ข้าพเจ้าคดอะไร - สมณะโพธิรักษ์ -


ผู้"เชื่อกรรม (กัมมสัทธา) -เชื่อวิบาก (วิปากสัทธา) -เชื่อกรรมเป็นของของตน (กัมมัสสกตาสัทธา) -เชื่อความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) " ก็จะสังวรตนพยายาม"ขัดเกลา"ตน ทั้งขัด ทั้งเกลา กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรมของตน เพราะมีปัญญาเห็นจริงว่า "กรรม" คือ "ทรัพย์แท้ของ มนุษย์" จึงพากเพียรสร้างทรัพย์แท้ให้แก่ตน เฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ได้ทรัพย์ที่เป็น "กุศลกรรม"

หาก "ความประพฤติ"หรือ"การกระทำ"ใดๆ ที่สำเร็จลงเป็น "กรรม" ก็เป็นของตนทันที (กัมมัสกะ) บันทึกเป็น "มรดกของผู้กระทำทันที" (กัมมทายาท) จึงไม่ขึ้นกับว่า..จะถือศีลหรือไม่ถือศีล ถ้า "การกระทำ "อันคือ "กรรม" นั้นเป็น "บาป" ผู้กระทำจะไม่ถือศีลก็ตาม ในเมื่อกรรมนั้นเป็นบาปเป็นชั่ว มันก็ได้บาป เท่ากันกับผู้ถือศีลอยู่นั่นเอง ไม่ละเว้น ว่า จะถือศีลหรือไม่ถือศีล ไม่ว่าจะเป็นใครใด ทั้งสิ้นด้วย แม้จะนับถือ ศาสนาไหนก็ตาม "กรรม" ของคนเป็น "สัจจะ" จึงชื่อว่า "สัจธรรม" ชั่วก็คือบาป ดีก็คือบุญ ตามกรรมของทุกคนที่ทำ

แต่ผู้ "ถือศีล" นั้นแน่นอนว่า ต้องดีกว่าผู้ "ไม่ถือศีล" ก็ตรงที่ได้ ตั้งใจ-ตั้งเจตนา" ที่จะปฏิบัติตน "ละเว้นบาปเว้นชั่ว" ตามที่ตนสมาทานศีลนั้นๆ หรือตามที่ตนกำหนดข้อปฏิบัติขึ้นมาตั้งใจจะทำให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ศีล พื้นฐาน คือ "ศีล ๕"เป็นต้น ดังนั้น ผู้ "ตั้งใจ..ปฏิบัติตนเลิกลดบาป" ก็ย่อมดีกว่า ย่อมเป็นคนมีความเจริญ แก่ชีวิตตนมากกว่าแน่ๆ ผู้ที่ "ไม่ตั้งใจ" จะปฏิบัติตนลดเลิกบาป หรือ ไม่สมาทานศีลเลย ก็แน่นอนว่า "กรรม" หรือ "การกระทำ" ย่อมก่อ "บาป" สะสมให้แก่ตนยิ่งกว่า เพราะคนผู้นี้ ไม่มีทั้งหลักการสำคัญประจำตนที่จะทำดี ไม่มีทั้งความตั้งใจที่จะทำตนให้ประพฤติดี

ยิ่งผู้ไม่เคยคิดจะถือศีลเลยในชีวิต ก็คือ ผู้ยากที่จะได้สะสมกุศลวิบาก หรือสะสมสมบัติบุญ หรือ สะสม อาริยทรัพย์อันประเสริฐให้แก่ตน ซึ่งเป็น "ทรัพย์แท้ที่ติดตัวติดตนไปทุกชาติๆ"

คนที่ไม่ถือศีลเลย คือผู้มีชีวิตที่ไร้หลักการสำคัญสำหรับชีวิต ซึ่งแน่ๆก็คือ ไร้ข้อยึดถือปฏิบัติ เพื่อเลิกบาป หยุดชั่วที่ตนเคยทำหรือทำอยู่อย่างไม่คิดจะเลิก เช่น ยังฆ่าสัตว์ ยังเอาของผู้อื่นในฐานะ ทุจริต แม้แค่เอาเปรียบ ยังผิดผัวผิดเมียคนอื่น ยังพูดปด ยังดื่มน้ำเมา ซึ่งคนมักไม่เชื่อว่าเป็นบาป เพราะไปคิดเสียว่า ตนไม่ได้ ถือศีลนี่! แต่ตามสัจจะ..ถึงแม้จะไม่ถือศีลก็เถอะ ก็ต้องบาปตาม "กรรม" ที่ตนเองเป็นผู้ทำแท้ๆอยู่ดี เพราะ "กรรม" ใครทำก็ต้องเป็นของตน (กัมมัสสกะ) ทำลงไปแล้ว.. บาปไม่เอา_บุญไม่เอาก็ไม่ได้ "กรรม" ที่คนไหน ทำแล้วสัจจะก็บันทึกเป็น "วิบาก"ของคนทำนั้นทันที ไม่มีตกหล่น ทำในที่ลับที่แจ้งก็ตาม คนอื่น รู้หรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นของผู้ทำทั้งสิ้น

และไม่ว่าใครมนุษย์คนใดก็ตาม เมื่อเป็นคนเป็นมนุษย์ จะถือศาสนาไหน จะถือศีลหรือไม่ก็ตาม เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ก็บาป ลักทรัพย์ก็บาป ผิดผัวเขาเมียใครก็บาป พูดปดก็บาป ดื่มน้ำเมาก็บาป หากทำ"อกุศล" ตามที่พระบรมศาสดาให้ละเว้น (เวรมณี) เช่นศีล ๕ เป็นต้น ล้วนเป็น"อกุศลมูล ทั้ง ๕" อกุศลคือบาป คนไหนทำก็บาปทุกคน ถือศีลหรือไม่ ถือศาสนาไหนก็ตาม เพราะ"กรรม"ดังกล่าวนั้น มันอกุศลทุกข้อ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในบาปในบุญด้วยพระสัพพัญญุตญาณมาแล้ว แล้วก็ทรงเมตตาสอนไว้ ให้คนละ คนเว้นขาด (เวรมณี) เป็นเบื้องต้น-เบื้องกลาง-เบื้องปลายไปตามลำดับ คนที่เชื่อพระองค์ ปฏิบัติตาม ก็ได้ลดบาปแน่ แต่เมื่อใครยังทำอยู่ก็บาปอยู่ มิใช่ว่าถือ"ศีล"นั้นเสียก่อน..ผู้ทำจึงจะบาป แต่ถ้าผู้ใด ไม่ถือ"ศีล"นั้น ทำ"อกุศล"นั้นก็ไม่บาป ขอยืนยันว่า มิใช่เช่นนั้นเลย บาป-บุญ คือ การกระทำ ของมนุษย์ทุกคน หากใคร"ทำ"ก็ไม่ละเว้นทั้งสิ้น แม้จะถือ ศาสนาไหน บาปหรืออกุศลโดยสัจจะ-บุญหรือกุศลโดยสัจจะ ก็ต้องจริง ตามอกุศล-ตามกุศล ที่จริงนั้นๆ ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปกำหนดให้"กุศล" เป็นบาป-ให้"อกุศล"เป็นบุญ เอาตามอำเภอใจได้

และศาสดาองค์ใดก็กำหนดบาปกำหนดบุญเอาเอง โดยผิดเพี้ยนไปจากสัจจะไม่ได้ บาปคือบาป บุญคือบุญ ใครขัดแย้งกับ"สัจจะ"ไม่ได้เลย ศาสดาองค์ใดหยั่งรู้ในความเป็น "กุศล-อกุศล" ได้ลึกซึ้ง ละเอียดเท่าใด ก็เป็นภูมิ ของแต่ละศาสดาที่หยั่งรู้สัจจะของแต่ละองค์ จะผิด จะถูก จะตื้น จะลึก ก็ตามภูมิ ของแต่ละพระองค์ แล้วก็สอนตามภูมิที่จริงของพระศาสดานั้นๆ องค์ใดผิดไปจากสัจจะ ก็ผิด องค์ใดถูกตามสัจจะก็ถูก สัจจะไม่มีใครบิดเบี้ยวได้

ชาวพุทธก็เชื่อตามความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ดังนั้น คนที่ไม่ถือศีลเลยะไร้พลังสร้างสรร"ทรัพย์แท้" ที่เป็นความดีแท้ คือบุญคือกุศล ให้แก่ชีวิตตนเอง จึงได้แต่สะสมบาปสะสมอกุศล ให้เป็น "ทรัพย์แท้ ที่ติดตัว ติดตนไปชาติแล้วชาติเล่า" ด้วยความไม่รู้ (อวิชชา)

เพราะ คนชนิดนี้จะถูกอำนาจโลกธรรม ๘ นั่นเอง ผลักดันให้ทำบาปทำอกุศล และแถมจะถูก อำนาจของ พลังกระแสสังคมที่ปรุงแต่งที่ครีเอทกันอย่าง"อวิชชา"ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ซึ่งมากมาย นับไม่ถ้วน นี้แหละ ที่มันมอมเมาชักพาดูดดึงครอบงำเอาอีกอย่างหนักหนาสาหัส สุดที่จะแข็งขืน ได้ยาก

เพราะอำนาจโลกีย์ดังกล่าวนี้แล ที่จะพาให้คน "ผู้ไม่ถือศีล" ทำบาปทำอกุศล บาปที่สำคัญยิ่งนัก โดยตนเอง ไม่รู้สึกรู้สา ว่า มันเป็นบาปเป็นชั่วเป็นความเสื่อมของตนแต่อย่างใด นั่นคือ ความโลภ ของตนเอง ที่เพิ่มสะสม ใส่จิตตนมากขึ้นๆ ดังนั้น คนชนิดนี้จึงไม่มีความตั้งใจที่จะลดละ โลภโกรธ หลง ให้แก่ตนแน่ มิหนำซ้ำตนเองก็ "อวิชชา"อีกด้วย แม้คนผู้นี้จะมีความรู้ทางโลกสูงส่งปานใดๆ จบดอกเตอร์มากี่ใบๆก็เถอะ ถ้ากิเลสของคนผู้นี้ มันมีมากและมันบงการขึ้นมาเต็มสภาพ มันจะมี อำนาจ เหนือคนผู้นี้ คนผู้นี้ก็ทำกรรมทุจริตเลวร้าย แรงร้าย ได้แน่นอน ทั้งๆที่รู้แสนรู้ ก่อนจะทำ ว่าที่ตนจะทำนั้นคือทุจริตคือชั่ว ดังที่คนในสังคม กระทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาชน คนใหญ่คนโต ที่เขาโกงเขาทุจริต-คนที่ปล้ำข่มขืน หรือกรณีอื่นๆ มากมาย ซึ่งคนที่ทำนั้น ล้วนรู้ว่าบาป ว่าชั่ว แต่..ที่ทำ เพราะทนต่ออำนาจกิเลสไม่ได้

การเสริมสร้างให้คนมีความรู้หรือมีการศึกษามาก จึงมิใช่หลักประกัน ว่า จะไม่ทำชั่วทำบาป แต่อยู่ที่กิเลส ต่างหากเป็นสำคัญ คนทำบาปทำชั่วจึงไม่ขึ้นกับการมีการศึกษามากหรือน้อย และที่จริงแล้ว คนยิ่งมีความรู้ มากนั่นแหละยิ่งทำเลวทำชั่วได้ลึกลับซับซ้อน แสบเจ็บเหน็บทรวง ยิ่งๆขึ้นเอาด้วย จึงยิ่งบาปทับซ้อน

คนที่ไม่ถือศีลเลย ชีวิตจึงเพิ่มโลภะราคะโทสะโมหะให้ตนหนาจัดยิ่งขึ้นๆอย่างไม่มีขีดจำกัด คนที่กิเลส มันหนามันเพิ่มอยู่ไม่หยุดหย่อนนั่นแหละ ที่เรียกว่าปุถุชน อำนาจของกิเลสมันมีจริง และมันมีอำนาจ บงการคนให้ทำบาปทำชั่วได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบาปหรือชั่วแท้ๆนั้น แม้การเอาเปรียบ-ได้เปรียบ ก็เป็นบาปแท้ โดยสัจจะ การเบียดเบียนทั้งปวงล้วนคือบาปทั้งสิ้น คนที่ไม่ตั้งใจจะลดละกิเลส ก็จะไม่สามารถรู้จักกิเลส และ กำจัดกิเลสก็ไม่เป็น กิเลสจึงบงการคนผู้อวิชชาแน่

การถือศีล จึงเป็นการตั้งใจพัฒนาตนให้ลดกิเลส ลดบาป ลดกรรมที่เป็นทรัพย์ชั่ว ให้แก่ตน ไปตามลำดับ

"การถือศีล หรือ สมาทานศีล" ต้องปฏิบัติ "อธิศีลสิกขา-อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา" ครบองค์รวม จะไม่แยกกัน ปฏิบัติไปคนละเวลา คนละกิจ คนละส่วน

เมื่อได้ "สมาทานศีล" ให้แก่ตนแล้ว ผู้ปฏิบัติก็พึงพากเพียรฝึกฝนประพฤติตนไปตามกรอบของศีลนั้น ถ้าอบรมตนมีการพัฒนาเป็น "สัมมาอาริยมรรค" เจริญดีไปทุกข้อ หรือมรรคทั้ง ๗ มีข้อดีมากข้อกว่าไม่ดี

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๔-๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -