ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
สมดุลของชีวิต


การเลือกวิถีของธรรมชาติบำบัด คือ การพึ่งตนเอง เราต้องคิดเอง ทำเอง เมื่อปฏิบัติไปสักระยะ เราจะพบว่า ธรรมชาติบำบัด เปลี่ยนชีวิตเราได้ วิถีธรรมชาติ เป็นไปเพื่อให้เรายืนยันได้ ด้วยลำแข้ง ของตนเอง อย่างสง่าผ่าเผย อย่ารอจนกระทั่ง ป่วยหนัก เราเปลี่ยนชีวิตเสีย ตั้งแต่วันนี้ เพื่อความสุข และสุขภาพที่ดีจากภายในอย่างแท้จริง

เบิกบานกับโยคะยามเช้า หัวใจของโยคะคือ ปราณหรือการสร้างลมปราณ ร่างกายจะได้รับออกซิเจน ได้มากขึ้น ควรเล่นโยคะ อย่างน้อยวันละ ๑๕ นาที

หลักสำคัญของการฝึกโยคะ คือ การฝึกจิตและร่างกายด้วยการกำหนดรู้ที่ลมหายใจประสานกับ การเคลื่อนไหวของกาย ช่วยเพิ่ม ความแข็งแรง และความยืดหยุ่น ให้กับกล้ามเนื้อ กระตุ้น การไหลเวียน ของโลหิต ทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย

การเตรียมตัวก่อนเล่นโยคะ
๑. อาบน้ำก่อนฝึก เพื่อให้ร่างกายสะอาด สดชื่น
๒. สถานที่ฝึก ควรมีความสงบ สะอาด อากาศถ่ายเท
๓. ปูเสื่อหรือผ้ารองพื้น การฝึกกับพื้นโดยตรงอาจทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บได้ ให้งดเล่น บนพื้น ที่ไม่เรียบ
๔. ใส่เสื้อผ้าสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
๕. ฝึกหลังรับประทานอาหารหนักอย่างน้อย ๓ ชั่วโมง ไม่ฝึกกลางแจ้ง
๖. เริ่มฝึกจากท่าง่ายๆ เพื่อให้ร่างกายยืดหยุ่นมากขึ้นและทำให้การฝึกท่ายากจะง่ายขึ้น

ทำความสะอาดฟัน
สบู่ ยาสีฟัน ที่เป็นสารเคมีขอให้โยนทิ้งไป ให้ใช้ใบมะม่วง กานพลู ใบสะเดา ใบฝรั่ง หรือใบขนุน โดยใช้ ใบแก่ สีเหลืองจะดีที่สุด ทำความสะอาดฟัน โดยการฉีกใบไม้ออกเป็นสองส่วน เอาแกนกลาง ออก แล้วนำมาม้วนตัดปลายทิ้ง เพื่อให้เกิดรอยหยัก หลังจากนั้น ใช้ถูฟันและเหงือกให้ทั่ว ต้องลองดู สักครั้ง แล้วจะติดใจ เราจะพบว่า ฟันสะอาดไม่มีกลิ่นปาก ยาสีฟันที่เราใช้ในปัจจุบัน มีสารพิษ ๒๘ ชนิด เนื้อในนั้น มีผงกระดูกสัตว์ (ยกเว้นยาสีฟันสมุนไพร ปฐมอโศก) ส่วนแปรงสีฟันนั้น เมื่อใช้เป็น ระยะเวลานาน จะทำให้เหงือกค่อยๆ ร่นขึ้นไป เราควรจะใช้ นิ้วของเราถู และถ้าจะทำยาสีฟันไว้ใช้ เมื่อหาใบไม้ไม่ได้ ให้เอาใบมะม่วงแก่สีเหลือง มาบดให้ละเอียด ใส่พริกไทยดำป่น เล็กน้อย กับเกลือ ทะเล ป่นละเอียด เล็กน้อย ก็จะเก็บไว้ใช้ได้

ชำระล้างกายด้วยการล้างคอ ล้างจมูก ล้างตา
ทุกเช้าหลังจากเล่นโยคะเสร็จแล้ว ก่อนอาบน้ำรับประทานอาหารเช้า ควรล้างคอ จมูกและตา เป็นเรื่อง ที่ทำได้ง่าย และเป็นประโยชน์ ต่อร่างกายอย่างยิ่ง ควรทำให้สม่ำเสมอ

๑. ล้างคอ น้ำอุ่น ๑ แก้ว+เกลือป่น+น้ำมะนาว กลั้วคอประมาณ ๑๐ คำกลั้ว
ประโยชน์
- เพื่อทำความสะอาดลำคอ
- เหงือกแข็งแรง
- ขับเสมหะ
- แก้เจ็บคอ
- ลดอาการระคายเคืองในหูและช่องท้อง
- เป็นการเชื้อเชิญไข้หวัดออกมา

๒. ล้างจมูก น้ำอุ่น ๑ แก้ว+เกลือป่น+น้ำมะนาว โดยให้เจือจางกว่าน้ำล้างคอ ใส่พวยกา ยืนค้อมหลัง เอียงตัวเล็กน้อย เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย หายใจเข้าออกทางปากเท่านั้น

รินน้ำในกาเข้าทางช่อง จมูกขวา น้ำจะไหลออกทางช่องจมูกซ้าย รินไปจนเหลือครึ่งกา ทำสลับอีกข้าง (ข้อสำคัญ ให้ระมัดระวัง ควบคุม การหายใจ เข้าออกทางปาก ระลึกรู้ตลอดเวลาของการล้างจมูก!)
ประโยชน์
- ขับมูกเมือก
- ลดการอักเสบในโพรงจมูก
- ช่วยให้หายใจโล่งโปร่งสบาย

การดูแลรักษาดวงตา
๑. การล้างตา
- ทุกๆ เช้าใช้น้ำสะอาดใส่ถ้วยล้างตา ๒ ถ้วย ก้มหน้าลงเล็กน้อยลืมตาในน้ำ
- กะพริบตาราว ๕๐ ครั้ง ประมาณ ๕ นาที
ประโยชน์ ตาจะใส ลดการระคายเคืองดวงตา

๒. การพอกตาด้วยแครอท
- ใช้กากแครอทสกัด ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเท่ากระบอกตา
- นอนลง พอกตาให้สนิท ไม่มีแสงผ่านเข้าตา ส่งจิตจดจ่อที่ดวงตา
- พอกนาน ๑ ชั่วโมง เอากากออก
- ล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าธรรมดา

๓. ฝึกการอ่านหนังสือใต้แสงเทียน
- แสงต้องมาจากทางซ้ายบน
- อ่าน ๑ บรรทัด กะพริบตา ๑ ครั้ง ทุกบรรทัด
- อ่านประมาณ ๑๕ นาที/วัน

๔. การปิดดวงตาด้วยฝ่ามือ
สำหรับผู้ที่ดูโทรทัศน์หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ควรกะพริบตาบ่อยๆ ปกติ คนเรา กะพริบตาทุก ๗ วินาที เพื่อให้น้ำตา เคลือบหล่อเลี้ยงดวงตา และใช้วิธีนี้ ในการดูแล ดวงตา
- ใช้ฝ่ามือปิดตาทั้งสองให้มืดสนิท อย่าให้มีแสงลอดเข้าไปได้ โดยยังคงลืมตา
- ฟุบหน้าลงกับโต๊ะประมาณ ๑๕ นาที
- ถ้าต้องการหยอดตาให้ใช้น้ำค้างบนกลีบกุหลาบจะดีที่สุด

- อาหารที่ช่วยบำรุงดวงตา : ผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารแคโรทีนอยด์ และสาร แอนโธไซยานิดินส์สูง การบริโภคผัก และผลไม้ วันละ ๕-๙ ส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรค ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม ในผู้สูงอายุ

ผลไม้ที่มีสีน้ำเงิน หรือม่วงเข้ม (องุ่น) ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระที่ทำอันตรายเลนส์ตา และสร้าง ความแข็งแรง ให้กับสารคอลลาเจน ซึ่งเป็นโครงสร้างของบริเวณกระจกตา (comea) และเส้น เลือดฝอยในตา

- สิ่งอันตรายต่อดวงตา : ความร้อน น้ำมัน สารเคมี แสงสะท้อน อาหารเผ็ด อาหารทอด อาหารแห้ง เกลือ น้ำตาลทรายขาว การนอนดึก และท้องผูก

การทำความสะอาดใบหน้าและร่างกาย
- ก่อนอาบน้ำทุกครั้ง ควรนวดศีรษะ หน้า ลำคอ ปลายนิ้วมือ แขน รักแร้ อก ท้อง เท้าต้นขา ตามลำดับ จะช่วยให้เลือด และน้ำเหลืองไหลเวียนได้ดีขึ้น

- อาบน้ำด้วยน้ำที่อุณหภูมิปกติ ไม่ต้องอาบน้ำอุ่น เพราะจะทำให้เลือดหมุนเวียนช้า ทำให้เกิดอาการ ซึมเซา ไม่สดชื่น

- ก่อนการล้างหน้า ถ้าทาน้ำผึ้งทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ นาที จะช่วยในการสมานผิวและบำรุงผิวหน้า (วิธีนี้ดีสำหรับผู้ที่มีผิวหน้าค่อนข้างมัน)

- ใช้ถั่วเขียวปั่นทำความสะอาดผิวหน้า และร่างกายแทนสบู่ เพราะมีค่า ph เท่ากับ ๕.๕ ซึ่งเท่ากับค่า ph ของผิวหน้ามนุษย์ อีกทั้งยังไม่มี สารเคมี เป็นส่วนผสม จึงเหมาะกับผิวเราที่สุด โดยผสมถั่วเขียว กับน้ำให้แฉะ แล้วนวดเบาๆ ตามใบหน้าและร่างกาย ทิ้งไว้สักครู่ เมื่อล้างออกแล้ว จะสัมผัสได้ถึง ความนุ่มของผิว

วิธีทำสบู่ถั่วเขียว
- จัดหาถั่วเขียวที่ปลอดสารพิษ
- ไม่ต้องล้างถั่วเขียวก่อน เพราะความชื้นอาจทำให้เกิดรา ยกเว้นถ้าถั่วเขียวไม่ปลอดสารพิษ ควรล้างก่อน และนำไปตากแดด ให้แห้งสนิท แล้วค่อยนำมาปั้น
- ใช้เครื่องปั่น ปั่นให้ละเอียดที่สุด (ถ้าปั่นไม่ละเอียดจะทำให้เจ็บแสบผิวหนังได้)
- ใช้ตะแกรงร่อนถั่วเขียวที่ปั่นรอบแรก นำส่วนที่ไม่ละเอียดไปปั่นอีกครั้ง
- อาจผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้ เช่น ผงขมิ้นหรือไพล เป็นต้น

อาบแดด
ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าอาหารที่มีมดหรือแมลงขึ้นนั้น หากเรายกไปวางที่แดด มดหรือแมลง จะออกไปเอง จากอาหารนั้น กายเราก็เช่นกัน ขณะยืนอาบแดดอยู่ แบคทีเรียที่ไม่มีคุณต่อเรา จะถูกขับออกไปด้วยพลังแสงอาทิตย์ และเรายังได้รับวิตามินดี ที่ช่วยให้กระดูก ดูดซึม แคลเซียม ได้ดียิ่งขึ้น กระดูกแข็งแรงโดยไม่ต้องจ่ายเงิน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เบาหวาน และผู้ป่วยอื่นๆ จนถึงคนที่ ไม่ได้เจ็บป่วย ก็ควรจะได้รับแสงแดด เผื่อป้องกันการเจ็บไข้ กรณีมีบาดแผล ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีผื่นอักเสบ คัน หากอาบแดด อาการจะดีขึ้น อย่างรวดเร็ว

- เวลาที่เหมาะสม ได้แก่ เช้าก่อน ๙.๐๐ น.เย็นหลัง ๑๖.๓๐ น.
- สวมชุดผ้าฝ้ายสีขาวหรือสีอ่อน เพราะเราต้องการแสงแดด ไม่ต้องการความร้อน

- หันหน้าเข้าหาพระอาทิตย์ ยืนหรือนั่ง หลับตารับแสงแดดอุ่นๆ ๓๐ นาที โดยหันหน้า ๑๕ นาที หันหลัง ๑๕ นาที ส่งจิตจดจ่อกับส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ คุยกับอวัยวะส่วนที่เราต้องการดูแลเป็นพิเศษ

(ข้อมูลคัดลอกมาจาก ธรรมชาติบำบัด ศิลปะการเยียวยาร่างกายและจิตใจเพื่อสมดุลของชีวิต)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -