อดใจให้เขาสำนึก (ขันติวรรณนชาดก)


เขาขวนขวาย ขยัน หมั่นเกินคาด
แต่มาพลาด ผิดศีล กาเมหนอ
จึงสู้ทน อดใจ ไม่ด่าทอ
คอยดักรอ เตือนเขา สำนึกตน

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร

มีอยู่วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จมาเข้าเฝ้าพระศาสดา เพื่อขอคำแนะนำ ด้วยเหตุมีอยู่ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อำมาตย์ใกล้ชิดคนสนิทผู้หนึ่งของข้าพระองค์ ซึ่งเป็นผู้มีอุปการะมาก ได้ลอบเป็นชู้กับนางสนมคนหนึ่ง แม้ข้าพระองค์รู้ความจริงนี้แล้ว ก็ยังมิได้เอาผิด ได้แต่อดกลั้น นิ่งไว้ ด้วยคิดว่าอำมาตย์นี้เป็นผู้มีความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เรามากมายหนอ"

พระศาสดาทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า

"ดูก่อนมหาบพิตร แม้พระราชาในโบราณกาล ก็ทรงอดทนอดกลั้นอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน"

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลนิมนต์ให้ตรัสเล่า พระศาสดาก็ทรงนำเรื่องนั้นมาแสดง


...............

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีอำมาตย์คนสนิทผู้หนึ่งของพระเจ้ากรุงพาราณสี ได้แอบเป็นชู้กับ นางสนมคนหนึ่งของพระองค์ พระราชาแม้ทรงทราบเรื่อง ก็สู้อดกลั้นใจนิ่งไว้ เพราะอำมาตย์ผู้นี้ ช่วยเหลือเกื้อกูลพระองค์ไว้มาก

แล้วในขณะเดียวกัน ก็มีคนรับใช้ผู้หนึ่งของอำมาตย์ นั้น ได้ลอบเป็นชู้กับภรรยาของอำมาตย์ เมื่อรู้เรื่องนี้เข้า ทำให้เขาโกรธมาก ไม่สามารถอดทนอดกลั้น ความผิดของคนรับใช้นั้นได้ จึงจับกุม ลากตัวเอาไปเข้าเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ คนรับใช้ผู้นี้ของข้าพระบาท ซึ่งเป็นผู้ขวนขวายขยันในกิจทั้งปวง แต่เขามีความผิดอยู่ข้อหนึ่ง คือ เป็นชู้กับภรรยาของข้าพระบาท ขอให้พระองค์ทรงโปรดพิจารณา ความผิดของเขาด้วย ว่าควรจะทำอย่างไรกับเขาดี พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงได้ฟังเรื่องราวแล้ว ก็จ้องเขม็งที่หน้าของอำมาตย์ แล้วตรัสเป็นนัยให้รู้ว่า

"คนของเราเองที่กระทำผิดเยี่ยงนี้ ก็มีอยู่ในที่นี้เช่นกัน นี่ก็เพราะคนที่ประกอบด้วยคุณธรรม ดีพร้อม สมบูรณ์นั้นหาได้ยาก เราจึงสู้อดใจไว้ ให้เขาสำนึกแก้ไขตน"

อำมาตย์ได้ยินอย่างนั้น ก็รู้ได้ทันทีว่าพระราชาตรัส หมายถึงตนนั่นเอง นับตั้งแต่นั้นมา... อำมาตย์ ก็ไม่กล้าเป็นชู้กับนางสนมอีก

แม้คนรับใช้ของอำมาตย์ หลังจากที่ได้ฟังคำตรัสเตือนของพระราชาแล้ว เขาก็เลิกทำกรรมชั่วนั้น ตลอดไป เช่นกัน

------------------------

พระศาสดาทรงแสดงชาดกจบแล้ว ได้ตรัสว่า

"พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้น ก็คือเราตถาคตนี้เอง"

และจากการที่พระเจ้าปเสนทิโกศลมาเข้าเฝ้าพระศาสดา อำมาตย์คนสนิทนั้นจึงรู้ว่า

"พระราชาของเราได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว"

ดังนั้น เขาจึงไม่กล้าก่อกรรมชั่ว คบชู้กับนางสนมของพระราชาอีกเลย
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๙๙ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๔๐๓)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -