- สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๘)


 

ดูได้จาก "อวิชชาสูตร" ตามที่ยกมาให้เห็นแล้วว่า "ทุจริต ๓" ซึ่งได้แก่ กายทุจริต-วจีทุจริต-มโนทุจริตทั้ง ๓ นั้นเป็นอาหารของ "นิวรณ์ ๕" ถ้าผู้ใดปฏิบัติ "ไตรสิกขา" หรือ"จรณะ ๑๕" หรือ "มรรค องค์ ๘" ก็นั่นแหละ คือ ต้องปฏิบัติธรรมให้สัมมาทิฏฐิ

จนกระทั่ง"สติ"ของผู้ปฏิบัติต้องเจริญถึงขั้น"สัมมาสติ" หมายความว่า "สติ"หรือ"ความระลึกรู้ตัว" ของผู้ปฏิบัติ ต้องมีคุณภาพเข้าขั้น "บรรลุธรรม" คือ เข้าขั้นเป็น "สติระดับอาริยชน" ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษ เกินกว่าสามัญ ไม่ใช่เพียงมี "สติ" ระดับปุถุชนสามัญ หรือ แค่ระดับกัลยาณชนเท่านั้น แต่ต้องเป็น"สติ" ของคนที่มีทั้งความรู้ระดับโลกุตระ และทั้งเป็น"สติ" ที่มีภูมิมีสมรรถนะเข้าถึงปรมัตถธรรม การปฏิบัติ "สติปัฏฐาน ๔" จนสติเจริญเป็น "สติสัมโพชฌงค์" จึงจะนำพาบรรลุอาริยธรรม สู่โลกุตรภูมิได้จริง

และอีก ๒ คือ "ธัมมวิจัย-วิริยะ" ของผู้ปฏิบัติต้องมีคุณภาพถึงขั้น "โพชฌงค์" ด้วย "ปีติ-ปัสสัทธิ-สมาธิ-อุเบกขา" จึงจะเจริญเป็น "โพชฌงค์" ด้วยได้ การปฏิบัติ "สติปัฏฐาน ๔" ของคนที่มี "สติ" เจริญถึงขั้น ถึงระดับ "โพชฌงค์ ๗" ฉะนี้แล จึงจะกำจัด"นิวรณ์ ๕" ได้ เป็นมรรคผล สู่อาริยภูมิ หรือโลกุตรภูมิบริบูรณ์

ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกถ้วน(สัมมา)ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า นั่นคือ "สัมมาทิฏฐิ" นำมาก่อนอื่น หรือเป็นประธาน เมื่อปฏิบัติตาม "อนุสาสนี"(คำสอน)ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าหัวข้อปฏิบัติข้อใด ถ้า "สัมมา" ถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" ได้แท้จริง ก็จะพัฒนา "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" เป็นผลสำเร็จสัมบูรณ์ แน่แท้

"สัมมาสังกัปปะ" ซึ่งเป็นตัวจิตโดยตรงก็จะเจริญถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาวาจา" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมากัมมันตะ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาอาชีวะ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาวายามะ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาสติ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาสมาธิ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาญาณ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

"สัมมาวิมุติ" ก็จะเจริญอย่างปฏิสัมพัทธ์ไปถึงขั้น"ปรมัตถธรรม" คือ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"

ผู้ศึกษาและปฏิบัติ"ไตรสิกขา"ก็ดี "จรณะ ๑๕ วิชชา ๘"ก็ดี "มรรค องค์ ๘"ก็ดี หาก"สัมมาทิฏฐิ" ก็จะ สร้าง"อาหาร"ให้"บริบูรณ์" ไปตามลำดับ

กล่าวคือ เมื่อได้คบกับสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังธรรมให้บริบูรณ์ จะได้เป็น"อาหาร"ของศรัทธา นั่นก็หมายความว่า ต้องได้รู้จัก สัตบุรุษจริง ไม่ใช่ได้พบแค่"สัตบุรุษ"ที่ยังไม่จริง หรือได้พบแค่ผู้รู้ ที่อาจจะเป็นแค่ "ปทปรมบุคคล" คือ เป็นแค่คนที่ ได้ศึกษาพุทธพจน์มามาก จำพุทธพจน์ได้มาก กล่าวสอนอยู่มาก แต่ไม่ได้บรรลุธรรมในชาตินั้น อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่"สัตบุรุษ" ธรรมที่ได้ฟังได้รู้ได้เข้าใจ ย่อมไม่บริบูรณ์ เพราะมันยังไม่ใช่ "ความรู้ของอาริยธรรม" ย่อมแสดงธรรมตามภูมิที่ยังไม่มีอาริยธรรม จึงย่อมไม่บริบูรณ์

ยิ่งผู้ที่ ไม่เชื่อว่า "สมณะผู้ดำเนินชอบ (สัมมัคคตา) ผู้ปฏิบัติชอบ (สัมมาปฏิปันนา) ที่สามารถประกาศ อธิบายโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกนี้ มีอยู่ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ [นัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ] คนผู้นั้น ก็ยังมี"มิจฉาทิฏฐิ" ข้อ ๑๐ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๕)

นั่นก็หมายความว่า คนผู้นั้นย่อมไม่ได้ฟังธรรมที่สัมมาทิฏฐิแท้อย่างบริบูรณ์ เพราะอาริยธรรมของ ศาสนาพุทธ ก็ได้ย้ำคำตรัส พระพุทธเจ้า มาเสมอว่า "ลึกซึ้ง-เห็นตามได้ยาก-รู้ตามได้ยาก-สงบ-ประณีต-ไม่สามารถรู้แจ้งรู้จริงได้ด้วยตรรกะ-มันลึกล้ำละเอียดลออขั้นนิพพานจริงๆ-รู้ได้เฉพาะบัณฑิต (จริง) เท่านั้น"

เพราะสัตบุรุษคือ อาริยบุคคลแท้ ย่อมจะแสดงธรรมให้เราฟังอย่างเป็น"ทฤษฎีที่ถูกถ้วน" (สัมมาทิฏฐิ) แน่นอน และเป็นธรรมะขั้น "อาริยธรรม" ที่ถูกถ้วน(สัมมา)แท้ๆ จึงจะเป็นธรรมะที่บริบูรณ์ เมื่อได้ฟังธรรม บริบูรณ์จริงๆ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ เพราะ"อาหารของศรัทธา" คือ การฟังสัทธรรม

"สัทธรรม" คือ ธรรมที่ดี ที่ถูกต้องแท้จริง

สังเกตให้ดีเถิด ศรัทธาในที่นี้ เกิดจากการได้อาหารคือ การฟังสัทธรรม (ธรรมที่ดี ที่ถูกต้องแท้จริง)

แม้อาหารที่สาธยายโดยผู้ที่ ไม่ใช่"สัตบุรุษ" คนก็ยัง"ศรัทธา"ได้เหมือนกัน มีออกถมเถไป แต่เป็น "มิจฉาศรัทธา" คือ "ศรัทธา"หรือเชื่อสิ่งที่"มิจฉา" เชื่อความไม่ถูกต้อง จึงพาเลอะเทอะเละเทะดังที่เห็นๆกัน

หรือเป็น"ศรัทธา"ที่ไม่มีความบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัส ความบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงของศรัทธา ไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๘ ว่า

ผู้มี"ศรัทธา" แต่ ไม่มีศีล ถือว่าเป็นศรัทธาที่ไม่บริบูรณ์ตั้งแต่ระดับที่ ๑ เลยทีเดียว ดังนั้น ผู้มีศรัทธา จึงต้องศึกษา บำเพ็ญตนให้มี"ศีล" จึงจะเป็นศรัทธาที่มีความบริบูรณ์ในความเป็น"ศรัทธา"สูงขึ้นสู่ระดับที่ ๒

เห็นได้ชัดว่า "ศรัทธา"ที่มีทิศทาง มีเงื่อนไข มีองค์ประกอบกำกับ จึงจะเป็น"ศรัทธา"ของอาริยชน แต่ถ้าเชื่ออะไร อย่างไรก็ได้ สะเปะสะปะ ไม่มีทิศไม่มีทาง คือ เชื่อไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องชี้ เครื่องยืนยันถึงคุณลักษณะใดๆ เชื่อดายๆ เชื่อทั่วๆไป นั่นไม่ใช่ "ศรัทธา" หรือ ความเชื่อที่เป็นอาริยะ

ทีนี้ก็ต่อเรื่อง"ศรัทธา"ที่บริบูรณ์จากระดับที่ ๒ ขึ้นไปอีก จาก ๑. "ศรัทธา" ๒. มี"ศีล"แล้ว แต่ถ้า ไม่มีพหูสูต ก็ถือว่าเป็นศรัทธา ที่ไม่บริบูรณ์ ขั้นต่อไป ผู้มีศรัทธามีศีลแล้วจึงต้องศึกษาบำเพ็ญตนให้มีพหูสูต จึงจะเป็น ศรัทธาที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๓ สูงขึ้นไปอีก

และแม้ศรัทธาที่มีศีลมีพหูสูตแล้วแต่ถ้า ไม่เป็นธรรมกถึก (ผู้สามารถแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง) ก็ถือว่า เป็นศรัทธาที่ไม่บริบูรณ์ขั้นต่อไปอีก ผู้มีศีล มีพหูสูต แล้วจึงต้องศึกษาฝึกฝนตนให้เป็นธรรมกถึก จึงจะเป็นศรัทธา ที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๔ สูงขึ้นต่อไปๆ

และศรัทธาที่จะบริบูรณ์สูงขึ้นต่อๆไปอีก ก็คือ

ต้องศึกษาฝึกฝนตนให้เป็นผู้ เข้าสู่บริษัท (ต้องทำตนเข้าสู่สังคม ไม่ใช่หลบลี้อออกห่างสังคม) จึงจะเป็นศรัทธา ที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๕ สูงขึ้นต่อไปอีก

ต้องศึกษาฝึกฝนตนให้เป็นผู้ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท (เจริญขึ้นกว่าเป็นธรรมกถึก กว่าเข้าสู่บริษัท อาจหาญแสดงธรรม ต่อสังคมกว้างเก่งเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น) จึงจะเป็นศรัทธาที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๖ สูงขึ้น ต่อๆไป

ต้องศึกษาฝึกฝนตนให้เป็นผู้ ทรงวินัย (เมื่อสู่สังคมกว้างขึ้นก็ยิ่งต้องรอบรู้แม่นยำไม่ผิดกฎผิดวินัย) จึงจะเป็น ศรัทธาที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๗ สูงขึ้นต่อๆไปอีก

ต้องศึกษาฝึกฝนถึงการ อยู่ป่าเป็นวัตร (เพื่อให้ครบถ้วนถึงความสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน ก็ต้องตรวจสอบ ทั้งด้านสังคม ทั้งด้านมิใช่สังคมคือป่าที่ไม่สัมพันธ์กับสังคม) จึงจะเป็นศรัทธา ที่มีความบริบูรณ์ ระดับที่ ๘ สูงยิ่งๆขึ้น

ต้องศึกษาฝึกฝนตนจนมีจิตสามารถเป็นผู้ ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งฌาน ๔ จึงจะเป็นศรัทธา ที่มีความบริบูรณ์ ระดับที่ ๙ สูงยิ่งๆ ขึ้นยืนยัน ปรมัตถธรรม

ต้องศึกษาฝึกฝนตนให้เป็นผู้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ จึงจะเป็นศรัทธา ที่มีความบริบูรณ์ระดับที่ ๑๐ ครบจบสูงสุด

"ศรัทธา" ซึ่งเกิดจากอาหารที่เป็นสัทธรรม อันได้ฟังจากสัตบุรุษ จึงต่างกันแน่นอนกับ ศรัทธา ที่เกิดจาก อาหารที่ ไม่เป็นสัทธรรม อันได้ฟังจาก ผู้มิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่บริบูรณ์ เหมือนสัทธรรมจากสัตบุรุษเด็ดขาด

ดังนั้น ผู้จะสาธยายสัทธรรม หรือ ธรรมที่ดี ที่ถูกต้องแท้จริง ให้ฟังได้ ก็ต้องเป็นสัตบุรุษจริงๆ ซึ่งผู้เป็น "สัตบุรุษ" ก็คือผู้มีคุณสมบัติเดียวกันกับ "สมณะ ผู้ดำเนินชอบ (สัมมัคคตา) ผู้ปฏิบัติชอบ (สัมมาปฏิปันนา) ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง (สยัง อภิญญา) นั่นเอง

สัมมาทิฏฐิที่สำคัญ คือ ถ้าผู้ใด เชื่อหรือเห็น ว่า "สมณะผู้ดำเนินชอบ(สัมมัคคตา) ผู้ปฏิบัติชอบ (สัมมาปฏิปันนา) ที่ประกาศอธิบาย โลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกนี้ ไม่ม (นัตถิ) โดยเฉพาะในโลกสมัยปัจจุบันนี้ [นัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ] คนผู้นั้น ก็ยัง "มิจฉาทิฏฐิ" ซึ่งเป็น"ทิฏฐิ" ข้อที่ ๑๐ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๕) ที่ชาวพุทธต้องทำ "ทิฏฐิ" (ความเชื่อหรือความเห็น) ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ให้ "สัมมา" (ถูกแท้, ถูกถ้วน) ก่อนอื่นให้ได้ การปฏิบัติใดๆ จึงจะสามารถพาบรรลุธรรม หาก "ไม่สัมมา" ก็ไม่มีทาง จะบรรลุธรรมเป็นอันขาด เพราะ "ทิฏฐิ" ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เป็นประธานของ "มรรคทั้ง ๘ ข้อ" เมื่อประธาน หรือ หัวขบวน "มิจฉา" ทุกข้อก็ "มิจฉา" ไปด้วย

แต่ถ้าผู้ใดเชื่อหรือเห็นว่า "มี" (อัตถิ) ผู้นั้นคือ ผู้"สัมมาทิฏฐิ" ในข้อที่ ๑๐ ซึ่งเป็นคนที่ยังมีหวังว่าจะได้พบ ได้เห็น สัตบุรุษ หรืออาริยบุคคล แล้วก็จะได้ฟังสัทธรรม จากท่านบ้าง จึงยังเชื่อว่า "อาริยธรรม" มี แน่

ส่วนผู้ใดที่ ไม่เชื่อว่า "มี" นี่สิ ! มันเท่ากับปิดประตูแล้วสนิท ที่จะได้ฟังสัทธรรม เพราะเชื่อจริงๆ ว่า "ไม่มีอาริยบุคคลยุคนี้" ก็คือ "ปิดประตูใจใส่กลอน ว่าไม่มีอาริยธรรม"กันแล้ว จึงเป็นชาวพุทธไปแกนๆ อย่างนั้นเอง จนกว่าจะตาย ถ้าจะได้ประโยชน์ จากศาสนาพุทธบ้าง ก็เพียงอาศัยทำพิธีกรรมตามจารีตไป แค่นั้นในชีวิต หรือคนผู้ใดที่ดีหน่อย ก็ศึกษาฝึกฝนปฏิบัติได้กุศลโลกีย์ เท่าที่แต่ละคนใฝ่หา และพึง เพียรเอาได้ ซึ่งกุศลโลกีย์นั้นในศาสนาไหนๆก็มีได้เป็นได้

ชาวพุทธที่ไม่อีนังขังขอบ ไม่แยแสสัทธรรมที่เป็นอาริยะดังกล่าวนี้มีมากเหลือเกิน แม้ในประเทศไทย ที่เป็นเมืองพุทธ ทิ้งคุณค่าสัทธรรม กันไปเลย ฉะนั้นความรู้สึกที่จะเสียดายคุณค่าสัทธรรม หรือเสียดาย อาริยธรรม จึงไม่เกิดในสำนึกของชาวพุทธกันแล้ว

สำหรับผู้ที่ เชื่อหรือเห็นว่า "มี" และใฝ่หาจนได้พบได้เห็นสัตบุรุษและได้ฟังสัทธรรม จากปากท่าน ตรงๆอีกด้วย ก็ยิ่งจะได้อาหารแท้ เมื่อเป็นอาหารแท้ อาหารที่ไม่ปลอม ไม่ผิดเพี้ยน ก็แน่นอนว่า ย่อมสามารถ ปฏิบัติยืนยันหรือพิสูจน์สัทธรรมกันได้ และมีภาวะพิเศษๆ ที่เห็นได้สัมผัสได้แน่นอน ซึ่งแต่ละคน ต่างก็มีสิทธิ์ที่จะได้บรรลุมรรคผลตามธรรมสมควรแก่ธรรม ขอท่านที่ได้พบได้เห็น จงพากเพียรเอาเถิด

ถ้าใครที่ปักใจเสียแล้ว ไม่เชื่อว่า "มีพระอาริยะ" ก็แน่นอนแม้เขาพบเห็นสัตบุรุษ ก็ย่อมไม่เชื่อว่า "มี"สัตบุรุษ หรือ สมณะผู้ดำเนินชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งชัดๆก็คือ พระอาริยะ ในโลกนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ผู้นั้น จึงยังต้อง"มิจฉาทิฏฐิ"อยู่ต่อๆไปอีกนาน เพราะเชื่อปักใจแล้วนี่ว่า "ไม่มีสัทธรรม หรืออาริยธรรม" จึงฟังธรรม ที่เป็นสัทธรรม ก็ย่อมไม่เชื่อว่าเป็นสัทธรรม แม้ฟัง"อาริยธรรม"ก็ไม่เชื่อแน่นอน จึงแน่ยิ่งกว่าแน่ ที่คนผู้นี้จะได้ก็แต่ศรัทธาธรรมะที่ไม่ใช่สัทธรรม เพราะอาหารที่ได้รับไม่บริบูรณ์ หรือไม่"สัมมาทิฏฐิ" เริ่มตั้งแต่ข้อสำคัญที่สุดของ"อวิชชาสูตร" คือ ไม่ได้พบสัตบุรุษ (แม้พบเขาก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว) แม้ได้ยิน เล่าลือกันว่า ท่านผู้นี้เป็นอาริยบุคคล เป็นสัตบุรุษ ก็ไม่เชื่ออยู่ดี ดีไม่ดีจะเข้าใจผิด ถึงขั้นดูถูกดูแคลน สัตบุรุษ หรือ อาริยบุคคล ด้วยซ้ำก็เป็นได้ ถึงจะได้ฟังสัทธรรมก็อาจจะเห็นแย้ง เพราะเหตุดังนี้ อาหาร (ธรรมะที่ได้ฟัง) จากผู้ไม่ใช่"สัตบุรุษ" จึงไม่ใช่ "ธรรมที่ดี ที่ถูกต้องแท้จริง" (สัทธรรม) เป็นธรรมดา

จาก"อวิชชาสูตร"ก็ดี จาก"มหาจัตตารีสกสูตร" ก็ดี จะเห็นได้ชัดว่า ทุกอย่างมาแต่ "เหตุ" ถ้า เหตุ ไม่บริบูรณ์หรือไม่สัมมาทิฏฐิ สิ่งที่จะเกิดเป็น อิทัปปัจจยตา หรือเป็นปัจจยาการตามมา ก็ย่อมเป็น"ผล" จาก "เหตุ" เป็นสำคัญโดยแท้

จะเห็นได้ว่า การประพฤติหรือปฏิบัติ "กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม" ซึ่งจะเป็น "ทุจริต ๓ หรือสุจริต ๓" ก็ตาม ก็อันเดียวกันกับ การประพฤติ หรือปฏิบัติ"สังกัปปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ" ซึ่งก็อันหนึ่ง อันเดียวกันกับ "กรรม ๓"นั่นเอง และถ้าปฏิบัติให้เป็น"สัมมา"ได้สำเร็จ มันก็คือ"สุจริต ๓" ก็เป็น "อาหาร" ของ"สติปัฏฐาน ๔ และโพชฌงค์ ๗" ถ้าปล่อยให้มันเป็น"มิจฉา" มันก็คือ"ทุจริต ๓" ก็เป็น"อาหาร"ของ "นิวรณ์ ๕" และต่อไปเป็น "อาหาร" ของ"อวิชชา"

ถ้าดูตาม"อวิชชาสูตร" เริ่มจากหมู่แรก ๓ ข้อ คือ พบสัตบุรุษ-ฟังสัทธรรม-เกิดศรัทธา หากหมู่แรกนี้ ผิดเพี้ยนไปแต่ต้น อาหารในหมู่ต่อไปต้องเกิด..อโยนิโสมนสิการ-ไม่มีสติสัมปชัญญะ -การไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ แน่นอน แล้วหมู่สุดท้าย ทุจริต ๓-นิวรณ์ ๕-อวิชชา มันก็ต้องเกิดเป็นผล แน่ยิ่งกว่าแน่

ทุกอย่างก็เป็นอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น เพราะสิ่งนี้มี.. สิ่งนี้จึงมี.. เพราะสิ่งนั้นมี.. สิ่งนั้นจึงมี.. หรือสิ่ง นั้นเป็นเหตุ จึงเกิดผลนั้น ต่อๆไป เป็นปัจจยาการ

และถ้าดูตาม"มหาจัตตารีสกสูตร" เมื่อเริ่มต้น

ถ้า"มิจฉาทิฏฐิ"แต่ต้น สังกัปปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ-วายามะ-สติ ก็ต้อง"มิจฉา" หรือผิดเพี้ยน ไปทั้งหมด "สมาธิ"ก็เป็นมิจฉาสมาธิ หรือสมาธิอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ "อริโย สัมมาสมาธิ" (สัมมาสมาธิ ที่เป็นอาริยะ) แน่นอน แล้ว"สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ" จะได้มาแต่ไหน

อ่านต่อฉบับหน้า

แต่ถ้าได้คบสัตบุรุษ-ได้ฟังสัทธรรม-ได้ศรัทธา ๓ ข้อนี้บริบูรณ์เป็นหมู่แรก ก็มี "เหตุ" ที่ต่อให้เป็น "ผล"

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -