ชีวิตนี้มีปัญหา๒ - สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๒)



คนที่ปฏิบัติ"ศีล"เป็นสัมมา ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะต้องระมัดระวังตน เมื่ออายตนะ ๖ ทั้งนอก และใน สัมผัสอะไรต่ออะไร ก็จะต้องมี "การสำรวมอินทรีย์" อันเป็นจรณะข้อที่ ๒ ดังนั้นชาวพุทธที่มี "จรณะข้อที่ ๑" ปฏิบัติธรรมเป็น "สัมมาทิฏฐิ" แทคนผู้นั้นก็จะมีความประพฤติ มีอาการของ กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ที่ส่อให้รู้ได้ อ่านได้จากบทบาทต่างๆ ของการดำเนินชีวิต คือมีความประพฤติ ที่พออ่านออกเห็นได้ หรือสังเกตได้ว่า ลีลา พฤติภาพ หรือลักษณะอาการ "สำรวมอินทรีย์" ของผู้ปฏิบัติ จะมีปรากฏให้เห็นให้สังเกตได้ว่า มีท่าทีลีลาแห่ง กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ตั้งแต่อิริยาบถ ที่เป็นรูปธรรม หรือกรรมกิริยาของผู้ "สำรวมอินทรีย์ ๖" เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทำหน้าที่ ขึ้นรับวิถีในชีวิตสามัญ รับรู้ครบทุกทวาร ทำงานอยู่เป็นปกติ ไม่ได้ปิดตาปิดหู ปิดปาก นั่งหลับตา ทำสมาธิ แบบลัทธิอื่นๆใดๆ ดังนั้น อาการสำรวมระมัดระวังของคนผู้ปฏิบัติ ย่อมมีให้เห็นถึงอาการ "สำรวมสังวร" ได้แน่

การปฏิบัติ"สำรวมอินทรีย์ ๖" ก็คือ เมื่อตากระทบสัมผัสกับรูป หูกระทบสัมผัสกับเสียง จมูกกระทบ สัมผัสกับกลิ่น ลิ้นกระทบสัมผัสกับรส กายสัมผัสกับสิ่งที่มากระทบภายนอก และภายในใจก็สัมผัส กับสิ่งที่มากระทบภายในใจเอง ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามอ่านอาการทั้งภายนอก-ทั้งภายใน เช่น กรรมกิริยาของตนที่เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็จะต้องอ่านกรรมกิริยาของตนว่า ผิดศีล หรือไม่ และละเมิดมิจฉา ๕ ของสัมมาอาชีพที่ทำอยู่หรือไม่ ละเมิดมิจฉา ๓ ของสัมมากัมมันตะหรือไม่ ละเมิดมิจฉา ๔ ของสัมมาวาจาหรือไม่ ละเมิดมิจฉา ๓ ของสัมมาสังกัปปะหรือไม่ ตามกรอบของ "ศีล" ที่ผู้ปฏิบัตินั้นๆ สมาทานกำหนดไว้สำหรับตน ก็สังวรระมัดระวังกรรมภายนอกของตน อย่าให้ผิด "ศีล" ซึ่ง"จิต"แท้ๆ เป็นตัวสังวร

ดังนั้น การปฏิบัติก็คือ จะต้องสำรวมระวังให้ตนเองมีสติอยู่เสมอให้ได้

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -