได้มากมาย มีหน้ามีตาจนโด่งดังคับฟ้า ได้ยิ่งดี ทั้งหมดนี้ก็คือโอฬาริกอัตตา ที่หลงยึดมั่นอุปาทานในวัตถุสิ่งของ จนหลงสนิทว่าเป็นตัวกู - ของกู

นอกจากหลงในรูปของวัตถุสิ่งของแล้ว แม้แต่สิ่งที่ไม่มีรูป (อรูปอัตตา) ที่เป็นความยึดศักดิ์ศรี เบ่งข่ม เบ่งใหญ่ เชื่อหัวไอ้เรืองว่ากูแน่กว่าใครๆ ยิ่งรวยเท่าไหร่ก็ยิ่งใหญ่ยิ่งเบ้งมากเท่านั้น ซึ่งอรูปอัตตาเหล่านี้ มีแต่จะหนักหน้า ไปสู่ปุถุชนความเป็นคนมีกิเลสหนาขึ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้น

ถ้ามีคำถามในข้อต่อมาว่า การแสวงหาให้ได้มาซึ่งเงิน ๑๐๐ ล้านกับการมีเงิน ๑๐๐ ล้าน แล้วแจก ให้หมดไป สำหรับคนทั่วๆ ไป การหาให้ได้มากับการแจกให้หมดไป อันไหนจะยากง่ายกว่ากัน ?

สำหรับชีวิตที่มุ่งละอัตตาไปสู่อนัตตา การแจกให้หมดไปเพื่อจะได้เข้าถึงความจนย่อมง่าย เร็ว สละ สะพัด และมีคุณค่าทันที ดังในสมัยพุทธกาล พระภัททิยะสละความเป็นกษัตริย์ ออกไปใช้ชีวิต อยู่อย่างคนไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัว นอกจากมีแต่ผ้าที่ใช้ครองกายและบาตรหนึ่งใบติดตัว ท่านไปสู่ที่ใด ก็ได้แต่อุทานว่า สุขหนอ...สุขหนอ...จนภิกษุทั้งหลายเข้าใจผิดว่า ท่านกำลังละเมอถึงความสุข เมื่อครั้งยังครองราชสมบัติอยู่ จึงพากันไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระภัททิยะคงอยากสึก กลับไปเสวยสุข ในพระราชวังอย่างเก่า !

พระพุทธเจ้าได้เรียกตัวพระภัททิยะมาตรัสถาม จึงได้ทรงทราบความจริงว่า การที่พระภัททิยะ ได้เปล่ง อุทานว่า สุขหนอ...สุขหนอ...ไม่ว่าจะไปสู่ที่ใดก็ตามนั้น เพราะได้เห็นความจริงว่า เมื่อชีวิตมี ความปรารถนาน้อย (อัปปิฉะ - กล้าจน) และยินดีด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้ (สันโดษ - ใจพอ) ได้พบจิตที่อิสระเสรี มีแต่ความโล่งใจ ทั้งเบากายเบาใจ แม้อยู่แต่ผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง สะดุ้งตกใจ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนครองราชสมบัติอยู่นั้น มีทหารคอยอารักขาทั้งในวัง นอกวัง ทั้งในพระนคร นอกพระนคร แม้จะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีออกปานนี้ ก็ยังหวาดหวั่น สะดุ้งกลัว ซึ่งผิดกับชีวิตที่ลดละอัตตาสละทุกสิ่งทุกอย่างออกมา จะไปอยู่ป่าก็ดีอยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี มีแต่ความโล่งใจสบายใจ ทำให้อุทานออกมาว่า สุขหนอ...สุขหนอ ด้วยประการฉะนี้ จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ใน พันธสูตร พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่พากันโจษจัน ถึงนักโทษที่ถูกจองจำ ด้วยเชือกบ้าง ด้วยขื่อคาบ้าง และบางพวกก็ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนบ้าง อันเป็นภาพที่ชวนให้น่าสะพึงกลัวยิ่งนัก แต่พระพุทธเจ้ากลับบอกภิกษุทั้งหลายว่า

นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็กทำด้วยไม้ และทำด้วยเชือกว่าเป็น เครื่องจองจำ ที่มั่นคง นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าความรักใคร่ ความพอใจในแก้วมณีและกุณฑล และความห่วงอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลายว่า เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคงพาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำ ที่หย่อนๆ แต่ปลดเปลื้องได้ยาก

การจะรวยนั้น ต้องยากลำบากเพื่อไปแย่งชิงเขามาแทบเลือดตากระเด็นในเบื้องต้น และต้องหวงแหน อย่างทุกข์ทรมานเหมือนถูกจองจำในท่ามกลาง และต้องไปสู่ทุคติ วินิบาต นรก เมื่อต้องพลัดพราก จาก "ตัวกู-ของกู" (อัตตาทั้งหลาย) ในที่สุด...

มาจนถึงบรรทัดนี้ชาวพุทธทั้งหลายคงจะได้คำตอบกันแล้วหละว่า ชีวิตที่มุ่งเสริมอัตตาพาให้รวย กับชีวิตที่มุ่งลดละอัตตาพาจนนั้น เราน่าจะเลือกอันไหน ? ที่จะทำให้ชีวิตของเรานั้น ง่าย เร็ว สละ สะพัด และมีคุณค่าได้มากกว่ากัน ?

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -