ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ -สมณะโพธิรักษ์-



เมื่อ"ศีลกับสมาธิ"ถูกแยกส่วนตัดขาดดังที่สอนผิดๆกันมาแล้ว ตามที่ได้สาธยายมานี้ ก็ย่อมไม่เกิดการต่อเนื่องกระทั่งมีมรรคผลอย่างเป็นจริงได้แน่นอน เพราะการปฏิบัติถูกแยกส่วนกันไปเด็ดขาดดังกล่าว จึงไม่เชื่อมกันอย่างมีปฏิสัมพัทธ์เป็นองค์รวม

เพราะฉะนั้น "สมาธิหรืออธิจิตสิกขา" ที่ปฏิบัติแบบฤาษีดาบสนี้ ก็จะเกิดผลไปตามแบบของเขา แต่เป็น"มิจฉาผล"แน่แท้ ไม่เป็น"สัมมาผล"ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเด็ดขาด เพราะไม่ใช่การปฏิบัติ "มรรค ทั้ง ๗ องค์" แล้วเกิด "เอกัคคตา" ที่เป็นคุณวิเศษแบบพุทธ อันมีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งมีคุณค่าประโยชน์มหาศาลต่อตนต่อมวลมนุษย์ในสังคมอย่างลึกซึ้งสุดจะกล่าวทีเดียว เพราะคุณค่านั้นพรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยคุณภาพเลิศยิ่งของอิสรเสรีภาพ-ภราดรภาพ-สันติภาพ-สมรรถภาพ-บูรณภาพ อันเป็นคุณค่าที่พึงประสงค์ของมนุษย์แท้ๆทั้งโลกจริงๆ [ผู้สนใจศึกษาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑]

"เอกัคคตา" ที่เป็นคุณวิเศษแบบฤาษี ก็เป็นเรื่องอีกต่างหาก เป็นมรรคผลที่เกิดจากการนั่งหลับตาสะกดจิตเข้าไปสู่ภวังค์ อันไม่ต่อเนื่องจากกายจากทวารทั้ง ๕ ข้างนอก เพราะตัดภายนอกออกไปจริงๆ ไม่ให้เชื่อมสัมพันธ์สัมพัทธ์กับทางจิตทางใจ ผลที่ได้จึงไม่เหมือนกันแน่นอน เรียกผลชนิดนี้ว่า "มิจฉาผล" เพราะไม่ได้เกิดจาก "วิธีปฏิบัติตามอนุสาสนีของพระพุทธเจ้า" ตั้งแต่การปฏิบัติ"อริยอัฏฐังคิกมรรค" หรือ"มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ" ทฤษฎีสำคัญที่เป็น "ทางเอก" ของศาสนาพุทธแท้ๆ ซึ่งใครๆก็รู้กันดีอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้ปฏิบัติ"ทฤษฎี"สำคัญอันเป็นหลักเอกชัดๆอย่างนี้จริง ผลจึงไม่เกิดไม่เป็น"สัมมาผล" แน่นอน แต่เกิดจาก"วิธีปฏิบัติตามคำสอนเก่าแก่ของศาสดาอื่น" อันยังไม่ใช่"สัมมามรรค" ทั้งมรรคทั้งผลจึงเป็นทั้ง"มิจฉามรรคและมิจฉาผล"

คนทุกคนแม้จะชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกก็เถอะ
[มีต่อฉบับหน้า]

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -