เพียงแค่เอ่ยถึง...เสรีภาพฯ ถึงกับเป็นเรื่องได้มากมาย
- ละอองฝุ่น -


นายกฯ งัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ อุ้ม"สันติอโศก" อ้างเสรีภาพนับถือลัทธินิกาย ใครจะเชื่ออย่างไร ไม่สำคัญ เป้าหมายสุดท้ายคือพระพุทธเจ้า เรียกร้อง ชาวพุทธ สมานฉันท์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน เช้าวันที่ ๑๖ เมษายน ตอนหนึ่งว่า

เราคิดกันว่าในวิสาขบูชา เราควรเชิญชวนชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกันปฏิบัติธรรม ตอนแรก เราวางแผนกันว่า จะใช้พุทธมณฑล ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง สำนักพระพุทธศาสนา ศูนย์คุณธรรม และทางเถรสมาคม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ชาวพุทธเองนี่จะต้องมีความสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธด้วย ความจริงแล้วมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดครับว่า เราจะให้เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา แล้วยังไม่พอ ไม่เลือกนิกาย ไม่เลือกลัทธิและความเชื่อ เพราะฉะนั้น ใครจะเชื่อ อย่างไร ไม่ว่ากัน แต่ว่าเป้าหมาย สุดท้ายของศาสนาพุทธก็คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งได้ใช้หลักธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราจะต้องยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

"ถ้าเรายึดตรงนั้น รายละเอียดนี่ ใครจะไปอย่างไร ยังไม่เป็นไร ขอให้หลักการก็คือว่า ยึดหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผมยังคิดว่าเรื่องนี้นี่ เราจะต้องสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธ ของเราให้ได้ แล้วก็จัดงานที่เป็นงานวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่ เพื่อที่จะให้ประเทศไทย เป็นศูนย์ที่ชาวพุทธทั้งหลาย มาร่วมกัน ทำจิตใจให้แจ่มใส ด้วยการปฏิบัติธรรม มาฟังพระธรรมเทศนา ได้เกิดปัญญา แห่งการ ดำรงชีวิต อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไป ขณะนี้สำนักพุทธศาสนา กำลังเตรียมการในเรื่องนี้ โดยประสานกับ ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลัง ในการจัด โดยที่ปีแรกนี่ เราจะเน้นเอาพุทธศาสนิกชน ไทยก่อน ต่างประเทศแถวเพื่อนบ้านนี้ ก็จะมาร่วมบ้าง และต่อไป ค่อยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ"

ด้านพระมหาเดวิทย์ ยสสีภิกขุ กลุ่มยุวสงฆ์กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างมหาเถรสมาคมกับ พล.ต.จำลอง และสันติอโศก เรื่องการจัดงานวันวิสาขบูชา ที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาพูด ในรายการวิทยุ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" อ้างมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญ ให้เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา ไม่เลือกลัทธินิกาย และต้องการ ความสมานฉันท์ ในหมู่ชาวพุทธ ที่กำลัง เกิดปัญหาความขัดแย้ง การจัดงานวันวิสาขบูชาขณะนี้ ถือว่าค่อนข้างอันตรายมาก เหมือนเป็นการ ส่งสัญญาณสั่งลุย ไม่เห็นมหาเถรสมาคม อยู่ในหัวใจ

"การทำเช่นนี้ก็เพื่อทำลายความเชื่อถือของ มส. ซึ่งเป็นหน่วยงานสงฆ์สูงสุด ต่อไปพระทำอะไร ก็ไม่มีความชอบธรรม เหมือนเป็นการทำลาย วิกฤติศรัทธา เพื่อรัฐบาล จะได้ผลักดัน พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในการนำเอาที่ดินวัด ไปใช้ได้อย่างอิสระ รวมทั้งต่อไปก็มีแผนออก พ.ร.บ. ให้ฆราวาส ออกมาครอบงำพระ เช่นปัจจุบัน ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จะทำอะไร ก็ต้องรายงานให้ มส.ทราบ เมื่อออกกฎหมายตัวนี้ออกมา ผอ.พศ. ก็ไม่ต้องสนใจ มส. สามารถเป็นตรายางรัฐบาล ได้อย่างอิสระ" พระมหาเดวิทย์ กล่าว (ไทยโพสต์ ๑๙ เม.ย. ๔๘)

ด้านนายสนิท ศรีสำแดง กรรมการอำนวยการด้านศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม กทม. กล่าวว่า กรณีที่ นายกรัฐมนตรีอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๘ ขึ้นมา ก็เพื่อเปิดทาง ให้สำนักสันติอโศก ได้เข้ามาใช้พื้นที่ พุทธมณฑล ในการทำกิจกรรมเท่านั้น และยึดพื้นที่พุทธมณฑลในที่สุด

"ผมเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ายึดพื้นที่พุทธมณฑล เพราะผมเชื่อว่าเมื่อจบงาน วันวิสาขบูชาแล้ว สันติอโศก และภาคีคงจะไม่ยอมถอนตัว ออกจากพื้นที่ง่ายๆ โดยจะใช้เป็น ศูนย์กลาง ในการขยายเครือข่ายของกลุ่ม ไปสู่ต่างจังหวัด กระจายแนวคิดบุญนิยม ไม่เคารพสักการะ พระพุทธรูป ตลอดจน ไม่ทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ให้กับญาติมิตร ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้ฐานของ สำนักพระพุทธฯ ประจำจังหวัด เข้าใช้สถานที่ราชการ และวัดต่างๆ

ผมห่วงว่าถ้าเริ่มจากจุดนี้แล้ว ต่อไปสันติอโศกก็คงจะขอเข้าไปทำกิจกรรมในวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว และวัดสำคัญๆ ของชาวพุทธอื่นๆ ซึ่งถ้าที่ไหนไม่ยอม ก็จะยกรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ ขึ้นมาอ้าง และความจริงแล้ว นายกไม่ใช่ผู้ปกครองมหาเถรสมาคม ไม่มีหน้าที่บอกให้พระสามัคคีกัน" นายสนิท กล่าว และว่า มีกระแสข่าวว่า มีการระดมทุนกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อมาดำเนินกิจกรรม สันติอโศก ผ่านทางศูนย์คุณธรรม (มติชน ๑๙ เม.ย. ๒๕๔๘)

พระเทพดิลก (มหาระแบบ) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า

"ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๓๘ ให้เสรีภาพ การนับถือ ศาสนา ไม่เลือกนิกาย ลัทธินั้น พระเทพดิลก กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ ได้คนเดียว พระก็อ่านรัฐธรรมนูญเช่นกัน สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้าง เป็นเพียงบางส่วน บางวรรค เท่านั้น รัฐธรรมนูญ จะยกมาแค่ บางตอนไม่ได้ ต้องดูทั้งหมด และพิจารณาควบคู่ กับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ที่ไม่ต้องตีความ คือ การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

นักการเมืองมาแล้วก็ไป ศาสนามีมาก่อนคน พระบวชก็เพื่ออุทิศพระศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้บวช อุทิศรัฐบาล นายกรัฐมนตรีอาจสั่งได้ แต่ถ้าไม่ควร ไม่เหมาะ พระก็ไม่ทำ ตอนนี้ นายกรัฐมนตรี ดูจะเตลิด ออกไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธ ไม่ใช่เรื่องยาก เรามีพระธรรมวินัย มีวิถีทางของ พระพุทธเจ้า ให้ยึดเหนี่ยว เหตุใดไม่หันหน้าเข้าหา สิ่งที่ถูกต้อง อย่าเอาแต่คิดไปคนเดียว" พระเทพดิลก กล่าว (ไทยโพสต์ ๑๙ เม.ย. ๒๕๔๘)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -