กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท
เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ



ต่อจากฉบับที่ ๑๗๗

๔. ภัยอันเนื่องด้วยความตาย (มรณภัย) มนุษย์ทุกคนรู้ตัวอยู่ว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องตายจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน ไม่มีใครสามารถ หนีพ้นความตายไปได้ ธรรมชาติของความกลัวต่อภาวะความตายที่มืดมน ทำให้มนุษย์มีแนวโน้ม ที่จะดิ้นรนแสวงหา ความรู้สึกมั่นคง ในชีวิต (Safety Needs) ด้วยการหันเข้าหาศาสนาแบบเทวนิยมที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นที่พึ่งของชีวิต ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าบ้าง การสร้างทายาท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งแห่งตัวตนของตน ที่จะดำรงสืบทอดต่อไป ภายหลังจากที่ตนเสียชีวิตแล้วบ้าง บุคคลหลายคน ถึงแม้จะแสวงหาทรัพย์สมบัติมาได้มากมาย จนไม่มีทางกินใช้ได้หมดในชีวิตนี้ แต่ก็ยังดิ้นรนสะสมทรัพย์สินสมบัติเพิ่มมากขึ้นๆ ไม่รู้จักจบ ก็เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงสืบทอดต่อไปถึงทายาทรุ่นหลาน เหลน โหลน ฯลฯ อันเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิต (ในมิติของความรู้สึก เป็นอัตตาตัวตน) ที่จะดำรงเป็นอมตะต่อไปภายหลังความตายของชีวิตนี้

๕. ภัยอันเนื่องด้วยที่ไปที่ไม่ดี (ทุคติภัย) มนุษย์มีธรรมชาติที่กลัวต่อภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ต่างๆ ที่จะต้องเผชิญในอนาคต ทั้งในชีวิตโลกนี้และชีวิตโลกหน้า (ถึงแม้อาจจะยังไม่แน่ใจว่าโลกหน้ามีจริงหรือไม่ก็ตาม) มนุษย์จึงมีความต้องการประจักษ์ถึง ตำแหน่งแห่งที่ หรือความจริงเกี่ยวกับสถานภาพแห่งชีวิตของตนเองที่อุบัติมาในโลกนี้ (Self Realization) เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อชีวิต (ในมิติที่เป็นองค์รวม) อย่างถูกต้องเหมาะสม จะได้ไม่นำไปสู่ทิศทางที่คลาดเคลื่อนจากแก่นสารเป้าหมายแท้จริงของชีวิต และนำไปสู่ การเผชิญกับภาวะของอนาคตที่ทุกข์ยากลำบาก (ทุคติ) ส่งผลให้มนุษย์เกิดแรงผลักดัน ที่จะค้นคว้าแสวงหาความรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติ และความหมายของชีวิตจากศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Sciences) แขนงต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาแนวคิด ทางปรัชญา และลัทธิความคิด ความเชื่อ ทางศาสนาที่อธิบายแก่นสารความหมายของชีวิต เพื่อสนองตอบต่อความต้องการ ที่เกิดจากความกลัว ในระดับสุดท้ายนี้

กรอบแนวคิดในเรื่องความต้องการตามลำดับขั้นของชีวิตและความกลัว ๕ ระดับ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะช่วยเป็นแนวทาง วิเคราะห์ปัญหา ของตัวเราได้ว่า มีสาเหตุจากการจมปลักอยู่ในวังวนของความต้องการหรือความกลัวตรงจุดไหนหรือไม่อย่างไร ตลอดจนมองเห็น ตำแหน่งแห่งที่ของทิศทางกว้างๆ ที่จะยกระดับตัวเอง ให้ผ่านพ้นปัญหา เพื่อพัฒนาไปสู่ชีวิต ในระดับขั้นตอน ที่สูงขึ้นกว่าจุดนั้นๆ ต่อไป

๓.๓ มิติ ๒ ด้านของปัญหา
ภาวะบีบคั้นจากปัญหาต่างๆ นั้น เป็น "สิ่งสัมพัทธ์" (relative) ของปัจจัย ๒ ด้านคือ มิติของตัวปัญหาที่ "ถูกรู้" (object) ประการหนึ่ง กับมิติของภาวะจิตใจที่เป็น "ตัวรู้" (subject) อีกประการหนึ่ง

ปัญหาเรื่องเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขแบบเดียวกัน แต่เมื่อกระทบต่อบุคคล ๒ คน ซึ่งมีธรรมชาติของจิตใจที่แตกต่างกัน จะส่งผลก่อให้เกิดคุณลักษณะของความบีบคั้นเป็นทุกข์ไม่เท่ากัน

ตัวอย่างเช่น กรณีของนักศึกษาคนหนึ่งที่มีประวัติเรียนดีมาตลอด แต่พอสอบตกในบางวิชา ก็รู้สึกเป็นปัญหาบีบคั้นจนถึงกับฆ่าตัวตาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว ในขณะที่นักศึกษาอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่ถึงแม้จะเคยเรียนดีมาตลอด และมาสอบตกในบางวิชาเช่นเดียวกัน กลับไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาสำคัญจนบีบคั้นให้ถึงกับคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา เป็นต้น

ปัญหาหรือภาวะบีบคั้นเป็นทุกข์จะแปรผันเป็นสัดส่วนโดยตรงกับ "ความต้องการ" ซึ่งเป็นมิติของภาวะทางจิตใจที่เป็น "ตัวรู้" และแปรผกผันกับ "สิ่งตอบสนองความต้องการ" อันเป็นมิติของสิ่งที่ "ถูกรู้" เราจึงสามารถแสดงให้เห็นองค์ประกอบ ที่เป็นตัวกำหนดสถานภาพของปัญหาหรือภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ คือ
ปัญหา (P) = ความต้องการ (D) / สิ่งตอบสนองความต้องการ (S)
หรือ P = D / S

ถ้าเรามีระดับความต้องการสูง (ค่า D สูง) เช่น อยากได้รถยนต์ไว้ใช้เหมือนกับที่เพื่อนของเรามี และชอบขับมาอวดอยู่เนืองๆ แต่ตัวเราเองไม่มีรายได้พอที่จะมีทางซื้อรถยนต์ได้เลย (ค่า S ต่ำ) ระดับของภาวะความรู้สึกบีบคั้นเป็นทุกข์จากการที่ไม่มีรถยนต์ขับก็จะสูง (ค่า P เพิ่มสูง) ซึ่งหากรู้สึกบีบคั้นถึงจุดที่ทนต่อไปได้ยาก ก็อาจยอมเสี่ยงประกอบอาชญากรรมต่างๆ เช่น ขายยาบ้า เป็นต้น เพื่อหาเงินมาซื้อรถยนต์ดังกล่าว

ในทางกลับกัน หากเรามีระดับความต้องการต่ำ (ค่า D ต่ำ) แต่มีสิ่งตอบสนองความต้องการเหลือเฟือ (ค่า S สูง) เช่น มีทรัพย์สินสมบัติมากมาย และได้ซื้อหาสิ่งที่อยากได้อยากมีทุกอย่างแล้ว จนหมดความอยากที่จะซื้อหาอะไรมาให้รกบ้านอีก ในกรณีนี้ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์จากการไม่มีเงินใช้ก็จะมีน้อย (ค่าP ต่ำ) เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้จะมีสิ่งตอบสนองความต้องการเท่ากัน (ค่า S คงที่) แต่ถ้าคน ๒ คนมีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นๆ แตกต่างกัน (ค่า D ไม่เท่ากัน) ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะความรู้สึกบีบคั้นเป็นทุกข์แตกต่างกันไปด้วย (ค่า P ต่างกัน) นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมกรณีนักศึกษาที่เคยเรียนดีแล้วสอบตกบางวิชาเหมือนกัน ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาบีบคั้นมากจนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย แต่นักศึกษาคนอื่นกลับไม่รู้สึกเป็นปัญหารุนแรงอะไรถึงขนาดที่ต้องคิดตายเพื่อหนีปัญหาดังกล่าว เป็นต้น

๓.๔ แบบชีวิต ๔ ประเภท
จากตารางการจัดประเภทและลำดับ (Typology and Taxonomy) ที่สร้างขึ้นจากองค์ประกอบของมิติ ๒ ด้าน ตามที่กล่าวมา เราสามารถจัดประเภทและลำดับของแบบวิถีการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์กับปัญหาความบีบคั้นในชีวิตได้เป็น ๔ ประเภท คือ

สิ่งตอบสนองความต้องการ(S)


๓.๔.๑ แบบชีวิตที่มีความต้องการสูง (D ) แต่มีศักยภาพสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการต่ำ (S )
คนที่มีรสนิยมสูงเกินรายได้ มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นสูงในสิ่งที่เป็นความต้องการส่วนเกินจำเป็นของชีวิต แต่มีศักยภาพไม่มากที่จะแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เพราะขาดความรู้ความสามารถบ้าง เกียจคร้านบ้าง ไม่อยากขวนขวายทำงานหนักบ้าง ขาดช่องทางโอกาสต่างๆ บ้าง ฯลฯ คนประเภทนี้จะรู้สึกว่าชีวิตมีแต่ความไม่สมหวัง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ปัญหาภาวะความบีบคั้นต่างๆ

๓.๔.๒ แบบชีวิตที่มีความต้องการสูง (D ) แต่มีศักยภาพสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการสูง (S )
ลัทธิทุนนิยมบริโภคที่กระตุ้นให้ผู้คนแข่งขันกันทำงานโดยมีผลตอบแทนจำนวนมากเป็นรางวัลจูงใจ จะปลุกเร้าให้ผู้คนมีความทะเยอ-ทะยาน อยากได้อยากมี อยากเป็น ต่างๆ นานาตามค่านิยมบริโภคของสังคม แล้วมีความขยันขันแข็งขวนขวายทำงานหนัก จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวมีทรัพย์สินเงินทองที่จะซื้อหาสิ่งตอบสนองความต้องการตามใจปรารถนา ก็คือแบบวิถีชีวิตที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ซึ่งถึงแม้จะไม่รู้สึกถูกบีบคั้นจากปัญหาต่างๆ มากเหมือนผู้คนประเภทแรกตามที่กล่าวมา แต่ก็ยังมีปัญหาความบีบคั้นที่ต้องดิ้นรนเอาชนะคู่แข่งขันอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยหาวิธีเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เพื่อจะได้ตักตวงแสวงหากำไรมากๆ สุดท้ายในขณะที่ทรัพยากรของโลกมีจำกัด เมื่อผู้คนส่วนหนึ่งกอบโกยไปสะสมกักตุนไว้เกินประมาณ จนสังคมเกิดปัญหาความขาดแคลน วิกฤตการณ์ของปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็จะส่งผลกลับมาก่อให้เกิดปัญหาความบีบคั้นต่อทุกคนในสังคมโดยรวมได้

๓.๔.๓ แบบชีวิตที่มีความต้องการต่ำ(D )และมีศักยภาพในการสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการต่ำ (S )
การอบรมกล่อมเกลาให้ผู้คนมีความมักน้อยสันโดษเหมือนฤาษีชีไพร แต่หมดศักยภาพที่จะทำงานขวนขวายสร้างสรรค์สิ่งตอบสนองความต้องการที่เป็นประโยชน์สุขต่อสังคมมนุษย์ ก็คือแบบวิถีชีวิตประเภทนี้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ถูกบีบคั้นจากความต้องการส่วนเกินจำเป็นของชีวิตให้ต้องดิ้นรนขวนขวายอะไรมาก แต่ชีวิตที่ติดอยู่กับความสงบจนขาดการขวนขวายพัฒนาดังกล่าว ก็กลายเป็นปัญหาความบีบคั้นในมุมกลับอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน เพราะถ้าต้องถูกดึงให้มาคลุกคลีเกี่ยวข้องกับสังคมทั่วไป คนผู้นั้นก็จะรู้สึกเป็นปัญหาบีบคั้นให้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยยาก จึงยังเป็นวิถีชีวิตที่ไม่ได้เป็นอิสระจากปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง

๓.๔.๔ แบบชีวิตที่มีความต้องการต่ำ(D ) แต่มีศักยภาพสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการสูง (S )
ชีวิตที่ได้รับการพัฒนาขัดเกลาจนสามารถลดละความต้องการส่วนเกินจำเป็นให้บรรเทาลดน้อยลง ในขณะที่สามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขต่อสังคมได้มาก ก็คือวิถีชีวิตที่เป็นอิสระจากปัญหาความบีบคั้นต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นจากตัวแบบของสมการที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่ากรณีการมีค่า D ต่ำ แต่ค่า S สูงจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ค่า P (หรือปัญหา) ลดต่ำลงได้มากที่สุด

๓.๕ ทิศทางการแก้ปัญหา
ในการค้นหาสาเหตุเพื่อกำหนดขอบเขตเป้าหมายการแก้ปัญหาของชีวิต จึงต้องมองทิศทางการแก้ปัญหาจากมิติของตัวแปรทั้ง ๒ ด้านควบคู่พร้อมกันไปกล่าวคือ

๓.๕.๑ จะเพิ่มค่า S ได้อย่างไร
โดยให้พิจารณาดูว่าปัญหาของชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นๆ เป็นเพราะไม่ได้รับสิ่งตอบสนองความต้องการเท่าที่ควรด้วยสาเหตุใด เช่น เราตกงาน และรู้สึกว่าปัญหาการตกงานก่อให้เกิดภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่งต่อชีวิต ในกรณีนี้ก็ต้องวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้งานทำนั้นเป็นเพราะอะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้พิจารณาถึงสาเหตุต่างๆ ภายใต้ขอบเขตของสิ่งที่เป็นเงื่อนไขซึ่งตัวเราสามารถควบคุมได้ ไม่ใช่ไปมุ่งพิจารณาที่เหตุปัจจัยภายนอก อันอยู่นอกเหนือขอบเขตที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรมากนักต่อการแก้ปัญหา

เช่น ดูว่าสาเหตุที่เราตกงานนั้นเป็นเพราะเราเลือกงานมากไปหรือไม่ ติดต่อหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งงานต่างๆ น้อยไปหรือไม่ ขาดการขวนขวายพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีทักษะความรู้ใหม่ๆ ในการทำงานหรือไม่ บุคลิกลักษณะและการเตรียมตัวต่างๆ ตอนไปสัมภาษณ์สมัครงานมีอะไรบกพร่องหรือไม่ หรือว่าเป็นเพราะเราขาดความอดทนไม่สู้งาน เลยหางานทำไม่ได้ ฯลฯ

ให้ใช้ความพยายามสังเกตและตั้งสมมติฐานของสาเหตุแห่งปัญหา ที่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้กำหนดขอบเขตเป้าหมายและตั้งเป็น "สัจจะ" ที่จะทดลองลงมือปฏิบัติต่อไป

อ่านต่อฉบับหน้า

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -