นานาสังวาส คือ เอกภาพแห่งความหลากหลาย (UNITY OF DIVERSITY)

น่าจะเป็นสิ่งพิลึกกึกกืออย่างยิ่งถ้าจะมีใครสักคนอุตริเนรมิตให้นิ้วทั้ง ๕ เท่ากันและเหมือนกัน และน่าจะเป็นเรื่องประหลาดพอๆ กัน ถ้าเกิดมีคนอินเดียทวงลิขสิทธิ์ของศาสนาพุทธ โดยให้ศาสนาพุทธที่กระจายทั่วโลก ต้องมาทำตามอย่างพระอินเดียเท่านั้น เพราะถือว่าศาสนาพุทธมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ทางอินเดียจึงควรได้ลิขสิทธิ์ผูกขาดหลักการความถูกต้องของศาสนาพุทธไว้แต่เพียงผู้เดียว ใครไม่เชื่อถือยอมรับหลักการตามทิฐิของพระอินเดีย ซึ่งเป็นศาสนาของคนอินเดียถือว่าขบถต่อพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นคนอินเดีย


แต่ก็โชคดีที่คนอินเดียและประเทศอินเดีย มีใจกว้างและให้เสรีภาพอย่างกว้างขวางในเรื่องความเชื่อและการนับถือ ซึ่งเป็นอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ถ้าไม่เกิดเรื่องพวกคลั่งศาสนาเข่นฆ่ากันแล้ว อินเดียน่าจะเป็นประเทศที่มีสันติภาพมากที่สุด ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างกันมากมาย และด้วยการที่ผู้คนมีอิสระเสรีในทางความคิดความเชื่อเช่นนี้ ก็ทำให้คนอินเดียมีความคิดสร้างสรร จนสามารถพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่แพ้มหาอำนาจทางตะวันตก

จริงๆ แล้วเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ดี หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติก็ดี ถ้าได้ศึกษาหลักของ
นานาสังวาสในพุทธศาสนา ก็จะซาบซึ้งในสุดยอดแห่งพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักการที่ให้สิทธิและอิสรภาพอันสุดยอดแก่ความเป็นมนุษย์

ดร. สมชัย รัตนวิจิตร นักรัฐศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นลึกซึ้งมาก ความเข้าใจของพระที่เป็นปุถุชนนั้น เข้าใจได้ตามภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล การที่จะกำหนดให้ใครมีอำนาจในการตัดสินนั้น มันจะก่อให้เกิดความแตกแยก และดีไม่ดีคนตัดสินอาจจะเป็นคนประพฤติไม่ถูกธรรมวินัยเอง จะทำให้สงฆ์ที่ปฏิบัติดีถูกกำจัดออกไปด้วย ท่านก็เลยไม่มอบอำนาจให้ใคร ใครเห็นคำสอนของพระพุทธองค์อย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้นก็แล้วกัน บุญของใครคนนั้นก็ได้เอง ไม่ต้องไปเบียดบังหรือบังคับฝ่ายอื่น

อันนี้สมัยที่ผมเรียนทางรัฐศาสตร์อยู่เมืองนอก ชาวต่างประเทศเขายกย่องว่าพระพุทธองค์เป็นนักปกครองประชาธิปไตยที่เยี่ยมยอด ที่ถือว่าทุกคนที่ต้องการทำความดี มีสิทธิ์ทำความดีในสิ่งที่ตนคิดว่ามันดี แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับทางความเชื่อ หรือบังคับในการสร้างความดีของผู้อื่น และด้วยเหตุนี้ ศาสนาพุทธจึงไม่มีการฆ่ากัน ถ้าจะฆ่ากันก็แค่แย่งตำแหน่งเจ้าอาวาส (หัวเราะ) แต่ไม่ได้ฆ่ากันด้วยความเข้าใจในพุทธธรรมไม่เหมือนกัน (จากหนังสือ
สู่อนาคตเมื่อ ๓๐ ส.ค. ๒๕๓๑)

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่ไม่เคยเกิดสงคราม ทางศาสนาแม้กับพวกเดียวกันเอง หรือกับศาสนาใดๆ ด้วยพระปรีชาญาณที่เข้าใจถึงความแตกต่าง อันไม่ใช่ความแตกแยก ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ดังนั้นเพื่อให้มนุษย์สามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตน จึงได้กำหนดหลักนานา-สังวาส คือการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนความขัดแย้งแตกต่างอันพอเหมาะ ซึ่งจะต่างกับนานานิกายที่เป็นสังฆเภท ซึ่งมีความขัดแย้งแตกแยก ถึงขั้นรังเกียจเดียดฉันท์กัน

การจะบังคับให้นิ้วทั้ง ๕ เหมือนๆ กัน สามารถทำได้ด้วยการกำมือให้แน่น แต่ถ้าต้องการเห็นความแตกต่างและสวยงาม เราคงต้องให้นิ้วทั้ง ๕ มีอิสระเสรีเหยียดตรงออกไปได้อย่างเต็มที่ และถ้าไม่แบ่งแยกว่าเป็นซ้ายเป็นขวา สามารถนำมือซ้ายขวามาสามัคคีมีพนมกร ก็จะเกิดความงดงามดังที่ท่านจันทร์ได้ประพันธ์ถึงเอกภาพแห่งความหลากหลายของนิ้วทั้ง ๕ ไว้ดังนี้

นิ้วโป้งตัวป้อมไม่ซอมซ่อ นิ้วชี้ชูช่อรู้งอง่าย
นิ้วกลางร่างระหงเหมือนทรงชาย
นิ้วนางงามละม้ายกุลสตรี
นิ้วก้อยน้อยกว่าแต่น่ารัก รู้จักกราบพระไม่ผละหนี
นิ้วทั้ง ๕ ต่างกันนั้นแหละดี
สามัคคีต่างกันนั้นแหละงาม.
- จริงจัง ตามพ่อ -

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -