เรื่องสั้น - เฉลิมศักดิ์ แหงมงาม -
ใจสองของชายสองคน

นิ้วชี้นิ้วนั้น สั่นระริกอย่างเห็นได้ชัดเลือดสีแดงเข้มทะลักจากปลายนิ้วของเด็กชายวัยรุ่นร่างบอบบาง อายุไม่น่าจะเกินสิบห้า ใบหน้าซีดเผือด แววตาหวาดวิตกว้าวุ่น

เลือดสดๆ แดงฉานส่งกลิ่นคาวลอยมาจางๆ เล็บและปลายนิ้วห้อเลือดและช้ำบวม

"ไม่เป็นอะไรมากหรอก ไอ้ตู่...ไอ้ห่า ตอกตะปูยังไงวะดันผ่ามาตอกนิ้วตัวเอง" เสียงจากเพื่อนร่วมกลุ่มวัยเดียวกันที่ห้อมล้อมกลางทางเท้าลาดซีเมนต์

เพื่อนคนงานด้วยกันทั้งหญิงและชายห้าหกคนในชุดคนงานปอนๆ คนหนึ่งช่วยจับข้อมือหนุ่มน้อยชูสูงพร้อมบีบนิ้วห้ามเลือดท่าทางตื่นเต้นเล็กน้อย ทว่าปรายรอยยิ้มที่ริมฝีปากก่อนหลุดคำหยอกเย้า

"ปลายนิ้ว...ยังไกลหัวใจโว้ย ไอ้ตู่ ทำใจเสาะเป็นปลาซิวไปได้"

"ก็มันปวดนี่พี่" โอดด้วยน้ำเสียงละห้อย ขณะเพื่อนๆ ส่งแววตาปลอบใจ มันอาจจะช่วยคลายความกังวลได้บ้าง

สังเกตเห็นใบหน้าเริ่มมีสีเลือด แต่ยังไม่กล้ามองปลายนิ้วท่วมเลือดของตนเอง

"เขามียาใส่หรือยัง..."

เสียงหนึ่งกังวานขึ้นเรียบๆ ทว่าปลุกให้ทุกคนที่รุมล้อมตื่นจากภวังค์ แล้วหันไปมองเจ้าตัวด้วยสีหน้าพิศวงน้อยๆ

เขาคือ สุธี เพื่อนผมที่เดินตามหลังมาห่าง ๆเรากำลังไปกินข้าว ณ ที่ห้องอาหารวิทยาลัย

สุธีเบียดเข้าไปมอง ส่วนผมยังยืนสงบนิ่ง มองดูอยู่นอกวง

เขาเป็นคนร่างสูงโปร่ง ผิวคล้ำ อยู่ในชุดเสื้อแขนยาวสีน้ำเงินเข้ม กางเกงก็เกือบจะสีเดียวกัน ผูกไทเรียบร้อย เขาแทรกเข้าไปจนถึงตัวหนุ่มน้อย เพื่อนๆ เปิดทางให้เขา

"ไม่มียาหรอกครับ เราพาลูกหลานมาฝึกทำงานรับเหมาก่อสร้าง ไม่ได้เตรียมหยูกยามา เด็กพวกนี้เป็นนักศึกษาทั้งนั้นแหละ ตอนนี้ปิดเทอมอยากมีรายได้"

ชายวัยกลางคนชี้แจง น่าจะเป็นหัวหน้าคนงาน เพราะเห็นมีฆ้อน ถุงตะปูร้อยไว้กับเข็มขัด เขาเอ่ยตอบแทนทุกคน ด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พวกเขามาทำทางเดินเท้าในวิทยาลัย หลายวันแล้ว รื้อหลังคาและทางเท้าที่ชำรุด เทลาดซีเมนต์ทางเดินใหม่ ระยะทางไม่ต่ำกว่าห้าร้อยเมตร

"ทำใจให้ดีๆ ไอ้หนูเอ๊ย" เสียงสุธีเนิบๆ รอยยิ้มฉายทางแววตา "มันยังห่างหัวใจ รอสักครู่จะไปเอายามาให้"

เอ่ยจบก็หันมองมาทางผม "พี่ไปกินข้าวก่อนเถอะนะ ผมจะไปเอายาให้น้องๆ หน่อย จากนั้นก็เดินลิ่วๆ ผ่านห้องอาหาร ตัดสนามหญ้าไปยังอาคารเรียนสูงแปดชั้น ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า

คาดว่าที่นั่นคงมีตู้ยาสามัญประจำบ้าน ไม่ยากนักที่สุธีจะขอยาใส่แผลไปให้ได้

ผมพยักหน้ารับรู้แล้วเดินตรงสู่ห้องอาหาร รู้สึกเฉยๆ คล้ายจะไร้ความรู้สึก เพราะเห็นว่าบาดเจ็บเล็กน้อย

บนทางเท้าลาดซีเมนต์ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องรูปโค้งสีขาวนวล กระจ่างตา ทอดต่อเป็นช่วงๆ กว้างประมาณหนึ่งเมตร ให้ร่มเงาคนงานกลุ่มนั้น มีที่พักหลบแดดได้ดีทีเดียวรอให้แผลแห้งสนิทคงคลายความเจ็บปวด

ที่จริง ผมไม่เห็นด้วยกับสุธีสักเท่าไรแค่บาดแผลเล็กน้อยที่ปลายนิ้ว ไม่น่าหวั่นไหววิตกทุกข์ร้อนอะไรเลย กำลังใจจากเพื่อนที่ผูกพันรุมล้อมอยู่ ก็น่าจะเพียงพอนะ แม้จะไม่ใส่ยาทิงเจอร์ไอโอดิน หรือยาแดง ไม่เกินวันหรือสองวันบาดแผลก็จะหายสนิท ลูกผู้ชายน่าจะเผชิญกับความจริงที่อุบัติขึ้นอย่างเข้มแข็ง

ผมนั่งกินข้าวราดแกงคนเดียวเงียบ ๆ ขณะความคิดโลดแล่นไปถึงสุธี ผมก็เคยผิดพลาดมาแล้วเช่นกัน ตีตะปูดีๆ ดันพลาดตีปลายนิ้วจนห้อเลือด โชคดีที่ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก

๒.

"เราต้องเดินอยู่บนทางสายกลาง ในบรรยากาศแห่งความเงียบสงบและสมถะ ที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย เลวร้ายทุกวันนี้ ก็เพราะความไม่พอดีของคน"

"ผมไม่เข้าใจ"

"ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ล้วนอิงอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ไม่มีสิ่งใดหรอก ที่อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว"

"ธรรมะในธรรมชาติ อย่างนั้นใช่ไหม สุธี"

"ธรรมะก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือธรรมะ มันอยู่ที่ว่า ใครจะค้นพบมันเท่านั้น"

นั่นคือบทสนทนาที่ผมยังจำได้ไม่ลืมเลือน

บทสนทนาระหว่างเราสองคน สุธีกับผม ส่วนใหญ่ผมจะเป็นผู้ฟังมากกว่าจะโต้แย้งหรืออธิบาย เรารู้จักกันในวิทยาลัย ศูนย์ฝึกอบรมระดับประเทศ มีโรงเรียนกินนอนสำหรับให้ข้าราชการมาหล่อหลอมแนวคิด วิธีปฏิบัติงาน ตามหลักสูตรที่วิทยาลัยกำหนด ไม่ว่าโรงเรียนนายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาจังหวัด หลากหลายมากมาย ตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่กำลังเคลื่อนไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม

มันเงียบนะ วิทยาลัยแห่งนี้เงียบเสียจนบางครั้งได้ยินเสียงหัวใจตนเองโลดเต้นอย่างชัดเจน

นานๆ ครั้งถึงจะมีรถแล่นผ่านมาสักคัน ยกเว้นตอนเช้าๆ ของวันเปิดทำงานจะมีรถเก๋ง กระบะ จิ๊ปหลากยี่ห้อ เข้ามาในวิทยาลัยไม่ขาดสาย พอแปดโมงครึ่งก็จอดเรียงรายเป็นทิวแถว ตามที่จอดข้างตึกอธิการ หรือไม่ก็ใต้ร่มไม้ในสนามข้างอาคารเรียน แมกไม้เขียวขจีแต่ละต้นกำลังแตกยอด พุ่งขึ้นสู่ฟากฟ้า แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ร่มเย็น บ่งบอกว่า สถานฝึกอบรมแห่งนี้เติบโตมาด้วยระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร

เพียงสายลมโชยพัดมาเบาๆ เงาแมกไม้วูบไหว เต้นพรายบนพื้นคอนกรีต ใบไม้สีเหลืองร่วงโปรยลงมา ใบแล้วใบเล่า มันให้ความรู้สึกที่เกือบจะเงียบสงบ คล้ายอยู่ในสำนักสงฆ์กลางป่ากว้างอย่างไรอย่างนั้นเหมือนจะเพิ่มความขลัง ให้สถาบันปลุกกระแสจิตสำนึกข้าราชการ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้หลอมรวมใจ ก่อเป็นกระแสจิตสำนึกอันดีงาม ในงานบริการประชาชน และรับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง

สุธีคือเพื่อนที่ผมรู้จักเป็นคนแรกๆ เมื่อผมก้าวย่างเข้ามาในสถาบันแห่งนี้ ในฐานะข้าราชการนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล

"พี่เหมาะสมแล้วที่จะมาอยู่ที่นี่ คนเป็นนักคิดนักเขียน ต้องมาช่วยกันปลุกสำนึกเพื่อนข้าราชการที่มาเข้ามารับการฝึกอบรม" นั่นคืออีกวลีหนึ่งของสุธีที่ผมยังจำได้ มันปลุกเร้าให้ผมเกิดกำลังใจ ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบที่ผมยังไม่คุ้นชิน

ผมชื่นชมเขา ทึ่งในถ้อยคำที่เอ่ยอธิบาย เหมือนนักปราชญ์ที่เรืองปัญญา ถ้อยคำหลาย ๆ ประโยคที่สื่อความคิดของเขา พรั่งพรูออกมาเหมือนสายน้ำที่หลั่งไหลไม่มีวันสิ้นสุด ยิ่งรู้ว่า เขาคืออาจารย์ที่สอนวิชาเกี่ยวข้องกับความคิด ปลุกจิตสำนึกในวิทยาลัย มีลูกศิษย์ลูกหาผ่านเข้ามารุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการส่วนภูมิภาค ผมก็ยิ่งทึ่ง ผมยังจำได้ อิริยาบถอันเยือกเย็น ขณะอธิบายความหมายแห่งชีวิต วิถีผู้คนในธรรมชาติ ผมคิดตามทันบ้าง ไม่ทันบ้าง แต่สิ่งที่ผมได้รับก็คือ ต้องกลับไปทบทวนถ้อยคำบางประโยคเพื่อเสริมความนึกคิด ที่กำลังแตกหน่อเป็นความรู้ต่อไปในอนาคต

"พี่กินข้าวเสร็จแล้วหรือ"

เสียงที่เอ่ยทัก ทำให้ผมต้องเงยหน้าจากจานข้าว ที่กำลังตักกินเป็นคำสุดท้าย สุธีกลับมาแล้ว เหงื่อเม็ดเล็กๆ ผุดพรายทั่วหน้าผาก ยิ้มเย็นผุดพรายบนริมฝีปากบางเฉียบ

"นั่งสิ พอดีคำสุดท้าย" ผมก็ยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม

สุธีเดินไปสั่งข้าวราดแกงที่เค้าน์เตอร์อาหาร แล้วเดินกลับมานั่งลงตรงหน้าผม

"ผมสบายใจแล้วพี่" เขาเอ่ยขึ้นเบา ๆ

ผมขมวดหัวคิ้วเล็กน้อย ภาพเด็กชาย นิ้วมือบาดเจ็บ กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

"เรื่องอะไร"

"เอายาใส่แผลไปให้เขาแล้ว เด็กคนนั้นคงตกใจไม่น้อย กับบาดแผลที่ได้รับ ผมคิดว่ายาใส่แผลคงจะทำให้เขาสบายใจขึ้นมาบ้าง" น้ำเสียงเรื่อยๆ เหมือนกระแสน้ำในลำห้วยที่ไหลผ่านไปอย่างช้าๆ

"ถ้ามีบุญจริง สุธีก็คงได้บุญมากทีเดียว" ผมเอ่ยขึ้นจากใจจริง

สุธีขมวดคิ้วนิ่งงันคล้ายจะครุ่นคิด

"ผมไม่ได้คิดถึงบุญหรอก เพียงแต่ทำตามหน้าที่ของคนเท่านั้น ไม่ได้คิดอะไรหรอกเป็นการให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตมารับใช้ชาติในวันหน้า ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็แล้วกัน" อีกถ้อยคำของสุธีที่ผมมักจะได้ยินอยู่เสมอ

เด็กขายอาหาร เอาข้าวกล่องใส่ถุงพลาสติกมาส่งให้สุธีที่โต๊ะ มีถุงใส่ขนมหวานแบบไทย ๆ อีกถุงหนึ่งด้วย สุธีรับมาพร้อมกับลุกขึ้น ชำระค่าอาหารที่สั่งซื้อ

"อ้าว...ไม่กินที่นี่หรือ สุธี" ผมท้วง

เขายิ้ม "วันนี้ เมียกับลูกชายผมอยู่ที่บ้าน ผมต้องไปกินข้าวกับครอบครัว ขออนุญาตนะครับ" พูดจบก็เดินออกจากห้องอาหาร มุ่งตรงยังแฟลตที่พักที่อยู่ด้านหลังวิทยาลัย

ผมมองตามจนหายลับไปจากประตู

แวบหนึ่ง ผมอดนึกถึงเหตุการณ์หนุ่มน้อยที่มือบาดเจ็บนนั้นไม่ได้ มันเหมือนจะบ่งบอกจิตใจของสุธี ที่ต่างไปจากผม แม้จะไม่มากนัก แต่มันก็คือความแตกต่าง

๓.

ใกล้เที่ยง แดดเข้มขึ้นทุกณะ

ณ ใจกลางวิทยาลัย วิหารสีขาวหลังใหญ่ทะมึนบนเนินดินสูง ที่ปกคลุมด้วยผืนหญ้าและไม้ประดับแต่พองาม หลังคาหน้าจั่วทรงไทย เปิดโล่งด้านหน้าด้านข้างอยู่สามด้าน ส่วนด้านหลังปิดเป็นกำแพงปูนสีขาว ใจกลางกำแพงประดิษฐานพระพุทธรูปองค์มหึมา พื้นที่นั่งปูกระเบื้อง สำหรับให้นักศึกษาข้าราชการ ได้มาสวดมนต์ขอพร รวมถึงการมานั่งปฏิบัติธรรม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการอบรม ศาลาวิหารนี้บรรจุคนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยคนอย่างแน่นอน

เสียงย่ำเท้าเดินผ่านไปเป็นจังหวะ สายลมหวีดหวิว ผมกับสุธีเดินไปอย่างช้าๆ ผ่านใต้ร่มเงาแมกไม้ที่แต่งแต้มเป็นลวดลายบนเส้นทางพื้นซีเมนต์ ข้างวิหารสีขาว สุธีชี้ไปที่รถปิคอัพสีแดงสดที่จอดอยู่ข้างทาง ผมมองผ่านเข้าไปในกระจกหน้ารถ

"เสื้อผ้าของลูกๆ ผม จะเอาไปให้พวกคนงานที่ทำทางเท้าในวิทยาลัย เห็นสภาพเมื่อวันก่อน เขาคงขาดแคลน" สุธีเหมือนพยายามจะอธิบายให้ผมเห็นอะไรบางสิ่ง

แวบนั้น ผมนึกถึงหนุ่มน้อยนิ้วมือบาดเจ็บอีกทันที เขาเป็นนักศึกษาแต่งตัวปอนๆ มาทำงานก่อสร้างหารายได้ตอนปิดเทอม

ผมเห็นกองเสื้อผ้าอยู่บนเบาะรถยนต์ด้านหน้า แม้เป็นเสื้อที่ใช้แล้วแต่สภาพยังดี เพ่งมองเสื้อผ้ากองนั้นครู่หนึ่ง คิดถึง...ธรรมชาติต้องอิงแอบ ช่วยกันและกัน ต้นไม้ต้องพึ่งดินทรงตัวอยู่ ขณะเดียวกันแผ่นดินก็ต้องอาศัยร่มไม้ใบหญ้าคลุมยึดดินให้รวมตัวเป็นปึกแผ่น บางส่วนก็กลับกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโต มันคือหน้าที่ที่จะต้องมีให้กันและกัน...ผมยังจำได้ คำพูดของสุธีที่มักจะย้ำให้ผมตระหนัก

"ทำไมไม่ส่งไปช่วยเหลือเด็กยากจนในชนบท" ผมเห็นต่าง จงใจจะล้วงลึกความรู้สึกของสุธี

"บ้านนอกหรือในเมือง คนจนมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง"

"ผมว่าบ้านนอกน่าจะมากกว่านะ" ผมแย้ง

"อย่าไปกังวล..." เสียงของสุธีเน้น "ผมถือว่า ผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว พี่คงเข้าใจนะ"

ผมนิ่งเงียบ ขณะก้าวเดินต่อไป แหงนมองใบไม้ที่กำลังปลิดใบจากขั้ว พลิ้วตามสายลมอย่างช้า ๆ

แวบนั้น...ผมนึกเห็นภาพหนุ่มน้อยกับนิ้วมือที่มีบาดแผล
เออหนอ สุธีแตกต่างจากผมตรงนี้เอง แม้เกือบจะเหมือนแต่ไม่เหมือน ผมยังขาดความเอื้ออาทรต่อผู้ด้อยโอกาสนั่นเอง


ทุกข์สุขอยู่ที่กรรม
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะความชั่วทำให้เดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดีทำนั่นแหละดี
เพราะทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง

(พุทธพจน์จากพระไตรปิฏก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๒)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -